โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

 

๘๐. รมกองเสือป่า (๕)

 

 

นายพลเสือป่า หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร  []

ผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดนพายัพ และผู้บัญชาการกองเสนาน้อยที่ ๑ รักษาดินแดนพายัพ

 

 

          นอกจากนั้นยังพบหลักฐานอีกว่า ได้โปรดเกล้าฯ ให้แยกอัตรากำลังในกองเสนารักษาดินแดนพายัพ เป็น ๒ กองเสนาน้อย คือ กองเสนาน้อยที่ ๑ รักษาดินแดนพายัพ มีกำลังพลกระจายกันอยู่ในเขตมณฑลพายัพ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย และแม่ฮ่องสอน และกองเสนาน้อยที่ ๒ รักษาดินแดนพายัพ (มหาราษฎร์) มีกำลังพลกระจายกันอยู่ในเขตมณฑลมหาราษฎร์ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดแพร่ ลำปาง และน่าน

 

 

จ่าและพลราชนาวีเสือป่าในระหว่างการซ้อมรบ

 

 

          นอกจากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองเสือป่าฝ่ายเสนาเป็นกองกำลังอาสาสมัครป้องกันประเทศในฝ่ายบกจนได้ตั้งขึ้นเป็นปึกแผ่นขึ้นแล้ว ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "กองเสือน้ำ" ขึ้นอีกเหล่าหนึ่ง โดยมีพระราชปรารภว่า

 

          "จำเดิมแต่เวลาที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองอาษาสมัคเสือป่ามาตราบเท่าบัดนี้นั้น นับว่าได้มีผู้นิยมในการนี้และพากันสมัคเข้าเปนนักรบมีจำนวนเปนอันมาก จนในที่สุดได้ขยายการปกครองออกเปนการแพร่หลาย ซึ่งจัดตั้งเปนกองเสนารักษาดินแดนขึ้นทั่วพระราชอาณาจักร์ นับว่ากิจการแห่งกองนี้ได้ดำเนิรมาด้วยความเรียบร้อยดีอยู่แล้ว แต่ครั้นมาณบัดนี้เมื่อได้ทรงคำนึงถึงน่าที่เพื่อประโยชน์ ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีโดยรอบคอบแล้ว ก็ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าแต่เพียงจะจัดเปนกองอาษาบกฝ่ายเดียวนั้นยังหาเปนการพอเพียงแก่น่าที่รักษาดินแดนไม่ เพราะเหตุว่าสยามรัฐสิมาอาณาจักรของไทยเรานั้น มีอาณาเขตร์ติดต่อทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งมีชายทะเลและแม่น้ำใหญ่ หลายแม่น้ำอันเปน ทางที่ข้าศึกสัตรูผู้คิดประทุษร้ายจะยกกำลังบุกรุกเข้ามาย่ำยีในพระราชอาณาเขตร์ได้ หากเรามิได้เตรียมการป้องกันไว้ให้พอเพียง เพราะฉนั้นเพื่อที่จะเตรียมการป้องกันอาณาเขตรดินแดนของไทยเราโดยรอบคอบ แล้วก็เปนการจำเปนต้องมีกำลังนักรบทั้งทางบกและทางน้ำประกอบกัน เช่นกำลังกองทัพบกและทัพเรือของเราที่มีอยู่ในเวลานี้ฉันใด ในส่วนกองอาษาสมัคก็ควรจะมีเหมือนกันฉันนั้น"  []

 

          กองเสือน้ำที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นในกองเสนาเฉพาะแต่มณฑลที่มีทางน้ำไปมาติดต่อถึงกันได้สะดวก และในแต่ละกองเสนาให้มีกองเสือน้ำเพียง ๑ กองร้อย โดยจัดแบ่งเป็น ๓ หมวด คือ

 

          "ก) หมวดที่ ๑ เรือเร็ว ชนิดเรือกลไฟหรือยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งสำหรับใช้ในการเดินข่าวติดต่อ

 

          ข) หมวดที่ ๒ เรือบรรทุก ชนิดเรือกลไฟหรือเรือยนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งสำหรับใช้บรรทุกนักรบเนื่องในการทางและเดินทัพ

 

          ค) หมวดที่ ๓ เรือบรรทุก ชนิดเรือใบหรือเรือฉลอมหรือเรือแจว ซึ่งสำหรับใช้บรรทุกอาวุธ กระสุนดินดำเครื่องเสบียงและสรรพภาระใช้ในการรบ

 

          อนึ่งถ้าแห่งใดมีเรือไม่ครบทั้ง ๓ ประเภท ก็จัดให้มีแต่ ๑ หรือ ๒ ประเภทตามที่มีเรืออยู่ และถ้ามีเรือประเภท ๑ ประเภทใดมากอยู่จะจัดขึ้นเปน ๒ หมวดหรือ ๓ หมวด เพื่อสดวกแก่การปกครองก็ได้" []

 

          กองเสือน้ำซึ่งต่อมาวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ "เปลี่ยนขนานนามกรมเสือน้ำใหม่ว่า "กรมราชนาวีเสือป่า" ส่วนอักษรย่อที่จะใช้แทนคำว่าราชนาวีเสือป่านั้น ให้ใช้อักษรย่อว่า ร.น.ส. โดยคล้ายกับราชนาวีที่ใช้อักษรย่อว่า "ร.น." " []  และในคราวเดียวกันนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนขนานนามกรมกองเสือน้ำที่ได้ตั้งขึ้นแล้วเป็นดังนี้

 

          ๑. กองพันหลวงราชนาวีเสือป่า

          ๒. กองร้อยภูเก็ตราชนาวีเสือป่า

          ๓. กองร้อยราชบุรีราชนาวีเสือป่า

          ๔. กองร้อยชลบุรีราชนาวีเสือป่า

 

          อนึ่งในปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๐ นั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "กองราชนาวีหลวงเสือป่าเดินทะเล"

 

          เป็นหน่วยขึ้นตรงกองพันหลวงราชานาวีเสือป่าอีกกองหนึ่ง และถัดมาใน พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองนักเรียนนายเรือราชนาวีเสือป่าขึ้นอีกกองหนึ่ง เพื่อฝึกหัดนักเรียนฝ่ายราชานาวีเสือป่าให้ได้ "ศึกษาเรียนรู้วิชาการเดินเรือทะเลสำหรับที่จะได้ทำน่าที่ให้เปนคุณประโยชน์แก่ชาติแลเมืองมารดร" [] โดยรวมการปกครองและบังคับบัญชาอยู่ในสังกัดโรงเรียนนายเรือ กระทรวงทหารเรือ และได้โปรดเกล้าฯ "ให้ผู้บังคับกองพันหลวงราชนาวีเสือป่าจัดส่งนักเรียนราชนาวีเสือป่า สิน สุทธสิน นักเรียนราชนาวีเสือป่า โสภณ กุญชร ณ กรุงเทพ ไปเปนนักเรียนนายเรือราชนาวีเสือป่า" [] ตั้งแต่วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ "ส่วนเงินเดือนหรือเบี้ยเลี้ยงสำหรับพระราชทานแก่นักเรียนกองนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ใช้จ่ายเปนพิเศษ ซึ่งให้รวมเบิกจ่ายทางกรมบัญชาการมหาดเล็ก" [] และต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๖๘ ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองเรือเดินข่าวขึ้นอีกกองหนึ่งในกองพันหลวงราชนาวีเสือป่า โดยเรือที่จะบรรจุเข้าในกองเรือเดินข่าวนี้ต้องเป็นเรือที่มีความเร็วไม่น้อยกว่า ๒๕ ไมล์ทะเลด้วย
ส่วนปัญหาการขาดแคลนผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารซึ่งได้ทรงตระหนักด้วยสายพระเนตรเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการซ้อมรบทหารบกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ นั้น ก็ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ "ให้ตั้งกองนักเรียนนายหมวดเสือป่า, และนักเรียนผู้กำกับลูกเสือ, ให้กองเสนาต่างๆ ได้ส่งสมาชิกเสือป่าและผู้กำกับไปฝึกฝนวิชาน่าที่ผู้บังคับหมวดกองในพระมหานคร, เพื่อออกมาสอนวิชานักรบให้แพร่หลายตามจังหวัด"
[] ทั้งยังสามารถเป็นกำลังสำรองให้แก่กองทัพที่พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ทดแทนผู้บังคับกองร้อยและผู้บังคับหมวดที่อาจจะบาดเจ็บตายไปในการต่อสู่ในยามที่มีศึกสงครามมาประชิดด้วย

 

 

กองบัญชาการกองพลทหารบกที่ ๘ มณฑลพายัพ

ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ภายหลังเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพ

ปัจจุบันคือ กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๓๓ และกรมทหารราบที่ ๗ รักษาพระองค์ จังหวัดเชียงใหม่

 

 

          การที่กิจการเสือป่าสามารถพัฒนามาเป็นลำดับ จนมีการจัดตั้งกองเสนารักษาดินแดนขึ้นทั่วราชอาณาจักร มีกำลังพลเสือป่าถึงกว่าหมื่นสามพันนายในปีสุดท้ายแห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากพระบรมราชูปถัมภ์ที่พระราชทานเป็นส่วนพิเศษแก่กิจการเสือป่าแล้ว ส่วนตัวนายเสือป่าทุกนายก็ล้วนเป็นอาสาสมัครประจำการที่ไม่มีการปลดเป็นกองหนุนเมื่อเสร็จการฝึกหัดในแต่ละวันก็แยกย้ายกันกลับที่พักของตน ในการจัดตั้งกองเสือป่าจึงมิต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเช่นการจัดตั้งกองทหาร ซึ่งเมื่อเกณฑ์ชายฉกรรจ์เข้ามารับราชการเป็นพลทหารกองประจำการ ๒ ปีนั้น นอกจากทหารประจำการเหล่านั้นจะ "ได้รับพระราชทานเงินเดือนเบี้ยเลี้ยง และเครื่องนุ่งห่มใช้สรอยสำหรับตัวตามสมควร"  [] แล้ว รัฐบาลยังต้องจัดให้มีโรงทหารเป็นที่พักของทหารประจำการในทุกกองทหาร เพื่อสะดวกแก่การฝึกหัดและควบคุมกำลังพลให้พร้อมปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอดเวลา อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้มีพระราชดำริถึงเรื่องโรงทหารไว้ในลายพระราชหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลพายัพ พ.ศ. ๒๔๔๘ ว่า "ส่วนทหารบก ข้าพระพุทธเจ้ามีความเสียใจในเรื่องโรง ดูซอมซ่อเสียพระเกียรติยศ ถ้าจะให้ทหารเป็นที่ยำเกรงแก่พลเมือง ควรจะต้องมีโรงให้อยู่ให้เป็นที่สง่าผ่าเผย เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าต่อไป ควรจะรีบทำโรงที่นครลำปางนี้ขึ้นให้แล้วโดยเร็ว"  [๑๐]

 

 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

[ "ประกาศตั้งกองอาษาสมัคเสือน้ำ", ราชกิจจานุเบกษา ๓๓ (๒ เมษายน ๒๔๕๙), หน้า ๒ - ๑๗.

[ เรื่องเดียวกัน.

[ "ประกาศเปลี่ยนขนานนามกรมเสือน้ำและเปลี่ยนขนานนามยศในกรมเสือน้ำ", ราชกิจจานุเบกษา ๓๔ (๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๐), หน้า ๖๐๐ - ๖๐๒.

[ "ประกาศตั้งกองนักเรียนนายเรือราชนาวีเสือป่า", ราชกิจจานุเบกษา ๓๖ (๔ พฤษภาคม ๒๔๖๒), หน้า ๑๕ - ๑๗.

[ "ประกาศกรมบัญชาการคณะเสือป่า", ราชกิจจานุเบกษา ๓๖ (๑๑ พฤษภาคม ๒๔๖๒), หน้า ๓๔๖.

[ เรื่องเดียวกัน.

[ "ความเจริญของเสือป่าตามจังหวัด", ดุสิตสมิต เล่ม ๖ ฉบับพิเศษสำหรับเปนที่ระฤเนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๓ มกราคม, พระพุทธศักราช ๒๔๖๒, หน้า ๕๓ - ๕๗.

[ "พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหาร รัตนโกสินทรศก ๑๒๔", ราชกิจจานุเบกษา ๒๒ (๓ กันยายน ๑๒๔), หน้า ๕๑๓ - ๕๑๘.

[ ๑๐ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕. ม. ๕๘/๔๔ เรื่อง รายงานราชการในมณฑลพายัพ (๑๑ กุมภาพันธ์ ๑๒๐ - ๑๐ กันยายน ๑๒๙).

 

 

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |