โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

 

๔๗. พระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓)

 

 

          ส่วนกรมมหาดเล็กซึ่งในประกาศพระบรมราชโองการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ราชการในกรมมหาดเล็ก พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้กำหนดให้เป็นส่วนราชการหนึ่งในสังกัดกระทรวงวังนั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้แยกเป็นส่วนราชการอิสระ พร้อมกับได้โปรดเกล้าฯ ให้จางวางมหาดเล็กข้าหลวงใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ นาย คือ พระยาวรพงษ์พิพัฒน์ [] (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) และพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) กับมหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่ได้ปฏิบัติราชการในพระองค์มาแต่ก่อนเสด็จเสวยราชย์ ๒ นาย คือ พระยาเทพทวาราวดี (สาย ณ มหาชัย) จางวางมหาดเล็กข้าหลวงเดิม และนายขัน หุ้มแพร [] (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) หัวหน้ามหาดเล็กเด็กๆ เป็นสภาจางวางมหาดเล็กทำหน้าที่บริหารราชการทั้งปวงในกรมมหาดเล็กขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบราชการกรมมหาดเล็ก ซึ่งในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้แยกราชการประเภทต่าง ๆ ไว้ในมหาดเล็กเวรศักดิ์ เวรสิทธิ์ เวรฤทธิ์ เวรเดช ดังได้กล่าวแล้ว ขึ้นเป็นกรมชั้นอธิบดี รับผิดชอบราชการในกรมนั้น ๆ ตรงต่อสภาจางวางมหาดเล็ก โดยในกรมชั้นอธิบดีนั้นยังแบ่งส่วนราชการเป็นกรมย่อย มีเจ้ากรมเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นรองลงไปอีก คือ

               ๑. กรมบัญชาการสภาจางวางวางมหาดเล็ก ภายหลังเปลี่ยนเป็นกรมบัญชาการกลาง มหาดเล็ก มีสภาจางวางมหาดเล็กเป็นผู้บังคับบัญชาราชการทั้งปวงในกรมมหาดเล็ก และเป็นสภากรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงด้วย

 

               ๒. กรมมหาดเล็ก เดิมเรียกว่า กรมมหาดเล็กรับใช้ มีอธิบดีกรมมหาดเล็กเป็นผู้บังคับบัญชาราชการต่าง ๆ ในกรมมหาดเล็กซึ่งมีส่วนราชการที่สำคัญประกอบด้วย

                      ๒.๑ กรมมหาดเล็กห้องพระบรรทม มีจางวางหรือเจ้ากรมมหาดเล็กห้องพระบรรทมเป็นหัวหน้า มีมหาดเล็กประจำการไม่เกิน ๘ คน แบ่งเป็น ๒ เวร มีหน้าที่จัดเกี่ยวกับห้องพระบรรทมและห้องสรง รวมทั้งการจัดเครื่องแต่งพระองค์ทั้งเครื่องปกติ ครึ่งยศ เต็มยศ และเครื่องลำลอง ในเวลาเสด็จเข้าห้องพระบรรทมแล้ว คนหนึ่งต้องนอนอยู่ใกล้ ๆ ในระยะที่จะทรงเรียกปลุกได้ในเวลาที่ทรงพระบรรทมอยู่

                      ๒.๒ กรมมหาดเล็กรับใช้ ภายหลังเปลี่ยนเป็นกรมมหาดเล็กตั้งเครื่อง มีเจ้ากรมมหาดเล็ก ตั้งเครื่องเป็นหัวหน้า มีมหาดเล็กประจำการไม่น้อยกว่า ๒๐ คน ส่วนใหญ่คัดมาจากนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง มีหน้าที่รับใช้ที่โต๊ะเสวย และมีเวรเชิญเครื่องตามเสด็จทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินออกไปนอกพระราชวัง จัดเวรประจำรักษาการที่ชั้นล่างของพระที่นั่ง เวรหนึ่งประมาณ ๔ คน และคนหนึ่งในจำนวนนี้ต้องตื่นอยู่ตลอดเวลา เพื่อคอยรับแขกและระวังเหตุ บางคนต้องอยู่เฝ้าฯ เพื่อร่วมเล่นกีฬา และแสดงละครปริศนา ฯลฯ

                      ๒.๓ กรมคลังวรภาชน์ มีเจ้ากรมคลังวรภาชน์เป็นหัวหน้า มีหน้าที่เกี่ยวกับอาหาร การผสมเหล้าค็อกเทล ติดต่อกับห้องเครื่องหวาน เครื่องคาว

                      ๒.๔ กรมพระราชพิธี มีเจ้ากรมพระราชพิธีมหาดเล็กเป็นหัวหน้า มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดเครื่องบูชาต่าง ๆ

                      ๒.๕ กรมราชเลขานุการในพระองค์ มีราชเลขานุการในพระองค์เป็นหัวหน้า แบ่งเป็น "เลขานอก" มีหน้าที่เกี่ยวกับงานหนังสือราชการ "เลขาใน" มีหน้าที่เกี่ยวกับหนังสือส่วนพระองค์ทั้งหมด

 

               ๓. กรมมหรสพ มีผู้บัญชาการกรมมหรสพ เป็นผู้บังคับบัญชาราชการต่างๆ ซึ่งมีส่วนราชการที่สำคัญประกอบด้วย

                      ๓.๑ กรมช่างมหาดเล็ก มีจางวางกรมช่างมหาดเล็กเป็นหัวหน้า มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกแบบจัดสร้างฉากโขน ละคร งานจัดสร้างธงเสือป่าและลูกเสือ การซ่อมสร้างหัวโขน ฯลฯ

                      ๓.๒ กรมโขนหลวง มีเจ้ากรมโขนหลวงเป็นหัวหน้า มีหน้าที่เกี่ยวกับงานการแสดงทั้งโขนและละคร

                      ๓.๓ กรมพิณพาทย์หลวง มีเจ้ากรมพิณพาทย์หลวงเป็นหัวหน้า มีหน้าที่เกี่ยวกับงานดนตรีทั้งในเวลาแสดงโขนละครและงานพระราชพิธีต่าง ๆ ในพระราชสำนัก

                      ๓.๔ กองเครื่องสายฝรั่งหลวง มีเปลัดกรมกองเครื่องสายฝรั่งหลวงเป็นหัวหน้า มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดบรรเลงดนตรีประเภทเครื่องสายฝรั่งหรือวงดุริยางค์

 

               ๔. กรมชาวที่ มีอธิบดีกรมชาวที่ เป็นผู้บังคับบัญชาราชการต่างๆ ในกรมชาวที่ซึ่งมีส่วนราชการที่สำคัญประกอบด้วย

                      ๔.๑ กรมสวนหลวง

                      ๔.๒ กรมรักษาพระบรมมหาราชวัง

                      ๔.๓ กรมรักษาพระราชวังสวนดุสิต

                      ๔.๔ กรมรักษาพระราชวังบางปะอิน

                      ๔.๕ กรมรักษาพระราชวังสนามจันทร์

                      ๔.๖ กรมรักษาพระราชวังพญาไท


               ๕. กรมพระอัศวราช มีอธิบดีกรมพระอัศวราช เป็นผู้บังคับบัญชาราชการต่างๆ ในกรมพระอัศวราชซึ่งมีส่วนราชการที่สำคัญประกอบด้วย

                      ๕.๑ กรมพระอัศวราช มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องม้าต้นและการจัดกระบวนรถม้าพระที่นั่ง

                      ๕.๒ กรมม้าพระประเทียบ

                      ๕.๓ กรมรถม้า

                      ๕.๔ กรมม้าสำรองราชการ

                      ๕.๕ กรมยานยนต์

                      ๕.๖ กรมเรือยนต์ []

 

          เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบราชการกรมมหาดเล็กเป็น ๔ กรม มีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีบรรดาศักดิ์และราชทินนามสำหรับกรมต่างๆ เหล่านั้นเป็นการเฉพาะแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกบรรดาศักดิ์มหาดเล็กในทำเนียบตั้งแต่ชั้นเจ้าหมื่นลงไปจนถึงนายรอง ทั้งเวรศักดิ์ เวรสิทธิ์ เวรฤทธิ์ เวรเดช ไปรวมไว้ที่กรมมหาดเล็กรับใช้ซึ่งต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ออกนามใหม่ว่า กรมมหาดเล็กเพื่อให้สอดคล้องกับขนบประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

 

 

พระยาบำเรอบริรักษ์ (สาย ณ มหาไชย)

 

 

          แต่เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทพทวาราวดี ออกจากราชการเพราะเหตุอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ในแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัดใน พ.ศ. ๒๔๕๖ แล้ว สภาจางวางมหาดเล็กจึงคงเหลือกรรมการผู้ปฏิบัติหน้าที่เพียง ๓ นาย และต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้มีพระราชดำริว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบบังคับบัญชาการกรมมหาดเล็กทั่วไป โดยมีสภาสำหรับรวบยอดการบังคับบัญชาทั่วไป เรียกว่า สภาจางวางกรมมหาดเล็ก มีจางวางเป็นกรรมการรับผิดชอบบังคับบัญชาสรรพราชกิจน้อยใหญ่ในกรมขึ้น และกรมสมทบทั้งปวงทั่วไป ไม่มีกำหนดกี่นายแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้น และแม้ว่าจะสั่งการใดๆ จางวางซึ่งเป็นกรรมการสภาจะต้องรู้เห็นด้วยกันทุกแพนกดังนี้ กระทำให้ราชการของกรมมหาดเล็กต้องเนิ่นช้าไปบ้างเกินกว่าที่ควร จางวางผู้ซึ่งเป็นกรรมการจึงได้ผ่อนผันอนุโลมไปเพื่อความสะดวก คือมอบอำนาจและสิทธิที่จะสั่งการให้แก่กรรมการคนหนึ่งคนใดบังคับบัญชาสั่งการไปโดยลำพัง กิจการก็ดำเนินไปโดยความเรียบร้อยตลอดมา จึงเป็นเหตุแสดงให้ทรงสังเกตเห็นชัดว่าวิธีการปกครองกรมมหาดเล็กอย่างที่ตั้งเป็นสภาจางวาง มีจางวางเป็นกรรมการบังคับบัญชาราชการนั้น หาตรงกับลักษณะที่เป็นอยู่ไม่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกสภาจางวางกรมมหาดเล็กนั้นเสีย และให้มีตำแหน่งบังคับบัญชาการกรมมหาดเล็กขึ้นใหม่ เรียกว่าผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก กับได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กมาตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๒ โดยมีพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ และพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ เป็นผู้ช่วยผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กต่อมา

 

          ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กนี้ จึงอาจจะเปรียบได้กับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมมหาดเล็ก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ เคยทรงดำรงตำแหน่งนี้มาแต่ครั้งจัดระเบียบราชการกรมมหาดเล็กเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ และได้ "บังคับบัญชาการในกรมมหาดเล็กทั่วไป"  [] มาตราบสิ้นพระชนม์ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒)

 

          ส่วนที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ กล่าวถึงเจ้าพระยารามราฆพว่า เป็นผู้คัดสรรนางในถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ก็เป็นการกล่าวอ้างที่ปราศจากมูลความจริงรับรอง เพราะในข้อเท็จจริงนั้นเจ้าพระยารามราฆพเป็นผู้สนับสนุนพระนางเธอลักษมีลาวัณเพียงพระองค์เดียว ด้วยมีความเกี่ยวดองเป็นญาติกันทางมารดา ส่วนพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกด้วยพระองค์เอง ในขณะที่พระสุจริตสุดานั้น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) เป็นผู้นำถวายตามพระราชประเพณี และพระสุจริตสุดาก็เป็นผู้นำสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ถวายตัวอีกพระองค์หนึ่ง ฉะนั้นการที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ ได้เปรียบเทียบไว้ว่า "เจ้าพระยารามราฆพ เสมือน "สมเด็จอธิบดีฝ่ายใน"  [] นั้น จึงเป็นการตีความที่เกินจริง เพราะหน้าที่รับผิดชอบของเสด็จอธิบดีฝ่ายในนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิงกับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก และส่วนที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ กล่าวว่า "พระยาอนิรุทธเทวาเสมือน "ท้าววรจันทร์" นั้น โดยข้อเท็จจริงแล้วตำแหน่งท้าววรจันทร์นั้นเป็นที่สมเด็จพระพี่เลี้ยง (หมายถึงพระพี่เลี้ยงกษัตริย์หรือพระราชโอรสที่ยังมิได้โสกันต์ และพระราชธิดาชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า) นอกจากนั้นยังเป็นหัวหน้าท้าวนางทั้งปวง ได้บังคับบัญชาทั่วไปในราชสำนักฝ่ายใน ตลอดจนมีหน้าที่ตักเตือนว่ากล่าวพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน และพระสนมกำนัล แต่พระยาอนิรุทธเทวานั้นมิได้มีหน้าที่ราชการเฉกเช่นตำแหน่งท้าววรจันทร์ ส่วนหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนพระบรมวงศ์ฝ่ายหน้านั้น ก็พบหลักฐานว่าได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวังเป็นเจ้าหน้าที่ในการนี้ ดังมีหลักฐานปรากฏในเวลาต่อมาว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักและแพทย์ผู้ถวายการรักษาระบุว่า พระอาการไม่มีหวังที่จะรักษาแล้ว พระบรมวงศ์พระองค์หนึ่ง "ก็ออกไปประทับเป็นใหญ่สั่งการงานอยู่ทางหน้ากระทรวงวัง. ใครผ่านไปก็ต้องแลเห็น, ทั้งมีบางคนที่แอบไปได้ยินคำสั่งว่า ให้ขัดตรวนไว้ใส่เจ้าพระยาธรรมาฯ เสนาบดีกระทรวงวัง."  [] ฉะนั้นการที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ กล่าวว่า "พระยาอนิรุทธเทวาเสมือน "ท้าววรจันทร์"  [] นั้น จึงเป็นการตีความเกินจริงอีกประการหนึ่ง

 

 

 


[ ]   ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยารามราฆพ

[ ]  โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่อง "กรมมหาดเล็ก" ซึ่งได้ตีพิมพ์เผยแพร่แล้วในหนังสือ "เกร็ดพงศาวดาร รัชกาลที่ ๖"

[ "แบบเรียนราชการกรมมหาดเล็ก", เรื่องมหาดเล็ก ของ กรมศิลปากร, หน้า ๑๙.

[ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖, หน้า ๒๕.

[ พระราชวงศ์จักรี, หน้า ๒๕๖.

[ ]  "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖, หน้า ๒๖.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |