โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

 

๘๔. คณะฟุตบอลแห่งชาติสยาม ()

 

 

          เมื่อที่ประชุมจัดตั้งคณะฟุตบอลแห่งสยามได้พร้อมกันยกร่าง "ข้อบังคับลักษณปกครองคณะฟุตบอลแห่งสยาม" และ "ระเบียบการจัดตั้งสโมสรฟุตบอลเพื่อส่งผู้เล่นเข้าแข่งขันสำหรับถ้วยของคณะฟุตบอลแห่งสยาม" พร้อมกับจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการอำนวยการคณะฟุตบอลแห่งสยามขึ้น ๗ นาย โดยมี นายพลตรี นายพลเสือป่า พระยาประสิทธิ์ศุภการ []ได้รับเลือกเป็นนายกคณะกรรมการฟุตบอลแห่งสยามคนแรกแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตรา "ข้อบังคับลักษณปกครองคณะฟุตบอลแห่งสยาม" และ "ระเบียบการจัดตั้งสโมสรฟุตบอลเพื่อส่งผู้เล่นเข้าแข่งขันสำหรับถ้วยของคณะฟุตบอลแห่งสยาม" ขึ้นไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงถือกันว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคณะฟุตบอลแห่งสยามมาตั้งแต่วันนั้น

 

 

ถ้วยรางวัลพระราชทานสำหรับการแข่งขันฟุตบอลของคณะฟุตบอลแห่งสยาม

(ซ้าย) "ถ้วยใหญ่" หรือ "ถ้วยพระราชทานประเภท ก" และ"ถ้วยน้อย" หรือ "ถ้วยพระราชทานประเภท ข" (ขวา)

 

 

นอกจากจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับคณะฟุตบอลแห่งสยามไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์มาแต่แรกสถาปนาแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลการแข่งขันฟุตบอลของคณะฟุตบอลแห่งสยามไว้ ๒ ถ้วย เรียกกันในสมัยนั้นว่า "ถ้วยใหญ่" และ "ถ้วยน้อย"

 

 

(จากซ้าย) หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร, พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร และ หม่อมเจ้าเขจรจรัสฤทธิ์ กฤดากร

 

 

          แต่การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยของคณะฟุตบอลแห่งสยามที่เพิ่งจะเริ่มจัดขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๕๙ นั้น ก็ได้ก่อให้เกิดเหตุวิกฤตอันเกือบจะทำให้คณะฟุตบอลแห่งสยามซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นได้เพียง ๔ เดือนเศษนั้นต้องมีอันล้มหายตายจากไป ดังมีความปรากฏในลายพระหัตถ์ที่หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร และหม่อมเจ้าเขจรจรัสฤทธิ์ กฤดากร สภากรรมการคณะฟุตบอลแห่งสยาม พร้อมกันกราบบังคมทูลพระกรุณาเมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ความว่า

 

          "ด้วยบัดนี้มีเหตุเกิดขึ้น เกี่ยวแก่กิจการของคณะฟุตบอลแห่งสยาม ซึ่งเปนการสำคัญถึงกับต้องนำความกราบบังคมทูลใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทผู้ทรงอุปถัมภ์ เพื่อขอพระมหากรุณาให้กิจการของคณะฟุตบอลแห่งสยามได้ดำเนินต่อไปโดยเรียบร้อย

 

          เมื่อวันที่ ๖ กันยายนได้มีการแข่งขันระหว่างสโมสรมหาดเล็กหลวงกับสโมสรกระทรวงยุติธรรม ในการแข่งขันนั้น สโมสรมหาดเล็กหลวงชนะ ครั้นรุ่งขึ้นสโมสรกระทรวงยุติธรรมได้ยื่นคำร้องต่อสภากรรมการหาว่า สำรับสโมสรมหาดเล็กหลวงมีผู้ที่เคยเล่นรอบที่สุดของการแข่งขันฟุตบอลถ้วยทองหลวงปีก่อนนี้เกิน ๕ คน เปนการผิดระเบียบการจัดตั้งสโมสร เพื่อส่งผู้เล่นเข้าแข่งขันข้อ ๗  [] กรรมการได้ประชุมวินิจฉัยข้อนี้ ตกลงตามรายงานการประชุมและจดหมายเลขาธิการ ดังสำเนาที่ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายมาพร้อมกับจดหมายนี้

 

          ต่อมาเลขาธิการได้รับจดหมายจากสโมสรมหาดเล็กหลวงขอลาออกจากคณะฟุตบอลแห่งสยาม โดยอ้างว่าที่กรรมการได้ตัดสินให้สำรับสโมสรมหาดเล็กหลวงเปนผู้แพ้ทีเดียวนั้นเท่ากับวินิจฉัยว่าสโมสรมหาดเล็กหลวง ได้จงใจประพฤติผิดข้อบังคับทีเดียว และเมื่อเปนเช่นนี้ ก็แปลว่ากรรมการไม่มีความเชื่อถือในเกียรติคุณและความสุจริตของสโมสรมหาดเล็กหลวง ด้วยเหตุนี้จึงขอลาออกจากคณะฟุตบอลแห่งสยาม

 

          ในวันวันเดียวกันกับที่ได้รับจดหมายลาออกของสโมสรมหาดเล็กหลวง เลขาธิการก็ได้รับจดหมายจากสโมสรกรมมหรศพ ขอลาออกจากคณะฟุตบอลแห่งสยามเช่นเดียวกัน โดยอ้างว่ามีความเชื่อมั่นอยู่ในเกียรติคุณและความสุจริตจองสโมสรมหาดเล็กหลวง

 

          มาวันนี้ได้รับจดหมายจากสโมสรกรมพรานหลวงรักษาพระองค์ สโมสรกรมราบหลวงรักษาพระองค์ สโมสรกรมม้าหลวงรักษาพระองค์ สโมสรกรมกรมเหล่าวิเศษหลวงรักษาพระองค์ สโมสรกรมนักเรียนเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ขอลาออกโดยอ้างเหตุเช่นเดียวกัน

 

          ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลว่า การที่สโมสรทั้งปวงนี้อ้างเหตุว่ากรรมการไม่มีความเชื่อถือในเกียรติคุณและความสุจริตของสโมสรมหาดเล็กหลวงนั้น เปนการเข้าใจผิด เพราะในรายงานและจดหมายเลขาธิการถึงสโมสรมหาดเล็กหลวงนั้น ก็ได้กล่าวโดยชัดเจนว่า การที่สโมสรมหาดเล็กหลวงส่งคนเกินอัตรานั้น เปนการพลั้งเผลอจริงๆ ไม่ใช่ด้วยเจตนา โดยเหตุนี้กรรมการจึงหาได้ลงโทษอย่างแรงที่สุด คือคัดออกจากคณะฟุตบอลแห่งสยามไม่

 

          อนึ่งเลขาธิการได้รับจดหมายจากสโมสรกระทรวงยุติธรรม ความว่ากรรมการตัดสินแรงเกินไป และขอโอกาศเล่นแข่งขันกับสโมสรมหาดเล็กหลวงอีกครั้งหนึ่ง ถ้าฝ่ายใดชนะจะได้เข้าแข่งขันกับสโมสรกรมมหรศพในรอบที่สุด ฝ่ายใดชนะเปนได้ถ้วย

 

          การที่สโมสรกระทรวงยุติธรรมขอร้องที่จะเล่นใหม่นี้ ก็เปนการสมควรแล้ว การแข่งขันจะได้ถึงที่สุดโดยเรียบร้อย แต่โดยเหตุที่สโมสรทั้งปวงนี้แสดงความไม่พอใจในคำตัดสินของกรรมการ และการที่สโมสรเหล่านี้ขอลาออกคงทำให้คณะฟุตบอลแห่งสยามล้ม ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระบารมีปกเกล้าฯ เปนที่พึ่งให้สโมสรเหล่านี้ถอนใบลาและคงอยู่ในคณะฟุตบอลแห่งสยามต่อไป และขอพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรรมการแทนกรรมการสามนายที่เกี่ยวข้องแก่คำตัดสินของกรรมการ

 

          ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเศร้าสลดใจเหลือเกินที่การได้เปนไปเช่นนี้ แต่คิดด้วยเกล้าฯ ว่า ความยั่งยืนของคณะฟุตบอลแห่งสยามสำคัญกว่าการที่กรรมการสองสามนายจะคงอยู่ในสภากรรมการต่อไปมาก"  []

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรความในลายพระหัตถ์ของสภากรรมการคณะฟุตบอลแห่งสยามทั้งสามพระองค์นั้นแล้ว ได้มีพระราชหัตถเลขาทรงตอบคำกราบบังคมทูลพระกรุณานั้นว่า

 

          "ถึงกรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร, หม่อมเจ้าสิทธิพร, และหม่อมเจ้าเขจรจรัสฤทธิ์

 

          จดหมายของเธอถึงฉัน ลงวันที่ ๙ กันยายน แถลงเหตุที่เกิดขึ้น เกี่ยวแก่กิจการของคณฟุตบอลแห่งสยาม พร้อมด้วยสำเนาหนังสือต่างๆ ที่เนื่องด้วยเรื่องนั้น ฉันได้อ่านและพิจารณาดูตลอดแล้ว ขอตอบดังต่อไปนี้

 

          ๑. การที่กรรมการได้ประชุมกันและวินิจฉัยคดีนั้น ตามรายงานประชุมฉันเห็นว่าได้ปฏิบัติการถูกต้องคามระเบียบทุกประการแล้ว ไม่เห็นว่าเปนปัญหาอย่าง ๑ อย่างใดเลยทีเดียว.

 

          ๒. ส่วนการที่กรรมการปฤกษาโทษผู้ผิดแลวางบทลงอาญาเพียงแต่เปนอย่างกลาง คือเพียงแต่คัดออกจากการแข่งขันนั้น ก็ได้วางลงไปต่อเมื่อได้ปฤกษาหาฤากันอย่างละเอียดลออแล้ว และกรรมการเห็นว่าเปนการเหมาะที่สุดที่จะลงโทษเช่นนั้น. ในส่วนตัวฉันเองไม่รู้สึกว่ามีข้อควรสงสัยเลยว่ากรรมการผู้แสดงความเห็นเช่นนั้นได้แสดงด้วยความจริงใจ

 

          ๓. การที่สโมสรกระทรวงยุติธรรมได้ขอให้เล่นกันใหม่นั้น ฉันเห็นว่าเปนการขอล่วงเลยเวลาเสียแล้ว เพราะกรรมการสภาได้วินิจฉัยเด็ดฃาดลงไปแล้ว และได้มีจดหมายถึงผู้ต้องคดีบอกคำวินิจฉัยไปเสียแล้ว และฝ่ายจำเลยก็ไม่ได้ขออุทธรณ เพราะฉนั้นจะถอนคำวินิจฉัยนั้นอย่างไร?

 

          ๔. การที่จะให้สโมสรมหาดเล็กกับสโมสรยุติธรรมเล่นกันใหม่ตามคำขอร้องของสโมสรยุติธรรมนั้น ถ้าแม้เปนเวลาก่อนที่กรรมการสภาได้บอกคำวินิจฉัยไปยังคู่ความแล้ว ก็จะเปนทางที่ตัดเหตุอย่างงดงามที่สุด แต่เมื่อกรรมการสภาได้วินิจฉัยเด็ดขาดเสียแล้วเช่นนี้ ถ้าหากว่าจะกลับให้ ๒ สโมสรนั้นเล่นกันใหม่อีก ดูจะเปนการไม่เหมาะอยู่ เพราะอาจที่จะมีผู้เฃ้าใจผิดคิดเห็นไปต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ :-

 

          (ก) ว่ากรรมการสภาตัดสินเด็ดฃาดไปแล้ว ต้องคืนคำเพราะฉันยื่นมือเฃ้าไปวุ่น,หรือ

 

          (ข) ว่ากรรมการสภาตัดสินเด็ดฃาดไปแล้ว ต้องคืนคำเพราะประจบสโมสรมหาดเล็ก, ซึ่งถ้าเฃากล่าวเช่นนี้ก็กระเทือนถึงตัวฉันอีกเหมือนกัน

 

          ในรายงานการประชุมก็มีข้อความปรากฏชัดอยู่ว่า กรรมการได้ "คิดโดยรอบคอบ  เห็นควรนึกถึงชื่อเสียงของคณฟุตบอลแห่งสยาม ถ้าจะให้เล่นกันใหม่ก็จะเปนเยี่ยงอย่าง สำหรับภายหน้า ทั้งยังไม่เชื่อว่าเปนยุติธรรมด้วย และจะให้คนติเตียนว่าเห็นแก่สโมสรที่เกี่ยวข้องแก่กรรมการบางท่าน อาจทำให้เสียชื่อเสียงในปีแรกในการที่ตั้งคณนี้ เมื่อเสื่อมเสียลงแล้วเช่นนี้เปนของยากที่จะกลับให้มีผู้นิยมเชื่อถือภายหลัง เมื่อเช่นนี้แล้วก็ไม่สมพระราชประสงค์ เพราะฉนั้นตามที่ตัดสินให้คัดออกจากการแข่งขันนั้น ไม่ต้องสงสัยผู้ที่ฝักใฝ่ในการเล่นฟุตบอลคงนิยมชมชอบและเชื่อถือในความยุติธรรมของคณฟุตบอลแห่งสยามต่อไป

 

          ฉันเห็นว่า เหตุการณที่ได้บังเกิดต่อมาเนื่องจากการที่กรรมการสภาได้วินิจฉัยเช่นนั้น ไม่เห็นมีอะไรที่จะลบล้างสถิติเดิมที่กรรมการได้แสดงมา ตามที่ได้คัดมาไว้ฃ้างบนนี้เลย เปนแต่สโมสรบางสโมสรไม่พอใจในคำวินิจฉัย ไม่เปนพยานอย่าง ๑ อย่างใดเลย ว่าผู้ที่ฝักใฝ่ในการเล่นฟุตบอลทั่วไปจะเห็นตามนั้นด้วย. เพราะฉนั้นถ้าจะกลับพลิกคำวินิจฉัยของตนเอง และยอมให้เล่นกันใหม่ จะพ้นจากทางที่อาจทำให้คนติเตียนว่าเห็นแก่สโมสรที่เกี่ยวข้องแก่กรรมการบางท่านฉนั้นได้แลฤา?

 

          ตรงกันข้ามฉันเชื่อว่าจะยิ่งถูกติมากขึ้นเสียอีก. พูดตรงๆ อาจจะถูกติว่าประจบ ตามที่ได้ว่ามาแล้วฃ้างบนนี้, และตัวฉันเองก็อาจ จะพลอยถูกติว่าใช้อำนาจหรือ influence เพื่อบังคับหรือบันดาลให้กรรมการพลิกคำวินิจฉัยซึ่งได้วางลงไปแล้วด้วยความเชื่อมั่นในความเปนธรรมและในประโยชน์แห่งคณฟุตบอลสยาม

 

          ๕. ข้อที่ว่า การที่สโมสรหลายสโมสรลาออกคงจะทำให้คณฟุตบอลแห่งสยามล้มนั้น ฉันยังเล็งไม่เห็น เพราะสโมสรที่ลาออกก็เปนแต่พวกที่เกี่ยวข้องแก่กรมมหาดเล็กเท่านั้น สโมสรกระทรวงและกรมอื่นๆ กับสโมสรเชลยศักดิ์ก็ยังคงอยู่อีกเปนหลายราย. จะให้ฉันเฃ้าใจหรือว่าคณฟุตบอลแห่งสยามจะตั้งอยู่ได้แต่โดยอาศรัยสโมสรมหาดเล็กและพรรคพวกเท่านั้น? คงจะไม่เปนเช่นนั้นเปนแน่.
แต่ถ้าเธอเห็นว่า การที่สโมสรมหาดเล็กและพรรคพวกลาออกจะถึงแก่ทำให้คณฟุตบอลแห่งสยามล้มฉนี้ ทำไมจึ่งมิได้คิดคาดคะเนเสียก่อนที่วินิจฉัย ว่าคำวินิจฉัยอาจให้ผลร้ายแรงถึงปานนั้น

 

          ๖. การที่จะขอให้ฉันจัดการให้สโมสรที่ลาออกแล้วนั้นถอนใบลา ฉันยังเล็งไม่เห็นว่าฉันจะทำอย่างไรได้ เพราะการลาออกเปนอำนาจอันชอบธรรมที่เฃาอาจจะใช้ได้แม้โดยไม่ต้องมีสาเหตุอะไรเลย และไม่เกี่ยวแก่น่าที่ของเฃาทางราชการด้วย เพราะฉนั้นฉันรู้สึกว่า ถ้าฉันไปบอกให้เฃาถอนใบลา ก็ดูเปนใช้อำนาจบังคับนอกทางราชการแท้ทีเดียว

 

          ฉันเห็นควรที่กรรมการสภาจะจัดการพูดจาว่ากล่าวกับสโมสรนั้นๆ เอง จะเหมาะกว่า

 

          ๗. การที่ขอให้ฉันตั้งกรรมการใหม่แทนตัวเธอทั้งสามนั้น ถ้าเธอไตร่ตรองดูอีกครั้ง ๑ แล้วก็คงจะเห็นใจฉัน ว่าฉันทำไม่ได้ทีเดียว เพราะถ้าฉันทำเช่นนั้น คนทั้งหลายที่คอยหาเรื่องนินทาฉันอยู่แล้วจะว่ากระไร? คงว่าฉันคัดเอาเธอออกเพราะเธอ "บังอาจตัดสินให้เปนที่ไม่พอใจแก่สโมสรมหาดเล็ก", ซึ่งจะเปนทางให้ติเตียนฉันได้ถนัดทีเดียว ว่าแม้ในการกีฬาก็ไม่รู้จักที่จะเล่นโดยตรงไปตรงมาอย่างนักเลง, ใช้อำนาจโดยฉันทาคติเพื่อประโยชน์แห่งสโมสรมหาดเล็ก.

 

          ด้วยความรู้สึกแน่ในใจเช่นนี้ ฉันจึ่งมีความเสียใจที่จะทำตามเธอขอนั้นไม่ได้เปนอันขาด ขออย่าให้ฉันต้องตกอยู่ในที่ถูกนินทาโดยใช่เหตุเช่นนั้นเลย

 

          ในที่สุดนี้ฉันขอบอกว่า ในส่วนตัวฉันถึงสโมสรมหาดเล็กจะถูกลงโทษอย่างใดๆ ฉันไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้น และฉันไม่ได้คิดอย่างอื่นนอกจากว่า เมื่อใครชนะฉันก็ให้ถ้วยด้วยความยินดีเท่านั้น ไมว่าผู้ชนะนั้นจะเปนสโมสรใดๆ

 

                                                                                                    พระบรมนามาภิไธย

 

          พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ

          วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙"  []

 

 

 


[ ]  นามเดิม ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พลเอก พลเรือเอก มหาเสวกเอก เจ้าพระยารามราฆพ

[ ระเบียบการจัดตั้งสโมสรฟุตบอลเพื่อส่งผู้เล่นเข้าแข่งขันสำหรับคณะฟุตบอลแห่งสยาม ข้อ ๗. กำหนดไว้ว่า "๗. ผู้เล่นรอบที่สุดในการแข่งขันสำหรับถ้วยทองหลวงปีก่อนเล่นให้กระทรวง กรม หรือบริษัทที่ตนทำงานอยู่ได้เหมือนกัน แต่จำนวนไม่เกิน ๕ คนในสำรับหนึ่ง"

[ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ บ.๘/๔ เรื่อง สโมสรฟุตบอลมหาดเล็กกับสโมสรฟุตบอลกระทรวงยุติธรรมเข้าแข่งขัน (๘ - ๑๒ กันยายน ๒๔๕๙).

[ เรื่องเดียวกัน.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |