โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๙. ครุยวชิราวุธวิทยาลัย (๒)

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ทรงฉลองพระองค์พระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ และต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระองค์ที่ประเทศอังกฤษ แล้วทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ ซึ่งทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติและทรงเป็นพระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัยยังคงประทับทรงศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศ จึงไม่มีการพระราชทานเสื้ออาจารย์และเสื้อครูแก่กรรมการ อาจารย์และครูวชิราวุธวิทยาลัยอีกเลย จนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินเหยียบวชิราวุธวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในงานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียน เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยได้เชิญฉลองพระองค์พระบรมราชูปถัมภกขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และได้ทรงฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกนี้ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ วชิราวุธวิทยาลัยตลอดมาทุกคราว

 

          ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๖๒ เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ มีความในรายงานการประชุมคราวนั้นบัทึกไว้ว่า

 

          “ผู้บังคับการแถลงว่า ท่านนายกกรรมการได้ปรารภว่าเสื้อครุยที่ขอพระราชทานให้แก่นายกกรรมการนั้น เนื่องจากนายกกรรมการเปลี่ยนบ่อยๆ ถ้าจะขอพระราชทานเฉพาะบุคคลแล้วเป็นการสิ้นเปลืองมาก จึงอยากจะขอให้เป็นการพระราชทานประจำตำแหน่ง ใครมาเป็นนายกกรรมการก็มีสิทธิสรสมเสื้อครุยนั้นได้ จึงขอเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา
ที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติว่า เสื้อครุยสำหรับนายกกรรมการนั้น เป็นของพระราชทานเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้รับพระราชทาน ดังนั้นเมื่อผู้ใดได้รับพระราชทานแล้ว ก็ควรให้เปนสิทธิเฉพาะตัวของผู้นั้นและมีสิทธิสรมได้ตลอดไป แต่ควรกำหนดว่านายกกรรมการจะต้องดำรงตำแหน่งมาแล้วกี่ปีก่อน จึงขอพระราชทานเสื้อครุยให้ ให้กำหนดไว้ในข้อบังคับที่จะร่างตามที่ลงมติไปแล้ว”  
[]

 

          ภายหลังจากที่มีการยกร่างข้อบังคับกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งกระทำกัน ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยคราวประชุมครั้งที่ ๖๓ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับดังกล่าว แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยพร้อมกับรายงานการประชุมครั้งดังกล่าว เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุมัติแล้ว วชิราวุธวิทยาลัยได้เริ่มใช้ข้อบังคับกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๔๙๕ มาตั้งแต่วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๕

 

          ในข้อบังคับกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้กำหนดเรื่องเสื้อครุยวชิราวุธวิทยาลัยไว้ ดังนี้

 

“หมวด ๓

ครุยตำแหน่ง

 

          ข้อ ๑๓. ครุยของวชิราวุธวิทยาลัย เป็นครุยจำแหน่งแสดงฐานะของผู้ครอง และมี ๓ ชนิด คือ

                    (๑) ครุยองค์บรมราชูปถัมภก

                    (๒) ครุยอาจารย์

                    (๓) ครุยครู

 

          ครุยอาจารย์ พระราชทานแก่กรรมการผู้ดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า ๕ ปี และอาจารย์ที่ปฏิบัติการในวชิราวุธวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี และต้องเป็นผู้มีความรู้เทียบได้ไม่ต่ำกว่าชั้นปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยที่รับรองวิทยฐานะแล้ว
ครุยครู พระราชทานแก่ครูซึ่งเป็นครูในวชิราวุธวิทยาลัย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๒ ปี”
 []

 

          อนึ่ง เมื่อวชิราวุธวิทยาลัยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุมัติข้อบังคับกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้ว ได้วางระเบียบปฏิบัติในการขอพระราชทานเสื้อครุยแก่นายกกรรมการอำนวยการ ผู้กำกับคณะ และครูเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับฯ คือ

 

          ครุยอาจารย์ พระราชทานนายกกรรมการฯ ในคราวแรกที่ได้ทำหน้าที่กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานกิจการทั่วไปของโรงเรียนในวันเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลประจำปี ผู้กำกับคณะพระราชทานเมื่อผู้นั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้กำกับคณะมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี

 

          ครุยครู พระราชทานแก่ครูที่มีคุณวุฒิต่ำกว่าชั้นปริญญาตรี และปฏิบัติหน้าที่ครูในวชิราวุธวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๕ ปี

 

          ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๖๗ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยได้ให้ความเห็นชอบให้ปรับปรุงข้อบังคับกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๙๕ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งในข้อบังคับฯ ที่ปรับปรุงใหม่นั้ได้กำหนดเรื่องครุยตำแหน่งของวชิราวุธวิทยาลัยไว้ในหมวดที่ ๔ โดยมีเนื้อความคงเดิมตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกรรมการอำนวยการฯ พ.ศ. ๒๔๙๕ ทุกประการ

 

          เกณฑ์การพระราชทานครุยอาจารย์แก่กรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยดังกล่าว คงใช้มาจนถึงสมัยที่ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย และคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยได้มีการปรับเปลี่ยนกรรมการโดยตำแหน่งซึ่งเป็นรัฐมนตรีและอธิบดีกรมต่างๆ ในกระทรวงศึกษาออกจากตำแหน่งนายกกรรมการอำนวยการฯ และกรรมการโดยตำแหน่งแล้ว คณะกรรมการอำนวยการฯ จึงได้มีมติให้แก้ไขหลักเกณฑ์การขอพระราชทานครุยอาจารย์แก่กรรมการอำนวยการฯ ซึ่งเดิมกรรมการอำนวยการฯ ที่จะได้รับพระราชทานครุยอาจารย์นั้นต้องดำรงตำแหน่งติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า ๕ ปี เป็นได้รับพระราชทานในปีแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการอำนวยการฯ ส่วนเกณฑ์พระราชทานครุยอาจารย์แก่ ผู้กำกับคณะและอาจารย์ และครุยครูแก่คงครูคงถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เดิมตลอดมา

 

 

เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล)

เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ผู้ตรวจการพิเศษโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

แต่งเครื่องแบบปกติมหาอำมาตย์เอก สวมเสื้ออาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          ฉลองพระองค์อาจารย์ (ครุยพระบรมราชูปถัมภก) เสื้ออาจารย์ (ครุยอาจารย์) เสื้อครู (ครุยครู) โรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๖ นั้น มีรูปลักษณะเป็นเสื้อครุยพื้นผ้าโปร่งสีขาวแบบเสื้อครุยไทย มีสำรดกำมะหยี่สีน้ำเงินติดแถบไหมเงินที่ขอบรอบ และที่ต้นแขน ปลายแขนเหมือนกัน หากต่างกันตรงแถบไหมเงินที่ติดบนสำรด เสื้ออาจารย์นั้น มีแถบไหมเงินกว้าง ๑ เซนติเมตรติดที่ริมขอบสำรดทั้งสองข้าง ตอนกลางสำรดมีแถบไหมเงินกว้าง ๑ เซนติเมตรเรียงกัน ๒ แถบ กับมีแถบไหมเงินเล็กกว้างกึ่งเซนติเมตร ๑ แถบ คั่นกลางระหว่างแถบไหมเงินใหญ่ทั้งสอง

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ทรงฉลองพระองค์พระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          ฉลองพระองค์อาจารย์ หรือ “ฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก” นั้น มีลักษณะเช่นเดียวกับเสื้ออาจารย์ที่พระราชทานแก่กรรมการและอาจารย์ แต่มีพิเศษตรงที่มีสำรดที่ข้างพระองค์เช่นเดียวกับฉลองพระองค์พระราชวงศ์

 

 

หุ้มแพร หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (นัดดา ตฤษณานนท์)

ครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่งเครื่องแบบปกติกรมมหาดเล็ก

สวมเสื้อครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          ส่วนเสื้อครู (ครุยครู) นั้นมีแต่แถบไหมเงินกว้าง ๑ เซนติเมตร กับแถบไหมเงินเล็กกว้างกึ่งเซนติเมตรประดับเป็นริ้วคู่กันที่ริมขอบสำรดทั้งสองด้าน

 

          เสื้อครุยโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนี้ มีหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้เป็นต้นแบบในการทรงพระราชดำริเสื้อครุยเนติบัณฑิต และจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยได้ใช้เป็นต้นแบบในการขอพระราชทานเสื้อครุยสำหรับบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดในตอนต่อไป

 

 
 
 

 

[ ]  รายงานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๖๒ วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๕

[ ]  ข้อบังคับกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๙๕.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |