โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

  |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐. ระเบียบการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

ในพระบรมราชูปถัมภ์พิเศษส่วนพระองค์

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๔)

 

          เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเปิดการเล่าเรียนมาได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง นักเรียนมหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงอุรา คเนจร เลขประจำตัว ๓ และหัวหน้าโรงเรียนคนแรก ก็เข้าสอบไล่และสำเร็จการศึกษาชั้นประโยคมัธยมพิเศษตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการในเวลานั้น จึงเป็นอันว่า น.ร.ม. ม.ล.อุรา คเนจร ได้ออกจากโรงเรียนเป็นคนแรก

 

หัวหมื่น พระยานเรนทรราชา (ม.ล.อุรา คเนจร)
แต่งเครื่องแบบเต็มยศข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนัก
ยศชั้นหัวหมื่น (เทียบเท่านายพันเอกทหารบก) ตำแหน่งเจ้ากรมพระอัศวราชในรัชกาลที่ ๖

 

 

          เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ในฐานะที่เป็นข้าหลวงเดิมที่ได้ถวายตัวมาแต่ก่อนเสด็จเสวยสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ล.อุรา คเนจร ข้าหลวงเดิมเข้ารับราชการเป็นนายม้าต้นสังกัดกรมพระอัศวราช ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระราชสำนักขั้นสังกัดในกรมมหาดเล็กอีกชั้นหนึ่ง ทรงพระมหากรุณาฝึกหัดการขี่ม้าและบังคับม้าพระราชทานด้วยพระองค์เอง จนเป็นที่เลื่องลือกันว่าในรัชสมัยนั้นหาคนที่ขี่ม้าได้สง่างามเสมอพระยานเรนทรราชาได้ยากเลยทีเดียว

 

          พระยานเรนทรราชานี้ได้รับราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๓๐ ปี และในบั้นปลายชีวิตของท่านยังยังได้รับพระมหากรุณาให้ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงอนิจกรรมในวัย ๘๐ เศษ

 

          ภายหลังจากที่ น.ร.ม. ม.ล.อุรา คเนจร สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและเข้ารับราชการในกรมพระอัศวราชแล้ว ต่อจากนั้นมาก็มีนักเรียนมหาดเล็กหลวงทั้งนักเรียนหลวงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้ปกครอง และนักเรียนสมัครคือผู้ที่ผู้ปกครองเป็นผู้จ่ายค่าเล่าเรียนเองทยอยสำเร็จการศึกษาตามมาเป็นลำดับ

 

          นักเรียนหลวงนั้นเมื่อจบการศึกษาแล้ว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในกรมต่างๆ ที่ขึ้นสังกัดในกรมมหาดเล็ก สุดแต่จะทรงพระราชดำริเห็นเหมาะสมเป็นรายๆ ไป แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะโปรดให้เข้ารับราชการในกองมหาดเล็กตั้งเครื่อง ซึ่งต้องรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทตลอดเวลา แต่ก็มีบางรายที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปศึกษาต่อในชั้นอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศสุดแท้แต่พระบรมราชวินิจฉัย ดังเช่นที่นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) เล่าไว้ว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้เล่าเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก และมีรับสั่งกับท่านผู้เล่าว่า “ไอ้เนื่องนี่ข้าไม่ให้เอ็งเรียนเมืองนอก เพราะไปแล้วข้าไม่ได้ใช้ ข้าจะสอนให้เอง เพราะข้าก็เป็นครูเหมือนกัน”

 

          แต่สำหรับนักเรียนสมัครนั้น เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วไม่มีข้อผูกมัดว่าจะต้องเข้ารับราชการดังเช่นนักเรียนหลวง บางคนจึงสมัครใจไปศึกษาต่อในสถาบันชั้นอุดมศึกษา คือ โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนยันตรศึกษา (ปัจจุบันคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) โรงเรียนราชแพทยาลัย ฯ ลฯ หรือไปศึกษาต่อต่างประเทศ บ้างก็ไปทำงานกับห้างร้านเอกชนหรือประกอบการค้าขาย
 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

 

          แต่ด้วยเหตุที่ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงนักเรียนมหาดเล็กหลวงเสมือนเป็นบุตร ดังกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ความตอนหนึ่งว่า “เจ้าเหล่านี้ข้าถือเหมือนลูกของข้า ส่วนตัวเจ้า เจ้าก็ต้องรู้สึกว่าข้าเป็นพ่อเจ้า” ฉะนั้นแม้นักเรียนเหล่านั้นจะจบการศึกษาไปจากโรงเรียนแล้ว ก็ยังทรงห่วงใยไปถึงนักเรียนเก่าที่มิได้รับราชการจะไม่มีโอกาสได้เฝ้าแหนเหมือนเมื่อครั้งเป็นนักเรียน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อธิบดีกรมมหาดเล็กออกประกาศดำเนินกระแสพระบรมราชโองการว่า

 

“ประกาศ

เรื่องนักเรียนเก่าแห่งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

แต่งเครื่องแต่งตัวมหาดเล็ก

 

-------------------------

 

          อธิบดีกรมมหาดเล็กรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า

 

          บรรดานักเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อในขณะที่ศึกษาวิชาการอยู่ในโรงเรียนนั้น ก็ได้แต่งเครื่องแต่งตัวอย่างนักเรียนมหาดเล็ก ดั่งที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ เครื่องแต่งตัวข้าราชการในพระราชสำนักนั้นแล้ว และอีกประการ ๑ บรรดานักเรียนมหาดเล็กก็ได้ถวายตัวเปนมหาดเล็กทุกคน จึงมีตำแหน่งเฝ้าอยู่แล้วในขณะเมื่อเปนนักเรียน

 

          แต่ตามพระราชบัญญัติที่เปนอยู่ ณ บัดนี้ เมื่อนักเรียนเสร็จการศึกษาออกจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงไปแล้ว จะคงแต่งเครื่องแต่งตัวอย่างนักเรียนมหาดเล็กหลวงอยู่นั้นหาได้ไม่

 

          บัดนี้ทรงพระราชปรารภว่า นักเรียนมหาดเล็กหลวงไหนๆ ก็ได้ถวายตัวเปนมหาดเล็กแล้ว และได้เคยมีตำแหน่งเฝ้าได้อยู่แล้ว เมื่อเสร็จการศึกษาแล้วแลออกไปจากโรงเรียนแล้ว ถ้าหากไปรับราชการสืบไปก็คงเปนอันได้มีตำแหน่งเฝ้า แต่ถ้าหากว่าจะมิได้รับราชการก็จะเปนอันหมดโอกาสที่จะได้มีตำแหน่งเฝ้าแหนได้ต่อไป ยังมีพระราชประสงค์ทรงพระกรุณาจะให้มีโอกาสเฝ้าได้อยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อธิบดีกรมมหาดเล็กออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้

 

          ข้อ ๑ บรรดานักเรียนมหาดเล็กหลวง ผู้ที่ออกจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงไปโดยเรียบร้อย คือมิใช่โดยความผิดอย่างใดอย่าง ๑ แล้ว และได้รับเหรียญเครื่องหมายอย่างนักเรียนเก่าแล้ว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องแต่งตัวอย่างมหาดเล็กชั้นมหาดเล็กวิเศษได้

          ข้อ ๒ เครื่องแต่งตัวอันกล่าวแล้วในข้อ ๑ นี้ ให้พึงเข้าใจว่า พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เปนพิเศษ เพื่อให้ผู้แต่งมีตำแหน่งเฝ้าได้นั้นเปนอาทิ เพราะฉนั้นถ้าเมื่อใดผู้ที่ได้ใช้เครื่องแต่งตัวมหาดเล็กเช่นนั้นได้เข้ารับราชการประจำในกระทรวงทบวงการใดๆ และได้แต่งเครื่องยศในกระทรวงนั้นแล้ว ให้นับว่าหมดเขตร์พระบรมราชานุญาตให้แต่งเครื่องมหาดเล็กนั้นต่อไป นอกจากที่จะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แต่งได้ต่อไปจนตลอดชีวิตจึงจะแต่งต่อไปได้

          ข้อ ๓ ผู้ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องแต่งตัวมหาดเล็กเปนพิเศษดังกล่าวมาแล้วในข้อ ๑ นั้น ต้องนับว่าสังกัดนอกกองแห่งกรมมหาดเล็ก เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อใดประพฤติตนไม่สมควรแก่ตำแหน่งแห่งมหาดเล็ก เปนน่าที่อธิบดีจะต้องนำความกราบบังคมทูลให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระราชทานให้คืนเครื่องแต่งตัวอย่างมหาดเล็กนั้น เพื่อป้องกันความเสื่อมเสียพระบรมเดชานุภาพและเกียรติยศแห่งมหาดเล็กหลวง

 

          ประกาศมา ณ วันที่ ๒๗ ธันวาคม พระพุทธซักราช ๒๔๕๖

(ลงนาม) พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ

แทนอธิบดีกรมมหาดเล็ก

ผู้รับพระบรมราชโองการ”  []

 

 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทรงแต่งเครื่องแบบลูกเสือหลวงเป็นกรณีพิเศษ

 
 

          นอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้ตราข้อบังคับเครื่องแต่งตัวมหาดเล็กสำหรับนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงแล้ว ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ตรา “ข้อบังคับเครื่องแต่งกายนักเรียนมหาดเล็กหลวง” กำหนดการแต่งกายของนักเรียนมหาดเล็กหลวงในเวลาออกนอกโรงเรียนไว้ดังนี้

 

 

“ข้อบังคับเครื่องแต่งกายนักเรียนมหาดเล็กหลวง

 

-------------------------

 

          จางวางโท พระยาประสิทธิ์ศุภการ อธิบดีกรมมหาดเล็ก รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า

 

          ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงใช้เครื่องแต่งกายแบบข้าราชการในพระราชสำนัก

 

          บัดนี้ควรจะตราข้อบังคับขึ้น เรียกว่า ข้อบังคับเครื่องแต่งกายนักเรียนมหาดเล็กหลวง พ.ศ. ๒๔๕๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นับเปนส่วนหนึ่งแห่งพระราชกำหนดเครื่องแต่งกายข้าราชการในพระราชสำนัก พ.ศ. ๒๔๕๓ ดังข้อความต่อไปนี

 

          ข้อ ๑ เครื่องแต่งกายปรกติ

          ๑. หมวกหนีบแบบข้าราชการในกรมมหาดเล็ก ติดพระมหามงกุฎเงินที่หน้าหมวกข้างขวา

          ๒. แผ่นกำมะหยี่ติดคอสีน้ำเงิน มีแถบเงินพาดกลาง กว้าง ๑ เซนติเมเตอร์ กับมีอักษร ม. ทำด้วยเงินติดกลางแถบ

          ๓. เสื้อขาวแบบราชการ

          ๔. ดุมพระมหาพิไชยมงกุฎเงิน

          ๕. กางเกงสีน้ำเงินสั้นเสมอเพียงข้อเข่า

          ๖. ถุงเท้าสีดำยาว

          ๗. รองเท้าผูก บู๊ตหรือชูหนังดำ

 

          ข้อ ๒ เครื่องแต่งกายนักเรียนมหาดเล็กหลวงให้ใช้ได้เฉภาะแต่ผู้ที่เปนนักเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งอยู่ในระหว่างเวลาศึกษา เมื่อพ้นเวลาศึกษาออกจากโรงเรียนแล้ว แต่งเครื่องนักเรียนมหาดเล็กหลวงอีกไม่ได้เปนอันขาด เว้นแต่ได้รับพระบรมราชานุญาตพิเศษ

 

          ข้อ ๓ ระหว่างที่ผู้ใดเปนนักเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น ออกจากนอกบริเวณโรงเรียนก็ดี ออกจากบ้านก็ดี เพื่อไปยังที่ประชุมชนและสาธารณะสถานใดๆ ให้แต่งกายด้วยเครื่องนักเรียนมหาดเล็กหลวงเสมอ

 

          ข้อ ๔ ถ้านักเรียนมหาดเล็กหลวงคนใด ได้เปนนักเรียนเสือป่าและเสือป่า ก็อนุญาตให้ใช้เครื่องแต่งกายชนิดนั้นได้ เมื่อมีความประสงค์จะไปในสถานที่ประชุมชนและสถานที่ต่างๆ

 

          ข้อ ๕ เมื่อมีพระราชประสงค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดแต่งเครื่องนักเรียนมหาดเล็กหลวงก็แต่งได้ แล้วแต่พระราชอัทยาศรัย แต่ให้ผู้ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณานั้น ไปลงทะเบียนทางโรงเรียนมหาดเล็กหลวงให้เปนหลักฐานไว้

 

          ข้อ ๖ ข้อบังคับใดๆ ที่ขัดกับข้อบังคับนี้ ให้ยกเลิก

 

          ข้อ ๗ ให้เจ้าน่าที่ทางโรงเรียนรักษาการให้เปนไปตามระเบียบข้อบังคับนี้

 

 

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๙”  []

 

 

 

 

[ ]  “ประกาศ เรื่องนักเรียนเก่าแห่งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแต่งเครื่องแต่งตัวมหาดเล็ก”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๐ (๔ มกราคม ๒๔๕๖), หน้า ๒๒๘๒ - ๒๒๘๔

[ ]  “ข้อบังคับเครื่องแต่งกายนักเรียนมหาดเล็กหลวง”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๓ (๑๘ มิถุนายน ๒๔๕๙), หน้า ๙๓ - ๙๔.

 

 

 

 

  |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |