โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๕๑  |  ๑๕๒  |  ๑๕๓  |  ๑๕๔  |  ๑๕๕  |  ๑๕๖  |  ๑๕๗  |  ๑๕๘  |  ๑๕๙  |

 

๑๕๓. จากปรุงจิตต์ถึงประมนูแถลงสาร (๒)

 

          อนึ่ง เมื่อนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการใน พ.ศ. ๒๕๑๔ แล้ว ได้มีดำริให้มีการพบปะกันในระหว่างนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง ต่อมานักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) องคมนตรี และกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยได้นัดหมายชุมนุมนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงเป็นครั้งแรกที่บ้านของท่านริมถนนประดิพัทธ์ จากนั้นคณะนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงได้ตกลงกันจัดให้มีการชุมนุมนักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้งสี่โรงเรียน คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลับ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ และโรงเรียนพรานหลวง ที่โรงแรมราชศุภมิตร ถนนหลานหลวง

 

          ในระยะแรกของการชุมนุมนั้น น.ร.ม.หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้กรุณาออกจดหมายข่าวแจกจ่ายให้สมาชิกทราบข่าวคราวของชมรมนักเรียนเก่าฯ หลังจากมีการออกจดหมายข่าวในรูปใบปลิวมาได้ระยะหนึ่ง ชมรมนักเรียนเก่าฯ จึงได้พร้มกันมีมติให้จัดทำจดหมายข่าวของชมรมฯ ในรูปแบบวารสาร ซึ่ง น.ร.ม.ม.ล.ปิ่น มาลากุล ประธานชมรมฯ ตลอดชีพได้ขนานนามวารสารนี้ว่า มานวสาร โดยได้เขียนบทกลอนแสดงที่มาของวารสารนี้ไว้ในมานวสารฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นฉบับแรก ดังนี้

 

 

 

 

          มานวสารฉบับแรกมีนักเรียนเก่าราชวิทยาลัย มานพ เทพวัลย์ เป็นบรรณาธิการ เมื่อนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงบัว ศจิเสวี เกษียณอายุจากธนาคารแห่งประทศไทยแล้วได้รับภาระเป็นบรรณาธิการต่อมาจนถึงฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘ จึงหยุดการจัดพิมพ์เผยแพร่เพราะบรรณาธิการล้มป่วย และสมาชิกชุมนุมนักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ต่างก็ทยอยเสียชีวิตไปเกือบหมด ประกอบกับในเวลานั้นผู้เขียนซึ่งได้รับมอบหมายให้รับช่วงภารกิจต่อจากน.ร.ม.บัว ศจิเสวี ก็มีภารกิจในหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการและหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และผู้ช่วยบรรณาธิการวารสารวชิราวุธานุสรณ์สารไม่มีความสามารถพอที่จะสืบต่องานของมานวสารต่อได้ จึงต้องปล่อยให้มานวสารปิดตัวลงตั้งแต่ฉบับเดือนกุมภาพีนธ์ พ.ศ. ๒๕๓๘

 

 

 

 

          รูปเล่มของมานวสารคล้ายคลึงกับวารสารลูกเสือหลวงลัวชิราวุธานุสาส์น ปกหน้าเป็นภาพพระราชลัญจกรพระวชิราวุธในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์สีน้ำเงินบนพื้นขาว เนื้อหาในวารสารนอกจากรายงานการชุมนุมของชมรมและสรุปคำบรรยายหลังอาหารของวิทยากรที่รับเชิญมาบรรยายหลังอาหารในแต่ละเดือนแล้ว เนื้อหาอิ่นๆ ภายในเล่มนังประกอบไปด้วยบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว งานเขียนของนักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ตลอดจนข้าราชบริพารและผู้มีเกียรติอื่นๆ

 

          บทความต่างๆ ในมานวสารนี้คงจะแป็นที่พึงพอใจของสมาชิก จึงมีสมาชิกบางท่านส่งบทกลอนมาถึงบรรณาธิการ ดังเช่น

 

แด่มานวสาร

     
          ขอคำนับ รับมา- นวสาร
จากบรรณา ธิการ ผู้ทรงศรี
แต่ละเรื่อง เรืองรอง ผ่องโสภี
เหมือนกินรี ร่อนมาลง ตรงสระบัว
เป็นโอสถ กล่อมใจ ให้เบิกบาน
เฒ่าถึงคลาน ฟังเล่า ยังเกาหัว
ไม่กล้าชน เกรงท่านปิ่น กินขาดตัว
เพียงท่านกลัว ถ้าเป็นผม ลมจับเลย ฯ
   
  พระมนูกิจวิมลอรรถ
 

๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๗

 
มานวสาร ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๓๔

 

 

          ซึ่งบรรณาธิการได้ตอบกลับกำลังใจจากนักเรียนเก่าราชวิทยาลัย พระมนูกิจวิมลอรรถ (เจียร พลจันทร) ว่า

 

          กราบคุณพระ มนูกิจ วิมลอรรถ
ตัวกระผม อ่อนหัตถ์ เริ่มเดียงสา
เขาเอาหัว สวมให้ เป็นบรรณาฯ-
ก็เหมือนวา- นรได้ แก้วไพฑูรย์
ที่เป็นเล่ม มานวสาร ขึ้นมาได้
เพราะน้ำใจ ผู้เขียน ไม่เปลี่ยนสูญ
สมาชิก จ่ายทรัพย์ นับเพิ่มพูน
ช่วยเกื้อกูล คนละมือ คือพลัง
รับคำชม จากคุณพระ เหมือนสระแก้ว
ว่าเย็นแล้ว ยังไม่เทียบ เปรียบน้ำสังข์
ขอถือเป็น น้ำทิพย์ จิบประทัง
ตราบที่ยัง ชีพอยู่ มิรู้ลืม
     
 

บัว ศจิเสวี

 
มานวสาร ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗

 

 

          บางคราวมานวสารส่งถึงมือผู้อ่านล่าช้ากว่ากำหนด สมาชิกซึ่งเป็นผู้อาวุโสก็ทวงถามมายังบรรณาธิการ ดังเช่น

 

คนอ่าน “มานวสาร” ใจร้อน

   
          วันสงกรานต์ปีใหม่เลยไปแล้ว ใจผมแป้วร้อนกรุ่นพาฉุนเฉียว
“มานวสาร” ไม่มาพาหน้าเซียว ลุกแลเหลียวเขม้นจ้องมองเพดาน
เหตุไรขัดข้องไปวานได้บอก แยบยลยอกเทคนิคใหม่ให้กล่าวขาน
หรือชื่อตกสำรวจชวดกิจการ ไม่ได้อ่าน บอกผมด้วย...ช่วยอีกคน.
   
 

“กมล”

 

 

          ในกรณีนี้ น.ร.ม.บัว ศจิเสวี บรรณาธิการมานวสารได้ตอบกลับเป็นบทกลอนดังนี้

 

“บอกอ” ตอบ

   
          อันบรรดาสมาชิก “มานวสาร” เขารออ่านวันกินข้าวที่ “รอแย่ล”
พอวันจันทร์ผมจึงส่งถึงแฟน จำต้องแหงนชะแง้คอเพื่อรอคอย
คนที่เขาใกล้ชิดสนิทแน่น ที่เป็นแฟนกับเราจึงเหงาหงอย
ต้องอดทนกับคำว่า “รอคอย” คนทำน้อยมีผมแท้แต่เดียวดาย
บางทีก็ไม่อยากทำมั่นช้ำจิต

คนมักคิด ทำหนังสือคือของง่าย

ยังเป็นห่วงถ้า “บอกอ” ขอลาตาย คนปากร้ายจะเขียนด่าว่าใครเอย ?
   
 

“บอกอ”

 

 

          อนึ่ง เมื่อจะมีการฉลองอายุวชิราวุธวิทยาลัยผ่าน ๖ รอบ เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๖ นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน ได้เชิญนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และผู้เขียนหารือร่วมกันที่ห้องสมุดสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ปัจจุบันเป็นห้องพิพธภัณฑ์ ตึกอัศวพาหุ) ในตอนเย็นวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๖ แล้วตกลงกันว่า ในเมื่อนักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ท่านมี มานวสาร เป็นจดหมายข่าวของชมรมฯ แล้ว จดหมายข่าวของนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยจึงควรจะใช้นามว่า อนุมานวสาร เป็นการแสดงความเคารพต่อท่านผู้อาวุโส

 

          อนุมานวสารฉบับแรกซึ่งมีน.ร.ว.ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน เป็นบรรณาธิการคนแรกจึงถือกำเนิดขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ มีลักษณะเป็นปลิวส่งตรงถึงสมาชิกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยฯ ทุกคน จากนั้นผู้เขียนจึงได้รับภาระเป็นบรรณาธิการต่อมาอีกระยะหนึ่ง แล้วต้องหยุดไปเพราะพ้นวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการสมาคมฯ ใน พ.ศ. ๒๕๒๘

 

          ต่อจากนั้นได้มีการจัดพิมพ์อนุมานวสารในรูปเล่มแผ่นพับออกเผยแพร่อีกหลายฉบับ แล้วก็หยุดไปอีกครั้ง จนน.ร.ว.ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ ได้รับเลือกเป็นกรรมการสมาคมนักเรียนเก่าฯ และได้รับมอบหมายให้เป็นสาราณียกรของสมาคมฯ จึงได้รือฟื้นการจัดทำอนุมานวสารขึ้นอีกครั้ง โดยมี น.ร.ว.อาทิตย์ ประสาทกุล เป็นบรรณาธิการอยูชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะส่งต่อให้ น.ร.ว.กิตติเดช ฉันทังกูล รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

 

 

          อนุมานวสารยุคสุดท้ายนี้มีการปรับรูปเล่มเป็นแบบพ๊อกเก๊ตบุ๊ค ปกพิมพ์ที่สี มีเนื้อหาสัมภาษณ์นักเรียนเก่าเป็นหลัก รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับวชิราวุธวิทยาลัยในอดีต และสรุปข่าวกิจกรรมของสมาคมฯ อนุมานวสารในยุคหลังนี้ยังคงส่งตรงถึงสมาชิกของสมาคมฯ ทุกคน และได้รับความนิยมจากผู้อ่านไม่แพ้มานวสารของท่านผู้อาวุโส.

 

 
 
 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๕๑  |  ๑๕๒  |  ๑๕๓  |  ๑๕๔  |  ๑๕๕  |  ๑๕๖  |  ๑๕๗  |  ๑๕๘  |  ๑๕๙  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |