โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๘. งานกรีฑา (๖)

 

 

          งานกรีฑาที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ นั้น มีบันทึกในวชิราวุธานุสาส์นว่า เริ่มจากผู้รับเชิญรวมทั้งผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียนเก่าต่างก็เริ่มทยอยมารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทตั้งแต่ตอนบ่ายสอง เวลาราว ๑๕.๐๕ น. สมเด็จพระนางเจ้ารำไพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมาถึง หัวหน้านักเรียนบอกถวายเคารพแล้ว วงปี่สก๊อตนำเสด็จไปจนถึงที่ประทับ

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงสนามวงกลมห้าหอประชุม
พลเอก มังกร พรหมโยธี นายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย
นำกรรมการอำนวยการฯ และคณาจารย์วชิราวุธวิทยาลัยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายตัว
เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕

 

 

 

 

          เวลาราว ๑๕.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ประทับรถยนต์พระที่นั่งที่มุขหน้าหอประชุม แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงประทับที่สนามหน้าในวงเวียนหน้าหอประชุม (เวลานั้นยังยังมิได้ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์) พลเอก มังกร พรหมโยธี (หลวงพรหมโยธี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในตำแหน่งนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและเบิกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยเฝ้าถวายตัว เสร็จแล้วท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา เบิกอาจารย์และครูเฝ้าถวายตัว

 

 

ผู้บังคับการกราบบังคมทูลเบิกอาจารย์และครูเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายตัว
(แถวยืนจากซ้าย) ๑. นายพลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ๒. ม.ล.ปิ่น มาลากุล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ๓. หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) กรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ๖. พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการ

 

 

          เสร็จการถวายตัวที่หน้าหอประชุมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นประทับพระราชอาสน์ที่ทอดถวายไว้ทางด้านทิศใต้ของโถงกลางบนหอประชุม แล้วนายกกรรมการอำนวยการฯ กราบบังคมทูลถวายฉลองพระองค์พระบรมราชูปถัภกในคราวแรกที่เสด็จพระราชดำเนินเหยียบโรงเรียนตามพระราชประเพณี ความว่า

 

 

"ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวชิราวุธวิทยาลัยปัจจุบันนี้ขึ้นแล้ว พระองค์ทรงกำหนดเสื้อครุยประจำตำแหน่งขึ้นไว้ ๓ ชนิด สำหรับองค์ราชูปถัมภกชนิดหนึ่ง สำหรับกรรมการจัดการและอาจารย์ในโรงเรียนชนิดหนึ่ง และสำหรับครูอีกชนิดหนึ่ง ผู้ใดสมควรจะได้รับพระราชทานเมื่อไร ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นครั้งคราวไป.


          ฉลองพระองค์ครุยราชูปถัมภกนั้น โรงเรียนทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายพระองค์ทรงเป็นปฐมฤกษ์.

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ โรงเรียนก็ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฉลองพระองค์ชนิดนี้แด่พระองค์ดังเช่นพระองค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียน และพระองค์ทรงในเวลาเสด็จพระราชดำเนินในงานพิธีต่างๆ ของโรงเรียนทุกครั้งจนตลอดรัชกาล.

 

          ในการที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้เป็นสวัสดิมงคลแก่โรงเรียน โรงเรียนรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณยิ่งนัก ในนามของวชิราวุธวิทยาลัย ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์ครุยบรมราชูปถัมภกตามราชประเพณี เพื่อเป็นศิริมงคลสืบไป.


ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ขอเดชะ"

 

 

          เมื่อนายกกรรมการอำนวยการฯ กราบบังคมทูลถายฉลองพระองค์พระบรมราชูปถัมภกจบแล้ว ท่านผู้บังคับการเชิญพานฉลองพระองค์ครุยขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงฉลองพระองค์ครุยแล้ว กลับมาประทับพระราชอาสน์ แล้วพระราชทานครุยอาจารย์แก่นายกกรรมการอำนวยการฯ แล้วจึงเริ่มงานพิธี โดยนักเรียนอ่านคำกราบบังคมทูลอัญเชิญพระวิญญาณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับทรงเป็นประธานในงานพิธีคราวนี้ เป็นทำนองกาพย์ฉบัง ๑๖ ดังนี้

 

 

"คำกราบบังคมทูลอัญเชิญพระวิญญาณ
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

   

          ข้าบาทอภิวาทบังคม

สมเด็จบรม

นรินทรราชเรืองศรี

 

          องค์พระรามาธิบดี

วชิราวุธภูมี

พระมงกุฎเกล้าเกรียงไกร

 

          ธ เปรียบดั่งชนกชาวไทย

ทรงพระคุณยิ่งใหญ่

ประดุจมหาสาคร

 

          ข้าบาทสบสุขสโมสร

ด้วยพระภูธร

ประสิทธิ์ประสาทสวัสดี

 

          บัดนี้เป็นวารดิถี

ประกอบกิจพิธี

อันเนื่องการฝึกศึกษา

 

          ณ วชิราวุธวิทยา-

ลัยแห่งราชา

ซึ่งทรงปลูกฝังหวังผล

 

          เพื่อให้เด็กไทยได้ผล

อารยะเพียบพล

เปรื่องปราชญ์ปรีชาสาธร

 

          หวังชาติวัฒนาถาวร

เกริกเกียติกำจร

ว่าไทยเป็นไทยใหญ่ยง

 

          สมเด็จภาติยะพระองค์

โปรดเกล้าจำนง

เสด็จมากอบกิจพิธี

 

          ดำเนินรอยบาทยุคลศรี

แห่วงศ์จักรี

ซึ่งสืบเนื่องมาช้านาน

 

          ฉะนั้นอัญเชิญพระวิญญาณ

 มงกุฎเกล้าเจ้าปาน

เสด็จประทับ ณ ราชพิธี นี้เทอญ

 
   
 

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ"



          จบคำเชิญพระวิญญาณแล้ว นักเรียนพร้อมกันร้องเพลง "มหาวชิราวุธราชสดุดี" เมื่อเริ่มเพลงนั้นพนักงานไขพระวิสูตรเปิดคลุมพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



 

พระวิสูตร พระบรมฉายาสามิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประดิษฐานเป็นประธานบนหอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          เมื่อนักเรียนร้องเพลงจบลงเป็นสัญญาณว่า พระวิญญาณได้เสด็จมาประทับทรงเป็นประธานในงานพิธีนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายบังคมพระวิญญาณที่หน้าธรรมาสน์บุษบก  เสร็จแล้วนายกกรรมการอำนวยการฯ กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานกิจการของโรงเรียนแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งทรงพระมหากรุณาสถาปนาวชิราวุธวิทยาลัยขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาล  ทั้งยังได้กราบบังคมทูลถึงพระบรมราโชบายในการจัดการศึกษาที่พระราชทานไว้เป็นหลักการอบรมสำคัญของวชิราวุธวิทยาลัยว่า

 

 

          "โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำรับเฉพาะนักเรียนกินนอนตั้งแต่แรกตั้ง และมีพระราชประสงค์ให้ดำเนินการปกครองแบบพับลิคสกูลอังกฤษทุกประการ และพระราชทานพระบรมราโชบายให้โรงเรียนถือเป็นหลักอบรมสั่งสอนนักเรียน ๓ ประการคือ:-

          ๑. สอนให้เป็นคนมีศาสนา จะได้มีศีลธรรมเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจ

          ๒. สอนให้เป็นผู้ดี จะได้รู้จักการตรากตรำ ไม่สำรวยหยิบโหย่ง จะได้ทำตัวให้เหมาะที่จะเป็นผู้รับใช้และใช้คน ไม่ทำตนเป็นคนถือยศศักดิ์เหยียดหยามผู้อื่น ต้องเป็นผู้กล้าหาญ มีระเบียบ และมีความกตัญญูกตเวที รักเกียรติชื่อเสียงและวงศ์ตระกูลของตัว รู้จักรักหมู่รักคณะ กล้าเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

          ๓. อบรมให้มีสติปัญญาความรู้ จะได้ใช้ในการครองชีพต่อไป

 

          พระราชประสงค์ของพระองค์ก็คือมิให้นักเรียนที่ได้รับการอบรมไปจากโรงเรียนนี้เป็นที่รังเกียจแก่สังคม พระองค์ทรงปรารภว่า ผู้ที่มีความรู้เลิศทางเดียวไม่มีสิ่งใดยึดเหนี่ยวแล้ว อาจยังผลร้ายให้ประเทศชาติได้มากกว่าผู้ที่มีความรู้อ่อนแต่มีศีลธรรมดี.

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแล้ว ทรงพระราชดำริว่า การที่โรงเรียนจะตั้งอยู่โดยลำพัง ไม่มีการแข่งขันกันบ้างนั้น จะทำให้ความเจริญก้าวหน้าช้าไป สมัยนั้นมีโรงเรียนประจำอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า ราชวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม โรงเรียนนี้ดำเนินการปกครองแบบพับลิคสกูลของอังกฤษเหมือนกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนจากกระทรวงนั้นมาอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และรับพระมหากรุณาของพระองค์ดังเช่นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงทุกประการ โรงเรียนทั้งสองนี้เป็นคู่แข่งขันกันในการกีฬาประเภทต่างๆ ทั้งทางระเบียบวินัย และการศึกษาตลอดจนสิ้นรัชกาลของพระองค์

 

          ครั้นพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว การเงินฝืดเคืองลง โรงเรียนราชวิทยาลัยจึงต้องยุบ และนักเรียนโรงเรียนนั้นมารวมเรียนที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงแห่งเดียว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจาอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า “วชิราวุธวิทยาลัย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้คงอยู่ชั่วกัลปาวสาน และทรงสถาปนาโรงเรียนนี้ให้คงไว้ตามพระราชประสงค์แห่งพระองค์ผู้พระราชทานกำเนิด

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับรัชทายาทเป็นพระราชาธิบดีสนองพระองค์แล้ว ก็ทรงทำนุบำรุงและดำเนินกิจการของวชิราวุธวิทยาลัยตามพระบรมราโชบายของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชจนสุดรัชสมัยของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนิยมการปกครองแบบพับลิคสกูลของอังกฤษเหมือนกัน และเพื่อส่งเสริมวิธีการระบอบนี้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างคณะเด็กเล็กขึ้นเพื่ออบรมจิตใจนักเรียนให้มั่นคงแน่วแน่เสียแต่เล็ก เมื่อขึ้นมาคณะเด็กโตจะได้มีกำลังใจเข้มแข็งกล้าต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ได้ นอกจากนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างตึกพยาบาล และอาคารถาวรขึ้นอีก เพราะอาคารของวชิราวุธวิทยาลัยยังเป็นอาคารชั่วคราวอีกหลายหลัง และพระราชทานนามหลังใหม่นี้ว่า ตึกวชิรมงกุฎ

 

          การดำเนินการอบรมเพื่อให้เกิดผลตามพระบรมราโชบายนั้น นอกจากการสอนวิชาตามปกติแล้ว โรงเรียนได้จัดให้มีการสวดมนต์ทุกเวลาเช้าและเวลากลางคืน วันอาทิตย์มีการทำวัตรและสวดมนต์ตอนเช้า เมื่อเสร็จแล้วก็อาราธนาพระภิกษุสงฆ์มาเทศน์สั่งสอนเป็นบางครั้ง บางครั้งก็เชิญท่านผู้มีเกียรติมาให้โอวาทสลับกันไป ให้นักเรียนมีจิตใจมั่นในศีลธรรม ส่วนอีกด้านหนึ่งโรงเรียนจัดให้นักเรียนเล่นกีฬาทุกๆ คนทุกเวลาบ่าย กีฬาที่นักเรียนเล่นนั้นมีทั้งกีฬาพวก และกีฬาสังคม นอกจากนี้โรงเรียนยังหัดให้นักเรียนร้องเพลงสากลและเล่นเครื่องดนตรีต่างๆ อีกมาก

 

          ผลของการอบรมตามพระบรมราโชบายนั้น มีนักเรียนเก่าของโรงเรียนได้รับตำแหน่งสำคัญของประเทศเป็นอันมาก เช่นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เป็นองคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีและอธิบดีกรมต่างๆ เป็นจำนวนไม่น้อย"

 

(ยังมีต่อ)

 

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |