โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

 

๔๕. ตึกครูและนักเรียน

 

          ตึกครูและนักเรียน มีที่มาจากคำว่า "House" ซึ่งแปลว่า "บ้าน" เพราะอาคารที่จัดเป็นตึกครูและนักเรียนนั้น ในพับลิคสกูลของอังกฤษคือบ้านพักของนักเรียนที่อยู่ประจำในโรงเรียน แต่ในการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นนั้น มีพระราชประสงค์ให้โรงเรียนนี้เป็นประดุจพระอารามหลวงประจำรัชกาล จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียก "บ้าน" ของนักเรียนในโรงเรียนนี้ว่า "คณะ" เช่นเดียวกับการเรียกหมู่กุฎีสงฆ์ในพระอารามซึ่งรวมหมู่กันเป็น "คณะ" โดยมีครูกำกับกับคณะ หรือ House Master หรือที่เรียกกันว่า "ผู้กำกับคณะ" เป็นเสมือนพระภิกษุอาวุโสที่ทำหน้า "เจ้าคณะ" ปกครองดูแลสงฆ์ในคณะ

 

          เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอสวดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกครูและนักเรียนที่สี่มุมโรงเรียนไปพร้อมกัน

 

          ตึกครูและนักเรียนทั้งสี่มุมโรงเรียนซึ่งใบแบบแปลนและรายการก่อสร้างเรียกว่า โรงเรียนหลังที่ ๑, ๒, ๓ และ ๔ ล้วนมีโครงสร้างเป็นตึกก่ออิฐถือปูนรวมกันสามหลัง ตรงกลางเป็นอาคารหลังใหญ่จัดเป็นที่พักของนักเรียน และมีตึกเล็กซึ่งเป็นที่พักของผู้กำกับคณะและอนุสาสกซึ่งเป็นอาจารย์ชาวต่างประเทศต่อออกไปเป็นปีกสองข้างของตึกใหญ่ โดยมีทางเดินเชื่อมต่อกับตึกใหญ่ทั้งชั้นล่างและชั้นบน

 

          ตึกคณะทั้งสี่มุมโรงเรียนนั้น มีผังพื้นที่ของอาคารเหมือนกันหมดทุกคณะ มีที่ต่างกันบ้างก็แต่เฉพาะโครงสร้างหลังคาและลายปูนปั้นที่หน้าบันกับที่ซุ้มประตูหน้าต่างทั้งภายนอกและภายในที่ทั้งไม้แกะสลักและลายปูนปั้นที่ต่างกันไป ส่วนการจัดแบ่งพื้นที่ภายในโรงเรียนหลังที่ ๑ และ ๒ มีการวางผังพื้นที่และหันหน้าตึกใหญ่หลังกลางไปทางทิศตะวันออกโดยมีตึกเล็ก ๒ หลังวางตำแหน่งเป็นมุมฉากกับตึกใหญ่เหมือนกัน ส่วนโรงเรียงหลังที่ ๓ และ ๔ นั้นหันหน้าออกมุมโรงเรียนด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ ส่วนตึกหลังเล็กทั้งสองหลังนั้นวางตำแหน่งเป็นมุมมุม ๔๕ องศาของตึกใหญ่ โดยแนวยาวของตักเล็กทั้งสองฝั่งล้วนขนานกันไปกับแนวคลองเปรมประชากรและถนนด้านข้างโรงเรียนคือ ถนนซางฮี้ในหรือถนนราชวิถี และถนนดวงเดือนในหรือถนนสุโขทัย

 

          การก่อสร้างตึกคณะทั้งสี่มุมโรงเรียนนั้นพร้อมโรงครัวและเรือนพักคนงานประจำคณะ คงจะแล้วเสร็จและย้ายนักเรียนจากเรือนไม้ชั่วคราวขึ้นไปพักอาศัยในตึกใหญ่ได้ราวปีพ.ศ. ๒๔๖๒ โดยจัดให้ นักเรียนชั้นประถมทั้งหมดอยู่ประจำที่คณะตะวันตกด้านเหนือหรือคณะบรมบาทบำรุง ซึ่งจัดให้เป็นคณะเด็กเล็กในเวลานั้น โดยมีหม่อมพยอมในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาศ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยืมตัวมาจากโรงเรียนราชแพทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงเด็กเล็ก ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมได้กระจายกันไปอยู่ประจำในสามคณะที่เหลือ และมีบางส่วนที่ถูกจัดแบ่งมาประจำในคณะเด็กเล็กด้วย

 

          ครั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว วชิราวุธวิทยาลัยก็ยังคงจัดให้คณะบรมบาทบำรุงหรือที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะปรีชานุสาสน์เป็นคณะเด็กเล็กต่อมา จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบรมบาทบำรุงมาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยอีกครั้ง พระยาบรมบาทบำรุงโดยอนุมัติสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้จัดตั้งโรงเรียนเด็กเล็กแยกเป็นอีกแผนกหนึ่งในที่ดินริมถนนสุโขทัยฝั่งเหนือ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ให้เป็นสถานที่ปลูกสร้างพักอาจารย์ชาวต่างประเทศ เมื่อการสร้างโรงเรียนเด็กเล็ก หรือที่ต่อมาเรียกว่า "คณะเด็กเล็ก ๑" แล้วเสร็จลง จึงได้แยกนักเรียนชั้นประถมทั้งหมดไปพักอาศัยและจัดการเรียนการสอนเป็นการเฉพาะที่โรงเรียนเด็กเล็ก เมื่อจบชั้นประถมแล้วจึงส่งข้ามฟากมาพักอาศัยและเล่าเรียนในโรงเรียนใหญ่จนจบหลักสูตร

 

          เนื่องจากในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น รัฐบาลในสมัยประชาธิปไตยได้ตัดลดงบประมาณที่รัฐบาลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยทูลเกล้าฯ ถวายสมทบเป็นค่าใช้จ่ายของวชิราวุธวิทยาลัยปีละ ๙๐,๐๐๐ บาท ลงเหลือเพียงปีละ ๓๕,๐๐๐ บาท ทำให้โรงเรียนต้องลดอาจารย์ชาวต่างประเทศลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

 

          เมื่อปรับลดอาจารย์ชาวต่างประเทศลงแล้ว ตึกหลังเล็กที่เดิมเคยจัดเป็นที่พักของอาจารย์ชาวต่างประเทศซึ่งเป็นอนุสาสกประตำคณะทั้งสี่ก็ว่างลง โรงเรียนจึงได้จัดตึกเล็กที่ว่างลงนั้นให้เป็นที่อยู่ของนักเรียนเพิ่มขึ้น ส่วนผู้กำกับคณะยังคงพักอาศัยอยู่ในตึกเล็กอีกหลังหนึ่ง เว้นแต่คณะตะวันตกด้านเหนือซึ่งผู้บังคับการเป็นผู้กำกับคณะ ที่มีการแยกเรือนพักของผู้บังคับการไปไว้เป็นเอกเทศ นักเรียนจึงได้ใช้ตึกทั้งสามเป็นที่พักอาศัย

 

          อนึ่ง การเรียกชื่อคณะทั้งสี่นับแต่แรกพระราชทานกำเนิดฌรงเรียนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สืบมาจนได้มีการรวมโรงเรียนเป็น "วชิราวุธวิทยาลัย" ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คงเรียกชื่อผู้กำกับคณะตามราชทินนามของผู้กำกับคณะมาโดยตลอด เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ [] เสนาบดีกระทรวงธรรมการ และนายกสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยมีพระประสงค์ให้ครูที่จะออกไปประจำรับราชการในตำแหน่งระดับสูงของกระทรวง ให้มาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติหน้าที่ผู้กำกับคณะในวชิราวุธวิทยาลัยเสียก่อน ในช่วงนั้นจึงมีการหมุนเวียนข้าราชการจากกระทรวงธรรมการมาดำรงตำแหน่งผู้กำกับคณะตะวันออกด้านเหนือเกือบจะทุกปี และเมื่อเปลี่ยนตัวผู้กำกับคณะชื่อคณะก็ต้องเปลี่ยนไปตามราชทินนามของผู้กำกับคณะใหม่ "...ยังผลให้นักเรียนเก่าที่เคยอยู่ร่วมคณะเดียวกันแต่ภายใต้ผู้กำกับคณะคนละคนไม่มีความผูกสัมพันธ์กัน..."  [] เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย จึงได้มีดำริที่จะขอพระราชทานนามคณะให้เป็นการถาวร จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนนามไปตามราชทินนามของผู้กำกับคณะ และโดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามโรงเรียนไว้ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” แล้ว หากนามคณะทั้งสี่จะเป็นพระนามาภิไธยและพระนามในสมเด็จพระอนุชาธิราชและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้ายู่หัวแล้ว ก็จะเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติคุณให้ปรากฏคู่กับนามพระราชทานของโรงเรียนสืบไป สภากรรมการจัดการฯ จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานอัญเชิญพระปรมาภิไธยและพระนามสมเด็จพระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นชื่อคณะทั้งสี่ คือ

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ณ พระตำหนักพญาไท

พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง และสมเด็จพระอนุชา

(ประทับยืนจากซ้าย) สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา สมเด็จพระอนุชาธิราช
  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
(ประทับพื้นจากซ้าย) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุยเพชรบูรณ์อินทราชัย
  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

  เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓

 

 

คณะตะวันตกด้านเหนือ

เป็น คณะจักรพงษ์

คณะตะวันตกด้านใต้

เป็น คณะอัษฎางค์

คณะตะวันออกด้านใต้

เป็น คณะจุฑาธุช

คณะตะวันออกด้านเหนือ

เป็น คณะประชาธิปก

 

          แต่ยังมิทันที่จะมีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นประการใด ก็ประจวบกับเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ขึ้น การขนานชื่อคณะเป็นการถาวรจึงค้างมาจนสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้มอบหมายให้นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งเวลานั้นเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษาและกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทาลัยเป็นผู้คิดชื่อคณะขึ้นใหม่ "...โดยถือเอาความสำคัญของสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัสทรงโปรดประทับเมื่อสมัยพระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่คือ คณะดุสิต จิตรลดา และพญาไท ส่วนคณะที่ผู้บังคับการเป็นผู้กำกับคณะให้ชื่อว่า "คณะผู้บังคับการ" เพื่อสงวนประเพณีซึ่งนิยมกันปับลิคสกูลไว้  []..."  [] และได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงได้มีการขนานนามคณะทั้งสี่เป็นดังนี้

 

คณะตะวันตกด้านเหนือ

เป็น คณะผู้บังคับการ

คณะตะวันตกด้านใต้

เป็น คณะดุสิต

คณะตะวันออกด้านใต้

เป็น คณะจิตรลดา

คณะตะวันออกด้านเหนือ

เป็น คณะพญาไท

 

          ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ เครื่องบินรบของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาได้มาทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯ และมีระเบิดลูกหนึ่งตกลงที่มุมโรงเรียนด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ตึกคณะดุสิตหลังกลาง ตึกเล็กด้านทิศเหนือ และตึกครัวด้านหลังตึกคณะพังทลายลงทั้งหมด คงเหลือแต่ตึกเล็กด้านทิศใต้เหลืออยู่เพียงหลังเดียว แต่เนื่องจากเวลานั้นเป็นช่วงที่โรงเรียนปิดเรียนจึงไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต

 

 

เรือนไม้หลังคาจากซึ่งเคยเป็นค่ายกักกันเชลยศึกและชนชาติศัตรู.ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

ซึ่งต่อมาวชิราวุธวิทยาลัยได้จัดเป็นคณะดุสิตชั่วคราวในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๙ – ๒๕๐๔

 

 

          เมื่อโรงเรียนเปิดเรียนอีกครั้งในปีการศึกษา ๒๔๘๙ นักเรียนคณะดุสิตจึงถูกย้ายไปอยู่ที่เรือนไม้หลังคามุงจาก ซึ่งทางราชการได้จัดสร้างขึ้นเป็นค่ายกักกันเชลยศึกและชนชาติศัตรูในระหว่างสงคามโลกครั้งที่ ๒ เรือนชั่วคราวนี้เป็นเรือนยกพื้นสูง ยาวจากริมถนนหน้าหอประชุมขนานไปกับแนวหอประชุมฝั่งทิศใต้จนถึงริมสระน้ำหน้าโรงสควอช มีโรงเลี้ยงและโรงครัว เป็นส่วนต่อแยกจากเรือนยาวลงไปทางทิศใต้จนถึงริมคูรอบโรงเรียนด้านถนนราชวิถี

 

          ในการที่จะสร้างคณะดุสิตขึ้นใหม่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมนั้น ได้มีการประมาณราคาค่าก่อสร้างไว้เป็นเงินราว ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท แต่เนื่องด้วยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น "...ทุนรอนที่พระองค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนพระราชทานไว้ร่อยหรอลงไป ไม่สามารถจะสร้างให้สมบูรณ์ได้แม้แต่หลังเดียว..." [] คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการจัดสรรงบประมาณค่าก่อสร้างและซ่อมแซมสถานศึกษามาจัดสร้างอาคารคณะดุสิตขึ้นแทนอาคารเดิม แต่กระทรวงศึกษาธิการจัดสรรงบประมาณปี ๒๔๙๔ ให้เพียง ๔๐๐,๐๐๐ บาท คณะกรรมการอำนวยการฯ จึงได้มีมติให้ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มเติม ในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการได้ขอปรับลดขนาดของอาคารและรวมทั้งปรับลดรายละเอียดอื่นๆ เพื่อให้สามารถก่อสร้างได้สำเร็จในวงเงินงบประมาณ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อคณะกรรมการอำนวยการฯ ให้ความเห็นชอบกับแบบก่อสร้างของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว จึงได้เริ่มการก่อสร้างอาคารคณะดุสิตใหม่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ และคงดำเนินการก่อสร้างมาเป็นลำดับจนแล้วเสร็จลงในตอนต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ในปีการศึกษา ๒๕๐๕ นักเรียนคณะดุสิตจึงได้ย้ายเข้าอยู่ในตึกที่สร้างขึ้นใหม่ตั้งแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนวิสาขะเป็นต้นมา ส่วนเรือนไม้หลังคาจากซึ่งเป็นอาคารชั่วคราวนั้นได้รื้อย้ายไปปลูกสร้างเป็นโรงยาวที่ริมสนามกีฬาด้านหลังโรงเรียน ขนานกันไปกับแนวถนนสุโขทัย และได้ใช้เป็นที่พักของนักเรียนคณะเด็กเล็ก ๒ ในระหว่างรื้อถอนเรือนไม้และก่อสร้างตึกคณะเด็กเล็ก ๒ ใหม่ในระหว่างปีการศึกษา ๒๕๐๕-๒๕๐๖

 

 
 

 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยาการ

[ ]  รายงานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๕๐ เมื่อวันอังคารที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙

[ ]  ประเพณีนิยมในพับลิคสกูลของอังกฤษนั้น เรียกคณะที่อาจารย์ใหญ่ (Head Master) เป็นผู้กำกับคณะว่า School House แต่ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนตำแหน่งอาจารย์ใหญ่เป็น “ผู้บังคับการ” มาตั้งแต่วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘

[ ]  รายงานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๕๐ เมื่อวันอังคารที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙

[ ]  รายงานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๔๙ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |