โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๗. สภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย (๔)

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัย เข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้มีกรรมการจัดการทำหน้าที่บริหารโรงเรียนต่างพระเนตรพระกรรณมาตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว สภากรรมการก็ได้มีการประชุมวางระเบียบการของโรงเรียนมาเป็นลำดับ

 

          อนึ่ง เมื่อมีการประชุมสภากรรมการจัดการทุกครั้ง มีพระราชกระแสในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสสั่งเหนือเกล้าฯ ไว้ว่า เมื่อสภากรรมการประชุมตกลงกันแล้วให้ทำรายงานการประชุมส่งขึ้นไปทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทอดพระเนตร หากมีพระราชดำริประการใดจะพระราชทานพระราชกระแสลงมาให้กรรมการทราบและดำเนินการให้ต้องด้วยกระแสพระราชดำริ แต่ทว่าเมื่อสภากรรมการดำเนินการประชุมมาได้ ๓ ครั้ง เพื่อวางระเบียบการของโรงเรียน ก็ได้เกิดความขัดแย้งในเรื่องกำหนดอายุของนักเรียนที่จะรับเข้าเรียน จนลุกลามกลายเป็นเหตุขัดแย้งระหว่างพระยาไพศาลศิลปสาตร์ (รื่น ศยามานนท์) ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ และกรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย กับพระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย และผู้บังคับการได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่ง

 

          ครั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นัดประชุมสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๔ ณ หอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย ในวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ และได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับเป็นประธานในการประชุมครั้งนั้น นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัยได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานพระบรมราโชบายในการบริหารโรงเรียน จึงขอคัดสำเนารายงานการประชุมครั้งนั้นมาเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
 

 

รายงานการประชุมกรรมการจัดการ

โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๔

วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๙

 

*****************

 

เริ่มประชุมเวลา ๒.๔๕ ล.ท. []

 

          กรรมการที่ประชุม คือ

          ๑. พระยาไพศาลศิลปสาตร์ []

          ๒. พระยาบริบูรณ์ราชสมบัติ []

          ๓. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม []

          ๔. พระวรวงศ์ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ []

          ๕. หม่อมเจ้าบวรเดช []

          ๖. พระยาจินดาภิรมย์ราชสภาบดี []

          ๗. พระยาสุพรรณสมบัติ []

          ๘. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา []

   

พระราชดำรัส

วันนี้ที่ฉันขอพบกรรมการ เพราะอยากจะแก้ความบกพร่องของเราที่เป็นไปอย่างไร จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด คือตั้งกรรมการแล้วไม่บอกเรื่องให้กรรมการทราบความเห็นที่จะดำเนินการเรื่องนี้ เป็นความบกพร่องควรจะเรียกกรรมการและแจ้งให้กรรมการทราบ เพื่อวางระเบียบดำเนินการต่อไป ตามโปลิซีของฉัน ควรดำเนินการเรื่องโรงเรียนนี้อย่างไร ชั้นต้นขอเล่าพงศาวดารสาเหตุที่จะตั้งโรงเรียนวชิราวุธนั้น ก็คือโรงเรียนที่ตั้งอย่างเดิมเปลืองเงิน จ่ายเงินพระคลังข้างที่ตั้งแสนกว่า เปลืองเงินมากเหลือเกิน พระคลังข้างที่ไม่สามารถจ่ายเงินนั้นได้ จำเป็นต้องแก้ไขให้ใช้เงินพระคลังข้างที่น้อยลง แต่แรกก็เห็นว่าโรงเรียนนี้ ควรให้กระทรวงธรรมการจัดการต่อไป จะไม่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนอย่างใดอย่างหนึ่ง ชั้นต้นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้วางสกีมเอาโรงเรียนราชวิทยาลัยกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงรวมกัน เอาเงินรัฐบาลอุดหนุนมาเจือจาน รายได้ของโรงเรียนไม่มีพอจ่าย ระหว่างนี้ได้รับหนังสือของพระราชธรรม  [๑๐] ฉบับหนึ่ง ร้องขอให้ตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยอย่างเดิม เพราะเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โดยที่คิดว่าจะเลิกโรงเรียนนี้เสียก็น่าเสียดาย เพราะเป็นโรงเรียนที่พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงตั้ง ดูไม่เป็นที่น่าจะเลิก ครั้นไม่เลิกก็ไม่รู้ว่าโรงเรียนนี้จะเอาเงินมาจากไหน ต่อมาฉันได้รับหนังสือเจ้าพระยาราม  [๑๑] ฉบับหนึ่ง ส่งความเห็นพระยาบรมบาท  [๑๒]ขอให้จัดโรงเรียนนี้เป็น Public School มีกรรมการอย่างเดิม ตามพระราชประสงค์ของพระมงกุฎเกล้าฯ ฉันจึงได้ เรียกพระยาบรมบาทมาถามว่าจะจัดเป็น Public School ได้อย่างไร ได้พูดจากันอยู่นาน พระยาบรมบาทเห็นด้วย และรับจะจัดอย่างที่ฉันว่าเหมือนกัน อย่างนั้นแล้วเลยตกลงจะจัดอย่างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเดิมนั้นไม่ได้เป็นอันขาด จึงตกลงตั้งกรรมการขึ้น เดี๋ยวนี้กรรมการมีหน้าที่อย่างไร การตั้งกรรมการไม่ได้ตั้งให้เป็นเครื่องประดับไว้เฉยๆ ตั้งใจให้รับหน้าที่มีความเห็นจริงๆ ตามธรรมดาทำการคนเดียวไม่รู้ทั่วถึง หรือรู้ความประสงค์ทั่วไป ช่วยกันคิดหลายคน การก็เรียบร้อย กรรมการทุกคนเคยได้เรียน มีพวกที่เคนเรียนที่ Public School แล้ว แต่ฉันขอห้มีพระองค์เจ้าศุภโยคเกษมอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่หัวฝรั่ง แต่ฉันต้องการให้มีหัวไทยแท้ๆ อยู่ในกรรมการด้วย ความประสงค์ที่ตั้งกรรมการ ก็ด้วยอยากรู้ความเห็นต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงพยายามให้มีบุคคลทุกอย่าง ให้กรรมการมีความเห็นมากที่สุด กรรมการควรปรึกษากันวางระเบียบการ และให้ฉันทราบรายงาน ถ้าฉันมีความเห็นอย่างไรจะได้บอกกรรมการ ตามธรรมดาจะให้ทำตามความเห็นกรรมการมากที่สุด โรงเรียนนี้ชื่อว่าอยู่ในบรมราชูปถัมภ์ ต้องทำในความเห็นชอบของฉันในส่วนหลักสำคัญ นอกจากนั้นกรรมการคิดอย่างไร เป็นไปอย่างนั้น สำหรับผู้บังคับการเห็นว่าควรเป็น Ex Officio Member นั่งในที่ประชุม เพราะว่าผู้บังคับการได้เห็นเหตุการณ์ภายในโรงเรียน ถ้าไม่มีโอกาสชี้แจง กรรมการก็จะไม่ได้ความเห็นฝ่ายครูผู้ปกครองเด็ก ถ้ามีผู้บังคับการอยู่ด้วย ขอให้อธิบายความเห็นได้ แต่ไม่มีโวต สำหรับนายกถ้าจะโวตเลือกทุกๆ ปี เห็นเป็นอย่างไร จำเป็นต้องให้เสนาบดีกระทรวงธรรมการเป็นนายกโดยตำแหน่ง โวตเลือกทุกปีแล้วแต่จะเลือกใคร ฉันเห็นอย่างนั้น โวตซ้ำตัวภายในจำนวนกรรมการที่มีอยู่แล้วก็ได้ แต่ต้องมีเลขานุการสำหรับนายกเรียกใช้ได้ ใช้ผู้บังคับการเป็นเลขานุการ ถ้าให้นายกเลือกคนละคนจะลำบาก แปลว่าจะให้ผู้บังคับการได้นั่งในที่ประชุม มีโอกาสแสดงความเห็นด้วย

   

พระยาไพศาล

ผู้บังคับการมาประชุมอยู่แล้ว ควรเป็นเลขานุการด้วย ถ้าเอาคนอื่นมาเป็นเลขานุการแล้ว จะต้องมีเสมียนพนักงานต่างหาก เพราะต้องมีงานทำประจำอยู่มาก

   

พระราชดำรัส

แล้วแต่กรรมการจะตกลงกัน ส่วนฉันขออย่างเดียว แต่ว่ากรรมการตกลงกันอย่างไร
แล้ว ขอทราบรายงาน

   

พระยาไพศาล

ควรเลือกนายกใหม่

   

พระราชดำรัส

ต้องเลือกใหม่ แต่ว่าไม่มีขีดขั้นว่าให้อยู่นานเพียงนั้นเพียงนี้ จะเลือกซ้ำบุคคลก็ได้ เรื่องหลักการที่จะจัดโรงเรียนฉันไม่ได้ตั้งตัวเป็น Edcutionist แต่เป็นผู้สนใจในเรื่องการศึกษา และเป็นคนชอบเลี้ยงเด็ก เด็กอยู่ที่บ้านฉันมาก เคยได้สังเกตมา โรงเรียนของเราที่นักเรียนอยู่ประจำยังไม่ใคร่มีผลดี โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนกลางวัน เด็กกลับไปอยู่บ้านดีกว่า เด็กที่อยู่บ้านฉันมีทุกอย่าง อยู่โรงเรียนนายร้อยบ้าง โรงเรียนมหาดเล็กบ้าง โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์บ้าง สังเกตเด็กที่กลับมานอนบ้านอยู่ข้างจะดีกว่าเด็กนอนโรงเรียน คือว่าเด็กที่นอนโรงเรียนนิสัยเปลี่ยนมาก ส่วนเด็กที่ไปเรียนเฉพาะวัน นิสัยไม่เปลี่ยนแปลง เพราฉะนั้นโรงเรียนกินนอนยังเดินไม่ดี การที่จะตั้งให้เหมือน Public School ที่เมืองฝรั่ง ที่เมืองเราควรจะมี ที่เห็นว่าดีต้องพิจารณาว่า ดีอย่างไร ความดีของ Public School เป็นความดีของเมืองไทยด้วยหรือไม่ เท่าที่นึกดู Public School ดี ทำให้เด็กมี Sence of Duty และ Discipline รู้จักทำงานเพื่อคณะ นี้เป็นข้อสำคัญที่เกิดจาก Public School โรงเรียนนายร้อยก็มี Discipline เหมือนกัน แต่นึกดูถึงการทำงานเพื่อหมู่คณะยังไม่สำเร็จ ข้อสำคัญอยู่ในเรื่องการปกครองตามคณะ แต่มีเด็กตั้ง ๓๐ - ๔๐ คน ครูดูแลให้ดีเท่าพ่อแม่ยาก ที่ Public School อบรม เด็กได้ดีกว่าที่บ้าน ก็คือใช้เด็กปกครองกันเอง ยอมให้เด็กใหญ่ บังคับเด็กเล็ก ยอมให้เฆี่ยนให้ใช้ ให้รู้สึกว่าต้องเป็นบ่าวก่อนแล้วจึงเป็นนาย ให้รู้จักออกคำสั่ง และให้บังคับให้การเป็นไปตามคำสั่งเป็นต้น เป็นของสำคัญมาก สิ่งเหล่านี้เป็น ของที่ควรพิจารณาอย่างยิ่ง ที่ฉันได้สังเกตมาในกองทัพเป็นต้น คนไทยยังขาดข้อนี้ คนที่ไล่เลี่ยกัน เช่น นายสิบกับพลทหาร ผู้บังคับกองร้อยกับ ผู้บังคับหมวด บังคับกันไม่ได้ ในบ้านฉัน เจ้ากรม ปลัดกรมก็ตาม ไม้เห็นมีใครบังคับใครได้ ยังไม่รู้จักวิธี เพราะไม่ได้เรียนมาแต่เด็ก ในโรงเรียนกินนอนมักแบ่งกันเป็นเด็กพวกหนึ่ง ครูพวกหนึ่ง เด็กต่อเด็กต้องช่วยกัน มีเหตุการณ์อะไรก็ช่วยกันปิด ใน Public School เด็กเป็นนายบ้าน ช่วยครูในการปกครอง ครูกับเด็กไม่เป็น ข้าศึกกัน เพราะเด็กปกครองกันเอง ไม่แบ่งเป็นครูฝ่ายหนึ่ง เด็กฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้นในการจัดโรงเรียนของเรา ควรพยายามให้เด็กใหญ่ปกครองเด็กเล็ก อย่างของเราที่โรงเรียนนายร้อยได้พยายามให้เด็กใหญ่บังคับเด็กเล็ก ทำไม่สำเร็จ เพราะเด็กปนกันหมด เด็กอายุ ๒๒ อยู่ห้องเดียวกับเด็กอายุ ๑๒ จะให้บังคับบัญชา กันไม่เป็นผล การที่เขาให้ Pivilege แก่เด็กชั้นสูงผิดกว่าเด็กชั้นต่ำ เช่น เด็กชั้นต่ำ ไม่ให้เดินถนน ข้างซ้ายหรือกางร่ม ไม่ให้ขัดดุมเม็ดนั้นเม็ดนี้ ดูก็น่าขัน แต่ก็เป็น ประโยชน์ในทางกันให้เป็นชั้น คือเด็กอยู่ตามเด็ก เด็กจัดเป็นสองพวก คือเด็กอายุ ตั้งแต่ ๘ - ๑๒ พวกหนึ่ง เด็กที่เริ่มเป็นหนุ่ม คือตั้งแต่อายุ ๑๓ - ๑๘ พวกหนึ่ง ควรแยกกัน การเรียนแยกกันด้วยยิ่งดี ถ้าแยกสถานที่กันด้วยก็ยิ่งดีไปอีก เด็กชั้นเล็กให้อยู่ตามชั้นเล็ก จัดอย่าง Preparatory School เด็กอายุ ๑๒ จะให้เป็นหัวหน้าก็ได้ เริ่มตั้งแต่ต้นได้ผลมาก สิทธิพิเศษก็ให้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นในชั้นหนึ่งๆ ไม่ควรให้เด็กอายุต่างกันมาก ตามความเห็นของฉัน ในชั้นต้นยอมให้มีผิดกัน ๔ ปีก็ได้ ต่อไปกวดให้มีผิดกันเพียง ๒ ปี เช่นอายุ ๑๕ กับ ๑๓ ถ้าทำได้เช่นนั้นเป็นดี โรงเรียนของกระทรวงธรรมการทำไม่ได้ เพราะโรงเรียนของกระทรวงธรรมการให้ความรู้แก่คนส่วนมาก คือเอา Quantity โรงเรียนพิเศษมุ่งหมายทาง Quality ให้ศึกษาแก่คนส่วนน้อย แต่สั่งสอนให้ดีที่สุด คือเอา Quantity โรงเรียนกระทรวง ธรรมการรับนักเรียนได้เท่าไร ก็ต้องรับ จึงจัดเป็นโรงเรียนกลางวันโดยมาก โรงเรียนพิเศษต้องกวดทาง Quality ให้อวดเขาได้ ถ้าทำไม่ได้ไม่ตั้งดีกว่า นี่เป็นหลักสำคัญจึงต้องมีขีดขั้น ถ้าใครไม่สามารถเข้าโรงเรียนนี้ ก็ไปเข้าโรงเรียนสามัญทั่วไป ควรพยายามแบ่งชั้นเด็กอย่างเขาบ้าง เด็กชั้นสูงให้มีสิทธิพิเศษ เมื่อทำได้เช่นนี้หวังว่าจะได้ผลอย่างที่ได้จาก Public School โรงเรียนอย่างของเรานี้ต้องอบรมเด็กให้ได้ดีกว่าบิดามารดาอบรมที่บ้าน เพราะเอาลูกของเขามาขังไว้ที่โรงเรียน จำต้องอบรมจรรยาให้มาก สอนศาสนาด้วย โรงเรียนที่มาเรียนแต่กลางวันจะสอนยาก เราหวังว่าพ่อแม่จะสอนกันที่บ้าน แต่เมื่อเอามาขังไว้ในโรงเรียน พ่อแม่ไม่มีโอกาสสอน เราต้องสอน เพราะฉะนั้นเห็นว่าควรต้องสอนศาสนาเป็นส่วนสำคัญที่สุด และสอนเรื่องที่เป็น Tradition ของไทย ไม่ควรละทิ้งเสียเลย เรื่องการสอนศาสนานั้นฉันคิดจะให้มี Confirmation ของเราก็มีคือพิธีพุทธมามกะ ฉันคิดจะไปขอให้พระท่านช่วย ของเราที่ทำแล้วไม่ได้ท่องกันให้คล่องและให้สอนสวดมนต์ด้วย

 

 
 

 
[ ]  ล.ท. = หลังเที่ยง  หรือเวลา ๑๔.๔๕ น.

[ ]  ปลัดทูลฉลองกระทรวงศึกษาธิการ  นามเดิม รื่น ศยามานนท์  ต่อมาย้ายไปเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย  และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาราชนกูลวิบุลยภักดี

[ ]  อธิบดีกรมพระคลังข้างที่  กรรการและเหรัญญิกกิตติมศักดิ์แห่งสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย  นามเดิม ม.ร.ว.มูล  ดารากร  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์

[ ]  เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

[ ]  เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมืนเทววงศ์วโรทัย

[ ]  เสนาธิการทหารบก  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

[ ]  อธิบดีศาลฎีกา  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร

[ ]  อธิบดีกรมศุลกากร  นามเดิม ติณ  บุนนาค

[ ]  นามเดิม ก้อน  หุตะสิงห์

[ ๑๐ ]  พระราชธรรมนิเทศ (เพียร  ไตติลานนท์) อดีตผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัย

[ ๑๑ ]  เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ  พึ่งบุญ) อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

[ ๑๒ ]  พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ  ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย และเป็นอดีตผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |