โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

  |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

 

๔. กองลูกเสือหลวง (รักษาพระองค์)

 

นักเรียนมหาดเล็กหลวงชัพน์  บุนนาค 

ลูกเสือสยามคนแรก  แต่งเครื่องแบบลูกเสือหลวง

 

          เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ข้อบังคับลักษณปกครองลูกเสือนั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะมีพระราชประสงค์ที่จะทอดพระเนตรเครื่องแบบลูกเสือที่ทรงกำหนดไว้ในข้อบังคับลักษณปกครองลูกเสือนั้น จึงได้มีพระราชดำรัสสั่งไปยังโรงเรียนมหาดเล็กหลวงให้จัดนักเรียนคนหนึ่งแต่งเครื่องแบบลูกเสือไปถวายทอดพระเนตร ซึ่งนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง นายลิขิตสารสนอง (ชัพน์ บุนนาค) ผู้เป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิม หรือผู้ที่ได้ถวายตัวมาแต่ก่อนเสด็จเสวยราชย์ และในเวลานั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนักเรียนหลวงมาศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้เล่าถึงเหตุการณ์ในคราวนั้นไว้ว่า เมื่อโรงเรียนได้ออกใบสั่งให้นำไปตัดเครื่องแบบที่ร้านวิวิธภูษาคาร ถนนเฟื่องนคร และตัดรองเท้าที่ร้านเซ่งชง ถนนเจริญกรุง พร้อมกับฝึกซ้อมท่าทางการถวายเคารพแบบทหารและท่องคำสาบาลของลูกเสือ ๓ ข้อนั้นแล้ว
 

          “พอถึงวันจันทร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นวันที่เสด็จออกขุนนางที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิต ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิต หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ [ ] ได้นำตัว น.ร.ม.ชัพน์ ไปเฝ้าคอยรับเสด็จที่ท้องพระโรงพระที่นั่งอัมพรสถาน เวลา ๑๖.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงจากอัฒจันทร์ชั้นบนลงมาที่ท้องพระโรง หลวงอภิรักษ์ฯ [ ] จึงทูลเบิกตัว น.ร.ม.ชัพน์ บุนนาค ที่ได้นำตัวอย่างที่แต่งเครื่องแบบลูกเสือมาถวายทอดพระเนตรตามพระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าไปใกล้ ทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปเปิดหมวกที่บังหน้า น.ร.ม.ชพน์ อยู่ ทรงทักว่า “อ้ายชัพน์ดอกหรือ” เมื่อทอดพระเนตรเครื่องแบบลูกเสืออยู่อย่างถี่ถ้วนเพื่อที่จะให้เป็นที่แน่พระราชหฤทัยแล้วจึงรับสั่งถามนายจ่ายง (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ ภายหลังเป็นเจ้าพระยารามราฆพ) ว่า “เฟื้อ เครื่องแบบนี้ดีหรือยัง” นายจ่ายงกราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าดีแล้ว ถ้าต่อไปภายหน้าจะมีอะไรทีไม่เหมาะสม ก็ยังจะมีโอกาสแก้ไขต่อไปได้” ต่อไปจึงมีพระราชดำรัสถาม น.ร.ม.ชัพน์ว่า “เองท่องคำสาบาลของลูกเสือได้หรือเปล่า” เรื่องนี้ครูได้สอนนักเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงไว้ก่อนแล้วเมื่อรู้ตัวว่าให้ตั้งกองลูกเสือขึ้นมา ฉะนั้น น.ร.ม.ชัพน์ จึงยืดตัวตรงยกมือแตะหมวกในท่าวันทยะหัตถ์ กราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าได้ท่องมาแล้ว” และลงมือกล่าวคำสาบาล คือ
 

๑)

 

ข้าจะมีใจจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

๒)

 

ข้าจะตั้งใจประพฤติตนให้สมควรเป็นลูกผู้ชาย

๓)

 

ข้าจะประพฤติตนตามข้อบังคับและแบบแผนลูกเสือ

๑)

 

ข้าจะมีใจจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

          พอ น.ร.ม.ชัพน์ กล่าวคำสาบาลจบ ก็มีพระกระแสรับสั่งต่อไปว่า “ในหน้าที่ซึ่งข้าได้เปนผู้ประสิทธิ์ประสาทลูกเสือของชาติขึ้นมา ข้าขอให้เจ้าเปนลูกเสือคนแรกของประเทศสยาม”  [ ]

 

กองลูกเสือหลวง (รักษาพระองค์) ที่หน้าท้องพระโรง วังวรดิศ
ในวันที่นำกองลูกเสือมณฑลพิษณุโลกที่ลมาทำพิธีเข้าประจำกองไปทัศนศึกษาที่วังวรดิศ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๖
(ยืนกลางจากซ้าย) นายกองตรี พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ศร ศรเกตุ) ผู้บังคับกองร้อยที่ ๓ (ลูกเสือหลวง) กรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์
นายหมู่โท พระยาไพศาลศิลปสาตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้ช่วยผู้ตรวจการใหญ่ลูกเสือ และกรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
นายหมู่เอก หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับหมวดกองร้อยที่ ๓ (ลูกเสือหลวง) กรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์

 

          เมื่อกองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ ๑ ได้จัดการฝึกหัดและสอบไล่ความรู้และความสามารถชั้นต้นตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับลักษณปกครองลูกเสือ ข้อ ๓๓ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้กองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ ๑ (มหาดเล็กหลวง) ทำพิธีเข้าประจำกองเฉพาะพระพักตร์เป็นกองลูกเสือกองแรกของประเทศสยามที่สนามสโมสรเสือป่า พระราชวังดุสิต เมื่อวันเสาร์ที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๔
“ผู้กำกับได้ฝึกหัดลูกเสือถวายตัว แลได้มีการสอบซ้อมวิชาลูกเสือตามแบบซึ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้สำหรับสั่งสอนเสือป่าแลลูกเสือ”
[ ] แล้ว ในวันเดียวกันนั้นได้พระราชทานนามกองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ ๑ (มหาดเล็กหลวง) ซึ่งเป็นกองเริ่มแรกที่ได้ตั้งขึ้นนั้นว่า “กองลูกเสือหลวง” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ ๑ (ลูกเสือหลวง) รวมการปกครองอยู่ในกองร้อยหลวง หรือกองร้อยที่ ๑ กรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ซึ่งทรงบังคับบัญชาด้วยพระองค์เองมาแต่แรกตั้งกอง และต่อมาในการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาพิเศษกองเสือป่ามณฑลนครไชยศรี ณ โรงโขนหลวงพระราชวังสนามจันทร์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานธงพื้นดำลายกลางเป็นรูปพระมนูแถลงสารให้เป็นธงประจำกองลูกเสือหลวง เป็นกองลูกเสือกองแรกและกองเดียวที่ได้รับพระราชทานธงประจำกอง

 

          ในการฝึกอบรมลูกเสือในกองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ ๑ (ลูกเสือหลวง) นั้น นอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้รับการฝึกหัดและสอบไล่เป็นลูกเสือโทและลูกเสือเอกตามที่กำหนดไว้ในแบบสั่งสอนเสือป่าและลูกเสือ จนได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทำพิธีเลื่อนชั้นเป็นลูกเสือโทเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ และเลื่อนเป็นลูกเสือเอกเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๗ แล้ว และโดยที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองลูกเสือหลวงรวมการปกครองอยู่ในกองร้อยหลวง กรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองลูกเสือหลวง (รักษาพระองค์) ได้รับการฝึกหัดวิชาของเสือป่าเพิ่มเติมเป็นพิเศษ ดังมีความปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันประจำวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ว่า “เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ เสด็จออกทอดพระเนตรเสือป่ากองร้อยหลวงแลลูกเสือหลวง ฝึกหัดขุดสนามเพลาะที่สนามหญ้าน่าพระที่นั่งพิมานปฐม เวลาจวนยามเสด็จขึ้น เสวยแล้วเสด็จลงประทับอยู่จนเวลา ๘ ทุ่ม เสด็จขึ้น”  [ ]

 

          นอกจากนั้นกองลูกเสือหลวงยังได้ทำหน้าที่เป็นกองรักษาพระองค์เช่นเดียวกับกองร้อยหลวง และกองร้อยที่ ๒ กรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ ซึ่งนอกจากจะได้เข้าเวรประจำซองถวายอารักขาในฐานะเป็นกองรักษาพระองค์ และแซงเสด็จแทนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในบางเวลามาตั้งแต่คราวเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ พระราชวังสนามจันทร์เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ฉะนั้นเพื่อให้เป็นที่สังเกตว่า กองลูกเสือหลวงนั้นเป็นกองรักษาพระองค์ มีหน้าที่แตกต่างจากลูกเสือทั่วไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลูกเสือหลวงใช้เครื่องแต่งกายโดยอนุโลมตามเครื่องแต่งกายของสมาชิกเสือป่าในกรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ คือ เปลี่ยนผ้าพันหมวกจากสีประจำมณฑลเป็นผ้าลายเสือ มีสาบเหลืองบุที่ใต้ปีกหมวก มีดอกไม้แพรจีบสีเหลืองสลับดำติดทับที่ขวาหมวกกับมีขนนกขาวปัก อินทรธนูเป็นไหมเกลียวสีแดง

 

          กองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ ๑ (ลูกเสือหลวง) คงรวมการปกครองอยู่ในกองร้อยหลวง กรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์มาจนถึงพ.ศ. ๒๔๕๕ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายอัตรากำลังของกรมเสือป่าหลวงเป็น “กรมเสือป้าราบหลวงรักษาพระองค์” จัดอัตราเป็น ๒ กองพันแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้แยกกองลูกเสือหลวงออกไปเป็นกองร้อยที่ ๓ แต่ให้คงสังกัดอยู่ในกองพันที่ ๑ ร่วมกับกองร้อยหลวง ส่วนกองร้อยที่ ๒ และกองร้อยที่ ๔ นั้นโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นกองพันที่ ๒

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมด้วยนายเสือป่าและนักเรียนเสือป่ากองร้อยที่ ๑ (มหาดเล็กหลวง)

ที่หน้าพลับพลาค่ายหลวงบ้านโป่ง  เมื่อวันจันทร์ที่  ๑๕  กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๔๕๗

(แถวนั่งเก้าอี้จากซ้าย)  ๑. นายกองเอก หม่อมเจ้าปิยบุตร  จักรพันธุ์ ผู้บังคับการกรมเสือป่าราบหลวงรักษาพระองค์ 

๒. นายกองใหญ่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  นายกเสือป่าและผู้บัญชาการกองพลหลวงรักษาพระองค์

๓. นายกองเอก พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ  พึ่งบุญ) รองผู้บัญชาการกกองพลหลวงรักษาพระองค์

๔. นายกองตรี พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์  (ศร  ศรเกตุ) ผู้บังคับการกรมนักเรียนเสือป่าหลวง

 

          ต่อมาวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ทรงพระราชดำริว่า "กองลูกเสือหลวง (รักษาพระองค์) ซึ่งตามที่ได้รวมการปกครองขึ้นอยู่ในกรมเสือป่าราบหลวง (รักษาพระองค์) นั้น ยังไม่สะดวกแก่ระเบียบการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองขึ้นใหม่ ให้แยกกองลูกเสือหลวง (รักษาพระองค์) นั้นไปเปนกองร้อยอิศระขึ้นตรงต่อเสนาธิการกองพลหลวง (รักษาพระองค์)”  [ ]


          ถัดมาอีกเพียงเดือนเศษในระหว่างการซ้อมรบเสือป่าประจำปี ก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองลูกเสือหลวงขึ้นเป็น “กรมนักเรียนเสือป่าหลวง” ดังมีความละเอียดปรากฏในคำสั่งกรมบัญชาการเสือป่า ดังนี้
 

 
 

“คำสั่งที่ ๕/๒๔๕๗                                                                              กรมบัญชาการเสือป่า

                                                                 วันที่  ๒๖  มกราคม  พระพุทธศักราช  ๒๔๕๗

          ด้วยตามระเบียบการปกครองลูกเสือที่เปนมาแล้ว  กองลูกเสือหลวงรักษาพระองค์เปนกองที่ ๑  และกองลูกเสือโรงเรียนราชวิทยาลัยเปนกองที่ ๒ อยู่ในคณะลูกเสือมณฑลกรุงเทพฯ  แต่โดยปรกติที่เปนมานั้นกองลูกเสือหลวงไม่ใคร่จะได้ติดต่อกับสภากรรมการลูกเสือมณฑลกรุงเทพฯ  และทั้งการฝึกหัดสั่งสอนและการซ้อมวิธียุทธเปนต้น  กองนี้ได้ทำการติดต่อกับกองพลหลวงรักษาพระองค์  และได้อยู่ในความตรวจตราของนายกเสือป่าเองตลอดมา  ส่วนกองลูกเสือโรงเรียนราชวิทยาลัยก็ได้มาสมทบฝึกหัดและรับคำสั่งสอนอยู่เช่นเดียวกับกองลูกเสือหลวงตั้งแต่ต้นศก ๒๔๕๗ นี้แล้ว  เพราะฉนั้นการที่จะให้กองลูกเสือทั้งสองนี้คงอยู่ในความปกครองของสภากรรมการจัดการลูกเสือมณฑลกรุงเทพฯ ต่อไป  ก็จะไม่เปนระเบียบเรียบร้อย  เปนการก้าวก่ายอยู่ทำให้เปนการลำบากทั้งสองฝ่าย
          อนึ่งกองทหารกระบี่หลวงรักษาพระองค์  ตามระเบียบการที่ได้เปนมาแล้ว  ได้จัดเปนกองร้อย ๑ในกรมราบหลวงรักษาพระองค์  แต่สมาชิกกองทหารกระบี่มีจำนวนมาก  และมีอายุเปนหลายชั้นไม่เปนการสะดวก  สมควรที่จะแบ่งเสียเปนสองพวกทีเดียว  ให้ชั้นใหญ่คงอยู่ในกรมราบหลวงตามเดิม  แยกทหารกระบี่ชั้นเล็กออกต่างหาก  ตั้งขึ้นเปนกองนักเรียนอีกกองหนึ่ง  ได้ทดรองแล้วในคราวฝึกหัดเดินทางไกลศกนี้เปนการสะดวกดี
          เพราะฉนั้นให้จัดระเบียบการปกครองเสียใหม่ คือ ให้ตั้งกรมนักเรียนเสือป่าขึ้นกรม ๑ ขนานนามว่า “กรมนักเรียนเสือป่าหลวง”  ให้อยู่ในความบังคับบัญชาเสนาธิการเสือป่า  และให้เสนาธิการเสือป่ามีหน้าที่เปนผู้อำนวยการฝึกหัดสั่งสอนในกรมนักเรียนเสือป่าหลวงตามระเบียบเช่นเดียวกันกับเจ้ากรมยุทธศึกษาของกรมเสนาธิการทหารบกฉนั้น  และรวมการปกครองขึ้นตรงต่อนายกเสือป่า
ในกรมนักเรียนเสือป่าหลวงนี้ให้จัดเปน ๓ กองร้อย คือ
          ๑. กองนักเรียนเสือป่ามหาดเล็กหลวง  ตั้งกองอยู่ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง สวนดุสิต
          ๒. กองนักเรียนเสือป่าราชวิทยาลัย  ตั้งกองอยู่ที่โรงเรียนราชวิทยาลัย  ตำบลบางขวาง (เมืองนนทบุรี)
          ๓. กองนักเรียนทหารกระบี่
 [ ] ตั้งกองอยู่ที่โรงเรียนทหารกระบี่  สวนมิสกวัน

          อนึ่งให้ย้ายนายเสือป่าเข้าประจำรับราชการในกรมนักเรียนเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ ดังต่อไปนี้

 
 

นายกองโท พระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ)
ผู้บังคับการกรมนักเรียนเสือป่าหลวง

 

          ๑. นายกองตรี พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์  [ ] เปนผู้บังคับการกรมนักเรียนเสือป่าหลวงรักษาพระองค์
          ๒. นายหมู่เอก ขุนจรัสอักษรกูล
[ ] เปนผู้รั้งตำแหน่งปลัดกรมนักเรียนเสือป่าหลวงรักษาพระองค์
          ๓. นายหมวดโท หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์  
[ ๑๐ ] เปนผู้บังคับกองนักเรียนเสือป่ามหาดเล็กหลวง
          ๔. ว่าที่นายหมวดตรี สุดใจ
[ ๑๑ ] เปนผู้บังกองนักเรียนเสือป่าราชวิทยาลัย
          ๕. นายหมวดตรี หลวงศรีนัจวิไสย
 [ ๑๒ ] เปนผู้บังคับกองนักเรียนทหารกระบี่

          ทั้งนี้ให้เปนไปตั้งแต่บัดนี้เปนต้นไป

 

                                                                           นายกองใหญ่ (พระบรมนามาภิไธย) วชิราวุธ
                                                                                             นายกเสือป่า”  
[ ๑๓ ]

 
 

(ยังมีต่อ)

 
 

 

[ ]  นามเดิม ศร ศรเกตุ เวลานั้นยังเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครอง โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบริหารราชมานพ ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แล้วเลื่อนเป็นเจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

[ ]  หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ศร ศรเกตุ) ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครองโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบริหารราชมานพ

[ ]  จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช). เสือป่าและลูกเสือในประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอน ๑, หน้า ๒๒๐ – ๒๒๑.

[ ]  จดหมายเหตุเสือป่า  เล่ม ๑ ฉบับ ๕ (กันยายน ๑๓๐), หน้า ๓๔๗.

[ ]  หอวชิราวุธานุสรณ์.  จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑ มกราคม ๑๓๑ -
๓๑ ธันวาคม ๒๔๕๖), หน้า ๓๑.

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ บ.๑๖/๔๑ เรื่อง แยกลูกเสือกองหลวง (ร.อ.) เป็นกองอิสระ (๘ ธันวาคม ๒๔๕๗)

[ ]  ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเป็น “กองนักเรียนพรานหลวง” ตามนามโรงเรียนที่โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็น “โรงเรียนพรานหลวง”

[ ]  นามเดิม ศร ศรเกตุ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบริหารราชมานพ

[ ]  นามเดิม ม.ล.จรัส อิศรางกูร ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงจรัสอักษรกูล

[ ๑๐ ]  นามเดิม ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภะรตราชา

[ ๑๑ ]  นามเดิม สุดใจ สันธิโยธิน ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระภักดีบรมนาถ

[ ๑๒ ]  นามเดิม สอน ลักษมณะนัฏ

[ ๑๓ ]  เรื่องเดียวกัน.

 

 

 

  |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |