โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

 

๑๔๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑๔)

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมาชิกเริ่มแรกของกองเสือป่า

(จากซ้าย) ๑. นายหมู่ตรี พระยาเทพทวาราวดี (สาย ณ มหาชัย - พระยาบำเรอบริรักษ์) ผู้บังคับหมู่
  ๒. นายหมู่เอก นายวรกิจบรรหาร (พงษ์ สวัสดิ์ -ชูโต - พระยาอนุชิตชาญชัย) ผู้บังคับหมู่
  ๓. นายหมู่โท นายรองสนิท (กุหลาบ โกสุม - พระราชวรินทร์) ผู้บังคับหมู่
  ๔. นายกองโท นายขัน หุ้มแพร (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ - เจ้าพระยารามราฆพ) ผู้บังคับหมวดที่ ๑ กองร้อยที่ ๑
  ๕. นายกองใหญ่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นายกเสือป่า แทนผู้บังคับกองร้อยที่ ๑
  ๖. นายกองโท นายฉัน หุ้มแพร (เทียบ อัศวรักษ์ - พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง) ผู้บังคับหมวดที่ ๒ กองร้อยที่ ๑
  ๗. นายหมู่เอก หม่อมเจ้าปิยบุตร จักรพันธุ์ ผู้บังคับหมู่
  ๘. นายหมู่โท นายวรการบัญชา (ม.ร.ว.โป๊ะ มาลากุล - พระยาชาติเดชอุดม) ผู้บังคับหมู่
  ๙. นายหมู่ตรี นายพิไนยราชกิจ (เล็ก โกมารภัจ - พระยาอัศวบดีศรีสุรพาห) ผู้บังคับหมู่

 

 

          ถัดมาอีก ๔ วัน คือวันเสาร์ที่ ๖ พฤษภาคม ก็ได้ทรงจัดตั้ง “กองเสือป่า” ขึ้นเป็นกองอาสาสมัคร เพื่อฝึกหัดข้าราชการและพลเรือนที่มิใช่ทหารให้มีความรู้พื้นฐานทางทหาร รวมทั้งมีความรู้เรื่องการสอดแนม เพื่อเป็นผู้ช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน และเป็นผู้ช่วยสืบข่าวให้แก่ฝ่ายทหารในยามที่มีอริราชศัตรูมาประชิด รวมทั้งเป็นกองกำลังสำรองเพื่อช่วยทำการในสนามในยามที่มีศึกสงคราม ในชั้นต้นได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมข้าราชการในพระราชสำนักที่สมัครเข้าเป็นเสือป่า จัดเป็นกองร้อยและ กองพันขึ้นสังกัดกรมเสือป่าราบหลวงรักษาพระองค์ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกิจการเสือป่าออกไปยังหัวเมืองมณฑลต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร ดังมีพยานปรากฏว่าในปีสุดท้ายแห่งรัชสมัยนั้นมีกำลังพลเสือป่ากระจายกันอยู่ในกองเสนา (กองพล) หลวงรักษาพระองค์ และกองเสนา (กองพล) รักษาดินแดน ซึ่งมีโครงสร้างลดหลั่นกันเป็นกรม กองพัน และกองร้อยหมวดและหมู่เช่นเดียวกับการจัดกำลังพลของทหารถึงกว่า ๑๐,๐๐๐ คน แม้ในพื้นที่คาบสมุทรมลายู และพื้นที่ ๒๕ กิโลเมตรตลอดแนวฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่รัฐบาลสยามได้มีข้อตกลงลับไว้กับอังกฤษและฝรั่งเศสที่จะไม่จัดส่งกำลังทหารไปประจำในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งการที่ทรงกำหนดให้เสือป่ามีสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจน และมีเครื่องแบบที่มองเห็นได้ชัดแต่ไกลเช่นเดียวกับทหาร จึงเป็นหลักประกันให้เสือป่าที่ออกปฏิบัติการในสนามที่เกิดพลาดพลั้งถูกจับต้องได้รับการปฏิบัติเยี่ยงเชลยสงคราม มิใช่จารชนที่ต้องรับโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต

 

 

นักเรียนมหาดเล็กหลวงชัพน์ บุนนาค (นายลิขิตสารสนอง)

ลูกเสือไทยคนแรกแต่งเครื่องแบบลูกเสือหลวง

 

 

          เมื่อทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นแล้ว ก็ทรงพระอนุสรณ์คำนึงเยาวชนของชาติ หากได้รับการฝึกหัดให้เป็นผู้มีวินัยและได้เรียนรู้วิธีสืบข่าวเสียแต่ยังเยาว์ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่นอกจากจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีระเบียบวินัยเป็นพลเมืองดีของชาติแล้ว ยังจะสามารถนำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาแต่เยาว์วัยมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ จึงได้ทรงยกร่าง “ข้อบังคับลักษณปกครองลูกเสือ” ไว้ด้วยลายพระราชหัตถ์ และได้โปรดกล้าฯ ให้ตราข้อบังคับฯ นี้ไว้เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ จึงถือกันว่าวันดังกล่าวเป็นวันพระราชทานกำเนิดกิจการลูกเสือในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นประเทศที่สามของโลกที่จัดให้มีกิจการลูกเสือ พร้อมกันนั้นก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองลูกเสือขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ครั้นกองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ ๑ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้กระทำพิธีเข้าประจำกองเฉพาะพระพักตร์เมื่อวันเสาร์ที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๔ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเกียรติยศพิเศษแก่กองลูกเสือกองแรกของประเทศไทยนั้นให้เป็น “กองลูกเสือหลวง” มีเครื่องแบบพิเศษแตกต่างไปจากลูกเสือทั่วไป คือ มีหน้าเสือโลหะสีทองติดทับบนดอกไม้แพรจีบริ้วเหลืองสลับดำที่ปีกหมวกด้านขวาที่พับติดกับทรงหมวก กับมีขนนกขาวปักที่ขวาหมวก ใต้ปีกหมวกบุสักหลาดเหลืองกับมีผ้าพันหมวกลายเสือ อินทรธนูเป็นไหมเกลียวสีแดง ผ้าผูกคอพื้นดำขอบแดง และที่ขอบพับถุงเท้าเป็นริ้วเหลืองสลับดำ เช่นเดียวกับเครื่องแต่งกายสมาชิกเสือป่าในกรมเสือป่าราบหลวงรักษาพระองค์ แล้วจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายการจัดตั้งกองลูกเสือออกไปยังโรงเรียนต่างๆ จนมีกองลูกเสือกระจายอยู่ตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วทั้งพระราชอาณาจักรสืบมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

เสือป่าและลูกเสือในระหว่างการซ้อมรบ

 

 

          อนึ่ง นอกจากการฝึกหัดเสือป่าและลูกเสือในที่ตั้งตามหลักสูตรที่ทรงกำหนดไว้เป็นปกติแล้ว ล่วงเข้าเดือนมกราคม - มีนาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้งและชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จและมิได้ใช้ประโยชน์ในท้องทุ่งนั้นแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เสือป่าและลูกเสือรวมทั้งทหารรักษาวังตามเสด็จไปซ้อมรบในท้องทุ่งจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และกาญจนบุรีเป็นประจำทุกปี การซ้อมรบนั้นโปรดให้จัดขึ้นเป็นระยะๆ เริ่มจากระดับกองร้อย กองพัน กรม จนถึงระดับกองเสนา (กองพล) ซึ่งเรียกว่าการประลองยุทธใหญ่ มีการเข้าประจัญบานติดต่อกันหลายวันจนกว่าจะรู้ผลแพ้ชนะ จึงเป็นอันเสร็จการซ้อมรบในแต่ละปี

 

 

รถหุ้มเกราะในระหว่างการซ้อมรบเสือป่าประจำปี

 

 

          การซ้อมรบของเสือป่าและลูกเสือนี้ นอกจากจะเป็นการฝึกซ้อมให้เสือป่าและลูกเสือมีความชำนาญในการปฏิบัติงานในสนามแล้ว ยังเป็นเครื่องฝึกซ้อมการวางแผนวิธียุทธ ซึ่งได้ทรงนำประสบการณ์ที่ทรงได้รับจากการซ้อมรบเสือป่าในแต่ละปีไปประกอบพระบรมราชวินิจฉัยในการวางยุทธวิธีป้องกันประเทศอีกด้วย และเมื่อทรงได้รับข่าวสารจากจากพระสหายชาวอังกฤษว่า กองทัพอังกฤษได้คิดสร้างรถหุ้มเกราะและรถโคมฉายขึ้นใช้ในสมรภูมิทวีปยุโรปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานรถยนต์พระที่นั่งสององค์ให้เสือป่าเหล่าช่างดัดแปลงเป็นรถหุ้มเกราะและรถโคมฉาย แล้วโปรดให้นำรถทั้งสองนั้นเข้าร่วมในการซ้อมรบของเสือป่า เพื่อทอดพระเนตรการใช้งานและประโยชน์ของรถทั้งสองประเภทในการปฏิบัติงานภาคสนาม แล้วจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงกลาโหมสั่งซื้อรถหุ้มเกราะและรถโคมฉายเข้ามาประจำการในกองทัพบก

 

          นอกจากนั้น ในส่วนของทหารบกก็ได้โปรดให้จัดการซ้อมรบในท้องทุ่งอยุธยาเป็นประจำทุก ๒ ปี ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “กรมนักเรียนแพทย์เสือป่าในพระบรมราชูปถัมภ์” ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ด้วยมีพระราชประสงค์ให้อาจารย์และนักเรียนโรงเรียนราชแพทยาลัยได้ “...ทำการฝึกหัดการพยาบาลสนามให้มีความรู้ช่ำชองในกิจการของการพยาบาลนักรบไว้เสียแต่ในเวลาปรกติ ฉวยว่ามีเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นแล้ว ก็จะได้กระทำน่าที่ในการพแนกนี้ได้พร้อมเพียงทุกเมื่อ...”  []

 

          ส่วนการป้องกันประเทศในพื้นที่มณฑลปักษ์ใต้หรือที่เรียกกันว่า “คาบสมุทรมลายู” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า

 

 

แผนที่แสดงการจัดวางกำลังทหารบกเป็น ๑๐ กองพลทั่วราชอาณาจักร

ยกเว้นพื้นที่คาบสมุทรมลายูตั้งแต่บางสะพานน้อยลงไป

 

 

          “...พระราชอาณาจักรสยามภาคนี้เปนที่สำคัญมีค่าเปนอันมาก คือเปนที่บริบูรณด้วยทรัพย์แผ่นดินอันคอยอยู่เพื่อให้ขุดขึ้นมาใช้ มีแร่ต่างๆ หลายอย่างหลายประการ นอกจากนี้มีพื้นแผ่นดินอัน บริบูรณซึ่งจะทำการเพาะปลูกอะไรก็ได้โดยสำเร็จ ถ้าลงทุนและใช้แรงทำจริงๆ แต่ที่ดินเหล่านี้โดยมากทิ้งว่างอยู่เปล่าๆ เพราะพลเมืองมีไม่พอกับท้องที่

 

          เมื่อได้แลเห็นแล้วว่า ดินแดนซึ่งยังคงเปนของเราอยู่ในคาบสมุทนี้เปนของมีราคาปานใด ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าดินแดนเหล่านี้เปนที่น่าหวงแหนยิ่งขึ้นปานนั้น และทำให้รู้สึกความรับผิดชอบในการที่เปนเจ้าของดินแดนนั้นๆ ยิ่งขึ้น ดังนี้ก็ทำให้ต้องรำฤกถึงน่าที่แห่งผู้เปนเจ้าของสมบัติ ควรจะทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างดีที่สุด ประการที่ ๑ สมบัติใดๆ ถ้าไม่บำรุงแล้วจะไม่งอกเงยขึ้น ประการที่ ๒ ถ้าไม่ระวังรักษาและสำแดงความเปนเจ้าของให้ปรากฏชัดแก่ตาโลกแล้ว ก็จะต้องเสียสมบัตินั้นไปทีละน้อยๆ โดยไม่รู้สึกตัว จนที่สุดก็จะหลุดจากมือเรา

 

          ...การระวังรักษาและสำแดงความเปนเจ้าของนั้น บังเกิดความรู้สึกกันมากขึ้น (แต่ที่รู้สึกกันอยู่แล้วแต่ก่อนนี้ก็มี) ว่าถ้าแม้มีทหารไปตั้งอยู่ในอาณาเขตคาบสมุทนั้นได้จะดี เพราะจะได้เปนพยานแสดงให้ประจักษ์แก่ตาโลกว่า เราตั้งใจจะยึดถือที่นั้นจริงๆ ทั้งการที่มีทหารลงไปตั้งอยู่ที่นั้นดูจะเปนเครื่องให้ฝ่ายเทศาภิบาลรู้สึกอุ่นใจ ว่ามีกำลังอยู่ อันเปนที่ยำเกรงแก่ผู้ที่จะคิดร้าย...”   []

 

 

          แต่เนื่องจากเมื่อครั้งรัฐบาลสยามตกลงทำสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับอังกฤษเพื่อผ่อนคลายข้อจำกัดในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ฝ่ายอังกฤษได้ฉวยโอกาสนั้นเรียกร้องให้รัฐบาลสยามยอมรับอนุสัญญาลับซึ่งมีเนื้อความในอนุสัญญา ดังนี้

 

 

          “มาตราที่ ๑ สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงรับสัญญาว่า จะไม่ยกสิทธิใดๆ เหนือดินแดน หรือเกาะที่อยู่ทางตอนใต้ของเมืองบางตะพาน หรือโอนสิทธิและดินแดนดังกล่าว ให้เป็นของต่างประเทศแก่มหาอำนาจหนึ่งมหาอำนาจใด

 

          มาตราที่ ๒ สมเด็จพระนางเจ้าเจ้าอังกฤษทรงรับสัญญาในส่วนอังกฤษว่า จะอุดหนุนสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามในการต่อต้านความพยายามใดๆ จากมหาอำนาจที่ ๓ ซึ่งจะแสวงหาอาณานิคม หรือเข้าไปตั้งอิทธิพลของตน หรือคุ้มครองป้องกันในดินแดน หรือที่เกาะทั้งหลายดังกล่าวแล้ว

 

          มาตราที่ ๓ สมเด็จพระนางเจ้าอังกฤษได้ทรงรับสัญญาไว้ตามข้อที่กล่าวมาก่อนนี้แล้วว่า จะอุดหนุนสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามในการต่อต้านความพยายามอย่างหนึ่งอย่างใดของมหาอำนาจที่ ๓ ที่จะเข้าไปแสวงหาอาณานิคม หรือเพื่อจะเข้าไปตั้งอิทธิพล หรืออำนาจอารักขาในดินแดนหนึ่งดินแดนใด หรือเกาะแห่งหนึ่งแห่งใดดังกล่าวมามาข้างต้นแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงรับสัญญาว่าจะไม่อนุญาต ยก หรือยอมให้มีสิทธิพิเศษหรือมีผลประโยชน์อันเป็นการผูกขาดทำได้ฝ่ายเดียว ในเรื่องเกี่ยวกับที่ดินหรือการค้าขายอย่างใดๆ ภายในเขตจำกัดดังได้กล่าวมาแล้วนั้นไม่ว่าแก่รัฐบาลหรือคนในบังคับของมหาอำนาจที่ ๓ โดยปราศจากการยินยอมพร้อมใจเป็นลายลักษณ์อักษรของรัฐบาลอังกฤษ”  []

 

 

 


[ ]  “ประกาศตั้งกรมนักเรียนแพทย์เสือป่าในพระบรมราชูปถัมภ์”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๒ (๓๐ มกราคม ๒๔๕๘), หน้า ๒๖๖๖ - ๒๖๖๗.

[ ]  จดหมายเหตุรายวัน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๑๗๐ - ๑๗๑.

[ ]  สายจิตต์ เหมินทร์. การเสียรัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปลิส ของไทย ให้แก่อังกฤษ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๒๕๙ - ๒๖๐.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |