โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐๔. มหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ (๓)

 

          อนึ่ง แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงห่วงใยและพระราชทานพระมหากรุณาแก่มหาดเล็กเด็กๆ ก็ตาม ในเวลาเดียวกันก็ทรงกวดขันเด็กๆ เหล่านี้ให้รู้จักรักษาหน้าที่ด้วยพระองค์เอง ซึ่งหน้าที่สำคัญของเด็กๆ ที่ทรงชุบเลี้ยงต้องปฏิบัติไม่ให้ขาดตกบกพร่อง คือ เมื่อเลิกเรียนกลับมาถึงที่ประทับแล้ว ต้องขึ้นเฝ้าทูลละอองพระบาทอยู่มิให้ขาด ยามที่มหาดเล็กเด็กๆ พากันละทิ้งหน้าที่จนทรงรู้สึกว่า เด็กๆ พากัน “วิ่งหนีไปตั้งกลุ่มกันเองเมื่อใดก็ตามก็ตามที่สามารถทำได้”  [] แล้ว ก็ไม่โปรดที่จะลงอาญาตีหรือขังแก่เด็กๆ หากแต่ทรงเลือกวิธีลงทัณฑ์เด็กๆ เหล่านั้นด้วยวิธีการแปลกๆ ที่ทรงคิดขึ้นในเวลานั้น เช่น ในระหว่างที่ประทับที่พระตำหนักจิตรลดา เมื่อเสวยพระกระยาหารค่ำแล้ว มักจะเสด็จลงทรงไพ่พร้อมด้วยข้าราชการผู้ใหญ่ที่พระตำหนักญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่บนเนินดินเตี้ยๆ ข้างกำแพงวังด้านตะวันออก เริ่มตั้งแต่เวลา ๓ ทุ่มเศษ หรือ ๔ ทุ่ม เรื่อยไปจนถึงเวลาเสด็จเข้าพระบรรทมราวยามสาม (๓ นาฬิกา) ห้องที่ประทับทรงพระสำราญนั้นเป็นห้องโล่งๆ ที่มุมห้องมีฝากั้นพอเป็นเครื่องบังตาได้นอกนั้นก็เปิดโล่งตลอด ข้างฝ่ายพวกเด็กๆ มีหน้าที่คอยเฝ้าอยู่ที่เฉลียงซึ่งเป็นชั้นลดลงมาเล็กน้อยจากที่ประทับ คืนหนึ่งเมื่อมหาดเล็กเชิญเครื่องว่างมาถวายตามกำหนดเวลาคือ ๗ ทุ่ม (๑ นาฬิกา) และนำข้าวต้มปรุงเครื่องมาตั้งเลี้ยงเด็กๆ

 

 

พระยาคทาธรบดี สีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์)

เมื่อครั้งเป็น นายวรการบัญชา จางวางรถม้าพระที่นั่งในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

 

 

          ครั้นเด็กๆ รับประทานอาหารว่างกันแล้ว ประกอบกับการที่เหนื่อยอ่อนจากการเล่นซุกซนในตอนเย็น จึงทยอยกันกลับขึ้นไปบนพระตำหนัก พากันเอาที่นอนของตนมาปูเรียงกันที่เฉลียงด้านหลัง เรียงรายกันไปตั้งแต่หน้าห้องพระบรรทมไปจนจรดหัวบันไดอย่างเคย ขณะที่กำลังจัดที่นอนพร้อมกับหยอกเย้ากระเซ้าแหย่กันตามเคยนั้นเอง พลันพระยาคทาธรบดี สีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) ซึ่งในเวลานั้นยังเป็น นายวรการบัญชา จางวางรถม้าในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ก็โผล่ขึ้นมาพร้อมกับบอกว่า ทรงกริ้ว มีรับสั่งให้จับพวกเด็กๆ มัดโยงทุกคน ไม่ให้นอน ไม่ให้นั่ง แต่แล้วเด็กคนหนึ่งก็ได้ร้องอุทธรณ์ขึ้นว่า พวกผมเห็นใกล้เวลาเสด็จขึ้นแล้วก็เลยขึ้นมาปูที่หลับที่นอนให้เรียบร้อยเสียก่อน ทำไมจึงทรงกริ้ว คุณวางวางจึงได้ชี้แจงว่า “นั่นน่ะซีใกล้เวลาเสด็จขึ้นแล้ว ก็ควรรอตามเสด็จไม่ควรขึ้นมาก่อนเป็นการทิ้งพระองค์แล้วหนีมา” ว่าแล้วคุณจางวางก็สั่งให้เด็กๆ ที่ต้องรับราชทัณฑ์ราว ๑๐ คน รวมทั้งผู้ที่ขึ้นไปนอนหลับก่อนแล้วอีก ๒ คน ไปยืนที่ราวอัฒจันทร์พระตำหนักตั้งแต่ท้องพระโรงขึ้นมา เอาผ้ามัดมือคร่อมราวบันไดไว้เป็นคู่ๆ เพื่อมิให้นั่งได้ เสร็จแล้วคุณจางวางก็เดินกลับไปคงปล่อยเด็กๆ ถูกมัดติดอยู่กับราวบันไดจนถึงเวลาเสด็จขึ้นในราว ๑ ชั่วโมงถัดมา

 

          เมื่อเสด็จพระราชดำเนินผ่านเด็กๆ ที่ยืนรับเสด็จที่ราวอัฒจันทร์เป็นตับนั้น ทรงพระดำเนินผ่านไปเหมือนไม่มีเด็กๆ ยืนรับเสด็จอยู่ แต่เมื่อเสด็จขึ้นถึงชั้นบนพระตำหนักแล้วจึงทรงผินพระพักตร์มาทอดพระเนตรเด็กๆ แวบหนึ่ง แล้วเลยเสด็จเข้าห้องพระบรรทม โดยไม่มีรับสั่งใดๆทั้งสิ้น ข้างฝ่ายพวกผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จขึ้นมาต่างก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไม่สนใจว่ามีเด็กๆ ยืนอยู่ เมื่อเสด็จเข้าห้องพระบรรทมแล้วท่านผู้ใหญ่เหล่านั้นก็ถวายบังคมลาเดินผ่านเด็กๆ ลงสู่ท้องพระโรงชั้นล่าง แล้วต่างคนต่างก็กลับบ้านของตน ทำเอาเด็กๆ พากันวิตกว่า คงจะต้องถูกมัดไปจนตลอดรุ่งเป็นแน่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปราวครึ่งชั่วโมงคุณจางวางจึงโผล่ขึ้นมาจากท้องพระโรง แล้วบอกแก่เด็กๆ ว่า มีรับสั่งให้ปล่อยพวกเธอแล้ว แล้วก็แก้มัดให้เด็กๆ ได้กลับไปนอนตามที่ของตน

 

          อีกคราวหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อคราวเสด็จไปประทับที่นครปฐมเพื่อทรงอำนวยการบูรณะพระปฐมเจดีย์ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวนั้นมหาดเล็กเด็กๆ ซึ่งตามเสด็จไปด้วย วันหนึ่งราวบ่าย ๒ โมง ระหว่างเสวยพระกระยาหารกลางวัน กรมวังผู้หนึ่งซึ่งได้ร่วมโต๊ะเสวยอยู่ด้วย ได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่า เด็กๆ ไปที่สถานีรถไฟ โดยนั่งรุมล้อมกันอยู่ที่ริมทางรถไฟ พอรถแล่นมาก็เอาสตางค์วางลงที่ราง รถไฟยังไม่ทันหยุดดีก็เอื้อมมือเข้าไปหยิบสตางค์ ในวันนั้นนอกจากจะทรงกริ้วและมีรับสั่งว่า “เล่นหาที่ตาย ปล่อยให้เล่นอย่างนี้ไม่ได้ น่ากลัวมาก” แล้ว ยังทรงลงทัณฑ์เด็กๆ ที่ไปเล่นกันที่สถานีรถไฟนั้น โดยโปรดให้ยืนเรียงแถวที่เฉลียงตั้งแต่หน้าห้องทรงพระอักษรไปจนจรดอัฒจันทร์ทางขึ้นพระตำหนัก แล้วให้ทำท่าขับรถไฟพร้อมกับทำเสียง ชึ่ก - ชึ่ก - ชี่ก ไปด้วย ทรงกำชับให้ขับเรื่อยไป ถ้าหยุดจะลงพระราชอาญา รถไฟขบวนนี้จึงต้องขับเรื่อยไปจนถึงเวลาราวบ่าย ๓ โมงเศษเสด็จขึ้นมาบนพระตำหนัก พวกเด็กๆ ก็พากันระดมกันขับรถไฟเสียง ชึ่กชั่ก - ชึ่กชั่ก แต่เสียงไม่ค่อยจะออกจากลำคอ มือก็ทำท่าเปิดปิดคันขับเหมือนขับรถราง เพราะเคยเห็นแต่คนขับรถรางไม่เคยเห็นคนขับรถไฟ ด้วยหวังว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ เมื่อทรงพระดำเนินผ่านขบวนรถไฟพิเศษนั้น ทรงชำเลืองพระเนตรพร้อมกับทรงพระสรวลน้อยๆ แล้วเสด็จเข้าห้องทรงพระอักษรโดยไม่มีรับสั่งประการใด ขบวนรถไฟพิเศษนั้นจึงต้องแล่นอยู่หน้าพระที่นั่งต่อมาอีกราวชั่วโมงเศษจึงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้เลิกขบวนรถพิเศษนี้

 

          การที่โปรดลงโทษเด็กๆ ด้วยวิธีการพิเศษดังกล่าว ก็ด้วยมีพระราชดำริว่า การลงอาญาด้วยการตีและขังนั้น “น่าจะไม่เปนประโยชน์ เพราะลูกผู้ดีไม่ใช่สัตว์เดียรฉาน ที่จะบังคับบัญชาได้ด้วยอาญา ถึงแม้จะใช้อาญาเท่าใด ถ้าแม้ลูกผู้ดีจะเกิดมัทิฐิมานะขึ้นมาแล้วไซร้ จะห้ามปรามยึดเหนี่ยวไว้ไม่ได้เลย แต่ถ้าแม้ว่าตัวลูกผู้ดีนั้นรู้สึกเห็นว่าสิ่งใดผิด ก็จะไม่พักให้ใครต้องใช้อาญา คงจะต้องรักตัวรักชื่อเสียงและอดสิ่งที่ชั่วที่ผิดนั้นเสียเอง”  []

 

          ต่อมาเมื่อทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติสืบสนองพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว

 

 

ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ (เจ้าพระยารามราฆพ)

มหาดเล็กเชิญหีบพระศรีตามเสด็จ

 

 

          “เมื่อเสร็จพระราชพิธีประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว (เขา) อัญเชิญเสด็จ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ให้ประทับที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทด้านตะวันออก เข้าพระที่ใน “ห้องไปรเวท” จัดพระปรัศว์ ด้านตะวันออกเป็นที่เสวย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าปิยบุตร จักรพันธุ์ ๑ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ๑ หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ๑ หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ ๑ ร่วมโต๊ะเสวยด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้ทั้ง ๔ คนนี้นอนที่พระปรัศว์องค์ที่เสวยนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับที่พระที่นั่งจักรีจนกระทั่งการซ่อมแซมพระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์เสร็จ จึงเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งองค์นั้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทั้ง ๔ คนที่กล่าวมาแล้วนั้นเข้าไปอยู่ใกล้ที่ประทับ (ชื่อพระที่นั่งอะไรยังนึกไม่ออก [] แต่เรียกกันว่า “ห้องเขียว”  [])

 

          ทั้ง ๔ คนนี้มีหน้าที่ตามเสด็จทุกหนทุกแห่ง รวมทั้งพระราชพิธีต่างๆ ด้วย การตามเสด็จนี้ผลัดกันเชิญหีบพระศรีและพระสุพรรณศรี (ข้าหลวงเดิม ซึ่งมหาดเล็กเชิญตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปัจจุบันนี้) ในการเฉลิมพระราชมณเฑียรเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จเข้าพระที่ในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ๔ คนนี้เข้าไปนอนในห้องโถงในพระที่นั่งองค์นั้น การรับใช้ใกล้ชิดพระองค์เป็นไปจนกระทั่งจัดระเบียบการปกครองกรมมหาดเล็กหลวงใหม่ ๓ คนนั้นไปรับราชการตามทำเนียบ ส่วนหม่อมเจ้าชัชวลิตตกเป็นคนหลักลอย ไม่มีตำแหน่งอะไรเลย นอกจากนั่งโต๊ะเสวยและรับใช้ทั่วไป”  []

 

          ส่วนมหาดเล็กเด็กๆ ที่ยังอยู่ในวัยเล่าเรียน เมื่อทรงตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแล้ว ก็โปรดเกล้าฯ มหาดเล็กเด็กๆ เหล่านั้นย้ายไปเล่าเรียนที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงจนจบการศึกษา แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก ส่วนผู้ที่มีผลการเรียนดีก็พระราชทานทุนเล่าเรียนส่วนพระองค์ให้ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศบ้าง ในสถาบันการศึกษาชั้นอุดมศึกษาในประเทศบ้าง

 

          อนึ่ง ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีมหาดเล็กในพระองค์เป็นเพื่อนผู้ใกล้ชิดมาแต่แรกเสด็จพระราชดำเนินกลับจากทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ จึงมักจะมีผู้เข้าใจไปว่า “รัชกาลที่ ๖ ทรงวางพระองค์ให้ห่างพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งผิดกับสมัยรัชกาลที่ ๕ และพระมหากษัตริย์โดยมาก นอกจากทรงห่างเหินพระญาติพระวงศ์แล้ว ยังทรงไว้พระองค์เป็นพระเจ้าเหนือหัวของเจ้านายอีกด้วย”  [] แต่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ซึ่งเป็นพระอนุวงศ์ฝ่ายในที่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมากที่สุดพระองค์หนึ่งกลับทรงมีความเห็นว่า

 

          “สำหรับตัวข้าพเจ้า, ตั้งแต่ได้เฝ้าในหลวงมาไม่เคยได้ยินทรงติเตียนเจ้านายแต่อย่างหนึ่งอย่างใด. ปีหนึ่งในงานวัดเบ็ญจมฯ ยังเคยทรงใช้ให้ข้าพเจ้าไปที่ร้านพระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรี, ด้วยตรัสว่า “เมื่อคืนนี้, ฉันพาพระ (สงฆ์) ไปเที่ยว. ถึงร้านเสด็จป้า เขาเอาอะไรไม่รู้มาให้หนึ่งห่อโตๆ เป็นรอยว่าราคาสักพันสองพัน ฉันกำลังพูดกับพระอยู่ก็เลยบอกให้เขารอแล้วก็เลยลืม. เธอไปถามและรับของมา, แล้วเอาเงินไปใช้เสียทีเถอะ, ได้ไหม? ข้าพเจ้ากราบทูลรับว่าได้ แต่กราบทูลถามว่า “เสด็จป้ากรมหลวง (สมรรัตน์) หรือเพคะ?” ท่านทรงตรัสตอบอย่างเบิกบานว่า “ไม่ใช่”, จำไว้นะ! ฉันมีสมเด็จป้าองค์หนึ่ง (สมเด็จพระพันวัสสา) [] เสด็จป้าองค์หนึ่ง (พระนางเจ้าสุขุมาลย์) [] เสด็จป้ากรมหลวงฯ (สมรรัตน์) [] องค์หนึ่ง พี่หญิง (ทูลกระหม่อมหญิงสุธาทิพย์) [๑๐] องค์หนึ่ง และน้องหญิงคนหนึ่ง (ทูลกระหม่อมหญิงวไล) [๑๑] ทรงเล่าและอธิบายพระราชทานอย่างรักพระญาติวงษ์ด้วยความสุจริตพระราชหฤทัย และตรัสถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ทูลกระหม่อมปู่ของเรากับข้าพเจ้าอยู่เสมอ ข้าพเจ้าจึงเข้าใจไม่ได้อย่างคนอื่นคิด.”  [๑๒]

 

 
 
 

 

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชากับคหบดีแห่งชนบท, หน้า ๑๕.

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. “ประกาศกระแสพระราชดำริห์ในเรื่องเปนลูกผู้ชาย”, วชิราวุธานุสรณ์สาร ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔ (๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗), หน้า ๑๒ - ๑๕.

[ ]  คือ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย ห้องน้ำเงิน ห้องเหลือง และห้องเขียว นอกจากนี้ ยังเคยใช้เป็นที่เสด็จออกรับแขกเมืองด้วย

[ ]  ือ พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร

[ ]  จดหมายเหตุรายวัน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า [๔] - [๕].

[ ]  หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล. พระราชวงศ์จักรี, หน้า ๒๙๕.

[ ]  สมเด็จพระศรสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

[ ]  สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

[ ]  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ

[ ๑๐ ]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน หรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์

[ ๑๑ ]  สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

[ ๑๒ ]  พระราชวงศ์จักรี, หน้า ๒๙๕.