โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐๗. ภาพล้อฝีพระหัตถ์ (๑๐)

 

 

เฉลิมอากาศ

 

  

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๔ ฉบับที่ ๔๐ (๒๐ กันยายน ๒๔๖๒)

นาม

นายพันเอก พระเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) [] ผู้บังคับกองบินทหารบก

อธิบาย

“เฉลิมอากาศ” เป็นราชทินนามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ นายพันเอก พระเฉลิมอากาศ ผู้บังคับกองบินทหารบกและผู้บังคับการกองทหารในงานพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ - ๒ เมื่อการพระราชสงครามสงบลง โดยชาติมหาอำนาจกลางยอมลงนามสงบศึกแล้ว กองบัญชาการทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ขอให้กองทหารบกรถยนต์คงพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อร่วมสวนสนามฉลองชัย ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ก่อน จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เรียกกองบินทหารบก ซึ่งเสร็จสิ้นการฝึกหัดแล้วเดินทางกลับสู่พระนครพร้อมกับกองทูตทหาร แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพันเอก พระเฉลิมอากาศคงบังคับบัญชากองทหารบกรถยนต์อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส และให้เลือกซื้อเครื่องบินรบสภาพดีที่กองทัพฝรั่งเศสปลดประจำการแล้วกลับมาใช้ในราชการกองทัพบกสยาม จนสามารถจัดตั้งเป็นกรมอากาศยานทหารบกใน พ.ศ. ๒๔๖๔

 

          ภาพนี้ทรงเขียนขึ้นในโอกาสที่นายพันเอก พระเฉลิมอากาศ นำกองทหารบกรถยนต์ เดินทางกลับสู่พระนครโดยสวัสดิภาพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีต้อนรับกองทหารไทยที่ท้องสนามหลวงในวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒

 

           ในภาพ นายพันเอก พระเฉลิมอากาศ แต่งเครื่องแบบปกติคอตั้งสีกากีแกมเขียว สวมหมวกแก๊ปทรงหม้อตาลสีกากีแกมเขียว กระบังหน้าหุ้มผ้าสีกากีแกมเขียว สายรัดคางหนังเหลือง มีตราปทุมอุณาโลมติดที่หน้าหมวก ติดเครื่องหมายนายทหารพลรบปรำการรูปพระมหามงกุฎรัศมีเงินที่คอเสื้อ มีอินทรธนูติดตามยาวบ่า พื้นบนสีฟ้า ทาบแถบไหมทองกว้าง ๑ เซนติเมตรที่ริมขอบทั้งสามด้าน เว้นด้านปลายบ่า กับมีแถบไหมทองกว้างกึ่งเซนติเมตรพาดกลางตามทางยาวอินทรธนูอีก ๑ เส้น ปลายอินทรธนูทั้งสองข้างติดจักรหมายยศเงินเรียงกันข้างละ ๒ จักร กับที่ต้นอินทรธนูด้านคอเสื้ออีกข้างละ ๑ จักร หมายยศเป็นนายพันเอกเหล่าอากาศยาน ที่กึ่งกลาง อินทรธนูข้างขวาประดับอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ร.ร.๖ พระมหามงกุฎ กับประดับสายราชองครักษ์ไหมเหลืองที่อกเสื้อเบื้องขวา หมายเป็นราชองครักษ์พิเศษในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่กึ่งกลางอินทรธนูเบื้องซ้ายประดับเครื่องหมายสังกัดรูปปีกนกโลหะสีเงิน หมายเป็นนายทหารสังกัดกองบินทหารบก ที่อกเสื้อ เบื้องซ้ายประดับครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ ๔ อัศวิน หมายเป็น “โยธิน” แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี โดยมีความชอบตามประกาศพระราชทานถานันดรเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ว่า

 

“นายพันเอก พระเฉลิมอากาศ... เปนผู้ได้รับมอบให้จัดเตรียมกองบินทหารบกเพื่อออกไปราชการสงครามนอกพระราชอาณาเขตร์ ได้ปฏิบัติการในเรื่องจัดเตรียมนี้ด้วยความว่องไวและรอบคอบ ประกอบด้วยความอุสาหะวิริยภาพอย่างแก่กล้า แล้วก็ได้นำกองทหารนั้นออกไปสู่ยุโหรป กองทหารบกรถยนต์ซึ่งเปนส่วน ๑ แห่งกองบิน
ทหารบกนั้น ได้ไปทำการตามน่าที่ในยุทธบริเวณก่อนขณะสงบศึก นับว่าได้ทำสงครามโดยแท้จริง และทำการไปด้วยดี ถึงกับรัฐบาลฝรั่งเศสได้ให้ตราความชอบในการสงคราม สำหรับประดับธงชัยของกองทหารนั้น เปนที่เชิดชูเกียรติคุณของกองทัพบกสยามและชาติไทยอย่างงดงาม”
 []

 

 

เจ้าคุณกรุง

 

   

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๘ ฉบับที่ ๘๐ (๓ กรกฎาคม ๒๔๖๓)

นาม

นายกองเอก พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดนอยุธยา

อธิบาย

“เจ้าคุณกรุง” คือ มหาเสวกโท นายกองเอก พระยาโบราณราชธานินทร์ ผู้เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยเพียงคนเดียว ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปประจำรับราชการที่มณฑลกรุงเก่าหรือมณฑลอยุธยา แล้วคงประจำรับราชการอยู่แต่เฉพาะในมณฑลนั้นตั้งแต่ยังเป็นหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ข้าหลวงมหาดไทยมณฑลกรุงเก่า แล้วเลื่อนเป็นพระอนุรักษ์ภูเบศร์ ผู้รักษากรุงศรีอยุธยา เป็นพระยาโบราณบุรานุรักษ์ ปลัดเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า แล้ว เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าตามลำดับ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเพิ่มเกียรติยศและเปลี่ยนราชทินนามเป็น พระยาโบราณราชธานินทร์ สยามินทรภักดี พิริยพาหะ ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งระเบียบรวมหลายมณฑลเป็นภาค มีอุปราชบัญชาการเหนือสมุหเทศาภิบาลมณฑลอื่นในภาคนั้นๆ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาโบราณราชธานินทร์เลื่อนขึ้นเป็นอุปราชภาคอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙

 

          การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึงสองรัชกาลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาโบราณราชธานินทร์ คงรับราชการอยู่แต่ในมณฑลอยุธยานั้น เป็นเพราะพระยาโบราณราชธานินทร์

 

          “เป็นผู้รักรู้โบราณคดีโดยอุปนิสัย ชอบอ่านหนังสือพระราชพงศาวดารตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน พอขึ้นไปรับราชการอยู่ ณ พระนครศรี อยุธยาก็ตั้งต้นเที่ยวดูโบราณวัตถุสถานต่างๆ ที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดาร แห่งใดไม่ปรากฏก็พยายามค้นหา สุดแต่มีเวลาว่างเมื่อใดก็วานชาวบ้านพาบุกป่าฝ่าหนามเที่ยวค้นหาโบราณวัตถุสถานมา ตั้งแต่เป็นหลวงอนุรักษ์ภูเบศร จนเป็นพระยาโบราณฯ ก็มีความรู้ด้วยพบโบราณวัตถุสถานในพระนครศรีอยุธยา ซึ่งผู้อื่นยังไม่เคยเห็นเป็นอันมาก”  []

 

          ในภาพ พระยาโบราณราชธานินทร์แต่งเครื่องแบบปกติ นายกองเอก ผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดนอยุธยา สวมหมวกแก๊ปสีกากี กระบังหน้าหนังดำ มีลายสร้อยไชยพฤกษ์ปักดิ้นทองที่ริมขอบนอกของกระบังหมวก ผ้าพันหมวกสีแดง หมายเป็นนายเสือป่าสังกัดกองเสนารักษาดินแดนกรุงเก่า สวมเสื้อเชิ้ตสีกากีผูกผ้าผูกคอสีกากี เงื่อนกลาสี เสื้อชั้นนอกคอแบะสีกากี ติดดุมทองเกลี้ยง ๔ ดุม มีกระเป๋าใบปก ๔ กระเป๋า ที่บ่าทั้งสองข้างติดอินทรธนูพื้นสักหลาดสีแดงทาบแถบไหมทองกว้าง ๑ เซนติเมตรที่ริมขอบ กับมีเส้นไหมทองขนาดเล็กพาดกลางตามทางยาวอีก ๑ เส้น กลางอินทรธนูข้างขวาประดับเข็มอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ร.ร.๖ พระมหามงกุฎเงิน กับสายราชองครักษ์ไหมเหลืองที่อกเสื้อเบื้องขวา หมายเป็นราชองครักษ์เสือป่าในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บ่าซ้ายประดับเครื่องหมายยศเงินรูปพระมหามงกุฎรัศมีเหนือจักรข้างละ ๒ จักร หมายยศเป็นนายกองเอก ที่คอเสื้อติดแผ่นทาบคอเสื้อพื้นสักหลาดสีแดงมีลายช่อไชยพฤกษ์พาดกลางตามทางยาว หมายเป็นนายเสือป่าประจำกรมบัญชาการกองเสนารักษาดินแดน ที่กึ่งกลางกระเป๋าเสื้อเบื้องซ้ายประดับเข็มข้าหลวงเดิมรูปพระวชิราวุธ หมายเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิม ข้อมือเสื้อทั้งสองข้างติดใบปกรูปชายแฉลบพื้นสีกากี ติดขอบแถบไหมสีน้ำตาล ที่กึ่งกลางชายแฉลบปักไหมสีขาวเป็นรูปพระมหามงกุฎเปล่งพระรัศมี เหนือจักรปักไหมขาว ๒ จักร กับมีแถบไหมสีน้ำตาลทำเป็นบั้งหมายชั้นยศนายกองเอก ๓ บั้งที่รอบข้อมือเสื้อ มีเข็มขัดหนังเหลืองสะพายเฉียงบ่าขวา สวมกางเกงแบบขี่ม้าสีกากี มือขวาชี้ไปที่กองอิฐซากโบราณวัตถุสถาน มือซ้ายถือไม้เท้าเสือป่า

 

          ภาพ “เจ้าคุณกรุง” นี้ ทรงวาดไว้เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้วได้พระราชทานไปจัดแสดงในการประกวดภาพสำหรับผู้ชอบเขียน (Amateur) ครั้งที่ ๒ ณ ศาลาวรนาฏเวทีสถาน พระราชวังบางปะอิน ในระหว่างวันที่ ๘ - ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ พร้อมภาพฝีพระหัตถ์อื่นอีก ๔๒ ภาพ โดยไม่ร่วมประกวดเพื่อรับพระราชทานรางวัล ส่วนรายได้จากการประกวดภาพครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่กรมเสือป่ารักษาดินแดนอยุธยา

 

 

 


[ ]   ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พลโท พระยาเฉลิมอากาศ

[ ]  “ประกาศพระราชทานถานันดรเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีและเหรียญรามมาลา”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๖
(๒๗ เมษายน ๒๔๖๒), หน้า ๑๕๒ - ๑๕๗.

[ ]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “ประวัติ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์)”, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๓ เรื่องกรุงเก่า, หน้า (๑๖)

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |