โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

 

๔๘. พระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๔)

 

บทบาทหน้าที่ของของมหาดเล็ก

 

 

          ในตอนที่ว่าด้วยบทบาทหน้าที่ของมหาดเล็กซึ่งในหนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ เรียกว่า "นายใน" นั้น หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ ได้กล่าวถึงพระราชจริยาวัตร และมหาดเล็กรับใช้ตามความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนหนังสือดังกล่าวซึ่งมีเพศวิสัยผิดแผกไปจากเพศปกติของตน จึงทำให้ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รับทราบเรื่องราวในพระราชสำนักพลอยเข้าใจผิด ในโอกาสนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชจริยาวัตรและบทบาทหน้าที่ของมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่ได้เรียนรู้จากข้อเขียนและคำบอกเล่าของนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงหลายท่านที่เคยรับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชสมัย

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์อย่าง "อยู่กับบ้าน"

ทรงฉายพร้อมด้วยสุนัขทรงเลี้ยง "ย่าเพล"

 

 

พระราชจริยาวัตรประจำวัน

 

          ในเรื่องพระราชจริยาวัตรส่วนพระองค์นั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อใกล้เวลาตื่นพระบรรทม มหาดเล็กห้องพระบรรทมที่เป็นเวรชั้นผู้ใหญ่จะค่อยๆ คลานเข้าไปใกล้พระแท่น ก้มลงกราบถวายบังคม แล้วขยับเข้าไปชิดเบื้องพระบาท ค่อย ๆ นวดที่พระชงฆ์ และพระบาทแต่เบา ๆ พอให้รู้สึกพระองค์ เมื่อเห็นว่ายังบรรทมหลับสนิทอยู่ก็จะประจงถวายนวดให้แรงขึ้น หรือทำให้สั่นสะเทือนทีละน้อยจนรู้สึกพระองค์ ครั้นตื่นพระบรรทมเสวยพระกระยาหารเช้าในพระที่แบบชาวตะวันตกและสรงแล้ว ถ้ามีพระราชกิจต้องเสด็จออกไปทรงปฏิบัตินอกพระราชฐานก็จะทรงเครื่องที่มหาดเล็กห้องพระบรรทมจัดถวายตามหมายกำหนดการ หากไม่มีพระราชกิจใด ๆ ก็จะทรงพระภูษาอย่างอยู่กับบ้าน แล้วเสด็จออกจากห้องพระบรรทมประทับทรงหนังสือราชการซึ่งราชเลขาธิการส่งเข้ามาถวายเรื่อยไปจนใกล้เวลา ๑๕.๐๐ น. มหาดเล็กห้องพระบรรทมจะออกมารับเหล้า "ค็อกเทล" ขึ้นไปทอดถวาย เหล้าค็อกเทลนี้เป็นเหล้าที่ปรุงผสมจากเหล้าฝรั่งหลายอย่างตามตำหรับสากล ซึ่งหัวหน้ากองคลังวรภาชน์เป็นผู้ปรุงถวาย เปลี่ยนไปวันละตำหรับ ขณะที่มหาดเล็กห้องพระบรรทมเชิญถ้วยค็อกเทลขึ้นไปทอดถวายที่โต๊ะทรงพระอักษรนั้น เจ้าพนักงานคลังวรภาชน์จะหยิบฆ้องใบเล็กขึ้นมาตีเป็นสัญญาณหนึ่งจบ คล้ายประกาศให้ผู้มีหน้าที่ทุกฝ่ายเตรียมพร้อม เรียกกันตามภาษาในวังว่า "ฆ้องหนึ่ง" เมื่อทอดถวายถ้วยค็อกเทลเรียบร้อยแล้ว จะทรงจิบทีละน้อย ๆ เหมือนเป็นการเรียกน้ำย่อย จะเร็วหรือช้าไม่แน่นัก สุดแท้แต่จะมีพระอักษรที่ทรงค้างอยู่มากหรือน้อยเป็นสำคัญ เมื่อทรงจิบค็อกเทลที่เหลืออยู่เป็นครั้งสุดท้ายเป็นสัญญาณว่า จะทรงหยุดทรงพระอักษรแล้ว มหาดเล็กห้องพระบรรทมซึ่งหมอบเฝ้าอยู่ในที่ใกล้ๆนั้น ก็คลานเข้าไปถอนถ้วยค็อกเทลนั้นออกมา แล้วนำไปส่งคืนเจ้าพนักงานคลังวรภาชน์ ในขณะนั้นเองพนักงานคลังวรภาชน์จะลั่นฆ้องสัญญาณเป็น ๒ ลา ซึ่งเรียกกันว่า "ฆ้องสอง" อันเป็นสัญญาณที่รู้กันดีในหมู่มหาดเล็กทั่วไป ให้เตรียมพร้อมรอรับเสด็จเพื่อสนองพระยุคลบาทตามตำแหน่งหน้าที่

 

          การแต่งกายของมหาดเล็กตั้งเครื่องนั้น ทุกคนจะนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน ไม่สวมรองเท้าและถุงเท้า สวมเสื้อนอกขาวแบบราชปะแตนดุมพระมหามงกุฎเงินเหมือนที่นักเรียนวชิราวุธใช้ในปัจจุบัน พร้อมแผ่นคอสีน้ำเงินขลิบแถบเงินประดับดาราตามชั้นยศ เข้าไปนั่งพับเพียบเรียงลำดับอาวุโส โดยทางเบื้องขวาของพระหัตถ์ เป็นมหาดเล็กชั้นหัวหมื่นที่เรียกกันว่า "พระนาย" [] ต่อลงไปเป็นรองหัวหมื่นเรียกกันว่า "หลวงนาย" [] และจ่า []ล้วจึงถึงหุ้มแพร รองหุ้มแพรตามลำดับ ส่วนทางเบื้องซ้ายพระหัตถ์ก็เป็นชั้นรองหัวหมื่น จ่า หุ้มแพร รองหุ้มแพรตามลำดับเช่นเดียวกัน เมื่อคุณพนักงานครัวพระเข้าต้นจัดเตรียมเครื่องเสวยไว้พร้อมสรรพแล้ว ในระหว่างนี้หัวหน้าเวรมหาดเล็กกองตั้งเครื่องจะตรวจความเรียบร้อยของดวงตราที่หุ้มห่อพระกระยาเสวยที่เชิญมาจากห้องเครื่อง แล้วเทียบเครื่อง (คือ ตักขึ้นชิมให้แน่ใจว่า ไม่มียาพิษเจือปนอยู่ ตลอดจนน้ำดื่ม น้ำชา เหล้า อาหารกระป๋อง ฯลฯ) ต่อมาเมื่อทรงตั้งตำแหน่งมหาดเล็กรับใช้ขึ้นแล้ว หน้าที่การเทียบและเชิญค็อกเทลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและตีฆ้องสัญญาณนั้นตกเป็นหน้าที่ของมหาดเล็กรับใช้สืบมาจนสิ้นรัชสมัย

 

          เมื่อเสด็จเข้ามาในห้องเสวยหลังสัญญาณฆ้อง ๒ นั้น แม้จะทรงพระดำเนินเข้ามาเงียบๆ แต่พลันที่ได้กลิ่นพระสุคนธ์โชยมาเป็นสัญญาณว่าเสด็จพระราชดำเนินมาถึงแล้ว บรรดามหาดเล็กที่รอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ ณ ที่นั้นต่างก็พากันหมอบกราบถวายบังคมลงกับพื้น และรอเฝ้าถวายงานตามหน้าที่

 

          ในการประทับเสวยอย่างแบบไทยในช่วงก่อนที่จะทรงมีฝ่ายในนั้น มักจะมีพระราชดำรัสสั่งให้จัดถวายในเวลาที่แปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ [] ในพระบรมมหาราชวัง เพราะที่พระที่นั่งองค์นี้มีพระเฉลียงที่กว้างขวางโปร่งสบายอยู่ที่ส่วนหน้าพระที่นั่ง ในบริเวณนั้นไม่มีโต๊ะเก้าอี้ แต่ลาดพรมอย่างดีนิ่มไปหมดทั้งบริเวณ ตรงที่ซึ่งจัดเป็นที่ประทับนั้นปูผ้าตาดพื้นทองขลิบขอบด้วยแถบทองมีรองพื้นเป็นผ้าสีแดงขนาดกว้างยาวประมาณ ๑ เมตรสี่เหลี่ยม ทอดพระที่นั่งสีเหลืองเป็นพระยี่ภู่ (เบาะสำหรับใช้เป็นที่ประทับ) พร้อมพระเขนยอิง (ที่เรียกว่า "หมอนขวาง") เย็บตรึงติดกับพระยี่ภู่ไว้ข้างบน

 

          เครื่องราชูปโภคที่สำคัญในการเสวยต้นนี้ คือ พระสุพรรณภาชน์หรือพานปากแบนที่มีชื่อเรียกเป็นสามัญว่า "โต๊ะ" ชุดหนึ่งมี ๓ องค์ คือ ๓ โต๊ะ เป็นโต๊ะทำด้วยทองคำบ้างเงินบ้าง ปากโต๊ะเป็นกุดั่น คือ ฝังพลอยสีต่าง ๆ เป็นเครื่องคาว ๒ องค์ คือ เครื่องใหญ่องค์หนึ่ง เครื่องเคียงองค์หนึ่ง กับอีกองค์หนึ่งสำหรับวางชามพระกระยาเสวย

 

          เมื่อเสด็จประทับเหนือพระราชอาสน์เรียบร้อยแล้ว หัวหมื่นมหาดเล็กผู้ใหญ่ที่ประจำอยู่เบื้องขวาที่ประทับเปิดกรวยครอบพระสุพรรณภาชน์ทั้งหมดออก ในเวลาเดียวกันนั้นมหาดเล็กผู้ใหญ่ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ร่วมโต๊ะเสวย อาทิ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) และพระยาอุดมราชภักดี (โถ สจริตกุล) ที่รออยู่ภายนอกก็ทยอยกันเข้ามานั่งตามที่นั่งของตน พร้อมกันแล้วคุณพระนายผู้เป็นหัวหมื่นมหาดเล็กตักพระกระยาเสวย จากหม้อเคลือบสีขาวทรงกระบอกที่บรรจุอยู่ในถังทองเหลืองใส่น้ำร้อนถวายลงในชามพระกระยาเสวยประมาณ ๒ ช้อน ครั้นแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยื่นพระหัตถ์ขวาออกมาเหนือพระสุพรรณราช คุณพระนายจะค่อย ๆ รินน้ำจากคนโทเงินถวายชำระให้สะอาด แล้วจึงเริ่มเสวยด้วยพระหัตถ์ (เว้นแต่วันใดมีพระราชกิจที่จะต้องทรงปฏิบัติภายหลังเสวยจึงมักจะทรงจะใช้ช้อนส้อม) ในระหว่างเสวยนั้นคุณพระนายและคุณหลวงนายที่นั่งประจำทั้งเบื้องขวาซ้ายของพระที่นั่งก็จะคอยเลื่อนเครื่องที่ทรงโปรดเสวยในเวลานั้นให้ใกล้เข้าไป ถ้าพระกระยาเสวยพร่องมาก คุณพระนายจะคอยตักถวายจนกว่าจะทรงห้าม พระจริยาวัตรในเวลาเสวยต้นนี้น่าชมในความละเมียดละมัยเป็นอย่างมาก เพราะทรงใช้พระหัตถ์ได้อย่างละมุนละม่อมชนิดที่ไม่มีข้าวหล่นลงมาเลย

 

          เครื่องพระยาหารคาวหวานที่ห้องพระเครื่องต้นจัดขึ้นมาถวายเป็นประจำเวลาสวยต้นนั้น จะเป็นอาหารไทยล้วน และเป็นอาหารพื้นๆ ที่ปรุงขึ้นจากเนื้อสัตว์ ผักสด ไขมัน แป้งและเครื่องปรุงรสนานาชนิดบรรดาที่คนไทยเรานิยมรับประทานกันทั่วไป แต่การประกอบพระกระยาหารเหล่านี้ ชาวพนักงานห้องเครื่องทั้งคาวหวานต่างก็ปรุงแต่งและประดิษฐ์ขึ้นด้วยฝีมืออันประณีต ทั้งรสกลิ่นกลมกล่อมเอมโอชเป็นพิเศษยิ่ง ผักหรือผลไม้ล้วนแกะสลัก ปอก คว้าน ให้ดูสวยงามและเสวยง่าย อีกทั้งจัดวางให้เข้าชุดกับสิ่งที่จะต้องประกอบกัน เช่นผักสดกับเครื่องจิ้มก็จัดวางไว้ใกล้ๆ กันกับปลา สำหรับแนม เป็นต้น

 

          พระกระยาหารคาวซึ่งชาวพนักงานพระเครื่องต้นจัดถวายในแต่ละวันนั้นจัดเป็นชุด มีพร้อมทั้งแกงเผ็ด แกงจืด ปลาสำหรับแนม เครื่องจิ้ม ผักสดหรือผักชนิดอื่นๆ (เช่น ผักดองและผักต้ม) เครื่องเคียงต่างๆ ประมาณไม่ต่ำกว่า ๑๐ อย่าง ผลัดเปลี่ยนเวียนกันไปเพื่อมิให้ทรงเบื่อ

 

          แต่สิ่งที่โปรดเสวยมากจนเป็นที่รู้กันว่า ชาวพนักงานพระเครื่องต้นจะพยายามจัดหาไม่ค่อยขาดนั้นมีอยู่ ๒- ๓ อย่าง คือ

               ๑. ยำไข่ปลาดุก ซึ่งเป็นเครื่องเคียงของประจำที่มีอยู่เกือบตลอดฤดูกาล

               ๒. ด้วงโสนทอดกรอบ (จัดอยู่ในประเภทอาหารพิเศษตามพระราชบุพการีที่โปรดเสวยมาในอดีต) ซึ่งมีวิธีทำที่พิสดาร เป็นของหายาก นาน ครั้ง

               ๓. ผักสดชนิดต่าง ๆ จะต้องจัดไว้จานหนึ่งด้วย จานที่เป็นผักสดจะต้องพยายามเก็บรักษาไว้ให้สดกรอบที่สุด ชาวพนักงานวรภาชน์จะเตรียมน้ำแข็งขูดเป็นฝอยด้วยเครื่องมือสำหรับขูดเอาไว้เสมอ พอจวนเวลาเสวยจึงจะนำมาโรยคลุมลงบนจานผักสดที่จัดประดับเตรียมไว้ เพื่อทอดถวายในพระสุพรรณภาชน์เป็นจานหลังสุด แต่ไม่โปะลงไปจนปิดผัก จะโรยพอให้น่าดูและเย็นพอเท่านั้น ผักแช่น้ำแข็งนี้เป็นเครื่องเสวยอีกชนิดหนึ่งที่โปรดมากเป็นพิเศษจนขาดไม่ได้ทีเดียว ไม่ว่าเครื่องจิ้มจะเป็นชนิดใดก็ตาม ผักสดจะต้องมีพร้อมเครื่องเสวยทุกครั้ง

               ๔. น้ำพริก เป็นเครื่องเสวยประเภทเครื่องจิ้มที่โปรดมาก เป็นเครื่องประกอบกับผักสดที่จะต้องจัดถวายเป็นประจำ แต่ในการเสวยต้นที่จะต้องใช้พระหัตถ์หยิบบ้างคลุกบ้างกับพระกระยาหารเสวย พระหัตถ์ก็จำเป็นที่จะต้องเปื้อนน้ำพริก ซึ่งล้างให้หมดกลิ่นน้ำพริกยากนักยากหนา ด้วยเหตุนี้ถ้าวันใดเป็นวันที่จะต้องเสด็จออกขุนนางที่มีประจำทุกสัปดาห์ วันนั้นก็จะต้องเตรียมจัดช้อนส้อมไว้ถวายเป็นพิเศษ

 

          เมื่อเสวยเครื่องคาวเป็นที่พอพระราชประสงค์แล้ว ถึงเวลาถวายชำระพระหัตถ์เพื่อกำจัดกลิ่นอาหารโดยเฉพาะพวกกลิ่นน้ำพริกที่ติดพระหัตถ์ เริ่มจากทรงทอดพระหัตถ์ออกมาเหนือพระสุพรรณราช ทันใดนั้นคุณพระนายก็จะรินน้ำชำระพระหัตถ์จากคนโทเงินถวายพอเปียก และเม็ดข้าวถูกชำระออกไปหมดก็หยุด แล้วถวายฟอกด้วยสบู่เปียโซป (Pears Soap) อย่างก้อนกลม เมื่อทรงฟอกด้วยสบู่แล้ว คุณพระนายรินน้ำหอมลาเวนเดอร์ถวายจนหมดสบู่ แล้วถวายน้ำดอกไม้สดลอยดอกมะลิกุหลาบ เสร็จแล้วจึงถวายใบส้มป่อยทรงขยำ แล้วทรงใช้ผิวมะกรูด แล้วถวายล้างด้วยน้ำดอกไม้เทศ ต่อจากนั้นจึงหยิบผ้าซับพระหัตถ์คลี่ออกถวายทรงเช็ดแห้งดีแล้ว บางทีก็ทรงวางลงที่โต๊ะทองคำหรือส่งคืนผู้ถวาย ในขณะที่กำลังชำระพระหัตถ์นั้นคุณหลวงนายซึ่งเป็นผู้ช่วยก็จะจัดการเลื่อนพระสุพรรณภาชน์ออกมาทีละองค์ ส่งต่อๆ กันออกไปภายนอก ซึ่งเจ้าพนักงานวรภาชน์จะคอยรับอยู่ข้างนอกพระทวาร เสร็จแล้วจึงเชิญพระสุพรรณภาชน์องค์หวานสององค์เข้ามาทอดถวาย บนพระสุพรรณภาชน์นี้จะมีส้อมหรือช้อนเตรียมมาพร้อม เครื่องหวานที่มีรสหวานจัดๆ นั้น ถึงจะจัดมาถวายก็ไม่ใคร่จะเสวยมากนัก

 

          เครื่องหวานที่จัดถวายนั้น แม้จะมีขนมไทยขนานดั้งเดิมอยู่บ้างเช่นฝอยทอง วุ้นหวานบรรจุพิมพ์ก็เกือบจะไม่ค่อยทรงแตะต้องของที่หวานจัดเท่าใดนัก จะมีก็แต่พวกผลไม้เช่นลูกตาลสดน้ำเชื่อม มะตูมสดกับน้ำกะทิ สะท้อน (กระท้อน) ลอยแก้ว ลิ้นจี่สดกับเยลลี่ นอกจากนั้นก็เป็นผลไม้ปอกคว้านต่าง ๆ เช่น มะปราง เงาะ น้อยหน่า

 

          เมื่อเสวยเครื่องหวานเป็นที่พอพระราชประสงค์แล้ว คุณพระนายและคุณหลวงนายจะถอนพระสุพรรณภาชน์ส่งคืนออกไป ครั้นแล้วก็จัดการนำพานพระกล้องยาสูบและพระโอสถทรงสูบเข้ามาตั้งถวายพร้อมที่เขี่ยเถ้าพระโอสถ พระสุธารสชาจีนซึ่งทรงอยู่เป็นประจำ เมื่อได้ทอดเครื่องเรียบร้อยแล้วมหาดเล็กทุกคนก็ก้มลงกราบถวายบังคมแล้วคลานถอยออกนอกพระทวารไป เวรมหาดเล็กกองตั้งเครื่องชุดนี้เป็นอันหมดหน้าที่ราชการประจำวันลงในตอนนี้ เวรมหาดเล็กชุดใหม่เข้ามาประจำหน้าที่ต่อไป หมายความว่า นับแต่เสด็จลุกจากที่ประทับออกไปในตอนนี้แล้ว หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่แห่งใดอีกมหาดเล็กชุดที่เข้าเวรใหม่ ต้องพร้อมที่จะรับหน้าที่ต่อไปได้ทันที

 

 

 


[ ]   มีอยู่ ๔ ตำแหน่งตามทำเนียบ คือ เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี, เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์,  เจ้าหมื่นไวยวรนาถ และเจ้าหมื่นเสมอใจราช

[ ]  มีอยู่ ๔ ตำแหน่งตามทำเนียบ คือ  หลวงศักดิ์ นายเวร, หลวงสิทธิ์ นายเวร, หลวงฤทธิ์ นายเวร, หลวงเดช นายเวร

[ ]  มีอยู่ ๔ ตำแหน่งตามทำเนียบ  คือ  นายจ่าเรศ, นายจ่ารง,  นายจ่ายง, นายจ่ายวด

[ ]  ต่อมาในตอนปลายรัชสมัยโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระที่นั่งนี้เป็น "พระที่นั่งบรมพิมาน"

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |