โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

 

๗๗. รมกองเสือป่า (๒)

 

 

          ต่อมาวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายกองตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช [] เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษเสือป่า กองมณฑลนครไชยศรี และต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับเป็นผู้บังคับการพิเศษกรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลนครไชยศรี มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลภูเก็ตเพิ่มเติมอีก ๓ กรม

 

 

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง

นายเสือป่าพิเศษ กรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์

ทรงเครื่องนายเสือป่าหญิง คราวเสด็จพระราชดำเนินปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๔

 

 

          นอกจากนั้นยังพบหลักฐานอีกว่า ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทรงเป็นนายเสือป่าพิเศษ และเป็นนายเสือป่าหญิงพระองค์แรกด้วย

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงเครื่องเต็มยศ นายพลเสือป่า ผู้บังคับการพิเศษกรมเสือป่าหลวงรักษาดินแดนภูเก็ต

 

 

          ตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษนี้ นอกจากจะเป็นการพระราชทานเกียรติยศพิเศษแก่กรมเสือป่านั้นๆ แล้ว ผู้บังคับการพิเศษยังต้องทรงเป็นพระราชธุระและพระธุระสอดส่องตรวจตรากิจการของกรมกองเสือป่านั้นๆ ในฐานะพระบรมราชูปถัมภก และพระอุปถัมภกของกรมกองเสือป่านั้นๆ ด้วย

 

          อนึ่ง เนื่องจากการป้องกันประเทศล้วนเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน เมื่อบรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยในหัวเมืองมณฑลต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสือป่ากันแล้ว บรรดาคหบดี พ่อค้า และประชาชนในหัวเมืองมณฑลต่างๆ ก็ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกเสือป่า จนปรากฏว่า "ตามจังหวัดโดยมากจัดเปนกองพัน ๔ กองร้อยบ้าง, ๒ กองร้อยบ้าง, ตามอำเภอจัดเปนกองร้อยบ้างเปนหมวดบ้าง, ตามตำบลจัดเปนหมวดบ้างเปนหมู่บ้าง; มณฑลต่างๆ ก็ขยายการปกครองออกเปนกองเสนาใหญ่น้อย, มีเหล่าราชนาวีเสือป่า, เหล่าม้า, เหล่าพราน, และอื่นๆ ตามลักษณะแห่งท้องที่." [] ดังตัวอย่างที่ "สักขี" ได้บันทึกไว้ใน "จดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ ตั้งแต่วันที่ ๔ มิถุนายน ถึง วันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๘" ว่า

 

          "ข้าพเจ้าได้สืบสวนถึงระเบียบการเสือป่ามณฑลนครศรีธรรมราชได้ทราบว่าเสือป่า ๔ กองร้อยนั้น กองร้อยที่ ๑ กับกองร้อยที่ ๓ เปนข้าราชการแลชาวเมืองสงขลา กองร้อยที่ ๑ เปนกองร้อยรักษาพระองค์ สมาชิกล้วนเปนข้าราชการประจำมณฑลแลคฤหบดีพ่อค้าต่างๆ รวมประมาณ ๑๒๕ คน เปนชายฉกรรจ์รุ่นหนุ่มโดยมาก ในจำนวนนี้มีคฤหบดีที่ไม่ต้องประจำราชการถึง ๑ ในส่วน ๓ ถึงสมาชิกที่เปนข้าราชการโดยมากก็เปนกองประจำมณฑล ซึ่งอาจจะย้ายไปที่ใดๆ ก็ได้ เช่นคราวเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ [] สมุหเทศาภิบาลจะโดยเสด็จตลอดเขตร์มณฑล กองร้อยที่ ๑ รักษาพระองค์จะตามเสด็จด้วย สมุหเทศาภิบาลได้เชิญดวงตราสำหรับมณฑลไปด้วย เมื่อมีเหตุการณ์อันใดก็อาจจะสั่งเจ้าหน้าที่ซึ่งพร้อมหน้ากันอยู่ ปฏิบัติไปได้ทันท่วงที เพราะการส่งข่าวคราว มีโทรเลขโทรศัพท์แลรถไฟรถยนตร์ใช้ได้ทั่วถึงโดยสดวก ส่วนกองร้อยที่ ๓ สมาชิกเปน ข้าราชการประจำท้องที่ คือ กรมการอำเภอโดยมาก มีน่าที่รักษาการตามท้องที่พร้อมด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้าน กองร้อยที่ ๒ เปนเสือป่าเมืองนครศรีธรรมราช มีหมวดอิศร (หมวดที่ ๕) ที่อำเภอปากพนังแลพังไกรสมทบกองร้อยที่ ๒ นี้ด้วย กองร้อยที่ ๔ เปนเสือป่าเมืองพัทลุง" []

 

          อนึ่ง ในการจัดกำลังพลของกองเสือป่าเป็นกองเสนา หรือเดิมเรียกว่า "กองพล" นั้น พบหลักฐานว่า ได้โปรดให้จัดการบังคับบัญชาเสือป่าเป็นกองพลมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๖ ดังมีความปรากฏใน "ประกาศรับสมาชิกมณฑลกรุงเทพฯ เข้าประจำการในกองพลเสือป่าหลวง (รักษาพระองค์)" ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาธิการเสือป่าออกประกาศไว้เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๖ ว่า

 

          "ในการฝึกหัดประลองยุทธ์เสือป่าคราวเดือนกุมภาพันธ์ที่แล้วมานี้ ความได้ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทว่า มีสมาชิกเสือป่าในกองพลมณฑลกรุงเทพฯ บางคนต่างมีความปรารถนาจะสมัคเปนสมาชิกอยู่ในกองพลหลวง (รักษาพระองค์) แต่เปนการข้องขัดซึ่งตนมิได้มีโอกาศจะสมัคได้เพราะเกี่ยวติดน่าที่ราชการด้วยประการต่างๆ แลซ้ำยังมิทันได้ทราบความมุ่งหมายแห่งระเบียบสมาชิกกองพลหลวงว่า เพราะเหตุไรจึ่งได้เลือกรับผู้ที่เปนข้าในพระราชสำนักนั้น จึงเลยพากันเข้าใจผิดต่างๆ นาๆ (ประดุจหนึ่งเปนการกีดกันไม่ยอมให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยตามกระทรวงทบวงการนอกๆ ได้มีโอกาศเฝ้าแหน หรือรับราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยใกล้ชิดเปนการสม่ำเสมอหน้าเหมือนข้าในพระราชสำนักฉนั้น

 

          เพื่อที่จะป้องกันมิให้เปนการเข้าใจผิดตามเหตุผลที่กล่าวมานี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาธิการเสือป่ารับพระบรมราชโองการแจ้งไปให้บรรดาผู้บังคับบัญชาในกองพลมณฑลกรุงเทพฯ ทราบไว้ว่า

 

          การรับสมัคเปนสมาชิกกองพลหลวง (รักษาพระองค์) นั้น จะได้มีพระราชประสงค์เลือกรับก็มิได้ ถึงข้าราชการกระทรวงทบวงการนอกๆ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รับสมัคเปนสมาชิกได้เช่นเดียว แต่บรรดาผู้ที่จะสมัคเปนสมาชิกในกองพลหลวง (รักษาพระองค์) นั้น เปนธรรมดาอยู่เอ็งที่ต้องเลือกบุคคลที่มีความสามารถจะปฏิบัติน่าที่ได้มิเปนการติดขัดอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งมีลักษณ์ คือ -

 

          ๑ บรรดาผู้ที่มียศนับแต่ชั้นนายเวร (หรือตำแหน่งที่เทียบกับชั้นนี้) ลงไป

 

          ๒ ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง มีความสามารถอดทนที่จะกระทำน่าที่ได้ทุกเมื่อ ไม่ขาด แลถ้ามีการฝึกหัดออกไปตั้งค่ายพักแรมตามหัวเมืองต่างๆ เปนเวลาบางครั้งบางคราว ก็ให้ออกไปด้วยได้มิเปนการติดขัด

 

          ๓ ในการสมัคตามที่ว่ามานี้ ควรตนจะปฤกษาหารือต่อผู้ที่เปนนายเหนือตนเสียก่อนว่า จะเปนการสดวกแลจะอนุญาตหรือไม่ ถ้าเปนการตกลงจะทำน่าที่ได้ จึงให้รับสมัคได้ทีเดียว ให้ทำใบสมัคยื่นที่เสนาธิการกองพลหลวง (รักษาพระองค์)

 

 

          อนึ่งทรงพระราชปรารภว่า สมาชิกบางคนที่เปนมีกำลังทุนทรัพย์น้อย ซึ่งไม่สามารถจะเสียค่าพาหะนะไปมาในการฝึกหัดนั้น เปนการสมควรจะได้รับพระบรมราชอุปถัมภ์พิเศษ เพราะฉนั้นในการไปมาสำหรับการฝึกหัดต่อไป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกระบัตร์เสือป่าจัดรถยนตร์สำหรับคอยรับส่งที่ศาลหลักเมือง ซึ่งเปนที่รวมหนทางที่ใกล้กับสถานที่ทำการของกระทรวงต่างๆ ในวันฝึกหัดทุกๆ วัน เพื่อให้เปนการสดวกแก่สมาชิกโดยมิต้องคิดราคา อันเปนส่วนพระมหากรุณา พระราชทานเงินในส่วนพระองค์สำหรับใช้จ่ายในค่าพาหะนะไปมานี้

 

          อนึ่งได้ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทว่า สมาชิกบางคนมิค่อยได้มีเวลาที่จะกลับไปบ้านเพื่อแต่งตัว ครั้นถึงเวลาฝึกหัดก็ตรงมายังสโมสรเปนการรีบด่วน บางคนก็ฝากเครื่องแต่งกายไว้กับที่ใกล้ๆ เคียง ซ้ำยังจะต้องเสียเวลาไปแต่งอีกก็มี ซึ่งน่าจะเปนการลำบากอยู่บ้าง แต่เพื่อที่จะแก้ความข้องขัดตามที่กล่าวมานี้ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกระ บัตร์เสือป่าจัดที่รับฝากรักษาเครื่องแต่งกายสมาชิก แลที่อาบน้ำไว้ที่สโมสรสถานตลอดจนอาหารเครื่องว่างสำหรับพระราชทานให้บรรดาสมาชิกประจำการในกองพลหลวง (รักษาพระองค์) บรรดาที่ได้มาฝึกหัด ได้รับพระราชทานเปล่าๆ โดยไม่ต้องคิดราคา" []

 

 

          นอกจากนั้นยังพบหลักฐานอีกว่า กองพลเสือป่าที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ นั้น ในส่วนกลางประกอบด้วย

 

          ๑) กองพลหลวง (รักษาพระองค์) มีหน้าที่ "เปนผู้รักษาพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เกี่ยวแก่การรักษาดินแดนมณฑลหรือภาคใดๆแห่งพระราชอาณาจักรโดยเฉภาะ" [] มีอัตรากำลังประกอบด้วย

 

               ๑.๑ กรมเสือป่าราบหลวง (รักษาพระองค์) มีกำลังพลในสังกัด ๒ กองพัน คือ

                    ๑.๑.๑ กองพันที่ ๑ มี ๒ กองร้อย คือ

                         ๑.๑.๑.๑ กองร้อยที่ ๑ กองร้อยหลวง

                         ๑.๑.๑.๒ กองร้อยที่ ๓ กองลูกเสือหลวง

                    ๑.๑.๒ กองพันที่ ๒ มี ๒ กองร้อย คือ

                         ๑.๑.๒.๑ กองร้อยที่ ๒ (รักษาพระองค์)

                         ๑.๑.๒.๒ กองร้อยที่ ๔ กองทหารกระบี่หลวง []

 

               ๑.๒ กองเสือป่าม้าหลวง (รักษาพระองค์)

 

               ๑.๓ กองพันพิเศษ (รักษาพระองค์) ประกอบด้วย

                    ๑.๓.๑ กองช่างหลวง (รักษาพระองค์)

                    ๑.๓.๒ กองพาหนะหลวง (รักษาพระองค์)

                    ๑.๓.๓ กองเดินข่าวหลวง (รักษาพระองค์) []

 

 

นายร้อยโท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

นายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

ประทับฉายพระฉายาลักษณ์พร้อมด้วยนายร้อยเอก หลวงสรสิทธยานุการ (อุ่ม อินทรโยธิน) ราชองครักษ์

และนายทหารในกรมทหารราบเบาเดอรัม

เมื่อคราวเสด็จไปประจำการในกรมทหารราบเบาเดอรัม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒

 

 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช

[ เรื่องเดียวกัน.

[ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช

[ จดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ ของสักขี ตั้งแต่วันที่ ๔ มิถุนายน ถึง วันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๑๒๘ - ๑๒๙

[ "ประกาศรับสมาชิกมณฑลกรุงเทพฯ เข้าประจำการในกองพลเสือป่าหลวง (รักษาพระองค์)", ราชกิจจานุเบกษา ๓๐ (๘ มีนาคม ๒๔๕๖), หน้า ๒๘๖๙ - ๒๘๗๒.

[ "พระราชกำหนดลักษณปกครองเสือป่า พระพุทธศักราช ๒๔๕๘", ราชกิจจานุเบกษา ๓๒ (๑๗ กันยายน ๒๔๕๘), หน้า ๒๐๔ - ๒๓๗.

[ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเป็น กรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้แยกทหารกระบี่ที่อายุยังน้อยไปจัดเป็น กองนักเรียนพรานหลวงสังกัดกรมนักเรียนเสือป่าหลวง

[ เดิมเรียกว่า กองจักรยานหลวง (รักษาพระองค์)"

 

 

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |