โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

 

๒๐. ประเพณีและพิธีไหว้ครู (๑)

 

          ล่วงเข้าสู่กลางเดือนกรกฎาคมของทุกปี นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยทุกคนล้วนมีภารกิจต้องปฏิบัติเป็นธรรมเนียมสืบมาช้านาน คือ การไหว้ครูซึ่งเป็นพีสำคัญประจำปี

 

          ประเพณีไหว้ครูของไทยแต่เดิมมานั้น นอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพครูผู้ประสิทธิ์ประสาทสรรพวิทยาการแก่ศิษย์แล้ว พิธีไหว้ครูยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญว่าผู้เป็นศิษย์ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ต่างๆ แก่ศิษย์ ในขณะเดียวกันศิษย์ก็มีหน้าที่ต้องรับใช้ครูด้วยการช่วยเหลือการงานต่างๆ เป็นธรรมเนียมมา

 

          แต่พิธีไหว้ครูในยุคก่อนมีระบบโรงเรียนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น จะมีรูปแบบอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด คงมีบันทึกสืบต่อกันมาแต่เฉพาะประเพณีไหว้ครูของนาฏยดุริยางคศิลปิน หรือการไหว้ครูของศิลปินโขน ละคร ดนตรีนั้น ออกจะพิเศษกว่าการไหว้ครูทั่วๆ ไป กล่าวคือนอกจากการไหว้ครูตามประเพณีแล้ว ยังจะต้องมีพิธี “ครอบครู” เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรได้กล่าวไว้ใน “ประเพณีและพิธีไหว้ครู” ว่า

 

          "พิธีไหว้ครูและพิธีครอบเป็นพิธีที่ท่านบูรพาจารย์ได้กำหนดระเบียบและบัญญัติแบบแผนให้ปฏิบัติด้วยหลักเกณฑ์อันดีสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ โดยกำหนดว่า ถ้าเป็นศิษย์ที่หัดโขนละคอน ครูผู้ใหญ่จะทำพิธีไหว้และครอบให้ต่อเมื่อศิษย์ได้หัดรำเพลงช้าเพลงเร็วได้แล้ว จนนับว่าเป็นผู้รำเป็นพอจะออกเล่นออกแสดงเป็นตัวเสนาหรือนางกำนัลได้ ถ้าเป็นศิษย์ที่หัดดนตรีปี่พาทย์ก็ต้องสามารถร่วมวงบรรเลงเพลงโหมโรงได้จบ ซึ่งนับว่าตีเป็น พอที่จะออกบรรเลงในงานสวดมนต์เย็นฉันเช้าได้ สังเกตตามเพลงหน้าพาทย์ของดนตรีทำอัญเชิญเทพเจ้าและครูบาอาจารย์มาในงานพิธี ดังรายชื่อเพลงในหน้าต่อไป) ก็ดี มนตร์และโองการที่บัญญัติไว้ให้ครูผู้ไหว้กล่าวเชิญและพร่ำบ่นก็ดี แสดงว่าท่านโบราณาจารย์ได้บัญญัติไว้ด้วยความรอบคอบ เพื่อให้ศิษย์ผู้เข้าประกอบพิธีไหว้ครูและได้รับครอบจากครูแล้ว มีประสิทธิภาพอันดีและมีภาวะเป็นศิลปินผู้ควรแก่การยกย่อง เช่นเดียวกับบทบัญญัติในพิธีบรรพชาอุปสมบทของพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

ฯ ล ฯ

 

          ครูผู้ประกอบพิธีนี้ก็มีประเพณีกำหนดไว้ว่าต้องเป็นครูศิลปินผู้ชายจึงจะเป็นครูผู้นำทำพิธีไหว้และครอบได้ ส่วนครูศิลปินผู้หญิงนั้น แม้จะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ก็เป็นแต่ผู้นำทำพิธีไหว้ครู จะเป็นผู้ครอบหาได้ไม่ เพราะถือกันว่า “ครอบไม่ขึ้น” และเชื่อกันว่า ถ้าครูผู้หญิงทำพิธีครอบจะมีอันเป็นไปในทางข้างร้าย ไม่ตัวครูเองก็ศิษย์จะได้รับสิ่งร้าย หรือด้วยกันทั้งสองฝ่าย แม้จะมีประเพณีกำหนดไว้ให้ครูผู้ชายเป็นผู้ครอบ ก็มิใช่จะทำพิธีครอบได้ทุกคนไป คงครอบได้แต่ผู้ที่ครูผู้ใหญ่ได้มอบหมายประสิทธิประสาทให้เป็นตัวแทนของท่านสืบมา เช่นเดียวกับพระเถระผู้ใหญ่ในครั้งโบราณ สมมติศิษย์ผู้อาวุโสให้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชศิษยานุศิษย์แทนตัวท่าน ศิลปินผู้ที่มิได้รับมอบ แม้จะได้ตำรับตำราของท่านไว้ก็เพียงแต่เก็บไว้บูชา ไม่เป็นผู้นำทำพิธีไหว้ครูและครอบให้แก่ใครได้

ฯ ล ฯ

 

          พิธีไหว้ครูก็ดี พิธีครอบก็ดี มีกำหนดให้ทำกันในวันพฤหัสบดี ซึ่งนับถือเป็นวันครู และเนื่องจากครูบาอาจารย์ทางนาฏศิลปและดุริยางคศิลป ถือกันว่าเพลงหน้าพาทย์ดนตรีบางเพลงและท่ารำบางท่า เป็นเพลงและท่ารำที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ ถ้าศิษย์ยังมิได้เข้าพิธีไหว้ครูและรับครอบไว้เสียก่อนแล้ว บรรดาครูอาจารย์ทางศิลปเหล่านั้นจะไม่กล้าสอนและหัดให้แก่ศิษย์ ด้วยถือกันว่า อาจเป็นผลร้ายแก่ครูผู้สอนและแก่ตัวศิษย์เองด้วย และถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นดังกล่าวแล้ว ก็มักอ้างกันว่า  "ผิดรู" หรือ "แรงครู" "  []

 

          พิธีไหว้ครูและครอบครูนาฏดุริยางคศิลปินของกรมศิลปากร ที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมานั้น มีลำดับขั้นตอน ดังนี

                    ๑. พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และฉันภัตตาหารแล้วอนุโมทนา

                    ๒. พิธีไหว้ครูสามัญ

                    ๓. พิธีไหว้ครูนาฏศิลปและดุริยางคศิลป

                    ๔. พิธีครอบของครูฝ่ายนาฏศิลปและดุริยางคศิลป

 

ศีรษะครูของหลวง

 

          "นพิธีนี้ ศิลปินโขนละคอนจะได้จัดตั้งโต๊ะมีเครื่องบูชาและอัญเชิญศีรษะพระฤษี (คือ ภรตมุนี ผู้เป็นปฐมาจารย์แห่งนาฏศิลป) และหัวโขนชนิดต่างๆ กับเครื่องสวมหัวสำหรับละคอน เช่น มงกุฎ และ ชฎา เป็นต้น เรียกกันว่า “ศีรษะครู” พร้อมด้วยเครื่องอุปกรณ์ในการแสดงโขนละคอนบางอย่าง นำออกมาตั้งประจำบนโต๊ะบูชา ส่วนบรรดาศิลปินทางดนตรีก็จัดตั้งศีรษะครูทางดนตรี คือ ศีรษะพระนารทมุนีและศีรษะพระปัญจศีขรเทพคนธรรพ์ พร้อมด้วยเครื่องดนตรีไทยชนิดต่างๆ แล้วต่างฝ่ายก็นำเครื่องสังเวย มี บายศรี, เหล้า, ข้าว, หัวหมู, เป็ด, ไก่ เป็นต้น มาจัดวางไว้ตรงหน้าโต๊ะบูชา แล้วมอบให้ครูศิลปินชายผู้อาวุโสในศิลปนั้นๆ แต่ละฝ่ายแต่งตัวนุ่งผ้าขาวห่มผ้าขาวเข้าประกอบพิธี เมื่อประกอบพิธีอัญเชิญสังเวยครูทางนาฏศิลปนั้น ครูผู้ใหญ่ทางนาฏศิลปก็กล่าวคำอัญเชิญเทพเจ้าเป็นครูประจำศิลปและอัญเชิญครูอาจารย์ศิลปินผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเครื่องสังเวยบูชา พร้อมกับเรียกหน้าพาทย์ให้วงดนตรีบรรเลงเพลงอัญเชิญเทพเจ้าและครูอาจารย์ผู้ล่วงลับไปแล้วให้มาร่วมในพิธี ปี่พาทย์ก็บรรเลงเพลงอัญเชิญเป็นระยะๆ ไปด้วย บรรดาศิลปินผู้เป็นศิษย์รุ่นใหญ่จะช่วยกันยกภาชนะเครื่องสังเวยขึ้นรำถวายก่อน แล้วนำเครื่องสังเวยไปวางหน้าโต๊ะบูชา ตอนทำพิธีอัญเชิญครูและสังเวยนี้มีกำหนดว่าต้องทำให้เสร็จภายในเที่ยงวัน แล้วบรรดาศิลปินผู้เป็นศิษย์ ก็ช่วยกันถอนเครื่องสังเวยออกจากที่ และบางทีศิลปินผู้เป็นศิษย์ก็ยกภาชนะเครื่องสังเวยเหล่านั้นขึ้นรำกันตอนนี้ก็มี

 

          สร็จการบูชาและสังเวยแล้ว ครูศิลปินผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายนาฏศิลปและดุริยางคศิลปก็ประพรมน้ำมนต์ เจิมหน้าผากและสวมด้ายมงคลให้แก่ศิษย์ทุกคนที่มา แต่ครูศิลปินผู้อาวุโสทั้งสองนั้น นอกจากเจิมหน้าผากให้แก่ศิษย์แล้ว จะต้องทำพิธี “ครอบ” ให้แก่ศิษย์ด้วย “พิธีครอบ” ทางนาฏศิลป ก็คือ ครูศิลปินผู้อาวุโสนำเอาศีรษะฤษีและหัวโขน มงกุฎ ชฎา ฯลฯ ที่เรียกกันว่า “ศีรษะครู” สำหรับใช้ในการแสดงโขนและละคอนซึ่งนำมาตั้งบูชาในการพิธีนั้นสวมลงไปบนศีรษะของศิษย์ทีละคนๆ จนทั่ว เรียกว่า “พิธีครอบโขนละคอน” เสร็จแล้วครูศิลปินผู้อาวุโส ก็นำบรรดาศิษย์ทั้งหลายรำ พร้อมกับดนตรีที่บรรเลง เรียกกันว่า “รำถวายมือ” พวกที่หัดพระและหัดนางก็รำเพลงช้าเพลงเร็ว พวกที่หัดลิงก็รำเพลงกราวนอก พวกที่หัดยักษ์ก็รำเพลงกราวใน การรำถวายมือของศิลปินนี้ นอกจากเป็นการแสดงคารวะบูชาแก่ครูบาอาจารย์ทางศิลปให้ครบไตรทวารตามวิสัยของศิลปินแล้ว ยังเท่ากับเป็นการแสดงฝีมือให้ครูผู้ใหญ่ได้มีโอกาสตรวจสอบดูว่า ตนมีความสามารถรำได้ถูกต้องสวยงามที่ครูฝึกสอนไว้เพียงไร

 

          ส่วนพิธีครอบทางดุริยางคศิลปนั้น ครูศิลปินผู้อาวุโสจะต้องจับมือให้ศิษย์ตีเครื่องดนตรีที่เป็นหลัก คือ ฆ้องวงใหญ่ หรือ ตะโพน เพลงที่จับมือครอบให้ตีนั้นเรียกว่า “เพลงครู” มีสูงต่ำลดหลั่นกันเป็นขั้นๆ แล้วแต่ศิษย์ผู้นั้นจะขึ้นถึงขั้นไหน ก็จับให้ตีเพียงประโยคต้นประโยคเดียว ๓ ครั้ง ถ้าศิษย์ผู้รับครอบมีจำนวนมาก ก็ครอบกันนาน กว่าจะครบทุกตัวคน บางทีก็ตกบ่าย ครั้นเสร็จพิธีครอบแล้ว ปี่พาทย์ก็ทำเพลงกราวรำ พวกศิลปินทางนาฏศิลปก็รำโปรยข้าวตอกดอกไม้อัญเชิญครูกลับ เรียกว่า ส่งครู เป็นเสร็จพิธี"  []

 

 

พระยาสุนทรพิพิธ (เชย มัฆวิบูลย์)

แต่งเครื่องแบบเต็มยศข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนัก ชั้นยศจ่า (เทียบเท่านายพันตรี) กรมมหาดเล็ก

สวนครุยเสนามาตย์ชั้นโท ประดับดาราจำลองครื่องราชอิสิริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ ๓ ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

 

          ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กข้าในพระองค์ฝึกหัดโขนละครขึ้น ดังที่พระยาสุนทรพิพิธ (เชย มัฆวิบูลย์) มหาดเล็กข้าหลวงเดิมคนหนึ่งได้บันทึกถึง "การแสดง" ไว้ใน "งานอดิเรกของข้าพเจ้า" ว่า

 

          "เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ขณะประทับฯ วังปารุสกวัน ทรงเริ่มหัดโขนขึ้นเป็นการเล่นๆภายในก่อน ครั้นต่อมาแปรพระราชฐานไปประทับพระราชวังสราญรมย์ จึงได้ทรงให้ครูโขนหลวงมาฝึกหัดพวกมหาดเล็กเด็กๆ เป็นการจริงจัง ข้าพเจ้าเองทีแรกก็เลี่ยง เพราะใจไม่รักและกลางวันข้าพเจ้าต้องไปโรงเรียนทุกวัน ไม่มีเวลาหัดได้เช่นพวกที่มิได้ไปโรงเรียน แต่เพราะการหลบเลี่ยงไม่เข้าเฝ้าตามปกตินี้เอง ซึ่งมีหลายคนด้วยกัน คืนหนึ่งพวกข้าพเจ้า ๓ – ๔ คน ซึ่งกำลังนอนหลับ จึงถูกปลุกให้ไปหัดโขน โดยพระองค์ทรงหัดให้เองทีเดียว ดังนั้นเมื่อได้ฝึกหัดเป็นอย่างดีจนออกโรงได้แล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ออกแสดงด้วย ๒ - ๓ ครั้ง

 

 

พระตำหนักจิตรลดา ที่มุมพระลานพระราชวังดุสิต

 

พระราชวังสราญรมย์ ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของคณะโขนสมัครเล่นในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

 
 

เป็นการแสดงถวายให้เจ้านายทอดพระเนตร และให้ชาวต่างประเทศดู ในบัญชีรายนามมหาดเล็กผู้แสดงโขน ตามที่คุณธนิต อยู่โพธิ์ เขียนลงหนังสือวารสารศิลปากร เล่มประจำเดือนธันวาคม ๒๔๙๓ นั้น ขาดชื่อข้าพเจ้ากับนายชอบ บุนนาค ซึ่งเป็นเขนคู่หน้าของโขนพระมงกุฎเกล้าที่ได้ออกโรงประเดิมแต่ครั้งแรกทีเดียว พวกเขนชุดข้าพเจ้าเป็นได้ทั้งเขนยักษ์และเขนลิง และเมื่อเวลาทรงหัดท่าเขนให้ข้าพเจ้า ได้ทรงชี้แจงให้เข้าใจความหมายของแต่ละท่าเทียบกับท่ากระบี่กระบองอย่างใด"  []

 

 
 

 

[ ]  ธนิต อยู่โพธิ์. “บทที่ ๑๔ ประเพณีและพิธีไหว้ครู”, โขน, หน้า ๑๒๙ - ๑๓๑.

[ ]  โขน, หน้า ๑๓๒ - ๑๓๕.

[ ]  พระยาสุนทรพิพิธ (เชย มัฆวิบูลย์). "งานอดิเรกของข้าพเจ้า", อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสุนทรพิพิธ
(เชย มัฆวิบูลย์), หน้า๒๙.

 

 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |