โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

๓๑. มหาอำมาตย์ตรี พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน)

อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
๑๗ พฤษภาคม ๒๔๕๔ - ๘ กันยายน ๒๔๕๕

 

 

          พระยาโอวาทวรกิจ นามเดิม เหม ผลพันธิน เป็นบุตรของหลวงธรรมานุวัติจำนง (จุ้ย ผลพันธิน) และนางธรรมานุวัติจำนง (เพ้ง ผลพันธิน) เกิดที่บ้านหลังวัดราชนัดดา จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๐ เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง สอบไล่ได้ประโยคสอง ซึ่งเป็นประโยคสูงสุดในสมัยนั้นเมื่อปลาย พ.ศ. ๒๔๓๔ แล้วได้เข้าศึกษาต่อที่เรียนในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์เป็นรุ่นแรกเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ มีนักเรียนร่วมชั้นเรียน ๓ คน และในปลายปีเดียวกันนั้นมีนักเรียนสอนเข้าใหม่อีก ๓ คน แต่คนเก่าก็ลาออกไปเสียก่อนที่จะเรียนจบหลักสูตร ๒ คน พระยาโอวาทฯ เป็นนักเรียนที่เรียนสำเร็จจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์รุ่นแรก สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรประโยคครูประถมเมื่อปลาย พ.ศ. ๒๔๓๗ และได้เป็นครูสอนวิชาภาษาไทย ต่อจากนั้นได้อุปสมบท ณ วัดเทพธิดาราม จังหวัดพระนคร เป็นเวลาหนึ่งพรรษา พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปาน) เป็นอุปัชฌาย์

 

          พระยาโอวาทวรกิจ เริ่มรับราชการครั้งแรกเป็นครูฝึกหัดอยู่ในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์แล้วได้เลื่อนหน้าที่ขึ้นเป็นลำดับ จนได้เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสายสวลีสัณฐาคารเมื่ออายุเพียง ๒๐ ปี แล้วได้เป็นอาจารย์สอนพิเศษที่โรงเรียนแผนที่ กรมแผนที่ทหารบกที่สระปทุม และโรงเรียนมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง วิชาที่ท่านสอนได้อย่างช่ำชอง คือ ภาษาไทย ต่อมาท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมสูงเทพศิรินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ครั้นกระทรวงธรรมการตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตกขึ้นที่โรงเรียนราชวิทยาลัยเดิมที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาใน พ.ศ. ๒๔๔๖ ท่านก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูแห่งนั้น และได้แสดงความสามารถในการปกครองโรงเรียน อีก ๓ ปีต่อมาจึงได้ย้ายไปเป็นผู้ตรวจการโรงเรียนแขวงมัธยมของกรมศึกษาธิการ แล้วเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนราชแพทยาลัย

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาลเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้โอนย้ายพระยาโอวาทวรกิจซึ่งเวลานั้นยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระโอวาทวรกิจมาสังกัดกรมมหาดเล็ก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เป็นคนแรก เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ท่านได้ดำรงตำแหน่งนี้มาจนถึงวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๕ กระทรวงธรรมการได้ขอตัวกลับและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนพณิชยการ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตพาณิชยการพระนคร) ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ตามแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖

 

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ท่านได้กลับเข้ารับราชการเป็นพนักงานสอบไล่ในกรมศึกษาธิการซึ่งเป็นกรมใหญ่คู่กับกรมธรรมการ โดยกรมศึกษาธิการนั้นแบ่งออกเป็นกรมย่อย ๆ มีหัวหน้ากรมเป็นชั้นเจ้ากรม คือ กรมสามัญศึกษา กรมวิสามัญศึกษา และกรมราชบัณฑิต ส่วนกรมธรรมการมีหน้าที่จัดการพระศาสนา พระยาโอวาทฯได้แสดงความสามารถในทางบริหารการศึกษา ยังประโยชน์ให้แก่กรมศึกษาธิการเป็นอันมาก จึงได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นข้าหลวงตรวจการศึกษาภาคหนึ่ง ดูแลการศึกษาในห้ามณฑลคือ กรุงเก่า (อยุธยา) นครไชยศรี ราชบุรี ปราจิณ และจันทบุรี ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๖๐ ท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้ากรมวิสามัญศึกษา มีหน้าที่จัดอาชีวศึกษาและโรงเรียนสตรี เป็นกรมคู่กับกรมสามัญศึกษา ทั้ง ๒ กรมนี้เป็นหน่วยงานสังกัดกรมศึกษาธิการ นอกจากนั้นท่านยังได้ทำหน้าที่ธรรมการมณฑลกรุงเทพฯ มีสำนักงานอีกแห่งหนึ่งในกระทรวงนครบาลแต่ครั้งยังไม่ได้รวมเข้ากับกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งสูงท้ายในราชการของท่านคือ ผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงศึกษาธิการ แล้วได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการรับพระราชทานบำนาญเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ มีเรื่องเล่ากันว่า เนื่องจากรัฐบาลฝืดเคืองในเรื่องการเงินจำเป็นต้องดุลยภาพข้าราชการ สำหรับกระทรงศึกษาธิการจะต้องตัดงบประมาณเงินเดือนลงราวปีละหนึ่งแสนบาท กระทรวงก็จำเป็นที่จะต้องคัดข้าราชการและครูออกเพื่อจะได้ลดงบประมาณเงินเดือนให้เป็นไปตามความต้องการของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ท่านจึงได้ลาออกรับพระราชทานเบี้ยบำนาญ เพื่อช่วยให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องออกจากราชการน้อยคน แต่เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงศึกษาธิการในเวลานั้น เห็นว่าท่านทำราชการได้ดีและปฏิบัติหน้าที่ถึง ๒ ตำแหน่งยังไม่สมควรที่จะออก แต่ท่านก็ไปวิงวอนและชี้แจงเหตุผลให้ฟัง จึงได้ออกสมประสงค์ เมื่อท่านลาออกนั้น มียศเป็นมหาอำมาตย์ตรี ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า (พานทอง) ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก และทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย เป็นบำเหน็จราชการ ชีวิตในกระทรวงศึกษาธิการของท่านจึงสิ้นสุดลงเพียงนี้

 

          ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่คุ้นเคยกับพระยาโอวาทวรกิจมาแต่เยาว์วัยได้กล่าวถึงท่านไว้ว่า ท่านเป็นผู้ที่มีนิสัยร่าเริง มีน้ำใจเป็นนักกีฬา เคยเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม แต่เมื่อร่างกายไม่อำนวยให้ท่านเล่นกีฬาหนัก ๆ ได้ ท่านก็ยังชอบกีฬาอื่น ๆ สารพัด ทั้งมีน้ำใจเป็นนักเลงพร้อมกันไปด้วย ท่านเขียนเรื่องจรรยาของผู้เล่นและผู้ดูฟุตบอลลงในหนังสือวิทยาจารย์ มีข้อความที่น่าสังเกตคือ

 

          "จรรยาของผู้ดู จะเป็นพวกข้างใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ หรือดูเป็นกลางๆ ก็ได้แต่ไม่ควรจะมีกริยาวาจาส่อให้เห็นว่าตนทุจริตประการใดประการหนึ่ง เช่น บอกว่าให้ผู้เล่นโดยผิดกติกา หรือ เยาะเย้ยฝ่ายศัตรูในเวลาล้มหรือเตะผิดหรือแพ้ จะช่วยด้วยการบอกก็ดี หรือท่าทางก็ดี ไม่เป็นการห้ามปราม เช่นบอกให้เตะโกล์ บอกให้หลบ บอกเตะแรง ให้หน้าให้ตาก็ได้

 

          การผิดกติกาของการเล่น บางคราวผู้ดูบางคนที่เป็นพวกฝ่ายพวกเล่นมักจะส่งเสริม คนชนิดนี้ได้ชื่อว่าไม่ใช่นักเลง"

 

          น้ำใจนักกีฬาพาให้ท่านมีเพื่อนฝูงกว้างขวางในวงสังคมและได้รับเลือกเป็นกรรมการคนหนึ่งในสมาคมฟุตบอลแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์มาแต่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ นอกจากนั้นยังกล่าวกันว่า ท่านมักจะหาเรื่องพูดตลกขบขันเล่าให้เพื่อนฝูงฟังอย่างสนุกสนาน ท่านเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง และรักษาตัวของท่านตามแบบไทย ชอบไปเที่ยวตามต่างจังหวัดกับพระยาไพศาลศิลปสาตร (รื่น ศยามานนท์) อธิบดีกรมศึกษาธิการและปลัดกระทรวงธรรมการอยู่เป็นนิจ นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้แสดงละครเก่งคนหนึ่ง และก็ได้แต่งบทละครไว้หลายเรื่อง เช่น เรื่อง เสียรอย เรื่อง ใครผิด เป็นต้น กล่าวโดยย่อก็คือ ท่านเป็นครูรอบด้าน เป็นครูสอนหนังสือ เป็นครูแต่งแบบเรียน เป็นครูที่มีความสามารถทางบริหารการศึกษา ทั้งเป็นครูที่เชียวชาญในการแสดงละคร การโต้วาที และยิ่งกว่านั้น ท่านยังเป็นคนใจใหญ่ เมื่อคราวชนะเลิศในการโต้วาทีที่กรมศิลปากร ท่านก็ได้ยกเงินรางวัลทั้งหมดบำรุงกองทัพอากาศ เพื่อเสริมสร้างการป้องกันบ้านเมืองของเรา ครูที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมาทั้งหมดเช่นนี้ย่อมหาได้ยาก

 

          ท่านได้แต่งหนังสือ วิธีสอนเลขเบื้องต้น และมีจิตใจรักอาชีพครู ทั้งยังได้เขียนบทความเรื่องการเป็นครู โดยใช้นามปากกาว่า "ครูทอง" ลงในหนังสือวิทยาจารย์ดังนี้

 

          "ไม่ต้องสงสัย พวกครูที่ไม่ได้ประกาศนียบัตรครูมักเข้าใจตนเองว่า ตนไม่มีความรู้ดีในการเป็นครู และคงไม่ใคร่ได้รับตำแหน่งสูงความเข้าใจเช่นนี้ เป็นการดีอยู่ เพราะตนจะได้พยายามค้นคว้าหลักฐานในการเป็นครูมากขึ้น และคนที่เป็นครูมีประกาศนียบัตรแล้วมักเข้าใจตนเองว่าเป็นผู้มีความสามารถในการสอนตามใบประกาศนียบัตรที่ตนมีอยู่ และคงเดินเข้าสู่ตำแหน่งเป็นลำดับไป ความเข้าใจเช่นนี้ เป็นการไม่ดี เพราะจะพาให้จิตของตนฟุ้งซ่านไป และภายหลังจะปรากฏขึ้นว่า การสอนของตนเลวทรามลง ความจริงครูจะดีหรือเลวอยู่ที่ตัวบุคคล และอยู่ที่การงานที่สอนที่ปกครองโรงเรียน ผลที่สุดคือ ศิษย์ที่ออกไปแพร่หลายอยู่ในกิจการอันชอบด้วย ขนบธรรมเนียมของบ้านเมือง ส่วนสำนักที่ตั้งขึ้นเพื่อรับคนที่มีนิสัยเป็นครูที่เรียกว่า โรงเรียนฝึกหัดครูนั้น ในสถานที่นั้นก็สอนพวกนั้นให้มีความรู้ความต้องการที่จะให้ออกไปเป็นครู มีกำหนดเวลาเล่าเรียนเป็นขีด เมื่อถึงกำหนดแล้วก็สอบความรู้พวกที่เรียน นักเรียนคนใดที่มีความรู้ตามที่หลักสูตรวางไว้ ก็ให้นับว่าผู้นั้นเป็นครูได้ ให้ประกาศนียบัตรถือว่าเป็นสำคัญ ใบประกาศนียบัตรนั้นเป็นแต่แสดงความว่าเป็นผู้มีความรู้ เมื่อแรกออกไปรับราชการเป็นครู ก็ได้รับพระราชทานเงินเดือนตามอัตราที่กำหนดไว้สำหรับชั้นประกาศนียบัตร ส่วนการต่อไปภายหน้าอาศัยกิจการที่ตนได้กระทำไปแล้ว ถ้ากิจการเหล่านั้นได้ดำเนินขึ้นไปเจริญดี ตนย่อมได้รับความยกย่องเป็นพิเศษ เหตุฉะนั้นจึงมีบางคนในพวกเดียวกันต่างกันไปในตำแหน่งต่างๆ กันไม่ควรจะเข้าใจผิดในเรื่องเช่นนี้" 

 

 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |