โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

 

๑๔๑. ประเพณีในวชิราวุธวิทยาลัย (๖)

 

ถวายตัว

 

          ในอดีตเมื่อพระบรมวงศ์และข้าราชการมีบุตรธิดาที่เติบโตพอจะเรียนรู้หนังสือและข้อราชการได้แล้ว บิดามารดาก็จะจัดดอกไม้ธูปเทียนให้เด็กนั้นได้ถวายตัวเข้ารับราชการในพระราชสำนักทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เพื่อเรียนรู้อักขรวิธีและข้อราชการสำหรับจะได้รับราชการสืบสกุลต่อไป

 

          ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ปฎิรูปการปกครองแผ่นดินจากระบบจตุสดมภ์มาเป็นกระทรวงเสนาบดีเฉกเช่นนานาอารยประเทศแล้ว แต่ละกระทรวงต่างก็เปิดรับบุคคลเข้ารับราชการเป็นการทั่วไป ธรรมเนียมการถวายตัวด้วยวิธีถวายดอกไม้ธูปเทียนจึงคงเหลืออยู่แต่เพียงผู้ที่จะเข้ารับราชการในพระราชสำนัก และคงถือปฏิบัติสืบต่อมาจนเปลี่ยน-แปลงการปกครองแล้ว ธรรมเนียมนี้จึงได้เลิกไป

 

          แต่ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราชนั้น ได้มีบิดามารดาและผู้ปกครองนำบุตรหลานและเด็กๆ ในความปกครองมาถวายตัวเป็นมหาดเล็กรุ่นเยาว์จำนวนมาก เนื่องจากทรงพระราชดำริว่า เด็กๆ เหล่านั้นยังมีอายุอยู่ในวัยเล่าเรียน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กเด็กๆ เหล่านั้นแยกย้ายกันไปเล่าเรียนในโรงเรียนต่างๆ ตามความถนัดของแต่ละบุคคล และเมื่อทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นที่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กรุ่นเยาว์ที่โปรดเกล้าฯ ให้ไปเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนต่างๆ นั้นย้ายมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ครูและนักเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงชุดแรกนี้จึงมีฐานะเป็นข้าราชการในพระราชสำนักเมาแต่แรกตั้งโรงเรียน

 

          ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ “ระเบียบการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ โดยตามระเบียบการนี้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โรงเรียนรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนตามใจสมัคร นักเรียนที่สมัครเข้าเรียนที่เรียกว่า “นักเรียนสมัค” นี้ เมื่อถึงเวลาก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โรงเรียนจัดให้นักเรียนนั้นถวายตัวเป็นมหาดเล็กสืบมาตราบจนสิ้นรัชกาล

 

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะมีการปรับปรุงส่วนราชการในพระราช-สำนัก ซึ่งมีผลให้ต้องโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้าด้วยกัน และพระราชทานนามโรงเรียนให้ใหม่ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยมิได้มีสถานะเป็นข้าราชการในพระราชสำนักเช่นกาลก่อน แต่โดยที่ทรงรับพระราชมรดกเป็นพระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัยต่อมา ก็ได้ทรงรับพระราชธุระสอดส่องตรวจตรากิจการของโรงเรียนมาโดยตลอด นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยจึงคงมีสถานะแป็นมหาดเล็กในพระองค์ต่อเนื่องมาเป็นลำดับ

 

 

 

 

พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ  อิศรเสนา) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย

กราบบังคมทูลเบิกครูวชิราวุธวิทยาลัยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายตัว

ในวโรกาสแรกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร

เสด็จพระราชดำเนินวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕

 

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนครเป็นการถาวรภายหลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศแล้ว ก็ทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ ในวโรกาสนั้นพลเอก มังกร พรหมโยธี นายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยได้เบิกคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยเฝ้าถวายคัวตามประเพณี จากนั้นท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชาได้นำคณะครูเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายตัว

 

 

ครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเดินแถวถวายตัว

ในงานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลประจำปี

 

 

          ต่อจากนั้นมาเมื่อมีครูและบุคลากรเข้าปฏิบัติงานในวชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนก็จะได้จัดให้ครูและบุคลากรที่เข้าใหม่นั้นเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถทูลเกล่าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนถวายตัวในงานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลสืบต่อมาทุกปี ส่วนนักเรียนเมื่อเสด็จประทับพระแท่นยกข้างหอประชุมแล้ว โรงเรียนก็ได้จัดให้นักเรียนทั้งหมดเดินแถวถวายตัวผ่านหน้าพระที่นั่งเป็นประจำทุกปีมา

 

          เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์แล้ว ในวาระแรกแห่งรัชกาลที่เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐ ก็ได้พระราชทานพระมหากรุณาให้นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยพลากร สุวรรณรัฐ นายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย นำคณณะกรรมการอำนวยการ ครู บุคลากรและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายดอกไม้ธูปเทียนถวายตัว และทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัยตามราชประเพณี

 

 

กรรมการอำนวยการ ครูบุคลากร และนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายตัวเป็นข้าราชบริพารตามราชประเพณี

ในวาระแรกที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ในวโรกาสทรงรับเป็นพระบรมราชูปภัมภกวชิราวุธวิทยาลัย

เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐

 

 

          การถวายตัวนี้เป็นโบราณราชประเพณี มีความหมายว่า ผู้ที่ถวายตัวแล้วมีฐานะเป็น “คนหลวง” หรือข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเมื่อถวายตัวแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวย่อมทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงไปตลอดชีวิต สำหรับบครูและบุคลากรวชิราวุธวิทยาลัยนั้นก็ได้รับพระราชทานเงินเลี้ยงชีพตามคุณวุฒิและความสามารถ ส่วนนักเรียนทุกคนนั้นต่างก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ในส่วนค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนเป็นส่วนเพิ่มเติมจากเงินที่ผู้ปกครองนักเรียนจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนและค่าอาหารของนักเรียนตลอดเวลาที่เป็นนักเรียนในโรงเรียนในอัตราส่วนร้อยละ ๕๐ : ๕๐ นอกจากนั้นนักเรียนที่มีผลการเรียนดีและการกีฬาเป็นเลิศยังได้รับพระราชทานรางวัลและทุนตามควรแก่ฐานานุรูป ครั้นสำเร็จการศึกษาไปจากโรงเรียนแล้วยังได้พระราชทานพระมหากรุณาให้ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานประกาศนียบัตรโดยถ้วนทุกคน ทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งว่า นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยล้วนได้เป็นผู้ที่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยใกล้ชิดตลอดเวลาที่เป็นนักเรียน แต่เมื่อจบออกไปจากโรงเรียนแล้วหากมิได้รับราชการก็จะมิได้มีโอกาสเฝ้าแหนเช่นเมื่อเป็นนักเรียนจึงได้พระราชทานพรวิเศษให้นักเรียนเก่าจากสถาบันการศึกษานี้เป็นผู้มีตำแหน่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสืบไปตราบชีวิตหาไม่

 

 
 
 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |