โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

 

๑๔๑. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑๓)

 

          ครั้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบลงใน พ.ศ. ๒๔๖๒ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงธรรมการติดต่อขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการจากมูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วได้โปรดกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ซึ่งเวลานั้นกำลังทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์อยู่ทหรัฐอเมริกาเป็นผู้แทนรัฐบาลสยาม ในตำแหน่งข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไป (Inspector General of Education)  []  ในการเจรจากับมูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ จนได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากมูลนิธิดังกล่าวส่ง ศาสตราจารย์ ดร.เอลลิส เข้ามาวางรากฐานการเรียนการสอนวิชาแพทยศาสตร์ เป็นผลให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถเปิดสอนถึงชั้นปริญญาตรีในหลักสูตรเวชชศาสตร์บัณฑิต [] ได้เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗

 

 

โรงเรียนเพาะช่าง

 

          อนึ่ง ในแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖ นอกจากจะมีการจัดหลักสูตรวิชาสามัญเป็นหลักสูตรชั้นประถม มัธยมต้น มัธยมกลางและมัธยมปลายแล้ว ในแผนการศึกษาฉบับนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงธรรมการจัดให้มีหลักสูตรอาชีวศึกษาในระดับมัธยมต้นขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะทรงพระราชดำริว่า “...การฝึกสอนเด็กนั้นจำจะต้องฝึกสอนหลายอย่าง ไม่ใช่แต่จะให้เรียนวิชาหนังสือมีความรู้ไป สำหรับเปนเสมียนแลเข้าทำราชการเท่านั้น... วิชาช่างต่างๆ นั้น ว่าโดยเฉภาะก็เปนทางที่จะหาเลี้ยงชีพได้ดีส่วนหนึ่งเหมือนกัน แลถ้าสำหรับประกอบกับวิชาอื่นๆ แล้ว ก็จะช่วยให้การฝึกสอนโดยทั่วไปนั้นสำเร็จดียิ่งขึ้น...”   []  จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนเพาะช่าง และโรงเรียนพณิชยการขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ กับโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เพื่อให้เป็นทางเลือกของนักเรียนที่ประสงค์จะเล่าเรียนวิชาอาชีพเพื่อไปประกอบวิชาชีพเลี้ยงตัวโดยไม่จำต้องเข้ารับราชการหรือทำงานเป็นเสมียน

 

          ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ เพื่อควบคุมการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกระทรวงธรรมการ ในขณะเดียวกันก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายการศึกษาระดับประถมศึกษาไปยังอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านทั่วราชอาณาจักร โดยจัดตั้งเป็น “โรงเรียนประชาบาล” ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดตั้งและดำเนินการศึกษาโดยทุนทรัพย์ของประชาชนในท้องถิ่นนั้น แล้วจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ อันมีผลบังคับให้เด็กไทยทุกคนที่มีอายุระหว่าง ๗ - ๑๔ ปี เข้าเรียนในโรงเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาหรืออ่านออกเขียนได้ และถ้านักเรียนคนใดไม่มีโอกาสได้เล่าเรียนต่อในชั้นมัธยมต่อไปแล้ว ก็ให้คงเรียนวิชาทำมาหาเลี้ยงชีพในโรงเรียนประชาบาลหรือโรงเรียนประถมนั้นต่อไปอีก ๒ ปี จึงเป็นอันพ้นเกณฑ์บังคับ

 

 

ด้านการป้องกันประเทศ

 

          สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยจำต้องยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงหนึ่งเดือนก่อนที่จะเสด็จออกไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และในระหว่างที่ประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษเรื่อยมาจนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยก็ยังคงต้องเสียดินแดนบางส่วนให้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษอีกหลายคราว และสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องเสียดินแดนเหล่านั้นก็เนื่องมาจากการขาดกำลังทหารที่สามารถจะป้องกันรักษาบ้านเมืองจากการรุกรานของมหาอำนาจชาติตะวันตก

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติและได้ทรงรับพระยศเป็นจอมพล และจอมพลเรือ ทรงเป็นจอมทัพสยามเมื่อวันที่ ๓ และ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบการป้องกันพระราชอาณาจักร โดยโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกกรมยุทธนาธิการซึ่งปกครองบังคับบัญชาราชการฝ่ายทหารบกมาตั้งแต่ครั้งปฎิรูปการปกครองแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ แล้วโปรดให้ยกราชการฝ่ายทหารบกไปขึ้นสังกัดในกระทรวงกลาโหม กับทรงยกกรมทหารเรือขึ้นเป็นกระทรวงทหารเรือ ในขณะเดียวกันก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้แยกการปกครองบังคับบัญชาราชการในกระทรวงกลาโหมและทหารเรือ ให้เสนาบดีกระทรวงกลาโหมและกระทรวงทหารเรือคงปกครองบังคับบัญชาแต่ราชการฝ่ายพลเรือนในกระทรวง ส่วนการบังคับบัญชากำลังพลรวมทั้งงานด้านยุทธการให้ขึ้นตรงต่อเสนาธิการทหารบกและเสนาธิการทหารเรือ ซึ่งขึ้นตรงต่อเสนาบดีกระทรวงกลาโหมและกระทรวงทหารเรืออีกชั้นหนึ่ง พร้อมกันนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสภาการทัพ เพื่อปรึกษาดำริกิจการป้องกันพระราชอาณาจักร สภานี้มีสมาชิกประกอบด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นสภานายก เสนาบดีกระทรวงกลาโหม กระทรวงทหารเรือ จอมพลทหารบก และจอมพลเรือเป็นสมาชิก เสนาธิการทหารบกเป็นเลขานุการ และให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงที่จะต้องปรึกษาในสภานี้เป็นสมาชิกพิเศษ สภาการทัพนี้ต่อมาได้พัฒนามาเป็นสภาป้องกันพระราชอาณาจักรและสภากลาโหมในปัจจุบัน

 

 

จอมพล จอมพลเรือ พระบาทสมเด็จระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จอมทัพสยาม

 

 

          อนึ่ง ในระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ยังได้ตรวจพบหลักฐานอีกว่า ทรงให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชาติเป็นอันดับแรก ดังปรากฏสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๔๖๘ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดสรรงบประมาณเพื่อการ ป้องกันประเทศไว้ถึงร้อยละ ๒๔.๓ ในขณะที่งบประมาณด้านการปกครองที่ทรงให้ความสำคัญเป็นลำดับที่ ๒ นั้นได้รับการจัดสรรเพียงร้อยละ ๑๒.๗
การที่ทรงให้ความสำคัญกับการป้องกันประเทศมากกว่าการพัฒนาบ้านเมืองนั้น เสวกโท จมื่น อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) มหาดเล็กผู้เคยรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทได้กล่าวถึงพระราชกระแสที่เคยได้ฟังจากพระโอษฐ์ไว้ใน “เหตุผลที่รัชกาลที่ ๖ ทรงประกาศสงคราม” ว่า “...ทรงรู้ดีว่าประเทศที่เขาทำการล่าเมืองขึ้นนั้นเขามีพฤติการณ์กระทำกันอย่างไร และมีเพทุบายแยบคายต่างๆอย่างไร เขาทำงานกันอย่างไร... จึงระวังพระองค์ไม่ขยายบ้านเมืองไปในทางปรุงแต่งเพราะยิ่งแต่งยิ่งสวย เป็นที่ต้องตาต้องใจของอริราชศัตรู...”  [] ทั้งยังได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายถึงการลงทุนตัดถนนซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลไว้ว่า “...ทำไมเราจะทำไว้ให้คนอื่นมาชุบมือเปิบ เอาเงินนั้นมาเตรียมกำลังรบ แม้ใครจะเอาประเทศของเราไปขอให้เอาไปแต่ซาก...”  []

 

 

ตารางแสดงงบประมาณรายจ่ายด้านการป้องกันประเทศ

ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๑ - ๒๔๖๘

 

 

ภาพหมู่นายทหารกรมทหารรักษาวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          ถึงแม้นว่าจะโปรดเกล้าฯ ให้จัดสรรงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากเป็นงบสำหรับการป้องกันประเทศแล้วก็ตาม แต่งบประมาณจำนวนนั้นก็ยังหาพอเพียงแก่การบรรจุกำลังพลและจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้พอเพียงแก่อัตรากำลังกองทัพบกที่วางโครงสร้างไว้ถึง ๑๐ กองพล รวมทั้งกองทัพเรือที่มีภารกิจในการป้องกันพระราชอาณาเขตทางทะเลตลอดชายฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันเป็นระยะทางยาวกว่า ๒,๐๐๐ กิโลเมตร ดังนั้นในวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมวังนอกซึ่งเป็นส่วนราชการในพระราชสำนักขึ้นเป็น “กรมทหารรักษาวัง” [] โปรดให้จัดกำลังรบและการปกครองบังคับบัญชาเป็นกรมทหารเต็มรูปแบบ แต่ให้คงขึ้นการบังคับบัญชาอยู่ในกระทรวงวังซึ่งเบิกจ่ายงบประมาณทั้งหมดจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

 

 

 


[ ]  เป็นตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีในกระทรวงศึกษาธิการ

[ ]  ปัจจุบันคือ หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต

[ ]  “พระราชดำรัสตอบ”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๙ (๒๒ มกราคม ๑๓๑), หน้า ๒๔๕๔ - ๒๔๕๕.

[ ]  จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช). พระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๕ เรื่อง เหตุผลที่รัชกาลที่ ๖ ทรงประกาศสงคราม ดุสิตธานี, หน้า ๒๘ - ๒๙.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๙.

[ ]  ต่อมาวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามกรมทหารนี้ว่า “กรมทหารรักษาวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” หรือเรียกโดยย่อว่า “กรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร.” ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว กรมทหารรักษาวังได้ถูกได้แปรสภาพเป็น “กองพันทหารราบที่ ๙” จัดเป็นหน่วยทหารในสังกัดกระกลาโหม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้แปรสภาพเป็น “กองพันที่ ๔ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ปัจจุบัน คือ กองพันที่ ๓ กรทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |