โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๙. งานกรีฑา (๗)

 

 

รางวัลพระราชทานแก่นักเรียน “เรียนดี” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          เมื่อนายกกรรมการอำนวยการกราบบังคมทูลรายงานกิจการของโรงเรียนจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลเรียนดีแก่นักเรียนที่สอบไล่ได้คะแนนเป็นเยี่ยมในแต่ละชั้นแล้ว พระราชทานพระบรมราโชวาท ความว่า

 

 

(สำเนา)


พระบรมราโชวาท

 

          ในโอกาสที่มาเยี่ยมวชิราวุธวิทยาลัย แจกประกาศนียบัตรและรางวัลของโรงเรียนในวันนี้ ข้าพเจ้ามีความปลื้มใจ ที่ได้เห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความพร้อมเพรียงของนักเรียน เฉพาะอย่างยิ่ง ในการถวายสักการะเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดแก่โรงเรียนนี้อันเป็นพิธีการอันหนึ่งที่แสดงความกตัญญูอย่างน่าสรรเสริญ

 

          ตามรายงานของนายกกรรมการฯ ที่ได้กล่าวถึงประวัติการตั้งโรงเรียนนี้แต่เริ่มแรก ก็เห็นได้ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น มีพระราชปรารถนาอันแรงกล้าเพียงไร ที่จะให้โรเรียนกินนอนแห่งนี้ ได้เป็นแบบอย่างแก่โรงเรียนกินนอนแห่งอื่นๆ เป็นที่อบรมบ่มนิสัย ศีลธรรม และความรู้แกเด็กนักเรียน เพื่อได้เป็นคนดีจริงๆ เป็นกำลังและประโยชน์แก่ประเทศชาติในภายหน้า และตามที่เจ้าหน้าที่ ครูบาอาจารย์ กับทั้งท่านที่ได้ส่งเสริมกิจการของโรงเรียนนี้ ได้พยายามเอาใจใส่ดำเนินการเพื่อสนองพระราชประสงค์นี้ จนโรงเรียนมีความเจริญเป็นลำดับมานั้น ถ้าหากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังเสด็จอยู่ก็คงเป็นที่พอพระราชหฤทัยไม่น้อย

 

          นส่วนนักเรียนนั้น ก็ขอจงสำนึกว่าเป็นโชคดีของตนยิ่งแล้ว ที่ได้มีโอกาสมาเป็นนักเรียน ณ สถานศึกษาแห่งนี้ จงมีความขยันหมั่นเพียร เพื่อได้รับวิชาความรู้และคำสั่งสอนอบรมของครูและอาจารย์ ไว้เป็นมูลฐานการก้าวหน้าในการศึกษาขั้นต่อไปและพยายามประพฤติตนให้ดี จงรักษาและเชิดชูชื่อเสียงเกียรติคุณของโรงเรียน ให้สมกับที่ได้รับนามตามพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อไปเถิด

 

          ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าขออวยพรให้ท่านทั้งปวงมีความสุขสวัสดีทั่วกัน

 

 

          เมื่อจบพระบรมราโชวาทแล้ว นักเรียนทั้งหมดลุกขึ้นยืนร้องเพลง “อีกสี่สิบปี” โดยมีวงจุลดุริยางค์บรรเลงคลอเสียงร้องของนักเรียน จบแล้ววงจุลดุริยางค์บรรเลงเพลง “สรรเสริญเสือป่า” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “สรรเสริญพระบารมีบทพระสุบิน” พร้อมกันนั้นพนักงานค่อยๆ ไขม่านปิดพระวิสูตร อันเป็นสัญญาณว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จมาประทับเป็นประธานในงานพิธีดังกล่าวเสด็จขึ้นแล้ว

 

          ธรรมเนียมการเปิดปิดพระวิสูตรนี้มีมาตั้งแต่แรกตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์มาประดิษฐานที่โรงเรียนองค์หนึ่ง เมื่อประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ที่โรงเรียนแล้ว เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้มีพระวิสูตรปิดคลุมพระบรมฉายาลักษณ์นั้นไว้ เมื่อมีการประชุมครูนักเรียนจึงจะเปิดพระวิสูตรเผยให้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ เป็นสัญญาณว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงประทับเป็นประธานในงานพิธีนั้นแล้ว ผู้ที่ประชุมอยู่ ณ นั้นต้องปฏิบัติตนเสมอว่าได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เฉพาะพระพักตร์ และเมื่อปิดคลุมพระบรมฉายาลักษณ์ให้หมายว่า เสร็จพระราชกิจและเสด็จขึ้นแล้ว ครั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทตลอดแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้โรงเรียนถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบมาจนถึทุกวันนี้

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพลับพลายกข้างหอประชุมด้านทิศเหนือ

ทอดพระเนตรนักเรียนเดินแถวถวายตัว

 

 

          จบเพลงสรรเสริญพระบารมีบทพระสุบินแล้ว นักเรียนต่างทยอยกันเดินลงจากหอประชุมไปตั้งแถวในสนามหน้าด้านคณะพญาไท ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินลงจากหอประชุมมาประทับที่พระแท่นข้างหอประชุมด้านทิศเหนือแล้ว วงโยธวาทิตและวงปี่สก๊อตจึงเริ่มออกเดินนำ ตามด้วยนักเรียนเชิญธงโรงเรียน พื้นสีน้ำเงินลายกลางเขียนสีเป็นรูปพระมนูแถลงสาร กับธงกีฬาของโรงเรียน พื้นสีน้ำเงิน มีพิมพ์สีเงินเป็นตราพระมหาวชิรมงกุฎ คือ พระมหามงกุฎประดิษฐานเหนืออุณาโลมที่ทำเป็นเลข ๖ กับพระวชิราวุธแนวนอน ตอนล่างเป็นตัวอักษรสีเงินระบุนามโรงเรียน วชิราวุธวิทยาลัย ต่อด้วยธงประจำคณะ แล้วจึงเป็นแถวนักกรีฑาที่จะลงแข่งขันหน้าพระที่นั่ง ต่อด้วยแถวนักเรียนเรียงลำดับจากคณะผู้บังคับการ ดุสิต จิตรลดา พญาไท เด็กเล็ก ๑ (สนามจันทร์) และเด็กเล็ก ๒ (นันทอุทยาน)

 

          เมื่อนักเรียนเดินแถวถวายตัวผ่านหน้าที่ประทับ นักเรียนต่างทำ “แลขวา” ถวายเคารพ แล้วจึงวกไปตั้งแถวที่กลางสนาม เมื่อขบวนทั้งหมดเข้าไปตั้งแถวเฉพาะพระพักตร์เรียบร้อยแล้ว หัวหน้านักเรียนนำนักเรียนทั้งหมดถวายตัวเป็น "มหาดเล็ก" ตามโบราณราชประเพณี เริ่มด้วยเปิดกรวยกระทงเครื่องบูชายิ่ง แล้วเชิญพานดอกไม้ธูปเทียนเครื่องบูชายิ่งนั้นทูลเกล้าฯถวาย เสร็จแล้วนักเรียนร้องเพลง “เราเด็กในหลวง” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

 

 

ถ้วยรางวัลพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สำหรับการแข่งขันขันกรีฑาระหว่างคณะ

 

 

          เสร็จพิธีถวายตัวของนักเรียนแล้ว จึงเริ่มการแข่งขันกรีฑารายการสำคัญของเด็กโต อาทิ วิ่ง ๑๐๐ เมตร ๒๐๐ เมตร ผลัด
๔ x ๑๐๐ เมตร ส่วนการกรีฑาของเด็กเล็กที่จัดแข่งขันหน้าพระที่นั่งในวันนั้น มีอาทิ การแข่งขันชักคะเย่อ และวิ่งวิบากของนักเรียนคณะเด็กเล็ก ๑ และเด็กเล็ก ๒ (เวลานั้นคณะเด็กเล็กยังมีเพียง ๒ คณะ คณะเด็กเล็ก ๓ (สราญรมย์) มาตั้งขึ้นในอีกไม่กี่ปีต่อมา) การแข่งขันกรีฑานี้มีบันทึกในวชิราวุธานุสาส์นว่า ได้รับคำชมเชยจากผู้มาร่วมงานเป็นอย่างมาก

 

          อนึ่ง ในการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการกรีฑาของนักเรียนในคราวนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลการแข่งขันกรีฑาไว้แก่โรงเรียนถ้วยหนึ่ง และเมื่อจบการแข่งขันกรีฑาหน้าพระที่นั่งแล้ว หัวหน้าคณะที่ชนะการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ในรอบปีได้เดินเข้าไปตั้งแถวที่หน้าพลับพลาที่ประทับ ท่านผู้บังคับการกราบบังคมทูลเบิกหัวหน้าคณะจิตรลดา ซึ่งเป็นคณะที่ชนะเลิศคะแนนรวมการแข่งขันกรีฑาในปีนั้นเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานถ้วยหลวง แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลกีฬาประเภทต่างๆ แก่หัวหน้าคณะที่ชนะการแข่งขันกีฬาในปีนั้น เมื่อรับพระราชทานถ้วยรางวัลแล้ว หัวหน้าที่เข้ารับพระราชทานถ้วยรางวัลคงยืนถือถ้วยรางวัลรอส่งเสด็จที่หน้าที่ประทับ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนินจากพลับพลายกไปประทับรถยนต์พระที่นั่งที่เทียบอยู่ที่วงเวียนหน้าหอประชุม

 

 

หัวหน้าและนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๘

ร่วมกันเข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จ เป็นการสนองพระเดชพระคุณครั้งสุดท้ายก่อนจบการศึกษา

 

 

          เมื่อรถยนต์พระที่นั่งเริ่มเคลื่อนออกจากถนนวงเวียนหน้าหอประชุมในเวลาประมาณ ๑๘.๑๕ น. วงโยธวาทิตบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี นักเรียนรายทางส่งเสด็จพระราชดำเนินตลอดแนวสองข้างถนนจากหน้าหอประชุมไปจนสุดประตูคณะจิตรลดา ในขณะที่หัวหน้านักเรียนและนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๘ ที่กำลังจะจบการศึกษาร่วมกันเข็นรถยนต์พระที่นั่งส่งเสด็จพร้อมเปล่งเสียงไชโยกึกก้องไปตลอด จนรถยนต์พระที่นั่งพ้นเขตโรงเรียนที่ประตูคณะจิตรลดา

 

          ประเพณีการเข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จนี้ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) เล่าให้ฟังว่า เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อล้นเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมางานโรงเรียน ประทับเสวยพระกระยาหารค่ำแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ เมื่อรถยนต์พระที่นั่งเริ่มเคลื่อนออกจากโรงเรียน นักเรียนต่างพากันวิ่งตามส่งเสด็จบ้างก็เข้าเข็นรถยนต์พระที่นั่งซึ่งเป็นรถไฟฟ้า การครั้งนี้ทำเอาอาจารย์ใหญ่ในเวลานั้น คือ พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ศร ศรเกตุ) ที่ต่อมาได้เป็นพระยาบริหารราชมานพ ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ถึงกับตกใจที่นักเรียนบังอาจกระทำการที่ไม่เหมาะสม รุ่งเช้าอาจารย์ใหญ่ได้ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษแทนนักเรียน แต่เนื่องจากมีพระราชดำริว่า การที่นักเรียนได้กระทำไปนั้น ก็ด้วยความจงรักภักดีใคร่จะได้สนองพระเดชพระคุณให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายพระเนตร จึงมีพระราชกระแสดำรัสสั่งให้โรงเรียนรักษาธรรมเนียมนี้ไว้ และพระราชทานพระรมราชานุญาตให้นักเรียนได้เข็นรถยนต์พระที่นั่งและวิ่งตามส่งเสด็จสืบมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |