โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

 

๑๔๐. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑๒)

 

พระราชบันทึกเรื่องการจัดการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

ที่พระราชทานไปยังเสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ

 

 

          ในส่วนหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น นอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นโรงเรียนกินนอนแบบ Public School ของอังกฤษแล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไพศาลศิลปสาตร์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาของชาติเป็นกรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเพื่ออำนวยการจัดการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงให้เป็นไปตามแนวพระบรมราโชบายที่ได้พระราชทานไว้ ดังนี้

 

 

          “...In the Royal Pages College, what I want is not so much to turn out model boys, all of the same standard, all brilliant “madhayom” Scholars with thousands of marks each, as to turn out efficient young men, young men who will be physically and morally clean, and who will be looking forward keenly to take up whatever burden the future may lay upon them. I do not want monuments of learning who have passed all your exams with flying colours. I do not want a walking school books. What I want are just manly young men, honest, truthful, clean in habit and thoughts; and I would not break my heart about it if you told me that such or such a fellow writes with difficulty, can’t do compound fraction, or does not know any geometry, if I only knew that he has learnt enough at my school to know the difference between true manliness and effeminacy. I never want again to hear “clever” people complaining that “ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด”. At the Mahadlek College, what I want is that Education should mean the turning of a boy into a fine young man and a good citizen, not to crush out all individuality under the weight of Syllabus and System! and I want Education to be interesting to the boys, so that they would in later days be able to look back upon School life as something peculiarly pleasant to have passed through. My College is not to be compared to other schools, where the aim is different. If I had wanted just the ordinary kind of school, I would have founded a day school, not a boarding one...”   []

 

 

          ครั้นการทดลองจัดการศึกษาตามแนวพระราชดำริที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง และพอจะเห็นผลสัมฤทธิ์ของการจัดการศึกษาตามแนวพระบรมราโชบายแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไพศาลศิลปสาตร์ นำผลที่ได้จากการทดลองในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้นไปปรับใช้เป็นหลักสูตรชั้นประถมและมัธยมในโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลทั่วพระราชอาณาจักร

 

          อนึ่ง เมื่อทรงพระราชดำริให้จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแทนพระอารามหลวง เนื่องในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาครั้งแรกในรัชกาลเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น พร้อมกันนั้นก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ขึ้น เพื่อเป็นสถานฝึกหัดราชการฝ่ายพลเรือน “...สำหรับส่งคนไปรับราชการทุกกระทรวงทะบวงการ จัดการโรงเรียนให้เปน พแนกวิทยาต่างๆ เช่น กฎหมาย ปกครอง การต่างประเทศ การเกษตร การช่าง แลการแพทย์เปนต้น...”  []  กับได้พระราชทานเงินที่เหลือจากการสร้างพระบรมรูปทรงม้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยจำนวนกว่าเก้าแสนบาทให้เป็นทุนประเดิมอีกด้วย และเมื่อกระทรวงธรรมการได้ขยายการศึกษาชั้นมัธยมตอนปลายจนมีนักเรียนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ซึ่งเป็นปีที่ทรงเจริญพระชนม์พรรษาครบ “๓ รอบมโรงนักษัตร” แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยเฉพาะ เพื่อเรียนพระราชปฏิบัติในข้อราชการ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ซึ่งหัวข้อราชการสำคัญที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เสนาบดีกระทรวงธรรมการรับใส่เกล้าฯ ไปจัดดำเนินการสนองพระราชดำริ คือ เรื่องการจัดโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ดังมีความละเอียดปรากฏในบันทึกของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เรื่อง “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ว่า

 

 

          “...โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระจุลจอมเกล้าฯ อันเป็นรากเหง้าแห่งจุฬาลงกร์มหาวิทยาลัยนี้มีประวัติที่แจ้งอยู่แล้วว่าเป็นพระราชปฏิการคุณในพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสนอง พระราชประสงค์แห่งองค์บรมชนกนาถ แต่ชื่อของโรงเรียนยังจำกัดว่าจะฝึกหัดคนเฉพาะใช้ราชการ

 

          ต่อมาเมื่อการศึกษาของบ้านเมืองได้ก้าวเข้าสู่ความกว้างขวางที่ต้องการแผ่อุดมศึกษาให้แก่พลเมืองผู้มีปัญญาความสามารถ ไม่ว่าจะไปประกอบอาชีพใดๆ แม้ที่ไม่ใช่ราชการ พระมงกุฎเกล้าจึงมีพระราชดำรัสแก่ฉันผู้เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการเวลานั้นว่า ชื่อของวิทยาลัยนั้นยังส่อตัว อาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าจะฝึกหัดให้เขาทำราชการท่านั้น แทนที่จะเข้าใจว่าเป็นตลาดวิชา ใครปรารถนาอะไรก็มาซื้อหาเอาได้ไม่ว่าจะข้าราชการหรือไปทำงานส่วนตัวในบริษัทใดๆ หรือในหน้าที่พลเมืองทั่วไปได้ มีพระราชดำรัสถามฉันว่า จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเสียทีเดียวไม่ได้หรือ? จะได้เป็นตลาดวิชาให้คนเข้าใจถูกเสียทีเดียว

 

          ที่ฉันกล่าวข้างต้นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเกร็ด จะค้นหาจากบันทึกใดๆ ไม่ได้ทั้งหมด ก็เพราะเป็นเพียงพระราชปฏิสันถารเป็นการหารือกับเสนาบดีของท่านในที่รโหฐาน คือที่พระตำหนักจิตรลดาในเวลาประทับ ณ ที่นั้น

 

          ฉันได้กราบบังคมทูลสนองพระราชปรารภว่า ถ้าถือเอาอ๊อกสฟอร์ดหรือเคมบริดซ์เป็นมาตรฐาน เรายังไม่พร้อมที่จะสถาปนามหาวิทยาลัย จะต้องลงทุนรอนมากมายนัก ทั้งเงินทั้งคนของเรายังไม่พร้อม แต่ถ้าจะลดหย่อนลงมาเพียงมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ๆ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นสพรั่งราวกับดอกเห็ด ทั้งในตะวันตกและตะวันออก เราก็พอทำได้ มหาวิทยาลัยใหม่ๆ นี้เปรียบเหมือนเป็นโรงเรียนกลางวัน แต่ออกสฟอร์ด เคมบริดซ์ เปรียบเหมือนโรงเรียนประจำต่อยอดไปจากปับลิคสกูลของอังกฤษ การจัดต้องแพงกว่ากันมาก เมื่อคิดเทียบจำนวนนักเรียนเป็นหัวละมากน้อยในการลงทุนให้การศึกษาแก่เขา

 

          มหาวิทยาลัยเก่าของอังกฤษเท่ากับเป็นที่ประทับตราว่าคนนี้ออกไปทำงานอะไรๆ ก็ไว้ใจได้ เขาเป็นสุภาพบุรุษโดยสมบูรณ์แล้ว แต่มหาวิทยาลัยใหม่จะประทับตราให้ได้แต่เพียงว่า คนนี้มีวิชาเอนจิเนีย, แพทย์, กฎหมาย, วิทยาศาสตร์, อักษรศาสตร์ ฯลฯ ประถมและมัธยมศึกษาของเราใช้แผนโรงเรียนกลางวันอยู่แล้ว เมื่อตั้งมหาวิทยาลัยก็ต้องไปแผนนั้นด้วย การมีหอสำหรับนักเรียนประจำบ้างนั้น ไม่ทำให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนแผนเช่นเดียวกับการมีโรงเรียนประจำเล่นสองสามโรงเรียน ไม่ทำให้เราขึ้นชื่อว่าใช้แผนโรงเรียนประจำ

 

          พระราชดำรัสต่อไปนั้นว่า แผนปับลิคสกูลก็มีแต่ของอังกฤษซึ่งเจ้าของอวดนัก ได้ทำมานานหนักหนาแล้ว นอกนั้นทั้งบนภาคพื้นยุโรปและอเมริกาก็ต้องใช้แผนโรงเรียนกลางวัน เราทุนน้อย จะให้ได้งานมากก็ต้องเลือกเอาข้างโสหุ้ยน้อยอยู่เอง ว่าแต่ว่าจะถึงเวลาที่เราจะตั้งมหาวิทยาลัยสมัยใหม่กับเขาบ้างได้หรือยัง?

 

          ฉันสนองพระราชปุจฉาว่า จำนวนนักเรียนจบมัธยมบริบูรณ์ของเรายังน้อยมาก โรงเรียนข้าราชการพลเรือนยังต้องรับผู้จบมัธยมหก ในแง่นี้แง่เดียวก็อาจมีผู้คัดค้านได้ว่ายังไม่ถึงเวลา แต่การศึกษาของเราทุกส่วนได้ดำเนินตามพระบรมราโชบายที่เร่งเวลาและไปหน้าเวลาทั้งนั้น เป็นการปฏิบัติทางล่อให้เกิด “ดิมานด์” แทนที่จะคอยแต่ตั้ง “สับพลาย” ขึ้นรับดิมานด์”

 

 

          พระราชดำรัสต่อไปนั้นว่า นี่คือนิติธรรมของประเทศจัดใหม่ ซึ่งต้องตัดทางลัดเพื่อให้ถึงที่หมายทัน เขาจะไปมัวคอยให้ "ดิมานต์" เกิดเสียก่อนแล้วจึงขยับตัวตามอย่างไรได้? ประเทศจัดก่อนเขาจำเป็นอยู่เองจะต้องเดินตามหนทาง ซึ่งต้องอ้อมวกเวียน เพราะต้องคิดเอาเอง ไม่มีแบบอย่างต้องตรัสรู้ต่อยอดจากที่รู้กันแล้ว ก่อนตรัสรู้ต้องทิ่มผิดทิ่มถูกไปตามเพลงของการค้นคว้า ฉะนั้น นิติธรรมของเขาก็คอยดูนิมิตร คือ "ดิมานต์" ว่ามีอะไรเกิดขึ้นจะได้ไหวตัวตามโดยจัดตั้ง "สับพลาย" รับให้พอเหมาะ เดินเถิดอย่าคอยเวลาเลย อย่างไรเสียเราก็ต้องการมหาวิทยาลัย ตั้งเสียเดี๋ยวนี้ทีเดียว จะได้เป็นตลาดวิชาของเมืองไทย ไม่เป็นแต่เพียงที่เพาะข้าราชการไว้ใช้...”  []

 

 

          ต่อจากนั้นกระทรวงธรรมการจึงได้ดำเนินกระแสพระบรมราชโองการ “ประกาศประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เพื่อให้มหาวิทยาลัยนี้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสืบไป

 

 

 


[ ]  หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แปลความในพระราชบันทึกนี้ไว้เป็นภาษาไทย ดังนี้

“...สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ข้าไม่เป็นห่วงการปั้นนักเรียน“ชั้นมัธยม” ให้เป็นเทวดาเหมือนกันหมดทุกคน ได้คะแนนกันคนละหลายพันคะแนนเท่าการสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็ง และสะอาดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เตรียม พร้อมที่จะรับภาระต่างๆ ซึ่งจะมีมาในอนาคต ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆ ครั้ง ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือ เยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี และข้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้ามารายงานว่า เด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขเศษซ้อนไม่เป็น และไม่รู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษาพอที่จะรู้ว่าความเป็นลูกผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร ข้าไม่อยากได้ยิน “คนฉลาด” บ่นอีกว่า “ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” สิ่งที่ข้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคือ ให้การศึกษาเป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นเยาวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมด โดยบรรทุกหลักสูตรและระบบการต่างๆ ลงไป ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่งดงาม จนทำให้เด็กที่ออกไปแล้วหวนกลับมาคิดถึงในวันข้างหน้าด้วยความภาคภูมิใจ ขออย่าเอาโรงเรียนของข้าไปเปรียบกับโรงเรียนอื่น เพราะมีจุดหมายต่างกัน ถ้าข้าอยากจะได้โรงเรียนธรรมดาเพียงหลังหนึ่ง สร้างเป็นโรงเรียนไปมาจะไม่ดีกว่าหรือ จะสร้างโรงเรียนกินนอนขึ้นมาทำไม”

[ ]  “ประกาศตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๗ (๑๑ มกราคม ๑๒๙), หน้า ๑๒๕.

[ ]  เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา), “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”, หนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๐ : มหาธีรราชานุสรณ์ ๘๐ แ แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๓๔๕ - ๓๔๖.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |