โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๓๑  |  ๑๓๒  |  ๑๓๓  |  ๑๓๔  |  ๑๓๕  |  ๑๓๖  |  ๑๓๗  |  ๑๓๘  |  ๑๓๙  |  ๑๔๐  |  ถัดไป  |

 

๑๓๖. ประเพณีในวชิราวุธวิทยาลัย (๑)

 

          เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย และได้พระราชทานพระบรมราโชวาทในคราวนั้นตอนหนึ่งว่า

 

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ประทับพลับพลายกข้างหอประชุมในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          “ทุกๆ คราวมาตั้งแต่แรกที่ข้าพเจ้าได้มาให้รางวัลที่โรงเรียนนี้ได้เคยกล่าวอธิบายว่า พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ นั้น ก็เพื่อจะให้โรงเรียนนี้เป็นอย่างปับลิคสกูลอย่างเมืองอังกฤษและทุกคราวได้พยายามหยิบยกลักษณะของปับลิคสกูลมาชี้ให้เห็นว่าเป็นอย่างไร และทำไมจึ่งมีพระราชประสงค์เช่นนั้น ในคราวนี้ก็จะยกมากล่าวสักข้อ ๑ เป็นลักษณะที่จะชี้ให้เห็นชัดได้ง่าย ใครที่ได้เห็นปับลิคสกูลในเมืองอังกฤษคงจะสังเกตแล้วว่าในปับลิคสกูลทุกแห่ง เขามักจะมีขนบธรรมเนียมยิ่งเก่าก็ยิ่งถือว่าสำคัญมาก เห็นเป็นสิ่งภูมิใจอย่างหนึ่งธรรมเนียมเหล่านี้มีตั้งแต่วิธีปกครอง วิธีสอนตลอดจนวิธีแต่งตัวต่างๆ และวิธีเล่นเกมก็มีขนบธรรมเนียมต่างๆ เหมือนกัน ยกตัวอย่างที่ได้เคยทราบกันมาแล้ว เช่นโรงเรียนอีตันเขามีวิธีแต่งตัวพิเศษสวมหมวกสูง และเสื้อพิเศษ กับมีเกมพิเศษ เรียกว่า Wall game คือฟุตบอลล์นั้นเอง แต่เล่นกับกำแพง เกมนี้เล่นกันมาตั้งร้อยปีแล้ว แต่ก็ยังเล่นกันเรื่อยมา น่าคำนึงว่าทำไมจึ่งรักษาไว้ ขนบธรรมเนียมบางอย่างน่านึกว่าเป็นของพ้นสมัยแล้ว ไม่เป็นประโยชน์ก็เป็นได้ เช่นกีฬาวอลล์เกมของอีตันเป็นต้น เล่นได้ไม่กี่คน แต่เขายังเล่นอยู่เสมอเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมไว้ การรักษาขนบธรรมเนียมนั้นย่อมมีประโยชน์ที่จะให้นักเรียนรักโรงเรียนของตน รู้สึกว่าโรงเรียนของตนได้สร้างมานานแล้ว มีชื่อมานานแล้ว และผู้ที่เป็นนักเรียนเก่าได้เคยเป็นใหญ่เป็นโตในประเทศเหล่านี้เป็นต้น นี่เป็นผลที่ทำให้บังเกิดในใจของนักเรียน จึ่งได้พยายามรักษาขนบธรรมเนียมว่าโรงเรียนนี้ เป็นอย่างไรมาแล้วดีอย่างไร นักเรียนทุกคนต้องพยายามตั้งใจให้ดีเหมือนแต่ก่อนนี่เป็นลักษณะการรักษาประเพณีให้เกิดประโยชน์ และนอกจากนั้นก็ย่อมทำให้นักเรียนรักประเพณีของบ้านเมืองด้วย เพราะไม่ว่าประเทศใดหมดมักจะมีประเพณีของตน ซึงรักษาต่อๆ กันมา การรักษาประเพณีนั้น อาจมีบางคนเห็นว่าที่รักษาประเพณีจะมิทำให้ไม่ก้าวหน้าหรือ ข้อนั้นจริง ถ้ารักษาอย่างงมงายก็ย่อมไม่ก้าวหน้าได้ ข้อนี้ขอยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ ใครที่ได้ไปประเทศอังกฤษจะเห็นว่าเขาชอบรักษาประเพณีโบราณเป็นที่สุด เช่นกิจการของปาลีเมนต์มีขนบธรรมเนียมหลายอย่าง ซึ่งจะเรียกว่าไม่มีประโยชน์ก็ว่าได้ แต่เขาก็พยายามจะรักษาประเพณีนั้นไว้ แต่การรักษาประเพณีของอังกฤษไม่ทำให้ประเทศอังกฤษถอยหลัง กลับปรากฏแก่ใครๆ ว่ารุ่งเรืองและก้าวหน้าที่สุด และนำทางในสิ่งใหม่ๆ และคิดการใหม่ๆ ขึ้นได้ถมเถไป เพราะฉะนั้นการรักษาประเพณีที่ถูกต้อง ไม่ทำให้งมงายเลย แต่ต้องเลือกรักษาประเพณีที่ดีเช่นรักษาประเพณีที่ทำให้ภูมิใจ เหมือนอังกฤษเขารักษาประเพณีที่ทำให้รู้สึกว่าชาติของเขารุ่งเรืองมาแล้วอย่างไร บรรพบุรุษได้นำให้ชาติเจริญรุ่งเรืองอย่างไร ก็รักษาธรรมเนียมนั้นไว้เป็นเครื่องเตือนใจว่า เราจะต้องพยายามทำตนให้ดีเพื่อจะสืบต่อ Tradition ว่าประเทศของตนเป็นประเทศที่ดีใหญ่หลวงเป็นต้น สำหรับในโรงเรียนนี้ เวลานี้ต้องนับว่ามีประเพณีหลายอย่างแล้วเหมือนกัน เป็นต้นว่างานวันนี้เป็นประเพณีอันหนึ่งที่เรามีงานในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เพื่อให้นักเรียนระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของท่านที่ทรงสร้างโรงเรียนนี้ขึ้น และให้รักโรงเรียน ให้ตั้งใจทำตนให้ดีต่อไป นี่ก็เป็นประเพณีอันหนึ่งที่เกิดขึ้น

 

 

 

 

          นอกจากนั้นก็มีธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่งที่นักเรียนเก่าพวกคณะไทยเขษมที่เชื่อว่าเป็นนักเรียนเก่าของโรงเรียนนี้โดยมาก ได้รวบรวมกันเก็บเงินทำประโยชน์ให้แก่โรงเรียนนี้ ก็เป็นประเพณีของเราอย่างหนึ่ง หวังว่าจะเป็นตัวอย่างแก่นักเรียนสืบต่อไปอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในเรื่องการรักษาประเพณี และการที่จะตั้งประเพณีขึ้นนั้นเป็นของสำคัญส่วนหนึ่งของโรงเรียน ข้าพเจ้าหวังว่าโรงเรียนจะเอาใจใส่รักษาประเพณที่ดี ที่มีมาแล้ว และคิดหาประเพณีใหม่ๆ ขึ้นอีก เพื่อทำให้นักเรียนรู้สึกรักโรงเรียนของตนและชาติของตนต่อไปด้วย การที่โรงเรียนนี้ได้ทำมาแล้ว เช่น นิมนต์พระมาเทศนาเป็นต้น ก็เป็นประเพณีที่ดีควรรักษาไว้เหมือนกัน การรักษาประเพณีเป็นของมีประโยชน์มาก นอกจากรักษาประเพณีของโรงเรียนแล้ว หวังว่านักเรียนจะรักษาประเพณีไทยๆไว้ด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่จะเปลี่ยนแปลงไปหมด จะยกตัวอย่างหลายอย่างจะมากไป จะยกตัวอย่างข้อเดียวที่ว่าคนไทย

 

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร

ทรงทอดผ้าสดับปกรณ์ในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ณ หอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย

๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

 

 

          เราต้องมีความเคารพนับถือบรรพบุรุษ ถึงเวลาต้องทำบุญอุททิศกุศลไปให้ เรามีประเพณีเคารพนับถือต่อบิดามารดา นี่ เป็นขนบธรรมเนียมไทยๆ ที่ได้รักษากันมาตลอด ชื่อว่าเป็นมงคลยิ่งของพวกเราทั้งหลาย ขนบธรรมเนียมเหล่านี้ควรรักษาไว้ ข้าพเจ้าหวังว่านักเรียนในโรงเรียนนี้จะช่วยกันรักษาไว้ เพราะว่าเป็นไทย ชาติไทยเราก็มีอะไรที่ดีเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเอาอย่างคนอื่นเสมอไป นี่แหละจะทำให้เรารูสึกภูมิใจในตัวเรา และชาติของเราด้วย”

 

          ฉะนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาสถาปนาวชิราวุธวิทยาลัยตามแนวทางของ Public School ของอังกฤษ ซึ่งใน Public School มีขนบประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นร้อยปี ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาทไว้ซึ่งได้อัญเชิญมาข้างต้น จดหมายเหตุวชิราวุธวิทยาลัยในตอนต่อไปนี้จึงจะขอกล่าวถึงประเพณีในวชิราวุธวิทยาลัย ที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ดังนี้

 

 

การเปิด - ปิดพระวิสูตร

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานกำเนิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้วไม่นาน ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ให้โรงเรียนองค์หนึ่ง

 

          เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งเวลานั้นเป็นกรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ได้จัดให้มีพระวิสูตรปิดคลุมพระบรมฉายาลักษณ์นั้นไว้ และได้ตั้งกติกาไว้ว่า เมื่อเปิดพระวิสูตรเผยให้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์แล้ว ให้หมายว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกแล้ว ให้ครูและนักเรียนที่ประชุมอยู่ ณ สถานที่นั้นสำนึกว่า ได้ประชุมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่หน้าพระที่นั่ง และเมื่อปิดพระวิสูตรแล้วให้ถือเสมือนว่าเสด็จขึ้นแล้ว จากนั้นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่าได้กำหนดระเบียบการเปิด - ปิดพระวิสูตรในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงไว้แล้ว เป็นที่ต้องด้วยพระราชนิยม จึงมีพระราชกระแสให้โรงเรียนถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบไป

 

          ต่อมาในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยในเวลานั้น มีดำริให้มีการประโคมในเวลาเปิด - ปิดพระวิสูตรของโรงเรียน เหมือนธรรมเนียมการประโคมในเวลาเปิดปิดพระวิสูตรในเวลาเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง และพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต

 

          ผู้บังคับการพระยาภะรตราชา จึงได้ขอให้ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ภรรยาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล กรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ช่วยแต่งเพลงถวายราชสดุดีให้นักเรียนขับร้องในเวลาเปิดพระวิสูตร ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล จึงได้นิพนธ์คำร้องเพลงมหาวชิราวุธราชสดุดีขึ้น และท่านผู้บังคับการได้มอบให้นักเรียนเก่าพรานหลวงโฉลก เนตรสูต หัวหน้าวงดุริยางค์กรมศิลปากร ซึ่งเวลานั้นท่านมาช่วยดนตรีที่โรงเรียนเป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลง

 

 

พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขณะเปิดพระวิสูตรแล้ว

 

 

          โรงเรียนได้จัดให้นักเรียนร้องเพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี โดยมีวงจุลดุริยางค์บรรเลงประกอบเป็นครั้งแรกในการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ หอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ และต่อมาได้จัดให้นักเรียนขับร้องเพลงนี้ในการถวายราชสดุดีที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระบรมราชานุสรณ์สวนลุมพินีตลอดมาทุกปี

 

 
 
 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๓๑  |  ๑๓๒  |  ๑๓๓  |  ๑๓๔  |  ๑๓๕  |  ๑๓๖  |  ๑๓๗  |  ๑๓๘  |  ๑๓๙  |  ๑๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |