โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๓. ทรัพย์สินและเงินผลประโยชน์วชิราวุธวิทยาลัย (๓)

 

          เนื่องจากตึกทั้ง ๘ หลังนี้ต่างก็มีรูปแบบสถาปัตยกรรมและการตกแต่งที่ไม่เหมือนกัน จึงเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างประเทศผู้มาเช่าพักเป็นอย่างยิ่ง และสามารถสร้างผลตอบแทนให้กรมพระคลังข้างที่สามารถนำไปลงทุนเป็นการเพิ่มพูนผลประโยชน์ให้แก่โรงเรียนได้เป็นอย่างดี

 

          แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง รัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้เช่าอาคาร ๓ หลังริมถนนราชดำริ ได้ติดต่อทาบทามขอซื้อที่ดิน ๗ ไร่ พร้อมอาคารทั้งสามหลังนั้นจากสำนักงานพระคลังข้างที่ในราคา ๒๓๐,๐๐๐ ดอลลาร์อเมริกัน ผู้อำนวยการสำนักงานพระคลังข้างที่ในฐานะกรรมการและเหรัญญิกวชิราวุธวิทยาลัยได้นำความกราบทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระบาชัยนาทนเรนทร) อภิรัฐมนตรีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อเรียนพระราชปฏิบัติ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) ได้ "มีพระราชกระแสรับสั่งว่าให้คณะกรรมการวชิราวุธวิทยาลัยพิจารณาเรื่องนี้"

 

 

อาคาร ๑ ใน ๓ หลังริมถนนราชดำริ

ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาขอซื้อไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑

 

 

          คณะกรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย คราวประชุมครั้งที่ ๕๗ ได้ประชุมพร้อมกัน ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันอังคารที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ แล้ว มีมติว่า "เรื่องนี้เกี่ยวกับความสัมพันธภาพระหว่างประเทศสยามกับสหปาลีรัฐอเมริกา วชิราวุธวิทยาลัยควรจะสนับสนุนรัฐบาลจึงอนุมัติให้ขายได้ ส่วนราคานั้นเนื่องจากวชิราวุธวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาของเอกชน ถ้าจะขอขายในราคา ๒๕๐,๐๐๐ ดอลล่า ก็จะเป็นประโยชน์แก่วชิราวุธวิทยาลัยมาก เหรัญญิกรับจะไปขอให้เขาให้ราคา ๒๕๐,๐๐๐ ดอลล่า"

 

          ภายหลังจากที่กรรมการและเหรัญญิกไปเจรจากับผู้แทนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาแล้ว จึงมีพระบรมราชานุมัติให้ขายที่ดินพร้อมตึก ๓ หลังนั้นให้แก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาในราคา ๒๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์ และสำนักงานพระคลังข้างที่ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปลงทุนหาประโยชน์ให้แก่โรงเรียนต่อมา

 

          ส่วนตึกอีก ๕ หลังริมถนนราชดำรินั้นคงจัดให้มีผู้เช่าๆ ต่อมาจนหมดอายุสัญญาเช่าในช่วงหลังกึ่งพุทธกาล จึงได้ทยอยรื้อถอนแล้วเปิดให้เอกชนเช่าที่ดินปลูกสร้างเป็นอาคารสูงสำหรับประกอบธุรกิจสืบมาจนถึงทุกวันนี้

 

          อนึ่ง ยังพบความในรายงานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการวชิราวิทยาลัย ครั้งที่ ๓๔ ณ หอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๐ ความตอนหนึ่งว่า

 

 

นักเรียนเก่าราชวิทยาลัย พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

 

 

          "หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ [] รับสั่งว่า ข้าพเจ้าได้เคยถามในที่ประชุมถึงฐานะของเงินทุน [] หลายครั้งแล้ว ว่าจะถือเป็นทรัพย์สมบัติของใครแน่ และได้รับตอบจากเหรัญญิก [] ว่าเป็นของพระคลังข้างที่ แต่มีพระบรมราชโองการให้ตั้งไว้โดยฉะเพาะสำหรับเก็บผลประโยชน์เป็นค่าใช้จ่ายของโรงเรียน จะเอาไปใช้ทางอื่นไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อสำนักงานพระคลังข้างที่เป็นผู้เก็บผลบำรุงโรงเรียน หากเงินรายได้ต่ำลง ทางสำนักงานพระคลังข้างที่ก็ควรนำความกราบบังคมทูลขอพระมหากรุณาในฐานที่เป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์โดยตรง"

 

 

นักเรียนเก่าราชวิทยาลัย ทวี บุณยเกตุ

อดีตนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          นอกจากนั้นยังได้พบความในแฟ้มรายงานการประชุมคณะกรรมการวชิราวุธวิทยาลัย อีกว่า นักเรียนเก่าราชวิทยาลัย นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในตำแหน่งนายกกัมการวชิราวุธวิทยาลัย ได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๒ พรึสจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๗ ไปถึง ผู้อำนวยการพระคลังข้างที่ (สะกดตามอักขรวิธีในสมัยนั้น) สอบถามเรื่องสมบัติของวชิราวุธวิทยาลัย ความตอนหนึ่งว่า

 

          "(1) สมบัติของโรงเรียนซึ่งพระองค์ผู้พระราชทานกำเหนิดโรงเรียนได้ทรงบริจาคไว้บำรุงโรงเรียน และพระคลังข้างที่เป็นผู้จัดหาผลประโยชน์นั้น มีและอยู่ที่ไหน นอกจากนี้ยังมีอะไรอีกซึ่งบุคคลอื่นมีจิตศรัทธาบริจาคโดยเสด็จในการพระราชกุศลรายนี้

 

          (2) สมบัติของโรงเรียนในข้อ (1) นั้น พระคลังข้างที่ได้จัดการหาประโยชน์หย่างไร และมีรายได้ปีละเท่าไร

 

          (3) รายได้ไนข้อ (2) นั้น พระคลังข้างที่ได้ดำเนินการไช้จ่ายหย่างไร"

 

          จากหนังสือสอบถามดังกล่าว ผู้อำนวยพระคลังข้างที่ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ชี้แจงตอบข้อซักถามดังกล่าวว่า

 

          (1) สมบัติของโรงเรียนที่พระองค์ผู้พระราชทานกำเนิดได้ทรงบริจาคบำรุงโรงเรียน กับที่บุคคลอื่นมีจิตต์ศรัทธาบริจาคโดยเสด็จในส่วนพระราชกุศลนี้ ซุ่งสำนักงานพระคลังข้างที่เป็นผู้จัดการหาผลประโยชน์อยู่ มีดั่งต่อไปนี้

 

               1. ที่ดินและตึกบ้านริมถนนราชดำริฝั่งตวันออก 8 หลัง

               2. ที่ดินริมถนนราชดำริฝั่งตวันออก 2 แปลง

               3. ที่ดินหลังตึกแถวถนนบ้านตะนาวตรงถนนข้าวสารข้าม 10 แปลง

               4. ที่ดินตำบลประทุมวันตอนริมถนนพรามที่หนึ่ง 1 แปลง

               5. ที่ดินตำบลวรจักร์ ริมวัดจางวางดิษฐ์ 2 แปลง

               6. ที่และตึกแถวถนนเยาวราชฝั่งใต้ ริมตรอกเจ๊สัวเนียม 10 ห้อง (กรรมสิทธิ์ร่วมกับวัดราชาธิวาศ)

               7. ที่และเรือนกับโรงแถว ตำบลพลับพลาไชย 88 ห้อง (กรรมสิทธิ์ร่วมกับวัดมหาธาตุ)

               8. ที่และตึกแถวห้องแถวตำบลป้อมปราบ ริมคลองถมหลังวัดพลับพลาไชย 41 ห้อง

               9. ที่และเรือนตำบลบางขุนพรหมตอนริมวัดตรีทศเทพ 5 หลัง

             10. ที่ดินตำบลบางขุนพรหมตอนริมวัดตรีทศเทพ 2 แปลง

             11. ที่นาตำบลสามเสนใน อำเภอดุสิต 1 แปลง

             12. เงินทุนรับจำนองที่และสิ่งปลูกสร้างตำบลสำราญราษฎร์ 1 ราย 3,000 บาท

 

          (2) สมบัติของโรงเรียนตามที่กล่าวในข้อ (1) ตั้งแต่รายการ 1. ถึง 11. สำนักงานพระคลังข้างที่จัดให้เช่า ได้ค่าเช่าปีละ 39,400 บาท รายการ 12. ดอกเบี้ยปีละ 225 บาท รวมรายได้ประมาณปีละ 39,625 บาท

 

          (3) รายได้ตามที่กล่าวในข้อ (2) นั้น สำนักงานพระคลังข้างที่ได้ด้เนินการไปในการ

 

               1. บำรุงรักษาผลประโยชน์ในปีหนึ่งๆ โดยประมาณ ดังนี้    
                    ก. ค่ารางวัลคนเก็บค่าเช่า 180   บาท
                    ข. ค่าอากรแสตมป์ 80   บาท
                    ค. ค่าช่วยบำรุงท้องที่ 650   บาท
                    ง. ค่าภาษีโรงเรือน ฯ 3,050   บาท
                    จ. ค่าประกันอัคคีภัย 850   บาท
                    ฉ. ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด 1,600   บาท
                    ช. ค่าส่วนลดร้อยละ 5 ให้แก่สำนักงานพระคลังข้างที่ 1,250   บาท
                    ซ. สำรองไว้เป็นค่าก่อสร้างและซ่อมแซม 6,800   บาท
                       
               2. โอนไปสมทบงบประมาณการใช้จ่ายประจำปีของโรงเรียน 12,000   บาท
     
                                                            รวมรายจ่ายปีละประมาณ  26,160   บาท

 

          นอกจากรายการทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้อำนวยการพระคลังข้างที่ยังได้แจ้งให้คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยทราบด้วยว่า

 

          "ก. สมบัติที่เป็นตัวเงินในบัญชีโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เพียงสิ้นธันวาคม 2487 มีอยู่ : -
               (1) เป็นเงินสดในมือ 22,978.90 บาท 22,978 .90  บาท
               (2) เป็นเงินฝากธนาคาร 68,199.58 บาท 68,199 .58  บาท
     
                                                            รวมเงิน 91,178 .58  บาท

 

          ข. สมบัติที่ชักไว้เป็นทุนสำรองก่อสร้างซ่อมแซมนั้น เพิ่งเร่มหักกันเมื่อ พ.ศ. 2484 แต่ก็ได้ใช้จ่ายไปในการก่อสร้างต่อมาหมดจำนวนแล้ว"

 

          หลังจากนั้นก็ไม่พบว่ามีการบันทึกเรื่องทรัพย์สินของวชิราวุธวิทยาลัยในรายงานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยแกเลย คงมีบันทึกแต่เพียงว่า ในการจัดทำงบประมาณประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัยต้องจัดตามกรอบวงเงินค่าเล่าเรียน รวมกับเงินพระบรมราชโองการที่กระทรวงศึกษาธิการจัดถวายเป็นรายปี กับเงินผลประโยชน์ที่สำนักงานพระคลังข้างที่จะแจ้งให้ทราบเป็นรายปี ซึ่งในปีงบประมาณ ๒๕๓๒ วบประมาณประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัยมีกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้นเพียง ๑๖ ล้านบาทบาทเศษ

 

          เมื่อผู้เขียนได้รับมอบหมายให้จัดทำงบประมาณประจำปี ๒๕๓๓ และ ๓๔ นั้น โรงเรียนมีข้อจำกัดเรื่องกรอบวงเงินที่สำนักงานพระคลังข้างที่จัดสรรให้ จนแทบจะไม่มีงบประมาณเหลือพอที่จะจัดเป็นค่าซ่อมบำรุงอาคารและจัดหาเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ให้เพียงพอแก่ควาต้องการของโรงเรียน จึงได้นำความเรียนปฏิบัติท่านผู้บังคับการ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เพื่อขออนุญาตจัดทำงบประมาณตามความต้องการของโรงเรียน เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงได้ประสานกับสำนักงานพระคลังข้างที่ขอกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณตามความต้องการของโรงเรียน และเมื่อคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยได้พิจารณาให้ความเห็นชอบงบประมาณประจำปี ๒๕๓๓ ในกรอบวงเงิน ๓๘ ล้านบาทเศษตามความต้องการของโรงเรียนแล้ว สำนักงานพระคลังข้างที่ก็ได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัยในขณะนั้น ซึ่งก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุมัติงบประมาณตามความต้องการของโรงเรียนเป็นปีแรก ต่อจากนั้นโรงเรียนก็ได้จัดทำงบประมาณประจำปีตามความต้องการของโรงเรียน และก็ยังคงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุมัติเป็นประจำทุกปีมา สมดังพระราชกระแสที่พระราชทานไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ว่า

 

"ไม่มีพระราชดำริเรื่องขาดทุนกำไรยิ่งกว่าการให้การศึกษาที่ดี"

 

 
 
 

 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประฑันธ์ ทรงเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนราชวิทยาลัย และเวลานั้นทรเป็นกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย

[ ]  ทรงหมายถึงเงินทุนของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้กรมพระคลังข้างที่เป็นผู้ดูแลจัดเก็บผลประโยชน์บำรุงโรงเรียน

[ ]  คือ ผู้อำนวยการพระคลังข้างที่ ซึ่งทรงพระกรณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมการและเหรัญญิกในคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |