โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

 

๔๙. พระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๕)

 

 

          อนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีฝ่ายใน โดยทรงเสกสมรสด้วยคุณเปรื่อง สุจริตกุล ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระสุจริตสุดา พระสนมเอก และคุณประไพ สุจริตกุล ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระอินทราณี พระสนมเอก และต่อมาได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินีแล้ว คุณเจรียง (อากาศวรรธนะ) ลัดพลี คุณข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ก็ได้เล่าถึงพระราชจริยาวัตรไว้ใน "รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ" ตอนหนึ่งว่า เมื่อประทับที่พระราชวังพญาไทนั้น "บ่าย ล้นเกล้าฯ จะต้องเสด็จมาทรงรับสมเด็จ เสด็จออกไปเสวยทางฝ่ายหน้า ห้องเสวยอยู่ชั้นล่างของพระที่นั่งพิมานจักรี พร้อมข้าราชบริพารของพระองค์ท่าน มีพวกมหาดเล็กนายเวรเชิญและตั้งเครื่องแบบฝรั่ง... เสวยเสร็จแล้ว ล้นเกล้าฯ จะเสด็จมาพร้อมกับสมเด็จฯ อีก และเสด็จลงลงสนามที่หน้าพระที่นั่งศรีสุทธนิวาศ"  []

 

 

ห้องพระบรรทมสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี
ในพระที่นั่งพิมานจักรี พระราชวังพญาไท

 

 

          "และบางคราวก็จะเสด็จอยู่ที่ลานหน้าพระที่นั่งพร้อมทั้งรถที่นั่งรอง รถตามเสด็จของมหาดเล็กเชิญเครื่อง... เมื่อมีรถพระที่นั่งมาคอยรับเสด็จอยู่ ก็จะต้องมีพวกนักเรียนรับใช้ เช่น ม.จ.อัศนีฟ่องฟ้า เทวกุล ม.จ.โชติศรีกฤติกา [] ม.จ.อรชุณชิษณุ  [] เทวมิตร กุญชร  [] สุจินต์ สุจริตกุล แต่งตัวแบบนักเรียนรับใช้คล้ายอุศเรนมาคอยตามเสด็จด้วย ทางที่เสด็จมักจะเป็นทางล่าง รถพระที่นั่งจะแล่นออกจากพระราชวังพญาไท ไปทางสวนจิตร ผ่านพระบรมรูป ออกทางถนนราชดำเนิน ออกเจริญกรุง ไปทางห้างไวทเวย์ สีลม วิทยุ สาธร ศาลาแดง แล้วก็เสด็จกลับ เสวยน้ำชา จนเวลาในราว ๒ - ๓ ทุ่มจึงจะเสด็จมารับสมเด็จฯ เสด็จไปร่วมโต๊ะเสวยทางฝ่ายหน้าอีก พวกเราก็ลงมารับประทานอาหารตามเคยที่พวกวรภาชน์จัดหาให้เตรียมไว้บนโต๊ะที่ใช้รับประทานน้ำชาแล้วตอนเย็น รับประทานแล้วก็ขึ้นมาคอยเฝ้าอยู่อีก ระยะนี้จะทรงรับสั่งต่อกัน และบางวันก็จะประทับอยู่ทรงพระอักษร

 

          ประทานสมเด็จฯ เสด็จเข้าพระวิสูตรแล้ว ล้นเกล้าฯ จะประทับบนเก้าอี้นวมองค์ใหญ่ มีโคมไฟตั้งข้างๆ มีม้าบุนวมแพรเตี้ยๆ รองพระบาท สีเข้าชุดกับพระเก้าอี้ ปกติองค์ล้นเกล้าฯ จะแต่งพระองค์ทรงพระสนับเพลาแพรจีนสีตามวัน ทรงคาดแพรสีแก่ – อ่อนสลับสีให้เข้ากันกับพระสนับเพลา ที่ตรงพระนาภีห้อยชายไม่ยาว ฉลองพระองค์ผ้าป่านหรือมัสลิน, ลินนิน, สีขาวบางเนื้อดี ผ่าตรงพระอุระติดกระดุมเม็ดเล็กที่ตรงพระศอ ฉลองพระองค์ชั้นนอกแพรฝรั่งเศส ฉลองพระบาทเป็นแบบคัทชู น่ารัก เพราะพระบาทของท่านเล็กไม่เหมือนผู้ชายทั่วไปเลย เวลาประทับบนเก้าอี้จะทรงถอดฉลองพระบาท และวางพระบาทไว้บนม้าเตี้ยบุแพรนั้น พวกเราเด็กๆ ก็จะเปลี่ยนกันเข้าไปปัดยุงถวายด้วยแส้หางม้าด้ามงาอันสั้นๆ หมอบกราบแล้วก็หมอบปัดยุงถวาย ความจริงยุงก็ไม่เห็นจะมีแต่ต้องทำตามระเบียบ ปัดไปปัดมานานเข้าก็อดง่วงไม่ได้ ถึงกับซบตัวม่อยหลับตรงนั้นเอง ดูเถิด ! นี่แหละเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ท่านทรงมีพระจริยานุวัตรอย่างไร ท่านไม่เห็นทรงกริ้ว กลับทรงพระเมตตากระดิกนิ้วพระบาทแต่น้อยๆ พอให้รู้สึกว่าท่านจะทรงลุกขึ้นละ พอเรารู้สึกตัวกลัวเสียแทบตายต้องหมอบกราบขอประทานโทษเป็นการใหญ่ ท่านก็ไม่รับสั่งว่ากระไร กลับทรงพระสรวลเสียอีก เสด็จมานอกห้องพระบรรทม ท่านถอดฉลองพระองค์แขวนไว้ข้างนอก ตอนนี้พวกพี่สาวๆ ก็จะคอยจ้องว่าใครจะเป็นผู้ได้ถวายฉลองพระองค์นั้น ใครไวกว่าได้ถวายฉลองพระองค์ทรงก็รู้สึกจะสดชื่นดี มหาดเล็กห้องพระบรรทมจะมาคอยรับเสด็จอยู่นอกพระทวาร และเสด็จลงทางฝ่ายหน้าอีกจนดึกดื่น เพราะท่านทรงมีเกมจะเล่นอะไรอีกมากมายกับเหล่าราชบริพารของพระองค์ท่าน ซึ่งทางฝ่ายหน้านี้มีข้าราชบริพารฝ่ายชายมากมาย บางครั้งสมเด็จฯ ก็เคยตามเสด็จลงทางฝ่ายหน้าบ้างเหมือนกัน

 

          ต่อมาสมเด็จฯ ทรงพระครรภ์ ที่พระราชวังพญาไทยตอนบ่าย ล้นเกล้าฯ จึงไม่เสด็จลงเสวยฝ่ายหน้า ประทับเสวยที่ห้องโถงใหญ่บนพระที่นั่งพิมานจักรี ตรงกับห้องทรงพระอักษรหลังคาแหลม ทรงประทับกับพื้นพรมมีเบาะรองพระที่นั่งพระเขนยเป็นรูปหมอนขวางอิงติดกันเพียงสองพระองค์เท่านั้น พระที่นั่งของล้นเกล้าฯ จำได้ว่าเป็นสีเหลืองอ่อน ของสมเด็จฯ เป็นสีชมพูและเล็กกว่า มหาดเล็กเชิญเครื่องถ้วยพานเชิงกาไหล่ทองขอบบนเป็นลวดลายประดับเพชรพลอยสีต่างๆ ใส่เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์หรือชามกังไสหลายพาน ขึ้นมาส่งให้พวกพี่ๆ ที่เป็นคุณพนักงานรอรับอยู่ข้างนอกห้องและส่งต่อเข้ามาจนถึงคนตั้ง พวกเด็กๆ เป็นคนตั้งเปลี่ยนเวรกัน ที่ตั้งเป็นโต๊ะเตี้ยครึ่งพระองค์ ปูด้วยผ้าลินินขาว การตั้งต้องตั้งให้ถูกแบบโดยได้รับการฝึกสอนมาจากพวกคุณมหาดเล็กรุ่นพี่ เช่น วางจานเสวยพระกระยาหารตรงพระพักตร์ ฉลองพระหัตถ์ช้อนซ่อมขวา ซ้าย มีด แต่ไม่ทรงใช้เพราะเสวยด้วยพระหัตถ์ เครื่องจิ้มเป็นเครื่องเล็ก มีครบทุกอย่าง น้ำปลา น้ำตาลเชื่อม น้ำพริกหลน น้ำพริกเผา สำหรับหลนกับน้ำพริกนั้นต้องมีต่างๆ กันด้วย รวมแล้วในราว ๗ - ๘ ถ้วย วางเรียงรอบจานเสวยเป็นวงพระจันทร์ครึ่งซีก ต่อออกมาเป็นผักยำ พวกแกงอยู่รอบนอก ปลาทูปลาดุกพวกทอดกรอบนั้นอยู่ทางขวา จานผักที่พวกวรภาชน์ แกะ จัก สลัก สาน จัดมานั้นสวยงามพึงพิศมาก เกิดมาก็ไม่เคยเห็นที่ไหนเป็นรูปลายต่างๆ กัน ทุกวัน แช่เย็นเจี๊ยบอยู่ทางซ้าย กมะลา [] เป็นคนตักพระกระยาหารซึ่งเป็นโถกังไสรูปสูงใส่มา และจะมีเครื่องเคียงมาด้วย ๑ ที่เสมอ เป็นข้าวคลุกกะปิ ข้าวยำปักศ์ใต้ ข้าวผัด ข้าว ฯลฯ ก็แล้วแต่พวกห้องเครื่องจะประดิษฐ์ใส่ชามเบญจรงค์สีมีฝา พานรองขนาดใหญ่พอเสวยสองพระองค์ พระสุธารส เครื่องดื่มใส่ถาดเงินมาอีก ๑ ถาด เวลาเสวยพระกระยาหาร องค์ล้นเกล้าฯ ท่านจะทรงดื่มเบียร์ใส่เหยือกเงินมีฝาปิดเปิด หน้าที่นี้เป็นของท่านหญิงอรอำไพ [] จะคอยจัดถวายแล้วก็จะทรงรับสั่งคุยเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ทรงเสด็จประทับอยู่เมืองนอกที่อังกฤษ ต้องทรงกวาดคอกม้า ต้องทรงทำอะไรทุกอย่างเช่นสามัญชน เรื่องขบขันต่างๆ เรื่องแปลกๆ []ให้เรา ได้มีความรอบรู้เฉลียวฉลาด มีความรู้รอบตัวซึ่งแล้วแต่จะทรงโปรดเกล้าฯ นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อมอย่างที่จะลืมเสียไม่ได้เลยจนตลอดชีวิตนี้ เวลาทรงเสวยก็ไม่เห็นเสวยอะไรมาก โน่นนี่อย่างละองค์สององค์เท่านั้น ที่เห็นล้นเกล้าฯ ท่านทรงโปรดมากก็เห็นจะได้แก่ หนังหมูทอดกรอบเป็นท่อนยาวๆ []เท่านิ้วชี้จิ้มกับน้ำปลาดี นั่นแหละเสวยมากองค์หน่อย และเช่นแกงแคลาวก็จะต้องมีใส่ขึ้นไปแทบทุกวันเท่าที่สังเกต พอเสวยเสร็จ ท่านหญิงอรฯ กับท่านหญิงผ่องฯ [] เป็นผู้ถวายน้ำล้างพระหัตถ์ของทั้งสองพระองค์ จอกเงินมีขันน้ำพานรองคอยรดถวายที่พระหัตถ์ สบู่ที่ทรงฟอกจะเป็นสบู่มะนาวก้นแหลมรูปไข่ ถวายน้ำสบู่แล้วจะต้องคอยเอาน้ำหอมราเวนเดอร์หยดลงที่ตรงพระหัตถ์พร้อมกับที่ล้างสบู่นั้น เพื่อดับกลิ่นของเครื่องต่างๆ จนหอมกรุ่น และเช็ดพระหัตถ์ด้วยผ้าจีบอบหอมด้วยกลิ่นร่ำ เครื่องคาวลงแล้วก็มีเครื่องหวานพระองค์ละชุด มีขนมสมัยโบราณ เช่น ขนมเทียนนมสาว ขนมหน้านวล สัมปันนี ผลไม้นานาชนิดเท่าที่มีในหน้านั้น ปอก คว้าน สลักเสลาด้วยฝีมือปราณีตงดงาม เสร็จแล้วก็ถึงเครื่องดื่มเป็บเปอร์มินท์ (เหล้าเขียว) เป็นอันเสร็จ ดิฉันจำได้จับจิตจับใจแม่นยำ ถ้าวันใดเป็นเวรที่ดิฉันตั้งเครื่องแล้ว ล้นเกล้าฯ มักจะทรงคุยถึงท่านบิดาของดิฉันแทบทุกครั้ง ว่าบิดาของดิฉันได้เคยรับใช้สนองพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่เชียงใหม่เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนิน ว่าเป็นคนฉลาดแคล่วคล่องว่องไว โดยทรงรับสั่งว่า "แกก็เหมือนกับพ่อของแกนั่นแหละ" ทำให้ดิฉันแสนจะปลาบปลื้ม ไม่เคยลืมพระราชดำรัสนี้เลยจนกระทั่งบัดเดี๋ยวนี"  [๑๐]

 

 

          ในเรื่องการทรงกีฬาและการทรงเล่นต่างๆ นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชนิยมในการทรงกีฬาชนิดต่างๆ ที่นิยมเล่นกันในประเทศอังกฤษ ทั้งกีฬาขี่ม้า เทนนิส แบดมินตัน กอล์ฟ ราวน์เดอร์ และคริกเก็ต เฉพาะกีฬาราวน์เดอร์และคริกเก็ตซึ่งเมื่อตีลูกแล้ว ผู้ตีลูกต้องวิ่งรอบหลักที่กำหนดไว้ในสนาม ก็ทรงวิ่งด้วยพระองค์เองมาโดยตลอด จนเมื่อทรงพระประชวรใน พ.ศ. ๒๔๖๑ และนายแพทย์ถวายคำแนะนำให้ทรงผ่อนการออกพระกำลังลง นับแต่นั้นมาจึงทรงตีลูกเท่านั้น ส่วนการวิ่งเมื่อตีถูกแล้ว ทรงมอบให้มหาดเล็กเด็กๆ เช่น หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นผู้วิ่งแทน และเมื่อทรงมีฝ่ายในแล้ว ก็ยังโปรดทรงกีฬา ดังเช่นที่คุณเจรียง ลัดพลี ได้เล่าไว้ใน "รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ" ว่า เมื่อเสวยพระกระยาหารกลางวันที่พระราชวังพญาไทเสร็จแล้ว

 

 

พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานชั้นใน ในพระราชวังพญาไท

 

 

          "ล้นเกล้าฯ จะเสด็จมาพร้อมกับสมเด็จฯ อีก และเสด็จลงสนามที่หน้าพระที่นั่งศรีสุทธนิวาศ พวกข้าหลวงสมเด็จฯ จะคอยหมอบเฝ้าอยู่แถวนั้นด้วย พระองค์ล้นเกล้าฯ และสมเด็จฯ ท่านทรงโปรดการกีฬามากแทบทุกชนิด แต่ตอนเย็นนี้พวกชาวที่จะมาจัดเกม Rounders ไว้ถวาย สมเด็จฯ และล้นเกล้าฯ จะทรงแยกกันประทับพระองค์ละข้าง ซึ่งจะต้องมีผู้เล่นฝ่ายละเท่ากัน ดิฉันเป็นกัปตัน Bowl ลูกข้างล้นเกล้าฯ สุภัทรา  [๑๑] Bowl  ลูกข้างสมเด็จฯ แต่ในหนังสือที่สุภัทราเขียนไว้นั้น เห็นบอกว่า Bowl ลูกคู่กับพระยาศรีสุริยวงศ์ฯ ดังนั้นจึงไม่ขอยืนยัน สุภัทรากับดิฉันเราคงจะเล่นกีฬาเกมนี้กันคนละแห่งก็ได้ เพราะเท่าที่เห็นเวลาทรงอะไรฝ่ายใน จะไม่มีผู้ชายคนใดเข้ามาได้นอกจากคุณโต สุจริตกุล (นายกวด หุ้มแพร) [๑๒] ซึ่งเป็นผู้ชายคนเดียวที่เข้านอกออกในได้ทุกเวลาและทุกแห่งที่สมเด็จฯ ท่านประทับอยู่ และตอนที่ทรงกีฬาเกมนั้นก็มี คุณจ่ารงค์ (แจ่ม สุนทรเวช) [๑๓] เข้ามาแต่ผู้เดียวทุกเวลา ไม่ว่าจะเสด็จลงทรงเกมนี้ตอนเช้าหรือเย็น เข้ามาเพื่อจดรายการเล่นแพ้ – ชนะกันกี่ Round คนอื่นไม่เห็น ถ้ายืนยันจะขัดกันไป ท่านหญิงอรอำไพฯ กับท่านหญิงผ่องฯ กมะลา เป็นผู้วิ่งแทนพระองค์ทั้งล้นเกล้าฯ และสมเด็จฯ เพราะเวลาท่านทรงตีลูกบอลแล้วต้องวิ่งรอบหลัก จึงต้องมีคนคอยวิ่งแทน... กีฬานี้จะทรงอยู่จวนค่ำจึ่งเสด็จขึ้น

 

          วันใดเมื่อเสวยเสร็จแล้วไม่เสด็จลงสนามทรงกีฬากลางแจ้งก็จะประทับอยู่บนพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส บนพระเก้าอี้นวมยาวร่วมกันสองพระองค์ที่ห้องโถง เพราะทรงโปรดให้มีโต๊ะบิลเลียดขนาดเล็กสุดมาตั้งไว้ โต๊ะปิงปอง แล้วก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สอนให้เล่นให้เป็น"  [๑๔],[๑๕] 

 

 

 


[ ]   รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ, หน้า ๑๙.

[ ]  หม่อมเจ้าโชติสีกฤติกา  เทวกุล

[ ]  หม่อมเจ้าอรชุณชิษณุ  สวัสดิวัตน์

[ ]  เทวมิตร  กุญชร ณ อยุธยา

[ ]  กมะลา  สุทธสินธุ์ ต่อมาสมรสกับ นายกวด  หุ้มแพร (โต สุจริตกุล)

[ ]  หม่อมเจ้าหญิงอรรำไพ (เกษมสันต์) โกมาร ต่อมาทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับ นายโฉลก โกมารกุล ณ นคร

[ หมายถึงคุณข้าหลวงเด็กๆ ที่ทรงชุบเลี้ยงไว้กว่าสิบคน

[ ได้เรียนถามคุณมหาดเล็กและคุณข้าหลวงหลายท่านๆ ว่า น่าจะเป็นกระเพาะปลา

[ หม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณี  สวัสดิวัตน์ ต่อมาทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธ์

[ ๑๐ รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ, หน้า ๒๐ - ๒๓.

[ ๑๑ ]  คุณสุภัทรา  สิงหลกะ หรือต่อมาคือ คุณหญิงสุภัทรา  สิงหลกะ มีชูธน

[ ๑๒ ]  ท่านผู้นี้เป็นน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ และพระสุจริตสุดา

[ ๑๓ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นอมรดรุณารักษ์

[ ๑๔ ]  ท่านผู้เล่า เล่าให้ฟังว่า เมื่อทรงสอนให้เล่นบิลเลียดนั้นมีรับสั่งว่า "อีกหน่อยมีครอบครัวแล้วจะได้ไม่โดนสามีหลอก"

[ ๑๕ ]  รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ, หน้า ๑๙ - ๒๓.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |