โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

 

๘๗. สะพานชุด "เจริญ"

 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          ในยุคสร้างบ้านแปงเมืองให้เจริญทัดเทียมอารยประเทศ ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น นอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกแล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนหนทางทั้งในกรุงและหัวเมืองให้ประชาชนสัญจรไปมาได้โดยสะดวก แต่การก่อสร้างสะพานข้ามคูคลองเพื่อต่อเชื่อมเส้นทางสัญจรถึงกันนั้น นับว่าเป็นของใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศที่ชาวไทยไม่คุ้นเคย ในรัชกาลนั้นจึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เท่าจำนวนวันในพระชนมวาร นับแต่วันเสด็จพระราชสมภพมาจนถึงวันเฉลิมพระชนม์พรรษาวันที่ ๒๐ กันยายน ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ในอัตราวันละสลึง คิดเป็นเงินรวม ๑๔,๙๗๕ สลึง หรือ ๓,๗๔๓ บาท ๗๕ สตางค์ กับพระราชทานเพิ่มอีก ๗๒๒ บาท ๒๕ สตางค์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔,๕๖๖ บาท โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวนดังกล่าวให้กระทรวงโยธาธิการจัดสร้างสะพานข้ามคลองบางขุนพรหมตามแนวถนนสามเสน เป็นสะพานเหล็กสั่งมาแต่ยุโรป แทนการ "พระราชทานเงินเปนทานแก่คนจนตามประเพณีในรัชกาลก่อน"  [] เพราะทรงพระราชดำริว่า การพระราชทานเช่นนั้น "ไม่เปนผลจริงจังอะไร, เพราะแจกเฉลี่ยไปคนละเล็กละน้อย, จึ่งพระราชทานเปนก้อนเพื่อสร้างสพานแทน"  [] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ เสด็จแทนพระองค์ทรงเปิดสะพานที่เรียกกันในครั้งนั้นว่า "สะพานเฉลิม ๔๒" เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๗

 

          ต่อจากนั้นก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้าง "สะพานเฉลิม" ต่อด้วยเลขจำนวนปีพระชนม์พรรษา เพื่อข้ามคูคลองในกรุงเทพฯ และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาเป็นลำดับมา จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๒ จึงได้พระราชทานนามสะพานชุดเฉลิมนี้เรียงตามลำดับ ดังนี้

 

          ที่ ๑ ถนนสามเสน ข้ามคลองบางขุนพรม พระราชทานชื่อว่า "เฉลิมศรี ๔๒"

          ที่ ๒ ถนนหัวลำโพงนอก ข้ามคลองริมถนนสนามม้า พระราชทานชื่อว่า "เฉลิมศักดิ์ ๔๓"

          ที่ ๓ ปลายถนนสาทรฝั่งใต้ ข้ามคลองหัวลำโพง พระราชทานชื่อว่า "เฉลิมเกียรติ ๔๔"

          ที่ ๔ ถนนวรจักร ข้ามคลองวัดพิเรนทร์ พระราชทานชื่อว่า "เฉลิมยศ ๔๕"

          ที่ ๕ ถนนเยาวราช ข้ามคลองตรอกเต๊า พระราชทานชื่อว่า "เฉลิมเวียง ๔๖"

          ที่ ๖ ถนนอุนากรรณ์ ข้ามคลองสพานถ่าน พระราชทานชื่อว่า "เฉลิมวัง ๔๗"

          ที่ ๗ ถนนเจริญกรุง ข้ามคลองวัดจักรวรรดิ พระราชทานชื่อว่า "เฉลิมกรุง ๔๘"

          ที่ ๘ ถนนเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ข้ามคลองสาทร พระราชทานชื่อว่า "เฉลิมเมือง ๔๙"

          ที่ ๙ ปลายถนนสุรวงษ์ ข้ามคลองหัวลำโพง พระราชทานชื่อว่า "เฉลิมภพ ๕๐"

          ที่ ๑๐ ถนนเฟื่องนคร ข้ามคลองสะพานถ่าน พระราชทานชื่อว่า "เฉลิมพงษ์ ๕๑"

          ที่ ๑๑ ถนนประทุมวัน ข้ามคลองริมถนนสนามม้า ชื่อสพานเฉลิมเผ่า ๕๒

          ที่ ๑๒ ถนนเจริญกรุง ข้ามคลองวัดสามจีน พระราชทานชื่อว่า "เฉลิมพันธุ์ ๕๓"

          ที่ ๑๓ ถนนเจริญกรุง ข้ามคลองสีลม พระราชทานชื่อว่า "เฉลิมภาคย์ ๕๔"

          ที่ ๑๔ ถนนราชดำริห์ แลประแจจีน ข้ามคลองบางกะปิ พระราชทานชื่อว่า "เฉลิมโลก ๕๕"

 

 

สะพานเฉลิมหล้า ๕๖ เป็นสะพานสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒

 

 

          ที่ ๑๕ ถนนพญาไท ข้างคลองบางกะปิ พระราชทานชื่อว่า "เฉลิมหล้า ๕๖"

          ที่ ๑๖ ปลายถนนสี่พระยา ข้ามคลองหัวลำโพง พระราชทานชื่อว่า "เฉลิมเดช ๕๗"

 

 

สะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘

 

 

          สะพานชุดเฉลิมสะพานที่ ๑๗ และเป็นสะพานสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ให้จัดสร้างขึ้นในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) แต่ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อนที่จะทรงเลือกสถานที่ก่อสร้าง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมศุขาภิบาลจัดสร้างสะพานนี้ข้ามคลองหลอดปลายถนนราชินี พระราชทานนามสะพานอันเป็นที่สุดแห่งชุดเฉลิมนี้ว่า "เฉลิมสวรรค์ ๕๘" และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๕

 

          ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเจริญรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ ด้วยการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างสะพานชุด "เจริญ" มีอักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. ประดับที่ราวสะพานทั้งสองฝั่งเช่นเดียวกับสะพานชุดเฉลิมที่มีอักษรพระบรมนามาภิไธย จ.ป.ร. ประดับไว้ที่ราวสะพานทุกสะพาน

 

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างสะพานชุดเจริญเรียงลำดับมาแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาครั้งแรกในรัชกาล คือ

 

          ๑. สะพานเจริญรัช ๓๑ ข้าคลองคูเมืองเดิม ตำบลปากคลองตลาด

 

 

สะพานเจริญรัช ๓๑ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น

เนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ๑ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐

ซึ่งปีนั้นเป็นปีสถาปนากองเสือป่า ลูกกรงราวสะพานนี้จึงทำเป็นรูปเสือยกสองขาหน้า

 

 

          ๒. สะพานเจริญราษฎร์ ๓๒ ข้ามคลองมหานาค ที่ถนนกรุงเกษม

          ๓. สะพานเจริญพาศน์ ๓๓ ข้ามคลองบางกอกใหญ่ ที่ถนนอิสรภาพ

          ๔. สะพานเจริญศรี ๓๔ ข้ามคลองคูเมืองเดิม บริเวณหน้าวัดบุรณศิริมาตยาราม

          ๕. สะพานเจริญทัศน์ ๓๕ ข้ามคลองวัดสุทัศนเทพวราราม ที่ถนนบำรุงเมือง

          ๖. สะพานเจริญสวัสดิ์ ๓๖ ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ที่ถนนเจริญกรุง หน้าสถานีรถไฟกรุงเทพฯ

 

 

สะพานเจริญศรัทธา

 

 

          สะพานชุดเจริญที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นสะพานสุดท้าย คือ "สะพานเจริญศรัทธา" ข้ามคลองเจดีย์บูชา จังหวัดนครปฐม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สัญจรไปมาระหว่างสถานีรถไฟนครปฐมกับองค์พระปฐมเจดีย์ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพานนี้เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑

 

 

ตึกวชิระพยาบาล โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต

 

 

          อนึ่ง เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ พ.ศ.๒๔๖๐ นั้น มีพระราชดำริว่า สะพานต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทั้งสะพานชุดเฉลิมและชุดเจริญนั้น เพียงพอแก่การสัญจรไปมาขงพสกนิกรในกรุงเทพฯ แล้ว สมควรที่จะทรงบำเพ็ญพรระราชกุศลในทางอื่นอันจะยังประโยชน์สุขให้พสกนิกรของพระองค์ได้รับความสุขสำราญโดยถ้วนหน้า จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เลิกธรรมเนียมการสร้างสะพานเนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา แล้วโปรดพระราชทานพระราชทรัพย์ในการทรงบำเพ็ญพระกุศลสาธารณะอย่างอื่นแทน เริ่มด้วยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท ให้นายพลโท พระยาสุรินทราชา (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์ ภ ต่อมาเป็นพระยาวิชิจวงศ์วุฒิไกร) สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต จัดการสร้างโรงพยาบาลขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ พ.ศ. ๒๔๖๐ แล้วได้พระราชทานนามโรงพยาบาลนั้นว่า "วชิระพยาบาล"

 

 

 


[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๓๒.

[ ที่เดียวกัน

 

 

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |