โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

 

๒๑. ประเพณีและพิธีไหว้ครู (๒)

 

          ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมมหรสพขึ้นเพื่อสืบทอดวิชาแขนงนี้มิให้สูญไปเพราะขาดผู้อุปถัมภ์ โดยกรมมหรสพที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเป็นส่วนราชการในสังกัดกรมมหาดเล็กนั้น มีส่วนราชการในสังกัดซึ่งเรียกกันในเวลานั้นว่า “กรมขึ้น” คือ กรมช่างมหาดเล็ก กรมโขนหลวง กรมพิณพาทย์หลวง และกองเครื่องสายฝรั่งหลวง มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ แล้วก็ตาม แม้กระนั้นก็ไม่พบหลักฐานว่าได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีไหว้ครูโขนละครในพระราชสำนักเป็นการใหญ่เช่นเมื่อครั้งที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นที่โรงละครหลวงสวนจิตรลดา ภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) ได้เล่าไว้ในรายการวิทยุ "รอบเมืองไทย" เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ว่า

 

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ถัดจากมุมพระตำหนักด้านทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งโรงละครหลวงสวนจิตรลดา (มุมขวาของภาพ)

 
 

          "ว่ากันว่า การไหว้ครูละครหลวง ถือกันว่าเป็นพระราชพิธีใหญ่ส่วนหนึ่ง ครั้งโบราณ เช่นในรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ มีสวดมนต์ทำพระปริตร์ด้วย แต่เมื่อคราวไหว้ครูใหญ่ในรัชกาลที่ ๖ เท่าที่จำได้ดูเหมือนไม่มีสวดมนต์ แต่อาจมีก่อนก็ได้ซึ่งพวกเรา  []  มิได้ถูกเกณฑ์เข้าไปฟังสวดมนต์ พิธีเริ่มตอนบ่ายที่โรงละครชั่วคราวในพระราชวังสวนจิตรลดาปัจจุบันนี้

ฯ ล ฯ

 

พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต)

เจ้ากรมโขนหลวง แต่งเครื่องแบบปกติข้าราชการกรมมหาดเล็ก ยศชั้น หัวหมื่น

พร้อมศีรษะครูโขนละคร

 

ไหว้ครูคราวนั้นนับว่าเป็นใหญ่ที่สุด นอกจากมีนักรำเข้าพิธีมากทั้งโขนหลวงและละครหลวงทั้งหญิงและชายแล้ว ยังมีโขนสมัครเล่น คือ ชุดที่ในหลวงทรงเองเข้าร่วมด้วย เห็นจะจำนวนร่วมพันกระมัง ดูเต็มโรงละครไปหมด เมื่อเริ่มพิธี ก็แสดงพระมหากรุณาบารมีเป็นคั่นแรก คือ ตามปกติเมื่อจะเริ่มพิธีไหว้ครูหรือครอบองค์พระครูฤาษีเก่า จะต้องสมมติว่ามาก่อน ซึ่งโดยเนื้อหาก็ได้แก่คุณครูผู้เฒ่านั้นเอง ในคราวนั้นท่านเจ้าคุณครูพระยานัฏะกานุรักษ์  []  แต่งกายนุ่งขาวห่มขาวรัดผ้าพันทะนาเรียบร้อย สวมศีรษะพระครูฤาษี มือถือไม้เท้าประจำ อันเป็นไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ ตามธรรมดาจะออกมาด้วยเพลงหน้าพาทย์ “พราหมณ์ออก” หรือบาศกุณีเป็นอย่างสูง แต่ครั้งนี้โปรดเกล้าฯ ให้ออกด้วยเพลงหน้าพาทย์องค์พระ คือพระพิราพรอญ ซึ่งครูกลัวเกรงกันนัก มือหนึ่งถือใบมะยม ดูเหมือนจะเป็นมือขวา มือซ้ายทำท่าเหมือนนรสิงห์ ซึ่งมีเล็บและกางนิ้ว มือต้องสั่นอยู่ตามจังหวะ ท่าทางน่าเกรงขามและเคารพ เพลงหน้าพาทย์ก็มีสำเนียงและท่วงทำนองผิดกว่าเพลงทั้งปวง มีลีลาน่าสยดสยองพองหัว ศิษย์ทุกคนถวายบังคมแล้วก้มนิ่งอยู่ พระเจ้าอยู่หัวคือล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการในพิธีตลอดจนเทียนเงินเทียนทอง เทียนกลเม็ด เทียนธรณีสารแล้ว ก็เสด็จประทับอยู่เหนือพระราชอาสน์พระเก้าอี้ ทรงประทานพระราชหัตถ์ จำได้ว่า พวกเข้าพิธีคือนักรำทุกคนต้องนุ่งผ้าแดงสวมเสื้อชั้นในผ้าสีขาว มีดุมคอ ๑ เม็ด ผู้หญิงก็เช่นเดียวกัน และเหน็บชายเสื้อไว้ในเข็มขัดภายในผ้านุ่งทั้งหญิงชาย ห้ามเสื้อเชิร์ต

 

 

“เจ้าคุณครู” พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) พร้อมด้วย

“พระใหญ่” เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) และ “พระน้อย” พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ)

 
 

โดยเด็ดขาด ถ้าจะคาดผ้าคาดพุงต้องทิ้งชายไว้ข้างซ้าย และต้องเป็นผ้าขาว ท่านเจ้าพระยารามราฆพ กับพระยาอนิรุทธเทวา ซึ่งเป็นตัวพระราม พระลักษณ์ หรือเรียกว่า พระใหญ่ พระน้อย นัดฝ่ายอโยธยาคือฝ่ายลิง ซึ่งเรียกว่าพวกพลับพลาทั้งหมดให้คาดผ้าแพรสีขาวทิ้งชายเบื้องซ้าย การแสดงโขนจะเห็นที่ฉากหลังเขียนเป็น ๒ แถบหรือซีก แถบหรือซีกด้านหนึ่งเขียนเป็นรูปเมืองลงกา อีกแถบหรือซีกด้านหนึ่งเขียนเป็นรูปพลับพลาชั่วคราว เราจึงมักเรียกพวกยักษ์ว่าฝ่ายลงกา พวกลิงว่าฝ่ายพลับพลา ดังนี้

 

หลวงยงเยี่ยงครู (จิ๋ว รมนัฏ)

 
 

          ...ในคราวไหว้ครูคราวนั้น ผู้มีชื่อของโขนหลวงผู้หนึ่ง คือ หลวงยงเยี่ยงครู  []  กำลังต้องรับพระราชอาญาส่วนพระองค์ให้จำขังสนม []  ซึ่งไม่ใช่เป็นความผิดร้ายแรงอะไรนัก เป็นอย่างข้ากับเจ้าบ่าวกับนาย ลูกกับพ่อ ครูกับศิษย์ พระเจ้าอยู่หัวกับข้าราชบริพาร ซึ่งถือกันว่า ใครต้องรับพระราชอาญาส่วนพระองค์ เช่น ถูกกริ้ว ถูกเฆี่ยน ถูกขังสนม นับว่าเป็นผู้ที่ยังทรงพระมหากรุณาด้วยพระราชหฤทัยพระเมตตาเอ็นดูอยู่ มิฉะนั้นก็ไม่ทรงชุบเลี้ยงดังนี้ ในพิธีนี้เรียกว่า ยัญญะการ คือ บูชายัญ คือ เจ้าหน้าที่กรมสนมพลเรือน มีพระยาอัพภันตริกามาตย์   [] เจ้ากรม และพระอินทราทิตย์   []  พระจันทราทิตย์  []  ปลัดกรม พร้อมด้วยขุนหมื่นทนายเลือก (อย่าสงสัยอ่านว่าทนายเลือกอย่างนั้น) ๔ คน คือ หมื่นชุมสงคราม ๑, หมื่นตามใจไท ๑, หมื่นโอมใจอาจ ๑, หมื่นฟาดเบื้องหล้า ๑. ท่าน ๔ คนนี้แม้มีบรรดาศักดิ์เพียงหมื่น แต่ถือศักดินาสูงมากถึงคนละ ๘๐๐ ซึ่งเท่ากับบรรดาศักดิ์เป็นพระในสมัยนั้น เพราะพวกนี้โดยหน้าที่เป็นเพชฌฆาตสำหรับทุบเจ้าด้วยท่อนจันทน์ เมื่อเวลาเจ้ากระทำผิดต้องรับพระราชอาชญาถึงกับประหารชีวิต จึงต้องมีเกียรติสูง บรรดาศักดิ์พิเศษเหล่านี้มีแปลกๆ เช่น พันเงิน พันทอง ในกรมอภิรมย์ราชยาน ก็เหมือนกัน คือศักดินาตั้ง ๘๐๐ เหมือนกัน สำหรับข้าราชการฝ่ายนอก เช่น ข้าราชการมหาดไทย ก็มีบรรดาศักดิ์ซึ่งเป็นพันมีศักดินาสูงเหมือนกัน เช่น พันพุฒอนุราช พันเพาอัศวราช เป็นต้น

 

          ...ท่านเจ้าพนักงานสนมพลเรือน ก็จับหลวงยงเยี่ยงครูไปมัดไว้ด้วยด้ายดิบ คือ ด้ายอย่างใช้ตราสังศพ ที่เสาหลักกลางโรง มัดอย่างแบบจะประหารชีวิต เมื่อคุณครูพระยานัฏกานุรักษ์รำจบท่าแล้ว ก็พักบนก้นขันสาครใหญ่มีรูป ๑๒ นักษัตร์ คือรูปปีต่างๆ ตั้งแต่ชวด ฉลู ขาล เถาะ ถึง กุน มีผ้าขาวปู ขณะนั้นเองล้นเกล้าล้นกระหม่อมก็เสด็จลุกขึ้นประทับยืนด้วยพระอิริยาบถอย่างกริ้วกราดถึงขนาด พระหัตถ์คว้าพระแสงดาบ เข้าใจว่าจะเป็นพระแสงดาบตีนตอง หรือพระแสงสีซึ่งมีชื่อว่า พระแสงดาบคาบค่าย ๑ พระแสงดาบใจเพ็ชร ๑ พระแสงดาบนาคสามเศียร ๑ พระแสงดาบอัษฎาพานร ๑ พระแสงดาบคาบค่ายนั้นว่ากันว่าเป็นองค์ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงคาบปีนค่ายพม่าในรัชสมัยของพระองค์ พระแสงดาบใจเพ็ชรมีเพ็ชรฝังเป็นประจำยามที่ฝักตลอดทั้งสองข้างและที่ยอดด้ามที่ปลายฝัก พระแสงดาบนาคสามเศียร ด้ามเป็นรูปพญานาคแผ่พังพาน ๓ หัว พระแสงดาบอัษฏาพานรลงยาสลักเป็นรูปพญาวานรเสนาพระราม ๘ ตัว ทุกองค์เป็นทองคำลงยาที่ด้ามและที่ฝักแถมประดับเพ็ชร พระแสง ๔ นี้ สำหรับหัวหมื่นมหาดเล็กเชิญตามเสด็จพระราชดำเนินในขบวนพยุหยาตราทั้งทางน้ำทางบก ทางบกเชิญตามพระราชยาน ทางน้ำถ้าประทับในบัลลังก์กัญญา เชิญตามเสด็จลงในพระวิสูตร ถ้าประทับพระราชบัลลังก์บุษบก ต้องเชิญนั่งสี่มุมบุษบก และหัวหมื่นมหาดเล็ก คือ เจ้าหมื่นสรรเพ็ชรภักดี ๑ เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ ๑ เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ๑ เจ้าหมื่นเสมอใจราช ๑ เป็นผู้เชิญต้องสวมเสื้อครุยด้วยทุกครั้ง...

 

          ...พระองค์ท่านทรงเป็นนักกระบี่กระบองอยู่แล้ว ทรงฝึกหัดเพลงดาบสองมือทั้งทางพื้นดินและหลังม้าอย่างช่ำชอง จึงทรงทำท่าทางได้อย่างเป็นที่น่าหวาดหวั่นในพระบารมี พลางทรงประกาศก้องขึ้นว่า หลวงยงเยี่ยงครูมีความผิดต้องรับพระราชอาญา จะทรงประหารชีวิตบูชายัญ ณ บัดนี้ ใครๆ ทั้งหมดไม่เคยรู้เรื่องตลึงงันไปหมด เงียบราวกับจะได้ยินเสียงหายใจและเสียงครางในลำคอของหลวงยง หลวงยงคอตก ตกจริงๆ ทันใดนั้นก็ทรงพระแสงดาบแกว่งฉวัดเฉวียนด้วยท่าพรหมสี่หน้าอันเป็นท่าครู แล้วก็ย่างสามขุมเข้าวงรำไม้ ครูปี่พาทย์ก็เริ่มบรรเลงเพลงรำดาบ เข้ากับเรื่อง พอเปลี่ยนแปลงก็ทรงย่างเข้าไปจนถึงตัวหลวงยง ทรงเงือดเงื้อพระแสงสุดพระพาหา ทันใดนั้นทุกคนหัวใจแทบหยุด

 

 
 

 

[ ]  หมายถึงนักเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หัดโขนเป็นส่วนเพิ่มเติมจากการเรียนวิชาสามัญ ด้วยทรงเกรงว่า วิชานี้กำลังจะสูญ

[ ]  นามเดิม ทองดี สุวรรณภารต ตำแหน่งเจ้ากรมโขนหลวง

[ ]  นามเดิม จิ๋ว รามนัฏ เมื่อเยาว์วัย ได้ฝึกโขนและเล่าเรียนหนังสือไทยในสำนักเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ขณะมีอายุได้ ๙ ปี ได้เป็นโขนหลวงเวรฤทธิ์ ต่อมาวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๕๕ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หมื่นทรงนัจวิธี แล้วรับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น หลวงยงเยี่ยงครู เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๕๖

[ ]  เหตุที่ต้องรับพระราชอาญาจำขังสนมในคราวนั้น นักเรียนเก่าพรานหลวงฉัตร สุนทรายน ผู้เป็นญาติของหลวงยงเยี่ยงครูได้เล่าไว้ใน "การประกอบพิธีไหว้ครูโขน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ใน มานวสาร ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑๐ (ตุลาคม ๒๕๒๕) ว่า "มูลเหตุที่หลวงยงฯ ต้องถูกลงโทษในครั้งนี้ เพราะหลวงยงฯ ได้มีเรื่องระหองระแหงกับน้องชาย ขนชูกรเฉิด (มูล รามนัฏ) พระยานัฏกานุรักษ์ซึ่งเป็นผู้ปกครองได้เรียกตัวมาว่ากล่าวตักเตือน ความทราบถึงพระกรรณจึงทรงมีพระประสงค์จะดัดนิสัยของหลวงยงฯ ให้เลิกประพฤติในสิ่งไม่ดีไม่งามเสีย ในการประกอบพิธีไหว้ครูโขนครั้งนี้ ผู้เขียนเข้าใจว่าคงจะมีพระราชดำริอยู่ก่อนแล้ว"

[ ]  นามเดิม จ่าง ภาณุทัต

[ ]  นามเดิม แหม เหมะทัต

[ ]  นามเดิม ปริก ปะริกษิตะทัต

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |