โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

 

๓๐. อาจารย์ใหญ่และผู้บังคับการ

โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

          เนื่องจากมีท่านผู้อ่านหลายท่านได้ส่งข้อความมาขอให้นำเสนอเรื่องราวของผู้บังคับการโรงเรียนนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสนองความต้องการนั้นจดหมายเหตุวชิราวุธวิทยาลัยนับแต่ฉบับนี้เป็นต้นไปจึงขอนำเสนอเรื่อง “อาจารย์ใหญ่และผู้บังคับการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็นลำดับ ดังนี้

 

อาจารย์ใหญ่และผู้บังคับการ

 

          "ผู้บังคับการ" เป็นชื่อเรียกตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการทหารในระดับกรม ซึ่งมียศชั้นพันเอก หรือข้าราชการตำรวจในระดับกองบังคับการที่มียศเป็นพลตำรวจตรี แต่ในส่วนราชการพลเรือนนั้นแม้จะเคยมีตำแหน่งชั้นผู้บังคับการอยู่บ้าง แต่ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ได้ยกเลิกตำแหน่งนี้ไปหมดสิ้นแล้ว คงเหลือแต่ตำแหน่ง "ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย" ที่เป็นตำแหน่งตกทอดมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาจนถึงปัจจุบัน

 

          แต่เดิมมานั้นตำแหน่งผู้บริหารของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเรียกว่า "อาจารย์ใหญ่" มาเปลี่ยนเป็นตำแหน่งผู้บังคับการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ สาเหตุที่เปลี่ยนมาจากอาจารย์ใหญ่มาเป็นผู้บังคับการนั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่พอจะอนุมานได้ว่าน่าจะมีเหตุมาจากการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองลูกเสือหลวง (รักษาพระองค์) ขึ้นเป็นกรมนักเรียนเสือป่าหลวง (รักษาพระองค์) หรือเรียกกันเป็นการลำลองว่า "นักเรียนนายร้อยเสือป่า" ในระหว่างการซ้อมรบเสือป่าประจำปี เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ และได้โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นผู้บังคับการกรมนักเรียนเสือป่าหลวงโดยตำแหน่ง

 

          ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนราชวิทยาลัยย้ายจากกระทรวงยุติธรรมมาขึ้นสภากรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชวิทยาลัยเป็นผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัย และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้รองหัวหมื่น พระราชดรุณรักษ์ (เสริญ ปันยารชุน) อาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครองโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ย้ายไปเป็นผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่เป็นคนแรก

 

          ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย มาแต่บัดนั้น

 

          การคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาคัดเลือกด้วยพระองค์เองมาโดยตลอด แต่เมื่อรวมโรงเรียนเป็นวชิราวุธวิทยาลัยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว สภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยหรือปัจจุบันเปลี่ยนนามเป็นคณะกรรมกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณาคัดเลือก แล้วจึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าทูลละอองพระบาทเพื่อพระราชทานพระบรมราชานุมัติ

 

          แต่เดิมมานั้นเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว ผู้นั้นคงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการไปจนกว่าจะโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง แต่ในระเบียบคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้กำหนดคุณสมบัติและการพ้นจากตำแหน่งของผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยไว้ ดังนี้

 

 

          "๔. ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นโดยคำแนะนำของคณะกรรมการอำนวยการ บุคคลที่สมควรเป็นผู้บังคับการควรมีคุณวุฒิ ดังต่อไปนี้

                    ๔.๑ ได้ปริญญาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่า

                    ๔.๒ ได้ปฏิบัติหน้าที่อันเกี่ยวกับการศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๕ ปี และ

                    ๔.๓ ได้เคยศึกษาในโรงเรียนกินนอน ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการได้พิจารณาเห็นว่า เป็นโรงเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

                    ผู้บังคับการดำรงอยู่ในตำแหน่ง ๕ ปี แต่อาจขอพระราชทานพระบรมราชานุมัติ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกก็ได้"

 

 

 

          อนึ่ง มีข้อที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่ได้ดำรงดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่และผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ล้วนเป็นผู้ที่ได้เคยเป็นนักเรียนในโรงเรียนกินนอนชนิด Public School และต่างก็สำเร็จวิชาครูมาจากประเทศอังกฤษทั้งสิ้น คงมีแต่ "ครูเหม" หรือ พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน) และ "ครูศร" หรือพระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ) ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในช่วงแรกตั้งโรงเรียนที่เป็น "อาจารย์ไทย" ที่จบการศึกษาเพียงชั้นประกาศนียบัตรวิชาครูจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ และผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยนับแต่ ศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นต้นมาล้วนจบการศึกษาชั้นดุษฎีบัณฑิต

 

 

รายนามผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่และผู้บังคับการ

โรงเรียนในพระบรมราชูถัมภ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๕๕๓

******************

 

          อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

               พระโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน)  []

พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๔๕๕

               พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ศร ศรเกตุ)  []

พ.ศ. ๒๔๕๕ - ๒๔๕๘

   

          ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

               พระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ)

พ.ศ. ๒๔๕๘ - ๒๔๖๐

               พระบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ)  []

พ.ศ. ๒๔๖๐ - ๒๔๖๙

   

          ผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัย

 

               หลวงราชธรรมนิเทศ (สุดใจ สันธิโยธิน)  []

พ.ศ. ๒๔๕๙ - ๒๔๖๑

               พระยาราชดรุณรักษ์ (เสริญ ปันยารชุน)  []

พ.ศ. ๒๔๖๑

               หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (เพียร ไตติลานนท์)  []

พ.ศ. ๒๔๖๒ - ๒๔๖๙

   

          ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่

 

               พระยาราชดรุณรักษ์ (เสริญ ปันยารชุน)

พ.ศ. ๒๔๕๙ - ๒๔๖๑

               พระวิเศษศุภวัตร์ (เทศสุนทร กาญจนะศัพท์)  []

พ.ศ. ๒๔๖๑ - ๒๔๖๘

   

          ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย

 

               พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ)

พ.ศ. ๒๔๖๙

               พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน)

พ.ศ. ๒๔๖๙ - ๒๔๗๖

               พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ)

พ.ศ. ๒๔๗๖ - ๒๔๗๘

               พระพณิชยสารวิเทศ (ผาด มนธาตุผลิน)

พ.ศ. ๒๔๗๘ - ๒๔๘๕

               พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา)

พ.ศ. ๒๔๘๖ - ๒๕๑๘

               ศ.ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา

พ.ศ. ๒๕๑๙ - ๒๕๓๙

               ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช

พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๕๐

               ดร.สาโรจน์ ลีสวรรค์

พ.ศ. ๒๕๕๐

 

 

 


 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาอำมาตย์ตรีพระยาโอวาทวรกิจ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น หัวหมื่น พระยาบริหารราชมานพ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาเสวกตรี พระยาบรมบาทบำรุง

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น อำมาตย์เอก พระภักดีบรมนาถ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น เสวกเอก พระราชธรรมนิเทศ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น อำมาตย์เอก พระยาวิเศษศุภวัตร์

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |