โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

 

๘๙. ถึงล้อก็ล้อเพียง กละเยี่ยงวิธีสหาย (๑)

 

 

          ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นกล่าวกันว่าเป็นยุคทองของหนังสือพิมพ์ไทย หนังสือพิมพ์ไทยในยุคนั้นมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จนบางครั้งถึงกับเลยเถิดไปก้าวล่วงบุคคลอื่น ครั้นทรงตั้งเมืองจำลองดุสิตธานีและมีทวยนาครหรือพลเมืองของดุสิตธานีริเริ่มออกหนังสือพิมพ์ขึ้น ๒ ฉบับ คือ "ดุสิตสมัย" และ "ดุสิตรีคอร์เดอร์" หรือที่ต่อมาเปลี่ยนเป็น "ดุสิตสักขี" หนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับนั้นต่างก็ดำเนินตามรอยหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในยุคนั้น กล่าวคือ

 

          "๑.ยกยอหนังสือพิมพ์ฉบับของตนว่าเก่งที่สุด โวหารดีฝีปากกล้า ด่าว่าให้ทุกๆ คนไม่เลือกหน้า, ถึงแม้ท่านจะเป็นผู้เคยมีพระเดชพระคุณแก่ตัวมาแต่ก่อนก็ไม่เป็นไร เพราะจะยืมชื่อมาอุดหนุนราชนาวี  []

 

          ๒.หาความหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นว่า กล่าวคำหยาบคาย, ลงเรื่องไม่เปนประโยชน์, หรือเอาเรื่องส่วนตัวของบุคคล อันหาเปนประโยชน์แก่สาธารณะชนมาลงพิมพ์, ส่วนฉบับของตัวคงทำเช่นนั้นอยู่ก็ได้ ไม่เป็นไร.

 

          ๓.ขอทานเงินให้เขาให้เกินค่ารับ ถ้าเขาไม่ให้จงด่าว่า ป.จ. หรือจะด่าชนิดที่เรียกว่ากระทบกระเทียบก็ยิ่งดี; เมื่อถูกเข้าบ่อยๆ ก็คงจะต้องซื้อความรำคาญ โดยให้เงินเกินกว่าค่ารับ.

 

          ๔. ถ้าหาข่าวลงพิมพ์ไม่ได้เพียงพอ จะนึกเขียนอะไรต่อมิอะไรลงไปก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องใกล้ความจริงหรือขบขัน.

 

          ๕.ไปจำข้อความและสำนวนโวหารมาจากพวกเล่นลำตัดแล้วดัดแปลงเสียเปนร้อยแก้วเพื่อด่าฉบับอื่น ในข้อนี้ถึงแม้ตำที่ว่าจะไม่เปนจริงก็ไม่เป็นไร, ระวังแก้เขาให้ถูกปัญหาเหมือนถูกกลอนก็แล้วกัน.

 

          ๖.หาเหตุหยุดให้บ่อยๆ สบายดีไม่ต้องทำงาน, และทั้งจะเป็นโอกาศเอาเปรียบต่อผู้รับด้วย.

 

          ๗.ถ้าแม้เจ้าหน้าที่มัวหลงเที่ยวงานต่างๆ เสียหมดจนจะพิมพ์ไม่ได้ตามกำหนด, จะหยุดเกินไปกว่าที่ได้ประกาศไว้สักวันหนึ่งหรือสองวันก็ได้ คนอ่านคงลืม"  []

 

          ด้วยเหตุทั้ง ๗ ประการดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกำเนิดหนังสือพิมพ์ "ดุสิตสมิต" ขึ้นในดุสิตธานีอีกฉบับหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ โดยมีคณะผู้จัดทำประกอบด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นบรรณาธิการใหญ่ มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมมหาดเล็กอีก ๔ ท่านเป็นบรรณาธิการ คือ เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ และพระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล) กับมีบรรณานุกรซึ่งล้วนเป็นนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงอีก ๔ นายเป็นผู้ช่วย คือ นายจ่ายวด (ปาณี ไกรฤกษ์) หม่อมเจ้าดุลภากร วรวรรณ พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) และหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

บรรณาธิการใหญ่ ดุสิตสมิต

 

 

          การที่ทรงอุทิศพระองค์เป็นบรรณาธิการใหญ่ของหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตนี้ กล่าวกันว่าทรงมุ่งหมายจะประชดประชันหนังสือพิมพ์ที่ออกจำหน่ายในดุสิตธานี ที่มักจะออกบ้างไม่ออกบ้างตามรายสะดวกของคณะผู้จัดทำ ดุสิตสมิตจึงมีคำขวัญที่ปกหน้าว่า "เปนหนังสือพิมพ์ออกบ้างไม่ออกบ้างตามบุญตามกรรม" แต่โดยข้อเท็จจริงดุสิตธานีออกตรงเวลาเป็นประจำทุกวันเสาร์ แม้บรรณาธิการใหญ่จะแปรพระราชฐานไปประทับแรมนอกพระนคร ดุสิตสมิตก็ยังส่งถึงมือสมาชิกได้ตรงตามกำหนด และเมื่อจะหยุดพักประจำปีก็มีประกาศให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าเสมอมา สำหรับรายได้จากค่าบอกรับเป็นสมาชิกรวมทั้งเงินที่ได้จากการจัดจำหน่ายทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย ก็โปรดพระราชทานไปบำรุงการกุศลสาธารณะ เช่น สมทบราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อการจัดซื้อเรือรบหลวงพระร่วง สมทบคณะเสือป่า เพื่อจัดซื้อปืนให้เสือป่า สมทบสภากาชาดสยาม เพื่อรักษาผู้ป่วยเจ็บ ฯลฯ

 

          นอกจากนั้นยังทรงมุ่งหมายให้หนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตนี้เป็นเครื่องมือในการทรงสั่งสอนและแสดงวิธีการล้อเลียนบุคคลบนพื้นฐานของหนังสือพิมพ์ที่มุ่งหมายแต่จะให้ผู้อ่านได้ สมิต (ยิ้ม) น้อยบ้างใหญ่บ้าง ที่ปกหลังของดุสิตสมิตทุกฉบับจึงมีข้อความแสดงวัตถุประสงค์ไว้ชัดเจนว่า

 

          หนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต บ่มิคิดคะดีทราม
ตั้งจิตจะนำความ สุขะให้ฤดีสบาย
          ถึงล้อก็ล้อเพียง กละเยี่ยงวิธีสหาย
บ่มีจะมุ่งร้าย บ่มิมุ่งประจานใคร
          ใครออกจะพลาดท่า ก็จะล้อจะเลียนให้
ใครดีวิเศษไซร้ ก็จะชมประสมดี
          ชมเราก็แทงคิว ผิวะฉิวก็ซอร์รี่
แม้แม็ดมิคืนดี ก็จะเชิญ ณ คลองสาน ฯ

 

          การล้อเลียนในดุสิตสมิตนั้น มีทั้งการล้อเลียนข่าวที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่ออกในดุสิตสมิตด้วยกัน เช่น เรื่องที่ดุสิตสมัย ฉบับที่ ๓๗, วันอาทิตย์ที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ลงข่าวว่า

 

 

พระมหาคีรีราชปุระ

เป็นสถาปัตยกรรมยุโรปที่ฝรั่งเศสเรียกว่า Chateau หรือที่อังกฤษเรียกว่า Castle เยอรมันเรียกว่า Schloss

พระที่นั่งที่เห็นที่ด้านบนของภาพคือ พระที่นั่งศิวะวิมานมณี

 

 

          "บริเวณมหาคีรีราชปุระ เวลานี้โยธากำลังสร้างกำแพงค่ายคูประตูหอรบออกจะชอบกลๆ นาครในจังหวัดเราโดยมากยังไม่ใคร่มีใครเห็นเลย บางทีจะเปนทำอย่างแบบพม่า? ถ้าเราทราบข้อความอย่างไรแล้วจะได้นำลงต่อภายหลัง."  []

 

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงหยิบยกข่าวที่ดุสิตสมัยฉบับดังกล่าวลงว่า "บางทีจะเปนทำอย่างแบบพม่า"  ขึ้นล้อเลียนในดุสิตสมิต ฉบับที่ ๔ วันเสาร์ที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ด้วยข้อความว่า

 

          "เมื่อเราได้อ่านข่าวเช่นนี้แล้ว เราก็ได้รีบให้ผู้สืบข่าวของเราไปดูที่มหาคีรีราชปุระ, เพื่อไปดูกำแพงค่ายคูประตูหอรบที่สหายเราว่าทำอย่างแบบพม่านั้น, กลับมารายงานว่า -

 

          ๑. เกรี่ยงผู้เปนเถ้าแก่ควบคุมกุลีทำงานอยู่ที่นั้นบอกว่า "ทามยางไม่เลี้ยว; เป็งแต่ทาสีลงพื้งไว้โก่ง."

 

          ๒. แบบแผนนั้นมีนายช่างผู้ ๑ ซึ่งได้ไปศึกษาวิชา ณ ประเทศพม่าเศส  [] ได้เปนผู้เขียน.

 

          ๓. กำแพงและป้อมชนิดนี้ พม่าเยอร์ได้แกล้งทำลายเสียมากแล้วในประเทศพม่าเศสภาคเหนือ.

 

          ครั้นเมื่อผู้สืบข่าวของเราได้สืบได้ข้อความฉะนี้แล้ว จึ่งได้เลยไปที่โฮเตลเมโตรโปล, เรียกเมรัยพม่าที่เรียกว่าชามเปญกินถ้วย ๑, แวะเข้าไปเล่นการกีฬาพม่าที่เรียกว่าบิลเลียด. แล้วกลับมาที่ห้องของเรา, ซุดตัวลงนั่งบนเก้าอี้พม่าและหัวเราะจนฟันหัก, รุ่งขึ้นต้องไปหาหมอพม่าใส่ฟันใหม่ ทุงเล!"  []

 

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

สภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร

 

 

          นอกจากนั้นในดุสิตสมิต ฉบับเดียวกันนั้น ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทความล้อเลียนบุคคลไว้เป็นตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง โดยทรงหยิบยกโวหารของสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนครซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในยุคนั้นว่า เมื่อเจ้าภาพรายใดมาขอให้กรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครช่วยพิจารณาคัดเลือกหนังสือในหอพระสมุดไปพิมพ์แจกเป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพหรือฌาปนกิจศพข้าราชการหรือบุคคลผู้มีชื่อเสียง นอกจากเจ้าภาพงานศพนั้นๆ จะได้รับต้นฉบับหนังสือไปพิมพ์แจกเป็นบรรณาการตามความประสงค์แล้ว ยังจะได้รับ "คำนำ" ชองสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนครพร้อมกันไปด้วย

 

 

 


[ ]  หมายถึง ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเวลานั้นกำลังรณรงค์เรียไรเงินเพื่อจัดซื้อเรือรบหลวงพระร่วง

[ "หลักของหนังสือพิมพ์ (ความเห็นของบรรณาธิการผู้หนึ่ง", ดุสิตสมิต ฉบับที่ ๒ (๑๔ ธันวาคม ๒๔๖๒), หน้า ๑๙ - ๒๐.

[ "ทุงเล !", ดุสิตสมิต ฉบับที่ ๔ (๒๘ ธันวาคม ๒๔๖๑), หน้า ๖๔.

[ ทรงหมายถึง หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้เสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสด้วยทุน จนทรงสำเร็จการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมจาก Ecole des Beaux-arts.

[ ที่เดียวกัน

 

 

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |