โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐๔. ภาพล้อฝีพระหัตถ์ ()

 

 

อัญเชิญทรงเปิดสะพานเจริญศรัทธา

 

  

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๑ ฉบับที่ ๙ (๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๑)

นาม

จางวางตรี พระยามหินทรเดชานุวัตน์ (ใหญ่ ศยามานนท์) [] สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครไชยศรี

อธิบาย

อัญเชิญทรงเปิดสะพานเจริญศรัทธา หมายถึง พระยามหินทรเดชานุวัตน์ในตำแหน่ง สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครไชยศรี เป็นผู้กราบบังคมทูลพระกรุณาอัญเชิญทรงทรงเปิดสะพานเจริญศรัทธา เมื่อวันอังคารที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑

 

          สะพานเจริญศรัทธานี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นสะพานข้ามคลองเจดีย์บูชาเพื่อเชื่อมการคมนาคมจากสถานีรถไฟนครปฐมไปยังองค์พระปฐมเจดีย์ สะพานนี้เป็นสะพานสุดท้ายในหมู่สะพานชุด "เจริญ" ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา และเป็นสะพานในชุด "เจริญ" เพียงสะพานเดียวที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในหัวเมือง

 

          ในภาพพระยามหินเดชานุวัตน์ แต่งเครื่องแบบเต็มยศข้าราชการกรมมหาดเล็ก ยศชั้นจางวางตรี สวมเสื้อสักหลาดสีน้ำเงินรูปเสื้อแต่งเวลาเย็น (Evening Dress) คอและข้อมือเป็นกำมะหยี่สีน้ำเงินปักดิ้นเงินรอบ หน้าอกปักดิ้นเงินเป็นลายกนกนาคเต็มทั้งอกและข้อมือด้วยดิ้นเงิน ที่คอเสื้อประดับเครื่องหมายประจำการรูปพระมหามงกุฎรัศมีเงิน ขัดกระบี่ข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักโกร่งกระบี่ยอดพระเกี้ยวเงิน ฝักกระบี่หนังดำเครื่องเงิน ผูกพู่กระบี่ไหมเงิน สวมกางเกงเต็มยศขาสั้นปกเข่าสักหลาดสีขาวแบบข้าราชการในพระราชสำนัก ประดับโบว์ไหมเงินพร้อมเข็มขัดเงินรัดใต้เข่า สวมถุงเท้าขาวรองเท้าหนังดำแบบราชการ (Court Shoes) ประดับเข็มเงิน สวมครุยเสนามาตย์ชั้นเอก เป็นเสื้อครุยพื้นผ้าโปร่งสีขาวปักทองลายก้านแย่งเต็มทั้งตัวเสื้อ มีสำรดกรองทองปักทองติดขอบรอบและที่ต้นแขนปลายแขน ประดับรุปวงในของดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นที่ ๒ คือ รอบนอกเป็นแถบน้ำเงินวงกลมมีหนังสือ "เราจะบำรุงตระกูลวงษ์ให้เจริญ" ใจกลางพื้นสีชมพูมีอักษร จ ๓ อักษรไขว้กัน ขนาดกว้างสุดขอบ ๑๔ เซนติเมตรที่อกเสื้อครุยเบื้องซ้าย หมายว่าเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดเพียงชั้น "ทุติย จุลจอมเกล้า" มือขวาถือคำกราบบังคมทูลพระกรุณาอัญเชิญทรงเปิดสะพานเจริญศรัทธา

 

 

ดำรงราชบุระมณฑล
 

  
 

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๑ ฉบับที่ ๑๐ (๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๑)

นาม

จางวางตรี พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ฉี่ บุนนาค) [] สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑล ราชบุรี

อธิบาย

ดำรงราชบุระมณฑล มีความหมายว่า พระยามนตรีสุริยวงศ์เพิ่งจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลราชบุรี เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ถัดมาวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ให้เป็น พระยามนตรีสุริยวงศ์ ดำรงราชบุรมณฑล กมลภักดี พิริยพาหะ ถือศักดินา ๑๐๐๐๐

 

          อนึ่งโดยที่มณฑลราชบุรีเป็นมณฑลสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้เป็นพื้นที่ตั้งรับในกรณีที่จะมีอริราชศัตรูยกกำลังเข้ามาจากคาบสมุทรมลายู จึงมักจะเสด็จพระราชดำเนินไปซ้อมรบเสือป่าในพื้นที่มณฑลราชบุรีเป็นประจำทุกปี ดังนั้นสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรีจึงต้องมีหน้าที่สำคัญในการจัดเตรียมพลับพลาที่ประทับ พร้อมค่ายพักแรมของเสือป่า จัดเตรียมพาหนะและเส้นทางลำเลียงพล รวมทั้งการขุดสนามเพลาะในการซ้อมรบเสือป่า เป็นการเตรียมฝึกซ้อมไว้เพื่อรองรับเหตุการณ์จริงอยู่เสมอ ๆ

 

          ในภาพ พระยามนตรีสุริยวงศ์ แต่งเครื่องแบบนายกองตรี ผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดนราชบุรี สวมเสื้อเชิ้ตสีกากีผูกผ้าผูกคอสีกากีเงื่อนกลาสี เสื้อชั้นนอกผ้าสีกากีคอแบะ คอเสื้อประดับเข็มเครื่องหมายนายเสือป่าประจำการรูปอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ว.พระมหามงกุฎ กาไหล่ทอง ติดอินทรธนูพื้นสักหลาดสีน้ำเงินทาบแถบไหมทองประดับเครื่องหมายยศเงินรูปพระมหามงกุฎรัศมี หมายยศนายกองตรี ที่อกเสือติดดุมทองเกลี้ยง ๔ ดุม มีกระเป๋าใบปก ๔ กระเป๋า สายนกหวีดสีน้ำเงินคล้องคอ ปลายสายนกหวีดเหน็บไว้ในกระเป๋าเสื้อเบื้องซ้าย อกเสื้อเบื้องซ้ายตอนบนเหนือกระเป๋าประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่กึ่งกลางกระเป๋าเสื้อเบื้องซ้ายประดับเข็มข้าหลวงเดิมรูปพระวชิราวุธ หมายเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้อมือเสื้อทั้งสองข้างติดใบปกรูปชายแฉลบพื้นสีกากี ติดขอบแถบไหมสีน้ำตาล ที่กึ่งกลางชายแฉลบปัก ไหมสีขาวเป็นรูปพระมหามงกุฎเปล่งพระรัศมี มีแถบไหมสีน้ำตาลทำเป็นบั้งหมายชั้นยศนายกองตรี ๑ บั้งที่รอบข้อมือเสื้อ มีเข็มขัดหนังเหลืองพร้อมซองกระบี่สะพายเฉียง บ่าขวาขัดกระบี่ไทยหัวเสือฝักหนังดำเครื่องทอง มือขวาถือหมวกแก๊ปสีกากี

 

 

พิชโย

 

      

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๒ ฉบับที่ ๒๑ (๓ พฤษภาคม ๒๔๖๒)

นาม

นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) [] หัวหน้ากองทูตทหาร
ไปในงานพระราชสงราม ณ ทวีปยุโรป

อธิบาย

"พิชโย" มาจากราชทินนาม "พิไชยชาญฤทธิ์" ซึ่งท่านผู้นี้ได้ชื่อว่า เป็นอาจารย์วิชายุทธศาสตร์และยุทธวิธีผู้มีชื่อเสียงยิ่งของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

 

          ภาพนี้ทรงวาดลงในดุสิตสมิตเพื่อแสดงความยินดีในคราวที่นายพลตรี พระยาพิไชยฤทธิ์ หัวหน้ากองทูตทหารหรือแม่ทัพใหญ่ฝ่ายสยามในงานพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรป นำนายและพลทหารในกองบิน ทหารบกเดินทางกลับถึงกรุงสยามโดยสวัสดิภาพเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๒

 

          ในภาพ นายพลตรี พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ แต่งเครื่องแบบปกติ สวมหมวกแก๊ปสีกากีแกมเขียว ผ้าพันหมวกและกระบังหน้าสีกากีแกมเขียว มีตราปทุมอุณาโลมติดที่หน้าหมวก เสื้อแบบราชการสีกากีแกมเขียว ติดดุมทองเกลี้ยง ๕ ดุม กับมีกระเป๋าใบปก ๔ กระเป๋า ติดอินทรธนูไหมทองถักยาวตามบ่า ประดับจักรเงินหมายยศที่ปลายอินทรธนูทั้งสองข้างๆ ละ ๑ จักร กลางอินทรธนูข้างขวาประดับอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ จ.ป.ร.พระเกี้ยวยอด หมายเป็นราชองครักษ์มาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลางอินทรธนูเบื้องซ้ายประดับเครื่องหมายสังกัดรูปพระมหามงกุฎเงิน หมายเป็นนายทหารสังกัดกรมเสนาธิการทหารบก คอเสื้อประดับเข็มเครื่องหมายพลรบประจำการรูปพระมหามงกุฎรัศมีเงิน มีเข็มขัดหนังเหลือง พร้อมสายกระบี่สะพายเฉียงบ่าขวา กางเกงสีกากีแกมเขียวแบบขี่ม้า รองเท้าสูง (บูท) หนังเหลือง มือทั้งสองข้างกุมโกร่งกระบี่ฝักเงินพร้อมถุงมือ

 

          เครื่องแบบสีกากีแกมเขียวนี้ กองทัพฝรั่งเศสจ่ายให้นายและพลทหารในกองทหารอาสาของไทยที่ไปในงานพระราชสงครามทวีปยุโรปแทนเครื่องแบบสีกากี ซึ่งกระทรวงกลาโหมจ่ายให้เมื่อครั้งออกเดินทางไปจากกรุงเทพฯ เพื่อให้สอดคล้อง กับสีเครื่องแบบทหารในกองทัพสัมพันธมิตรซึ่งเข้าร่วมในมหาสงครามภาคพื้นยุโรป เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบลงแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารในกองทัพบกสยามเปลี่ยนเครื่องแบบจากสีกากีมาเป็นสีกากีแกมเขียวตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ และนายทหารบกไทยคงใช้เครื่องแบบสีกากีแกมเขียวสืบมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

 


[ ]   ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น จางวางโท

[ ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น นายกองเอก

[ ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พลเอก พระยาเทพหัสดิน

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |