โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐๒. ภาพล้อฝีพระหัตถ์ ()

 

 

เจ้าคุณสมุโหปนายะกาธิบดี

 

นายพลเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ นายพลโททหารบก นายพลเรือโท แห่งราชาวีสยาม

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๑ ฉบับที่ ๔ (๒๘ ธันวาคม ๒๔๖๑)

นาม

จางวางเอก มหาเสวกเอก นายพลเสือป่า นายนาวาเอก พระยาประสิทธิ์ศุภการ
(ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ร.น.
[]

อธิบาย

เจ้าคุณสมุโหปนายกะกาธิบดี หมายว่า พระยาประสิทธิ์ศุภการ เป็นผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระยา" ซึ่งเรียกกันเป็นเป็นสามัญว่า "เจ้าคุณ" มียศและตำแหน่งราชการเป็นนายพลโท นายนาวาเอก สมุหราชองครักษ์ และนายทหารเรือพิเศษ เป็นนายพลเสือป่า อุปนายกเสือป่า เป็นจางวางเอก อธิบดีกรมมหาดเล็ก และเป็นมหาเสวกเอก ผู้ช่วยราชการพิเศษกระทรวงวัง

 

          ในภาพพระยาประสิทธิ์ศุภการ สวมหมวกปีกสักหลาดสีดำ พับใบข้างขวาติดกับทรงหมวก ติดกับทรงหมวกปักพู่ขนนกขาวสลับแดงแบบนายพลเสือป่าทั่วไป หมายเป็นอุปนายกเสือป่า จากตอนกลางไปจนถึงปลายพู่เป็นขนไก่ดำ หมายเป็นนายพลเสือป่าเหล่าพรานหลวงรักษาพระองค์ ตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกองพันที่ ๒ กรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ ซีกขวาสวมเสื้อเต็มยศนายพลทหารบก รูปเสื้อทูนิค (Tunic) คอปิดสีขาว คอและข้อมือเป็นสักหลาดดำปักดิ้นทอง ที่คอเสื้อประดับเครื่องหมายนายทหารพลรบประจำการรูปพระมหามมงกุฎรัศมีเงิน บ่าขวาประดับอินทรธนูไหมทองถักยาวตามแนวบ่า มีจักรเงิน ๒ จักรติดที่ปลายอินทรธนู หมายเป็นนายทหารพลรบชั้นยศนายพลโท ที่กึ่งกลางอินทรธนูข้างขวาประดับอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ร.ร.๖ พระมหามงกุฎ หมายว่าเป็นนายทหารราชองครักษ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สอดสายสะพายประถมาภรณ์ช้างเผือกเฉียงบ่า ขวา ที่คอและอกเสื้อเบื้องขวาประดับดวงตราน้อยและดารา เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ ๒ "มหาโยธิน" หมายเป็นผู้มีฐานันดร มหาโยธิน และเป็น
ที่ปฤกษาใน "คณะที่ปฤกษาแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ซีกซ้ายสวมเสื้อเต็มยศใหญ่นายทหารเรือ เป็นเสื้อสักหลาดสีน้ำเงินดำ รูปเสื้อหางอกปิดเอวรัด มีดุมตราพระมหามงกุฎกับสมอ ๘ ดุม ชายเสื้อด้านหน้าเสมอ เพียงเอว บ่าซ้ายประดับอินทรธนูใหญ่แบบเอโปเล็ตต์ หลังอินทรธนูเป็นพื้นสักหลาดสีน้ำเงินดำ ที่ยอดอินทรธนูมีมีดุมตราพระมหามงกุฎกับสมอขนาดย่อม ๑ ดุม ขอบอินทรธนูถักดิ้นทอง และมีลุ่ยทองแขวนประดับในส่วนที่เป็นวงกลม ที่กลางอินทรธนูตอนยาวประดับสมอเงิน กับมีเครื่องหมายยศเป็นรูปจักรเงิน ๓ จักร ประดับที่วงกลมแห่งอินทรธนู เอวข้างขวาคาดรัดประคตไหมทองถักแบบนายพลทหารบก เอวข้างซ้ายคาดเข็มขัดสายกระบี่หนังดำเครื่องทอง มือทั้งสองข้างวางอยู่เหนือโกร่งกระบี่ฝักหนังดำเครื่องทองแบบทหารเรือ กางเกงเต็มยศขาสั้นปกเข่าสักหลาดสีขาวแบบข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนัก ขากางเกงข้างขวาประดับโบว์ไหมเงินพร้อมเข็มขัดเงินรัดใต้เข่า สวมถุงเท้าขาวรองเท้าหนังดำแบบราชการ (Court Shoes) ประดับเข็มเงิน หมายเป็นจางวางเอก อธิบดีกรมมหาดเล็ก ขากางเกงข้างซ้ายประดับโบว์ไหมทองพร้อมเข็มขัดทองรัดใต้เข่า สวมถุงเท้าขาว รองเท้าหนังดำแบบราชการ (Court Shoes) ประดับเข็มทอง หมายเป็นมหาเสวกเอก ผู้ช่วยราชการพิเศษกระทรวงวัง

 

 

มหาเสวกนายก
 

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๑ ฉบับพิเศษ เฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. ๒๔๖๑

นาม

มหาเสวกเอก นายพลเสือป่า นายพลตรี พระตำรวจตรี เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี
(ม.ร.ว.ปุ้ม มาลา กุล) เสนาบดีกระทรวงวัง และเกียกกายเสือป่า

อธิบาย

มหาเสวกนายก หมายว่า ผู้เป็นนายกหรือหัวหน้าของเหล่าราชเสวก หรือเสนาบดีกระทรวงวัง

 

          ในภาพเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี สวมหมวกเต็มยศนายทหารรักษาวัง ว.ป.ร. เป็นหมวกทรงค๊อกแฮ็ต (Cock Hat) สวมทางขวาง มีตราพระครุฑพาหโลหะสีทองติดทับบนดอกไม้แพรจีบสีบานเย็นที่หน้าหมวก มีพู่ขนสั้นทรงตั้งตรงสีขาวปักที่หมวกเหนือตราพระครุฑพาห หมายเป็นนายพลตรี ผู้กำกับราชการกรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร. เสื้อด้านขวาเป็นเสื้อเต็มยศสักหลาดสีดำ รูปเสื้อแต่งเวลาเย็น (Evening Dress) แบบข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนัก คอและข้อมือเป็นสักหลาดสีบานเย็นปักดิ้นทองรอบ มีเครื่องหมายประจำการเป็นรูปพระมหามงกุฎรัศมีเงินติดที่คอเสื้อ ที่หน้าอกปักดิ้นทองเป็นลายกนกนาคเต็มทั้งอก มีดาราเงินหมายยศประดับที่ข้อมือเสื้อเรียงกัน ๓ ดวง หมายชั้นยศมหาเสวกเอก ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง สอดสายสะพายมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกเฉียงบ่าขวา [] อกเสื้อเบื้องขวาประดับเข็มสมุหมนตรี รูปอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ว.ป.ร. มีรัศมีรอบ กับมีพระมหามงกุฎอยู่เหนือ หมายว่าเป็นข้าราชการพลเรือนที่ได้ทรงเลือกให้รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท มีเกียรติยศเสมอด้วยราชองครักษ์ฝ่ายทหาร เสื้อด้านซ้ายเป็นเสื้อนายเสือป่าเหล่าราบหลวงรักษาพระองค์ รูปเสื้อทูนิกคอตั้ง คอเสื้อและข้อมือเป็นสักหลาดแดงติดแถบไหมทอง มียันต์ลวดไหมทองหมายชั้นยศเหนือแถบทองที่ข้อมือเสื้อ ๔ เส้น หมายยศเป็นนายพลเสือป่าราบกลวงรักษาพระองค์ ที่คอเสื้อติดเครื่องหมายประจำการรูปอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ว. พระมหามงกุฎโลหะสีทอง มีอินทรธนูใบปกพื้นสักหลาดแดงยาวตลอดบ่า มีแถบทองกว้าง ๑ เซนติเมตรติดที่ริมขอบ กับมีแถบทองเล็กพาดกลางตามทางยาวอีก ๑ แถบ ปลายอินทรธนูเป็นใบปกคลุมไหล่ ประดับเครื่องหมายยศเงินรูปกระบี่ไขว้มีพระมหามงกุฎรัศมีอยู่เหนือ อกเสื้อเบื้องซ้ายตอนบนประดับเหรียญราชอิสริยาภรณ์พร้อมแพรแถบ ถัดลงมาประดับดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์รวม ๓ ดวง ที่แขนซ้ายเหนือข้อศอกติดผ้าพันแขนนาดกว้าง ๖ เซนติเมตร ทำเป็นริ้วสีน้ำเงินสลับขาวและน้ำเงินริ้วละ ๒ เซนติเมตร ที่กึ่งกลางผ้าพันแขนปักเครื่องหมายรูปหน้าโคปักด้วยดิ้นทอง หมายตำแหน่งเป็นเกียกกายเสือป่า มือซ้ายถือหม้อข้าวหมายว่า เกียกกายเสือป่ามีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องเสบียงอาหารของเสือป่า มือขวาถือไม้เกียรติยศยอดทองลงยาประดับเพชรมีตราพระมหาเทพทรงพระนนทิการ ประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง ที่เอวคาดรัดประคตพร้อมพู่ไหมแดง หมายเป็นพระตำรวจตรีพิเศษ ผู้กำกับราชการกรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ ด้านหลังเอวข้างขวาเหน็บขวาน หมายเป็นอธิบดีกรมศิลปากร มีขาและเท้าเป็นขาและเท้าช้างหมายเป็นผู้บัญชาการกรมช้างต้น เพราะได้ว่าการกรมช่างสิบหมู่และกรมพระคชบาล สืบต่อมาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และนายพลเรือโท พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ผู้ทรงเป็นพระอัยกาและพระบิดา มาโดยลำดับ

 

 

สุขะศึกษาธิการธรรม

 

 

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๑ ฉบับที่ ๕ (๑๑ มกราคม ๒๔๖๑)

นาม

จางวางเอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ

อธิบาย

สุขะศึกษาธิการธรรม คือ เสนาบดีกระทรวงธรรมการผู้มีหน้าที่จัดการศึกษาของชาติให้ผู้เรียนได้เล่าเรียนอย่างมีความสุขรวมทั้งบังคับบัญชาราชการฝ่ายธรรมการหรือการพระศาสนา

 

          ในภาพเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แต่งเครื่องแบบเต็มยศข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนัก สังกัดกรมมหาดเล็ก สวมเสื้อสักหลาดสีน้ำเงินรูปเสื้อแต่งเวลาเย็น (Evening Dress) คอและข้อมือเสื้อเป็นกำมะหยี่สีน้ำเงิน ปักลายเงินรอบคอและข้อมือ ที่หน้าอกปักลายกนกนาคด้วยดิ้นเงินเต็มทั้งอก ที่คอเสื้อติดเครื่องหมายประจำการรูปพระมหามงกุฎรัศมีเงิน มีดาราหมายยศเงิน ๓ ดวงติดเรียงกันที่ข้อมือเสื้อ หมายชั้นยศเป็นจางวางเอก กรมมหาดเล็ก สอดสายสะพายปฐมจุลจอมเกล้าเฉียงบ่าซ้าย สวมกางเกงเต็มยศขาสั้นปกเข่าสักหลาดสีขาวแบบข้าราชการในพระราชสำนัก ประดับโบว์ไหมเงินพร้อมเข็มขัดเงินรัดใต้เข่า สวมถุงเท้าขาวรองเท้าหนังดำแบบราชการ (Court Shoes) ประดับเข็มเงิน มือซ้ายวางบโต๊ะที่มีหนังสือเล่มใหญ่ชื่อ “การศุขาภิบาลสำหรับบุคคลแลครอบครัว” วางอยู่ มือขวาถือหมวกขนดำใบพับ (Cock Hat) ขลิบขนนกขาวติดดอกไม้แพรจีบสีน้ำเงินหมายว่า เป็นข้าราชการกรมมหาดเล็กยศชั้นจางวาง สวมครุยอาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง หมายว่า เป็นผู้ที่ได้ทำคุณประโยชน์แก่การศึกษาชาติ ทั้งได้เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และได้สนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งสภากรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง กับผู้อำนวยการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประดิษฐานเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาแต่แรกเริ่มสถาปนา

 

 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยารามราฆพ

[ พู่หางไก่ดำ เป็นพู่พิเศษที่ใช้ประดับหมวกนายเสือป่ายศชั้นนายพลเสือป่า เหล่าพรานหลวงรักษาพระองค์เพียงเหล่าเดียว นายพลเสือป่าเหล่าอื่นๆ ล้วนใช้พู่ขนนกขาวสลับแดง

[ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือกนี้เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเฉพาะแต่พระบรมวงศ์และเสนาบดีผู้มีความชอบในราชการเป็นพิเศษ และเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ หรือปฐมจุลจอมเกล้าแล้วเท่านั้น สายสะพายมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกนี้ เดิมใช้สะพายเฉียงบ่าขวา ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมาสะพายเฉียงบ่าซ้าย

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |