โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

 

๔๒. นายใน นางใน (๒)

 

 

ทรงฉายร่วมกับพระอนุชาและครอบครัวนายคอลเชสเตอร์ - วีมซ (Maynard W. Colchester-Wemyss)

ที่พระตำหนักเวสต์เบอรรี่ คอร์ต (Westburry Court) เมืองกลอสเตอร์เชียร์ (Gloustershire) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔

 

 

(แถวนั่งจากซ้าย)

๑. นายพันเอก พระยาราชวัลภานุสิษฐ (อ๊อด ศุภมิตร) ราชองครักษ์

 

๒. นายคอลเชสเตอร์ - วีมซ (Maynard W. Colchester-Wemyss)

 

๓. นางคอลเชสเตอร์ - วีมซ (Maynard W. Colchester-Wemyss)

 

 

(แถวยืนจากซ้าย)

๑. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์

 

๒. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์

 

๔. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ

 

๕. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

 

๘. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์

 

๙. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร

 

 

          ส่วนการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับอุปการะเด็กชายจำนวนมากไว้ในพระราชสำนักนั้น มีพระบรมราชาธิบายปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังนายเมย์นาร์ด วิโลบี คอลเชสเตอร์ - วีมซ (Maynard Willoughby Colchester - Wemyss) พระสหายชาวอังกฤษเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๘ ว่า

 

 

          "ที่วังฉันกำลังรับอุปการะเด็กชายกลุ่มใหญ่พอสมควร ตามประเพณีที่นิยมกัน พ่อ แม่ของเด็กพวกนี้ไว้วางใจให้ฉันเป็นผู้ให้การศึกษาและอบรมสั่งสอนกิริยามารยาทชาววังให้แก่ลูก ๆ ของตน ค่อนข้างจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กพวกนี้ ซึ่งมีอายุระหว่างสิบเอ็ดถึงสิบหกปี และฉันก็ไม่ได้รับความสนุกสนานจากเด็กพวกนี้เท่าที่คาดหวังไว้ เพราะพวกเขาคิดว่าฉันแก่เกินกว่าที่จะเป็นเพื่อนเขาได้ และเขาจะวิ่งหนีไปตั้งกลุ่มกันเองเมื่อใดก็ตามก็ตามที่สามารถทำได้ ทิ้งให้ฉันอยู่โดดเดี่ยวราวกับฤาษีบนภูเขา แต่ฉันก็ยังรับอุปการะเด็กพวกนี้ต่อไป เพราะฉันคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ของเขา รวมทั้งสิ่งที่พวกเขาจะรับใช้ฉันได้ในภายภาคหน้า ความเปลี่ยวของฉันครบถ้วนบริบูรณ์ที่สุดตรงที่ฉันอยู่ในฐานะสูงเกินไปที่จะไปเที่ยวเยี่ยมคุยกับใครสักคนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันได้อย่างสนุกสนาน บางคืนเมื่อฉันถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพัง ฉันอยากให้ตัวเองกลับไปอยู่ที่อังกฤษ อย่างน้อยฉันก็อาจไปไหนมาไหนและทำตัวเยี่ยงสามัญชนทั่วไปได้..."   []

 

 

          ความในพระราชหัตถเลขาดังกล่าวข้างต้นนั้นนอกจากจะแสดงให้เห็นว่า การที่ทรงอุปการะเด็ก ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก นอกจากเพื่อตอบแทนความจงรักภักดีของบิดามารดาของเด็ก ๆ เหล่านั้นแล้ว ยังทรงมุ่งหวังให้มหาดเล็กเด็ก ๆ เหล่านั้นเป็น "เพื่อน" ในยามที่ทรงตกอยู่ในสถานะเดียวกับที่จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงบันทึกไว้ในสมุดจดบันทึกรายวันส่วนพระองค์ว่า "การเกิดเป็นเจ้าเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายอย่างยิ่ง เพราะต้องทำอะไรตามขนบธรรมเนียมประเพณี ไม่อาจทำอะไรตามอำเภอใจได้ ไม่ว่าจะพูดหรือทำอะไรก็อยู่ในสายตาของคนอื่นตลอดเวลา"  []  จึงทำให้ทรง "อยู่ในฐานะสูงเกินไปที่จะไปเที่ยวเยี่ยมคุยกับใครสักคนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันได้อย่างสนุกสนาน"

 

 

พระบรมฉายาลักษณ์ทรงเครื่องเต็มยศจอมพล ผู้บังคับการพิเศษกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์

พร้อมลายพระราชหัตถ์พระราชทานพระยาอนิรุทธเทวา

 

 

          เด็ก ๆ ที่ทรงอุปการะไว้นี้ทรงถือเสมือนว่า ทุกคนเป็น "ลูก" ในพระองค์ทั้งสิ้น ดังมีพยานปรากฏในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) เมื่อมีอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ว่า "เจ้าได้ตั้งอยู่ในโอวาทของฃ้าประหนึ่งว่าฃ้าเปนบิดาเจ้าจริง จึ่งทำให้ฃ้ามีความรักใคร่อย่างบุตร์แท้จริงเหมือนกัน"  []  และในพระบรมฉายาลักษณ์ที่พระราชทานแก่พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ ก็ได้ลงลายพระราชหัตถ์ไว้ว่า "ให้ฟื้นเปนเครื่องหมายแห่งความรักของพ่อ" หรือแม้แต่ในหนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ ก็ยังกล่าวไว้ว่า "เมื่อพระองค์ทรงตื่นบรรทมจะรับสั่งว่า "ฟื้น พ่อตื่นแล้ว"  " []

 

          นอกจากนั้นเมื่อครั้งที่เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการถึงอสัญกรรมใน พ.ศ. ๒๔๕๙ และหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้เฝ้าทูลละอองธุลี

 

          พระบาทกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า " "ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีพ่อเสียแล้ว" ทันทีทันใดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดำรัสว่า "ไม่ต้องกลัวจะเป็นพ่อแทนให้"  []  ทั้งยังพบความตอนหนึ่งในบันทึกของหม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ประจำวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ อีกว่า "เสวยกลางคืนวันนี้รับสั่งว่าอยากจะให้เราบวช เรารับจะบวช ทรงพระกรุณาใหญ่ถึงแก่เรียกเราว่าลูกเลี้ยง และจะพระราชทานขบวนแห่เท่าพระองค์เจ้า เมื่อขึ้นไปเล่นไพ่ยังอวดคนอื่น ๆ อีกว่าลูกเลี้ยงเขาจะบวชให้ฉัน แลรับสั่งแก่เราว่าสึกมาแล้วจะพระราชทานบ้าน เมื่อมีบ้านแล้วจะแต่งงานก็ควร"  []

 

          พยานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่เด็ก ๆ ที่ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงไว้ คือ ความตอนหนึ่งในกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่นักเรียนมหาดเล็กหลวงในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ว่า

 

 

          "เจ้าเหล่านี้ข้าถือเหมือนลูกของข้า ส่วนตัวเจ้า เจ้าก็ต้องรู้สึกว่าข้าเป็นพ่อเจ้า ธรรมดาพ่อกับลูก พ่อย่อมอยากให้ลูกดีเสมอ ถ้าลูกประพฤติตัวดีสมใจพ่อ พ่อก็มีใจยินดี ถ้าลูกเหลวไหลประพฤติแต่ความเสื่อมเสีย พ่อก็โทมนัส ลูกคนใดที่ประพฤติตนเลวทรามต่ำช้าเป็นเหตุให้พ่อได้ความโทมนัส ลูกคนนั้นเป็นลูกเนรคุณพ่อ"  []

 

 

          นอกจากเรื่องที่ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงเด็ก ๆ ไว้ในพระราชสำนักแล้ว หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ ยังได้กล่าวถึงราชสำนักฝ่ายในในสมัยรัชกาลที่ ๖ ไว้ว่า "กว่ารัชกาลที่ ๖ จะทรงเริ่มสนพระราชหฤทัยมีนางในอย่างเป็นทางการเมื่อมีพระชนมายุ ๓๘ พรรษา" และเมื่อตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรง "ถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่" มาแล้วก็ตาม แต่การณ์ดังกล่าวกลับต้องร้างรามาก็เพราะมีพระราชกระแสว่า "ก็ฉัน ไม่รักนี่นา"  []  ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเพลินไปกับการอุทิศพระองค์เพื่อดำเนินพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ในอันที่จะทรงนำสยามประเทศก้าวขึ้นสู่การยอมรับของนานาอารยประเทศ ดังที่ได้ทรงตั้งพระบรมราชปณิธานไว้แต่แรกทรงรับสิริราชสมบัติว่า ในรัชสมัยของพระองค์นั้นจะทรงนำอิสรภาพทางการศาลและยกเลิกข้อกำหนดเรื่องภาษีร้อยชักสามให้แล้วเสร็จสมบูรณ์

 

          เมื่อทรงเริ่มจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรมโดยแยกอำนาจตุลาการออกจากอำนาจบริหาร ทรงจัดระเบียบกระทรวงคมนาคม โปรดให้จัดตั้งคลังออมสินเพื่อส่งเสริมการออมของประชาชนในชาติ ฯลฯ ก็เผอิญเกิดมหาสงครามขึ้นในยุโรป ทรงติดตามข่าวสารการศึกในยุโรปนั้นโดยใกล้ชิดนับแต่เริ่มการสงคราม จนทรงตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยแล้วว่า หากสยามจะเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และถ้าสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายมีชัยในการมหาสงครามครั้งนั้นแล้ว จะทรงใช้โอกาสนั้นแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นเครื่องฉุดรั้งความเจริญของประเทศสยามให้สำเร็จลุล่วงไปได้ จึงได้ทรงนำสยามประเทศเข้าสู่สงคราม โดยประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย - ฮังการี เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎคม พ.ศ. ๒๔๖๐ และทรงส่งกองทหารไปร่วมรบในสมรภูมิทวีปยุโรป ซึ่งการณ์ก็เป็นไปดังที่ทรงตาดหวังไว้ เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายมีชัยชนะในมหาสงครามครั้งนั้นแล้ว จึงได้มีพระราชกระแสทรงพระราชปรารภกับคุณมหาดเล็กที่ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทว่า "รบศึกยังไม่ชนะ ยังไม่มีเมีย ชนะศึกมีเมียได้แล้ว"  []

 

 

 


[ ]  พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาลิทัต พรหมทัตตเวที - แปล). พระราชากับคหบดีแห่งชนบท , หน้า ๑๔ - ๑๕.

[ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ และ ไอลีน ฮันเตอร์ (พันขวัญ ทิพม่อม - แปล). แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า ๔๓.

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. "พระราชหัตถเลขาพระราชทานนายจ่ายง ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ร.ศ. ๑๓๐", ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พลเรือเอก มหาเสวกเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ), ไม่ปรากฏเลขหน้า

[ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖, หน้า ๗๔.

[ ]  หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล. อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๒๓.

[  "พระประวัติ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์", จดหมายเหตุรายวัน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า [๗]

[ ]  "พระราชดำรัสตอบเนื่องในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ พระตำหนัสวนกจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช. ๒๔๕๖",. พระบรมราโชวาท กับ วชิราวุธวิทยาลัย, หน้า ๗๔ - ๗๕.

[ ]  พระราชวงศ์จักรี, หน้า ๒๖๖.

[ ]  จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์). อนุสรณ์ "ศุกรหัศน์", หน้า ๑๗๙.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |