โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

 

๔๓. มหาดเล็กรับใช้ (๑)

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กเด็กๆ ที่ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงไว้ได้มาเล่าเรียนที่โรงเรียนนี้แล้ว ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงได้มีพระราชดำริว่า

 

          "โบราณราชประเพณีที่เคยมีมาแต่ปางก่อน เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชประสงค์จะทรงทำนุบำรุงสกุลวงษ์แห่งผู้เปนเชื้อพระวงษ์ก็ดี หรือแห่งข้าทูลลอองธุลีพระบาท ผู้ที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความซื่อสัตย์สุจริตจงรักภักดี ทำราชการเปนประโยชน์แก่แผ่นดินหรือในพระองค์ก็ดี นอกจากที่พระราชทานบำเหน็จบำนาญแก่ตัวบุคคลผู้มีความชอบนั้นแล้ว ยังทรงพระกรุณารับบุตร์ของผู้นั้นๆ มาทรงใช้สรอยใกล้ชิดพระองค์ เพื่อพระราชทานโอกาศให้ศึกษาราชกิจและได้ฟังพระบรมราโชวาทอย่างสนิทอีกชั้นหนึ่งด้วย...

 

          อีกประการ ๑ ถึงแม้ในประเทศอื่นๆ ที่มีสมเด็จพระราชาธิบดีเปนประธานแห่งชาติ เช่นในประเทศอังกฤษแลรัสเซียเปนตัวอย่าง พระเจ้าแผ่นดินก็มักทรงเลือกบุตร์ผู้มีตระกูลซึ่งบิดามีความชอบในราชการแผ่นดินหรือในพระองค์มาให้รับใช้สรอยใกล้ชิดพระองค์ตั้งแต่เยาว์วัย จนเติบใหญ่สมควรที่จะเข้ารับราชการตามตำแหน่งน่าที่อื่นๆ แล้ว ก็ย้ายไปรับราชการตามสมควรแก่คุณวุฒิ ดรุณกุมารที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเลือกไปรับใช้ใกล้ชิดพระองค์เช่นนั้น เรียกว่า "State Page" "  []

 

          มหาดเล็กรับใช้ (State Page) นั้นทรงคัดเลือกมาจากนักเรียนมหาดเล็กหลวงที่มีอายุระหว่าง ๑๒ - ๑๘ ปี จัดแบ่งเป็น ๒ ชั้น คือ มหาดเล็กรับใช้ชั้นเล็ก (Junior State Page) เทียบชั้นยศพันจ่าเด็กชา (หรือจ่านายสิบในกองทัพบก) เมื่ออายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์แล้ว ก็เลื่อนขึ้นเป็นมหาดเล็กรับใช้ชั้นใหญ่ (Senior State Page) เทียบชั้นยศมหาดเล็กสำรอง (หรือนายร้อยตรีในกองทัพบก) และต้องพ้นจากตำแหน่งมหาดเล็กรับใช้นี้เมื่ออายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์

 

          ในระยะแรกมหาดเล็กรับใช้ยังไม่ได้รับพระราชทานเงินเดือน เป็นแต่ได้รับพระราชทานเครื่องแต่งกายสำหรับตำแหน่งต่อมาตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๙จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมมหาดเล็กเบิกจ่ายพระราชทรัพย์จากกรมพระคลังข้างที่พระราชทานเป็นเงินเดือนแก่มหาดเล็กรับใช้ชั้นใหญ่เดือนละ ๓๐ บาท ชั้นเล็กเดือนละ๒๐ บาท เดือนหนึ่งแบ่งจ่ายเป็น ๒ งวด "...แต่ในระหว่างงานฤดูหนาวได้รับพระราชทานเพิ่มพิเศษทุกวัน เท่ากับวันละหนึ่งเดือน..." []

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องเต็มยศจอมพล ผู้บังคับการพิเศษกรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร.

ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วยมหาดเล็กรับใช้ชุดแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

(นั่งพื้นจากซ้าย) ๑. หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์  ๒. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

(ยืนจากซ้าย) ๑. หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล  ๒. หม่อมเจ้าดิศศานุวัตร ดิศกุล  ๓. นายหยิบ ณ นคร  

๔. นายปาณี ไกรฤกษ์ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายจ่ายวด)  ๕. หม่อมเจ้าหัชชากร วรวรรณ  ๖.นายประสาท สุขุม

 

 

          มหาดเล็กรับชุดแรกที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการสนองพระเดชพระคุณ เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๕๘ ได้แก่

 

          มหาดเล็กรับใช้ชั้นใหญ่

               ๑. นายหยิบ ณ นคร บุตรนายพลโท พระยาสีหราชเดโชไชย [] (แย้ม ณ นคร) ปลัดทูลฉลองกระทรวงกระลาโหม

               ๒. นายปาณี ไกรฤกษ์ [] บุตรมหาเสวกโท พระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ [] (ลออ ไกรฤกษ์) สมุหพระนิติศาสตร์

 

          มหาดเล็กรับใช้ชั้นเล็ก

               ๑. หม่อมเจ้าหัชชากร [] ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ []

               ๒. หม่อมเจ้าดิศศานุวัตร [] ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ []

               ๓. หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงษ์ [๑๐] โอรสหม่อมเจ้าอุดมดิเรกลาภ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศร์ธำรงศักดิ์

               ๔. หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บุตรมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ

               ๕. นายประสาท สุขุม บุตรมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยายมราช [๑๑] (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล

 

               ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นนักเรียนมหาดเล็กรับใช้เพิ่มเติมอีกหลายคราว แตที่ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรมีเพียง ๒ ครั้ง ตามลำดับดังนี้

 

               ครั้งแรก ทรงตั้งนักเรียนมหาดเล็กหลวง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา [๑๒]ระโอรสในพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ [๑๓]

 

               ครั้งที่สอง นักเรียนมหาดเล็กหลวงชัด กัลยาณมิตร บุตรมหาเสวกเอก เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

 

               นอกจากนั้นยังได้พบข้อมูลอีกว่า ในตอนปลายรัชกาลยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ นักเรียนมหาดเล็กหลวงหม่อมเจ้าอัศนีฟ่องฟ้า เทวกุล และนักเรียนมหาดเล็กหลวงเทวมิตร กุญชร ณ อยุธยา เป็นนักเรียนมหาดเล็กรับใช้ แต่ในชั้นนี้ยังไม่พบประกาศแต่งตั้ง

 

               พระมหากรุณาธิคุณแก่มหาดเล็กรับใช้

               เนื่องจากมหาดเล็กรับใช้ต้องอยู่ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเกือบตลอดเวลา ไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนในชั้นเรียนดังเช่นนักเรียนมหาดเล็กหลวงคนอื่นๆ "...เมื่อแปรพระราชฐานไป ณ ที่ใด ตลอดจนเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปต่างจังหวัดก็ได้ตามเสด็จทุกครั้ง ดังนั้นจึงได้เรียนรู้ไปทีละน้อยตั้งแต่เยาว์วัยโดยที่เห็นเองบ้าง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ชี้แจงสั่งสอนบ้างชดใช้สำหรับการที่ไม่ได้อยู่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงต่อไปอย่างคุ้มค่าและเป็นทุนสำหรับทำงานสำคัญต่อไปในภายหน้า..."  [๑๔] นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาแก่มหาดเล็กรับใช้เป็นอเนกประการ อาทิ ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับมหาดเล็กรับใช้แล้วทรงลงพระบรมนามาภิไธยพระราชทานแก่มหาดเล็กรับใช้เป็นรายบุคคล หรือพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นบำเหน็จความชอบในคราวอันสมควร และเมื่อมหาดเล็กรับใช้มีอายุครบเกณฑ์ที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศโดยโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงบ้าง นักเรียนทุนเล่าเรียนส่วนพระองค์บ้าง หรือโปรดให้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็กทรงชุบเลี้ยงให้มีตำแหน่งหน้าที่เจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการตามแต่ใจสมัครของแต่ละบุคคล ทั้งนี้สุดแต่จะมีพระราชดำริเห็นสมควร ดังกรณีหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เมื่ออายุใกล้จะครบเกณฑ์ต้องพ้นจากตำแหน่งมหาดเล็กรับใช้ ก็มี "พระราชกระแสรับสั่งที่โต๊ะเสวยกลางวันว่า "ปิ่นนั้นอายุก็มากแล้ว ให้ทำอะไรก็ทำได้ดีไปถามดูซิว่า อยากทำงาน หรืออยากไปเรียนต่อต่างประเทศ" "  [๑๕] และเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลสมัครในที่จะไปศึกษาต่อต่างประเทศ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นนักเรียนหลวงของกระทรวงธรรมการออกไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ด้วยมีพระราชกระแสว่า เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) บิดาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล "ได้ทำประโยชน์ให้กระทรวงธรรมการไว้มาก"  [๑๖]

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง

โดยมีนายจ่ายวด (ปาณี ไกรฤกษ์) อดีตมหาดเล็กรับใช้ โดยเสด็จมาท้ายรถพระที่นั่ง

 

 

               แต่นายปาณี ไกรฤกษ์ มหาดเล็กรับใช้อีกคนหนึ่งเมื่อต้องออกจากการเป็นนักเรียนมหาดเล็กรับใช้เพราะอายุครบเกณฑ์นั้น แม้เจ้าตัวจะอยากไปศึกษาต่อต่างประเทศ "แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ไม่ต้องไปดอก จะสอนให้เอง"  [๑๗]  นายปาณี ไกรฤกษ์จึงได้ออกรับราชการในตำแหน่งมหาดเล็กห้องพระบรรทม ในระหว่างนั้นได้ทรงสอนภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสพระราชทานด้วยพระองค์เอง ทั้งนายปาณี ไกรฤกษ์นั้นเป็นผู้ที่ "ชอบเล่นและชอบเรียนตามที่เด็กหนุ่มควรจะเป็น จึงได้รับพระราชทานเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว ได้รับตำแหน่งเป็นนายรองพินัยราชกิจ แล้วเลื่อนเป็นนายกวด หุ้มแพร และนายจ่ายวดในที่สุด"   [๑๘]

 

 
 

 

[ "ประกาศตั้งตำแหน่งมหาดเล็กรับใช้", ราชกิจจานุเบกษา ๓๒ (๓ ตุลาคม ๒๔๕๘), หน้า ๒๙๗ - ๒๙๙.

[ ]  หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, "เรื่องหม่อมทวีวงศ์ฯ ที่ข้าพเจ้าทราบ", ประเพณีในพระราชสำนัก (บางเรื่อง), หน้า (๒๔) - (๓๑).

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นนายพลเอก เจ้าพระยา บดินทรเดชานุชิต เสนาบดีกระทรวงกระลาโหม)

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายจ่ายวด

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาเสวกเอก เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

[ ]  หม่อมเจ้าหัชชากร วรวรรณ

[ ต่อมาได้รับพระราชทาเฉลิมพระนยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์

[ หม่อมเจ้าดิศศานุวัตร ดิศกุล

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[ ๑๐ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์

[ ๑๑ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศแลเป็น มหอำมาตย์นายก (เทียบเท่า จอมพล ฝ่ายพลเรือน)

[ ๑๒ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

[ ๑๓ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

[ ๑๔ ]  หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, "เรื่องหม่อมทวีวงศ์ฯ ที่ข้าพเจ้าทราบ", ประเพณีในพระราชสำนัก(บางเรื่อง), หน้า (๒๔) - (๓๑).

[ ๑๕อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๔๑.

[ ๑๖เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๑.

[ ๑๗เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๖.

[ ๑๘ที่เดียวกัน.

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |