โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐๕. เครื่องแบบสำหรับนักเรียนเก่า

 

นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พระยานเรนทรราชา (ม.ล.อุรา คเนจร)

 

 

          เมื่อนักเรียนมหาดเล็กหลวงหม่อมหลวงอุรา คเนจร (หัวหมื่น พระยานเรนทรราชา) สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวเป็นคนแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ และโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็กแล้ว จากนั้นก็มีนักเรียนมหาดเล็กหลวงทยอยจบการศึกษามาตามลำดับ ผู้ที่เป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมหรือได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กแล้ว นอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศหรือศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศแล้ว ส่วนที่เหลือมักจะโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก บ้างก็รับราชการประจำในกรมมหาดเล็กรับใช้ กรมมหาดเล็กห้องพระบรรทม กรมราชเลขานุการในพระองค์ กรมพระอัศวราช และกรมชาวที่ แต่ก็มีนักเรียนสมัคร หรือ ผู้ที่สมัครเข้าเรียนโดยผู้ปกครรองเป็นผู้ออกค่าเล่าเรียนนั้น เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว หากมิได้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก หรือกระทรวงทบวงกรมอื่น ก็จะไม่มีตำแหน่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทดังเช่นเวลาที่เป็นนักเรียนอีกต่อไป

 

          แต่เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงนักเรียนมหาดเล็กหลวงทุกคนเป็นเสมือน “ลูกของข้า” ดังกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ความตอนหนึ่งว่า “เจ้าเหล่านี้ข่าถือเหมือนลูกของข้า ส่วนตัวเจ้า เจ้าก็ต้องถือว่าข้าเป็นพ่อเจ้า” ฉะนั้นเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างครุยอาจารย์และครูพระราชทานแก่ ผู้ตรวจการ กรรมการ อาจารย์และครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อธิบดีกรมมหาดเล็ก ออกประกาศ เรื่อง นักเรียนเก่าแห่งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่งเครื่องแต่งตัวมหาดเล็ก โดยนื้อความดังนี้

 

 

 
 

 

 

          อนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายโรงเรียนราชวิทยาลัยมาขึ้นแก่สภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้ว ต่อมาวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้อธิบดีกรมมหาดเล็กออกประกาศข้อบังคับเครื่องแต่งกายนักเรียนราชวิทยาลัย มีความดังนี้

 

 

 

 

          ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แล้วพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” จากนั้นได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องโรงเรียนราษฎร์ ๒ โรงเรียนรวมเป็นโรงเรียนเดียวกัน ดังนี้

 

 

 

 

          ดังนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า เมื่อรวมโรงเรียนทั้งสองเข้าด้วยกันแล้ว โรงเรียนมหาดเล็กหลวงยังคงเปิดสอนอยู่ ณ สถานที่เดิม เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” ฉะนั้นเมื่อโรงเรียนเปลี่ยนชื่อไปเช่นนั้น บรรดานักเรียนเก่าของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและโรงเรียนราชวิทยาลัยจึงมีฐานะเป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยโดยปริยาย และประกาศพระบรมราชโองการเรื่องให้นักเรียนเก่าแห่งโรงเรียนทั้งสองแต่งเครื่องแบบมหาดเล็กชั้นมหาดเล็กวิเศษเป็นกรณีพิเศษจึงน่าจะอนุโลมใช้บังคับเป็นเครื่องแต่งตัวสำหรับนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยได้

 

          แต่โดยที่เครื่องแบบข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนัก ร.ศ. ๑๒๙ นั้นได้ยกเลิกไปตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่ประกาศเรื่องเครื่องแต่งตัวนักเรียนเก่าแห่งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและโรงเรียนราชวิทยาลัยมิได้มีประกาศยกเลิกไปด้วย ข้อบังคับเครื่องแต่งตัวดังกล่าวจึงยังคงมีผลบังคับใช้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน และหากจะมีผู้กล่าวว่า พระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนัก ร.ศ. ๑๒๙ ได้ยกเลิกไปแล้ว แต่เครื่องแบบนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันยังคงนับเนื่องเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักนิ์ตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉะนั้นหากนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยจะแต่งเครื่องยศมหาดเล็กวิเศษเพื่อให้มีตำแหน่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามกระแสพระพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนการแต่งเครื่องแบบขอเฝ้าของบุคคลพลเรือนทั่วไปจะไม่เป็นการสืบสนองพระบรมราชปณิธานในพระผู้พระราชทานกำเนิดวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งทรงพระมหากรุณาแก่นักเรียนโรงเรียนนี้เสมือน “ลูกของข้า” ดอกหรือ?

 

 

ทันตแพทย์วัชรินทร์ มรรคดวงแก้ว และคณะนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

แต่งเครื่องแบบมหาดเล็กตั้งเครื่องในงานพระราชทานเลี้ยงประธานาธิบดีโงดินห์เดียม

ที่พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมการาชวัง

 

 

          อนึ่ง เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเข้าไปปฏิบัติหน้าที่มหาดเล็กตั้งเครื่องในงานพระราชทานเลี้ยงพระราชอาคันตุกะในพระบรมมหาราชวัง และในคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่เข้าไปถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทนั้นแต่งกายเช่นเดียวกับมหาดเล็กในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนี้จะเห็นได้ว่า แม้โดยนิตินัยจะมีการยกเลิกพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักนิ์ ร.ศ. ๑๒๙ ไปตั้งแต่ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้วก็ตาม แต่ในพระราชสำนักยังคงมีการใช้เครื่องแต่งตัวมหาดเล็กตามพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักนิ์ ร.ศ. ๑๒๙ ในการพระราชพิธีสำคัญตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

          นอกจากนั้นเมื่อคณะกรรมการจัดการวชฺราวุธวิทยาลัยกำหนดให้มีเครื่องแบบสำหรับครูและพนักงานวชิราวุธวิทยาลัยโดยอนุโลมตามเครื่องแบบมหาดเล็กในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พณะราชทานพระบรมราชานุญาต ฉะนั้นหากนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยจะแต่งเครื่องแบบมหาดเล็กวิเศษตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้ โดยอนุโลมตามเครื่องแบบครูชายวชิราวุธวิทยาลัย โดยติดดาราหมายยศตามชั้นยศมหาดเล็กวิเศษย่อมจะเป็นเครื่องแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้แก่ นักเรียนมหาดเล็กเด็กในหลวงให้ปรากฏสืบไปชั่วกาลนาน.