โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

 

๑๔๙. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒๑)

 

ด้านเศรษฐกิจ

 

          สืบเนื่องมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลานานถึง ๙ ปี จึงทรงตระหนักดีถึงประโยชน์ของการค้าขายและการลงทุน ทั้งยังได้ทรงเปรียบเทียบการบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์ไว้ว่า

 

 

          “...การบ้านเมืองในสมัยนี้ก็เหมือนการค้าฃาย จะคงใช้วิธีอย่างเก่าก็แพ้เปรียบเฃาเท่านั้น ถ้าไม่หาญลงทุนบ้างก็ค้าไม่ขึ้นฉันใด ในส่วนชาติบ้านเมืองก็ฉันนั้น คนไทยเราโดยมากบกพร่องในพานิชการ ก็เพราะมีความคิดแคบและสั้นนัก ลงทุนไปแล้วนิดหน่อยก็จะต้องการแลเห็นกำไรในทันที และจะต้องการตั้งชั่งละ ๒ สลึงทันที ครั้นไม่ได้ผลเช่นนั้นก็ระอา เลยทิ้งการค้าฃายอันนั้น ไปคิดหาทางอื่นใหม่ ถึงในกิจการบ้านเมืองก็เปนเช่นนั้น ความตั้งใจของเราคือจะจูงความคิดคนไทยให้คิดการกว้างแลทางยาวขึ้น...”  []

 

 

นายพลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

กิตติมศักดิ์นายกแห่งการแสดงกสิกรรมแลพานิชการ

เสด็จพระราชดำเนินไปในการสดงกสิกรรมและพานิชยการ ที่สระปทุมวัน

เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓

 

          ด้วยแนวพระราชดำริดังกล่าว ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเกษตราธิการจัดการแสดงกสิกรรมและพณิชยการให้เป็นการใหญ่ยิ่งกว่าที่เคยจัดมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และถึงแม้นว่า “...การแสดงกสิกรรมและพณิชยการครั้งนั้นว่ากันทางเงินสดนับว่าฃาดทุน, ซึ่งทำให้นักการเงินพากันบ่นอู้และร้องว่าเฃ็ด;...” []  จึงทำให้การแสดงกสิกรรมและพณิชยการต้องหยุดไป แต่ในส่วนพระองค์กลับทรงพระราชดำริว่า “...แท้จริงประโยชน์ทางอ้อมนั้นได้เปนอันมาก, ซึ่งถ้าพิจารณาดูแล้วจะต้องเล็งเห็นทีเดียว...”  []

 

 

ธนบัตรลีฟอเทีย

 

 

          นอกจากนั้น ยังได้มีพระราชดำริให้มีการสะสมเงินทุนสำรองของชาติ เพื่อที่จะได้นำเงินออมนั้นไปลงทุนในกิจการอันจะสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติต่างๆ ดังเช่นที่ได้ทรงพบเห็นมาจากทวีปยุโรป ในชั้นต้นได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งธนาคารลีฟอเทียขึ้นในพระราชสำนักมาตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วก็ยังทรงห่วงใยถึง “...การรักษาทรัพย์สมบัติ ซึ่งประชาราษฎรได้อุตสาหประกอบการทำมาค้าขายมีกำไรออมไว้เปนทุนนอนได้แล้ว แต่การรักษาให้ปราศจากอันตรายยังเปนการลำบาก เพราะไร้ที่ฝากฝังอันมั่นคง ส่วนการที่ประชาชนออมสินไว้เพื่อประโยชน์การยืดยาวข้างน่า ไม่จับจ่ายเพื่อความเพลินใจชั่วขณะนั้น เปนสิ่งควรอุดหนุนอย่างยิ่ง...”  []  จึงได้ทรงหยิบยกเรื่องการรักษาทรัพย์ของราษฎรขึ้นหารือในที่ประชุมเสนาบดีสภา เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) โดยมีกระแสพระราชดำรัสในที่ประชุมนั้นว่า

 

 

          “...การรักษาทรัพย์สมบัติของราษฎรชาวนา ตามที่ได้ฟังเสียงของราษฎรเองนั้นว่า การรักษาทรัพย์เปนการลำบากมาก เพราะไม่รู้ว่าจะเอาฝากไว้ที่ไหน บางคนที่กล้าเอามาฝากแบงก์ เมื่อมาถูกนายเชยสรรพการโกงเข้าก็เลยเข็ด เห็นว่าการรักษาทรัพย์ของราษฎรเปนความลำบากจริง นอกจากถูกปล้นสะดมแล้ว ก็ยังมีการเที่ยวสุรุ่ยสุร่ายเสียเช่นการพนันเปนต้น ได้ลองถามดูว่าถ้ากระทรวงพระคลังตั้งบงก์ (คือเซฟวิงแบงก์) สำหรับรับฝากเงินขึ้น จะมีผู้ฝากฤาไม่ ราษฎรเหล่านั้นว่าถ้ามีที่ฝากเช่นนั้นแล้วดี ตามที่ได้ปฤกษากันดู ก็เห็นว่าพอจะทำได้ คือให้เทศาภิบาลแลผู้ว่าราชการเมืองเปนผู้รับผิดชอบ...” []

 

 

 

 

           เมื่อที่ประชุมเสนาบดีได้พิจารณาเห็นชอบพร้อมกันตามกระแสพระราชดำริแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติดำเนินการจัดตั้งคลังออมสินขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ “...เพื่อประโยชน์การรับรักษาเงินที่ประชาชนจะนำมาฝากเปนรายย่อย แลรับภาระจัดให้เงินนั้นเกิดผลประโยชน์แก่ผู้ฝากตามสมควร...”  []  และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ก็ได้ทรงริเริ่มมาตรการส่งเสริมการออมของเยาวชน โดยโปรดเกล้าฯ ให้

 

 

          “...ลูกเสือที่จะนับว่าเปนลูกเสือเอก นอกจากมีความรู้สอบไล่ได้วิชาลูกเสือเอกตามข้อ ๕๘ ต้องแสดงว่าเปนผู้รู้จักการออมถนอมทรัพย์จนเก็บไว้ในคลังออมสินได้ตามที่สภานายกกรรมการจัดการลูกเสือมณฑลกำหนดซึ่งไม่น้อยกว่า ๕ บาท และเงินที่ฝากไว้ในคลังออมสินจะถือว่าถูกต้องตามข้อบังคับ ต้องมีผู้ควรเชื่อรับรองว่า เปนเงินที่หาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง หรือประหยัดไว้ได้จริงๆ มีบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายประกอบ...”  []

 

 

          นอกจากจะทรงจัดตั้งคลังออมสินเพื่อรักษาทรัพย์ให้แก่ประชาชน ทั้งยังเป็นหนทางในการสะสมทุนสำรองเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาติแล้ว ในส่วนของแบงก์สยามกัมมาจลหรือปัจจุบันคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ที่ในตอนต้นรัชกาลได้เกิดปัญหาขัดแย้งกันขึ้นในธนาคารดังกล่าวด้วยเรื่องที่ แฮร์ ปี. ชว๊าร์ซ (Herr P. Schwarze) ผู้จัดการชาวเยอรมันถวายฎีกาให้ยุบเลิกตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายไทยและขอพระราชทานอำนาจในการบริหารธนาคารนั้นเป็นสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียว แต่ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำริ

 

 

ที่ทำการแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ที่ตำบลตลาดน้อย อำเภอสัมพันธวงศ์

 

 

          “...ซึ่งในสมัยนั้นออกจะไม่ใคร่มีใครเห็นด้วยหรือรู้สึกว่านึกมากเกินไป, ว่าเรื่องนี้เปนส่วน ๑ ในความคิดของเยอรมันที่จะหาความเปนใหญ่ในสยาม. ความระแวงในข้อนี้ฉันได้มีมานานแล้ว, ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๕, เมื่อเยอรมันได้ทราบอยู่ว่าทูลกระหม่อมไม่โปรดและทรงระแวงอยู่ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส, เยอรมันเห็นว่าเปนโอกาสที่จะเข้าครอบสยามได้, จึ่งได้คิดดำเนิรอุบายอย่างลึกลับชนิดน้ำลอดใต้ทราย, เริ่มด้วยจัดการขายของถูกๆ โดยยอมขาดทุน, เพื่อให้คนไทยชอบและไว้วางใจ, แล้วและคิดหาทางได้ประโยชน์ต่างๆ ทั้งในทางรัฐประศาสน์และทางยุทธศาสตร์ เยอรมันได้กล้ายอมลงทุนโดยอาการต่างๆ เปนอันมาก, เพราะเขาแลดูทางไกลมุ่งรับผลในอนาคต. ...ส่วนในทางการเงินนั้นก็เปนรัฐประศาสโนบายของเยอรมันอันดำเนิรอยู่โดยทั่วไปหลายแห่ง, คือเอาทุนไปลงไว้ตามบริษัทหรือแบงก์ใหญ่ๆ ในประเทศต่างๆ ที่เขาปรารถนาจะครอบงำ, แล้วแลดำเนิรอุบายให้กิจการในบริษัทหรือแบงก์นั้นๆ ยุ่งเหยิง, แล้วเขาจึ่งตั้งตัวเปนผู้ที่เมตตาเข้าช่วยดูแลแก้ไข, แล้วในที่สุดก็รวบเอาอำนาจอำนวยการในบริษัทหรือแบงค์นั้นๆ ไปไว้ในกำมือของเยอรมันหมด, อุบายนี้ได้ดำเนิรสำเร็จมาแล้วในประเทศอิตาลีเปนตัวอย่างจนเวลานั้นเยอรมันคุยป๋ออยู่ว่า อิตาเลียนเท่ากับ เปนทาสน้ำเงินของเขาทั้งหมด, สำหรับกรุงสยาม, เยอรมันได้มุ่งจะดำเนิรแบบเดียวกับอิตาลี, ...ต่อมาพอพระสรรพการ  [] ทำยุ่งและต้องออกจากตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายเยอรมันนึกว่าจะสำเร็จตามอุบายของเขาได้อีกชั้น ๑, แต่พะเอินมาเกิดมีกรรมการผู้แทนพระคลังข้างที่ขัดคอขึ้น, จึ่งออกขัดใจ, และเปนธรรมเนียมของเยอรมัน, เมื่อจะเอาอะไรไม่ได้อย่างใจก็ต้องนึกถึงใช้อำนาจข่มขู่ก่อน, ...ส่วนฉันเห็นว่ารัฐบาลควรจะคำนึงดูให้ดีว่า ถ้ายอมตามคำขอของชว๊าร์ซจะได้ผลดีในปรัตยุบันเพียงพอแก่ผลร้ายที่อาจมีมาในอนาคตหรือไม่, และอีกทาง ๑ ถ้าจะไม่ยมตามคำขอร้องนั้น...ชาวเยอรมันอาจจะถอนทุนของเขาออกเสีย, แต่ถึงแม้ว่าชาวเยอรมันจะถอนทุนออกไปจริงก็ไม่เห็นเปน สิ่งที่ควรครั่นคร้ามมากนัก, เพราะทุนของเขามีอยู่เพียงส่วน ๑ ใน ๕ เท่านั้น, แบงก์ก็คงไม่ล่มจม. ถึงแม้ว่าการทำธุระเรื่องแลกเปลี่ยนในต่างประเทศจะไม่สดวกหรือไม่สำเร็จเพราะเหตุนั้น, หากแบงก์จะคิดทำการแต่เฉพาะภายในเมืองก็ยังคงจะมีทางทำการได้ดีมากอยู่แล้ว. อีกประการ ๑ กิจการอันนี้เปนธุระส่วนบุคคล, ผู้ถือหุ้นส่วนเขาจะเห็นอย่างไรก็ได้ทั้งสิ้น, รัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะยื่นเข้าไปบังคับบัญชาเขาเกินกว่าอำนาจที่ได้ประสาทให้แก่บริษัทนั้นแล้วโดยหนังสือกำหนดอำนาจ (Charter) เจ้าพระยายมราช  [] ก็แสดงความเห็นชอบเช่นนี้. ในที่สุดจึ่งเปนอันตกลงวินิจฉัยว่าให้ยกฎีกาของชวาร์ซนั้นเสีย.”  [๑๐]

 

 

พระราชหัตถเลขาพระราชทานเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

เรื่องการจัดการแก้ปัญหาวุ่นวายในแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด

 

 

          ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเซียวยู่เส็ง [๑๑]  ผู้จัดการแบงก์สยามจีนทุนจำกัดหรือในชื่อจีนว่า “แบงก์ยู่เส็งเฮ็ง” เป็นผู้จัดการฝ่ายไทยในแบงก์สยามกัมมาจลแล้ว

 

 

          “...ในชั้นต้นยู่เส็งก็ทำการดีมาก, ...ต่อๆ มาอ้ายยู่เส็งทำการสัปปลับต่างๆ โยกเอาเงินจากแบงก์สยามกัมมาจลไปแซมทุนของยู่เส็งเฮ็งบ้าง, โยกหนี้ของของยู่เส็งเฮ็งไปลงไว้ในบัญชีของสยามกัมมาจลบ้าง, และคบคิดกับนายฮง นาวานุเคราะห์, ซึ่งเวลานั้นพระยารัษฎากรโกศล อธิบดีกรมสรรพากรใน, โกงเงินหลวงไปใช้ในกิจการของแบงก์, เกิดชำระนายฮงกันขึ้น, จึ่งลุกลามไปถึงอ้ายยู่เส็ง, ตกลงติดคุกและถูกถอดทั้งนายฮงทั้งอ้ายยู่เส็ง. ส่วนแบงก์สยามกัมมาจลก็เซซวนจวนล้ม...” [๑๒]

 

 

          การที่แบงก์สยามกัมมาจลประสบปัญหาในครั้งนั้นนอกจากจะสร้างความเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้ฝากเงินไว้กับธนาคารคิดเป็นความเสียหายกว่า ๕ ล้านบาทแล้ว ในส่วนของพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นทั้งผู้ถือหุ้นและผู้ฝากเงินรายใหญ่ก็ต้องได้รับความเสียหายไปเป็นเงินกว่าล้านบาทรวมทั้งต้องสูญเสียเงินฝากจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ที่พระราชทานไว้เป็นทุนนอนของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงด้วย แต่ด้วยพระบรมราโชบายที่ “...จะให้แบงก์สยามล้มไม่ได้ แต่แบงก์จีนล้มได้...”  [๑๓] จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แบงก์สยามกัมมาจลทุนจำกัดลดทุนของบริษัทจาก ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ลงเหลือเพียง ๓๐๐,๐๐๐ บาท แล้วเพิ่มทุนใหม่เข้าไปอีก ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท กับได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวในสัดส่วนจำนวนหุ้นเดิมเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น ๑,๖๓๔,๐๐๐ บาท พร้อมกันนั้นได้โปรดให้ “...กระทรวงพระคลังมหาสมบัติเข้ารับอำนวยการแบงก์สยามกัมมาจล, ว่าจะคิดจัดดำเนิรการตั้งรูปขึ้นให้เปนธนาคารของชาติ (National Bank) ...”  [๑๔] ต่อไป

 

 

 


[ ]  จดหมายเหตุรายวัน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๔๒.

[ ]  ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๒, หน้า ๑๒.

[ ]  ที่เดียวกัน.

[ ]  “พระราชบัญญัติคลังออมสิน”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๙ (๓๐ มีนาคม ๒๔๕๕), หน้า ๒๙๐ - ๒๙๓.

[ ]  หอจดหมายเหคุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๖ กระทรวง

[ ]  “พระราชบัญญัติคลังออมสิน”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๙ (๓๐ มีนาคม ๒๔๕๕), หน้า ๒๙๐ - ๒๙๓.

[ ]  “ประกาศเพิ่มเติมข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือ พระพุทธศักราช ๒๔๖๑”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๙ (๘ ตุลาคม ๒๔๖๕), หน้า ๑๖๓ - ๑๖๕.

[ ]  พระสรรพการหิรัญกิจ (เชย อิศรภักดี) ผู้จัดการฝ่ายไทย ภายหลังเป็น พระอรรถวสิษฐ์สุธี

[ ]  นามเดิม ปั้น สุขุม เวลานั้นเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล

[ ๑๐ ]  ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า๑๙๕ - ๑๙๘.

[ ๑๑ ]  นายเซียวยู่เสง ศิวะโกเศศ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายฉลองไนยนารถ จ่าพิเศษในกรมมหาดเล็ก

[ ๑๒ ]  ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๙๙.

[ ๑๓ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ค.๑๕/๒ เรื่อง แบงค์สยามกัมมาจลหรือแบงค์สำหรับชาติ (๒๖ ธันวาคม ๒๔๕๓ - ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๖๘).

[ ๑๔ ]  ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๙๙.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |