โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

 

๑๔๗. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑๙)

 

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

ทรงฉายพระฉายาลักษณ์พร้อมด้วยข้าราชการไทยและคณะผู้ตามเสด็จชาวสหรัฐอเมริกา

ที่นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๕

ทรงฉายคราวเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๑๐ ตุลาคม - ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๕

ในการเสด็จนิวัติพระนครโดยวิถีรอบพิภพ พ.ศ. ๒๔๔๕ 

(นั่งเก้าอี้จากซ้าย) ๑. พระยาอรรคราชวราทร (ภัสดา  บุรณศิริ)
๒. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
๓. นายพันเอก พระยาราชวัลภานุสิษฐ (อ๊อด  ศุภมิตร) ราชองครักษ์
(แถวยืนจากซ้าย) ๓. นายพันตรี หลวงสรสิทธยานุการ (อุ่ม  อินทรโยธิน)
๕. หม่อมอนุวัตรวรพงษ์ (ม.ร.ว.จิตร  สุทัศน์)

 

 

          สืบเนื่องจากการที่ได้เสด็จไปประทับทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลายาวนานถึง ๙ ปี และได้ทรงใช้เวลาว่างจากการทรงศึกษาเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนประเทศต่างๆ ในยุโรปอยู่เสมอ และในระหว่างทางเสด็จนิวัติพระนครในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ก็ยังได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น จึงทำให้ทรงคุ้นเคยกับประมุขของประเทศต่างๆ เป็นอย่างดียิ่ง ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วก็ได้ทรงเชิญผู้แทนประมุขจากนานาประเทศมาร่วมในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ จึงทำให้ประเทศสยามเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมากยิ่งขึ้น

 

 

ทรงฉายพระฉายาลักษณ์พร้อมด้วยคณะข้าราชการไทยและญี่ปุ่น

ณ พระราชวังชิบา (Shiba Palace) กรุงโตเกียว

เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๕

คราวเสด็จประพาสประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๑๖ ธันวาคม - ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๕

ในการเสด็จนิวัติพระนครโดยวิถีรอบพิภพ พ.ศ. ๒๔๔๕

(แถวนั่งจากซ้าย) ๑. กัปตันดอร์ลิ ผู้บังคับการเรือพระที่นั่งมหาจักรี  
๓. นายพันเอก พระยาราชวัลภานุสิษฐ (อ๊อด  ศุภมิตร)  ราชองครักษ์
๔. นายร้อยโท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร  
๕. มิสเตอร์วาตานาเบ (Mr. N. Watanabe)  เจ้าพนักงานกรมพระราชพิธี
๖. พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย  มาลากุล)  
๗. หม่อมอนุวัตรวรพงษ์ (ม.ร.ว.จิตร  สุทัศน์)  
๘. นายนาวาเอกไซโต (M. le Capitaine de Vaisseau Saito)  
(แถวยืนจากซ้าย) ๓. หลวงศักดิ์ นายเวร (เพิ่ม  ไกรฤกษ์)  
๔. นายพันโท พระราชวรินทร์ (วิเชียร  บุนนาค)  
๕. นายเรือโท หลวงประดิยัตินาวายุทธ์ (ฉ่าง  แสง - ชูโต)  
๖. นายพันตรี หลวงสรสิทธยานุการ (อุ่ม  อินทรโยธิน)  ราชองครักษ์

 

 

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้นในสมรภูมิทวีปยุโรป ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำโดยอังกฤษ ฝรั่งเศส และรุสเซีย กับฝ่ายมหาอำนาจกลางซึ่งประกอบด้วยเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี ในช่วงต้นของสงครามนั้นประเทศสยามได้ประกาศตนเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และคงรักษาความเป็นกลางนั้นโดยเคร่งครัดมาจนถึงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงประกาศสงครามกับชาติมหาอำนาจกลางอันประกอบด้วยเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี

 

 

ธงชาติของชาติสัมพันธมิตร

กับแผนที่แสดงประเทศที่ร่วมในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๖๑)

ทั้งฝ่ายสัมพันธมิตรและมหาอำนาจกลาง

 

 

          การที่ทรงประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีนั้น นอกจากจะส่งผลให้สนธิสัญญาต่างๆ ที่รัฐบาลสยามทำไว้กับรัฐบาลเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีเป็นอันสิ้นสุดลง อันทำให้สามารถยกเลิกข้อผูกมัดเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและภาษีร้อยชักสามที่ทำไว้กับประเทศเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีลงได้ นับตั้งแต่แต่วันที่ประกาศสงครามครั้งนั้น และเมื่อภาวะสงครามสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ นอกจากประเทศยามจะได้เป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งสันนิบาตชาติ (Nation League) อันเป็นต้นกำเนิดขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) รวมทั้งได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union) องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) สหพันธ์สภากาชาดและสภา

 

 

การประชุมสันติภาพและพิจารณาจัดตั้งสันนิบาตชาติ (League of Nations)

ที่พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส

 

 

          เสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (League of Red Cross and Red Crescent Societies) []  และองค์กรลูกเสือโลก (World Organization of the Scout Movement) แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศสยามเป็นผู้ชนะในสงครามครั้งที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขตซึ่งมีข้อสัญญาลิดรอนอำนาจของศาลไทย รวมทั้งสนธิสัญญาว่าด้วยภาษีร้อยชักสามที่ทำให้ประเทศสยามต้องเสียเปรียบในด้านการค้าระหว่างประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบุรีนวราษฐ (ชวน สิงหเสนี) ราชเลขานุการในพระองค์ฝ่ายต่างประเทศออกไปเป็นอัครราชทูตสยามประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ณ กรุงลอนดอน เพื่อดำเนินการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนั้นกับรัฐบาลอังกฤษเป็นชาติแรก แต่เกิดมีปัญหาบางประการทางกรุงเทพฯ ทำให้รัฐบาลอังกฤษขาดความเชื่อมั่นในบุคคลากรทางการศาลของไทย ทำให้การเจรจาซึ่งดำเนินมาจนถึงขั้นจะลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่จะทำให้ไทยได้รับเอกราชทางการศาลกลับคืนมาต้องล้มเลิกลงเสียก่อน จึงต้องโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระยาบุรีนวราษฐ ไปเป็นอัครราชทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

 

 

พระยาบุรีนวราษฐ (ชวน สิงหเสนี)

อดีตราชเลขานุการในพระองค์และกรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          เมื่อพระยาบุรีนวราษฐ ย้ายไปประจำรับราชการที่สหรัฐอเมริกาแล้ว ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจ้าง ดร.ฟรานซิส บี แซร์ (Dr. Francis B. Sayre) []  ศาสตราจารย์วิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เป็นบุตรเขยของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) เป็นที่ปรึกษาราชการกระทรวงต่างประเทศ จากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ดร.ฟรานซิส บี แซร์ เป็นผู้มีอำนาจเต็มไปเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับนานาประเทศ จนรัฐบาลสหรัฐอเมริกายินยอมแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนั้นเป็นชาติแรก แล้วจึงได้ดำเนินการแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศต่างๆ ที่เหลืออยู่จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่การให้สัตยาบันในสนธิสัญญาที่แก้ไขนั้นมาแล้วเสร็จสมบูรณ์ในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

 


[ ]  ปัจจุบัน คือ International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยากัลยาณไมตรี

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |