โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

 

๕๙. หน้าที่และความรับผิดชอบ

ของเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (๒)

 

หมวดหน้าที่และความรับผิดชอบพะแนกสมุห์บาญชี

 

*******************

 

          ๑. ทำบาญชีเงินรายได้รายจ่ายของโรงเรียนทุกอย่างให้ถูกต้องอยู่เสมอ กรรมการหรือผู้ตรวจการโรงเรียนจะตรวจเมื่อไรให้ตรวจได้ ตัวเงินส่งและรับจากอาจารย์ใหญ่ ซึ่งเปนผู้รักษา ตรวจและรักษาใบสำคัญให้ถูกต้องกับรายจ่ายอยู่เสมอ

 

          ๒. ทำและรักษาทะเบียนบาญชีอื่นๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่พะแนกอื่นๆ มอบหมายให้ทำ

 

          ๓. จัดและแต่งหนังสือโต้ตอบต่างๆ ของโรงเรียน และทำการเสมียนให้แก่พะแนกต่างๆ ทุกพะแนก

 

          ๔. เจ้าหน้าที่รับผิดชอบพะแนกนี้ มีสมุห์บาญชีเปนหัวหน้า นอกนั้นมีเสมียนมากน้อยตามสมควรแก่งาน. []

 

 

 

หมวดหน้าที่และความรับผิดชอบพะแนกสอนวิชา

 

*******************

 

          ๑. สอนนักเรียนให้ได้ความรู้ตามหลักสูตร์หลวงโดยสมควรแก่อายุและเวลาเรียนของบุคล คืออายุมากและเรียนสม่ำเสมอควรจะเรียนได้เร็วอย่าให้ต้องช้า ที่ควรได้ปีละชั้น หรือสองปีสามชั้น หรือเทอมละชั้น ก็ให้เปนไปตามควร แต่อย่าให้เปนการยัดเยียดวิชาจนเสียประโยชน์แก่เด็ก

 

          ๒. แสวงหาวิธีสอนด้วยการสังเกต ทดลอง และสอบสวนดูเยี่ยงอย่างของผู้อื่นตลอดจนต่างประเทศอยู่เสมอ เพื่อให้การฝึกสอนดำเนินเข้าทางที่ชอบด้วยเหตุผลทันสมัยไม่ล้าหลังใคร

 

          ๓. วางตารางสอนแบ่งเวลาแบ่งชั้นและแบ่งครูให้เหมาะ อาจารย์ประจำวิชาให้เปนตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ตั้งโดยอนุมัติของผู้อำนวยการ ครูประจำชั้นให้ได้สอนไม่น้อยกว่าวันละ ๕ ชั่วโมง อาจารย์ประจำวิชาให้ได้สอนไม่น้อยกว่าวันละ ๔ ชั่วโมง ครูอาจารย์ทำการปกครองให้ได้สอนไม่น้อยกว่าวันละ ๒ ชั่วโมง

 

          ๔. ตรวจแก้และแนะนำการสอนของครูอาจารย์ทั้งหลายให้เปนไป เพื่อประโยชน์ยิ่งแก่โรงเรียนแก่นักเรียนและแก่ตัวครูอาจารย์ผู้สอนเองนั้นด้วย

 

          ๕. เลือกหาหนังสือและเครื่องใช้ในการสอนให้มีครบบริบูรณ์

 

 

พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย

วางศิลาฤกษ์หอสมุดภะรตราชา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔

 

 

          ๖. จัดตั้งห้องสมุดของโรงเรียนให้มีหนังสือที่ควรมี ให้มีอย่างละมากน้อยเล่มพอเหมาะแก่จำนวนนักเรียนที่จะต้องใช้ ออกข้อบังคับและจัดการให้ห้องสมุดนั้นได้เปนประโยชน์ยิ่งแก่โรงเรียน

 

          ๗. จัดพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนให้บริบูรณ์ด้วยของควรมี และให้พิพิธภัณฑ์นั้นได้เปนประโยชน์จริงแก่โรงเรียนด้วย

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ทอดพระเนตรภายในพิพิธภัณฑ์ที่กองบังคับการโรงเรียนชั้นบน

 

 

          ๘. ตั้งสโมสรต่างๆ อันจะให้ประโยชน์แก่การวิชา เช่นสโมสรอ่านหนังสือ และสโมสรสักรวาทีปรวาทีเปนต้น วางระเบียบข้อบังคับและรักษาการให้เปนไปโดยสม่ำเสมอและได้ประโยชน์จริง

 

          ๙. บาญชีเรียกชื่อนักเรียน บาญชีลงเวลาของครูอาจารย์ รายงานการประชุมของสโมสรที่เกี่ยวในพะแนกนี้ และบาญชีอื่นๆ ที่ควรมี ให้มีไว้ และรักษาโดยเรียบร้อยอยู่เสมอ สิ่งใดที่เกี่ยวเปนการเสมียนมากกว่าเปนการของครู ให้มอบพะแนกสมุหบาญชีทำให้

 

          ๑๐. จัดให้มีการประชุมฟังเทศน์ ฟังเล็กเชอร์ และฟังข่าวคราวต่างๆ ไม่น้อยกว่าวิกละครั้งในเวลาสิ้นวิก ผู้ที่จะเล็กเชอร์หรือบรรยายความต่างๆ นั้น เมื่อมีโอกาสให้เชิญผู้มีชื่อเสียงมาแต่ภายนอกโรงเรียนบ้าง เพื่อนักเรียนจะได้ฟังเสียงแปลกๆ และได้ความรู้จักมักคุ้นกว้างขวางออกไป

 

          ๑๑. ครูอาจารย์คนใด จะตกลงกับผู้ปกครองนักเรียนข้างบ้านอย่างไรที่เกี่ยวด้วยการเงินทอง ต้องได้รับอนุญาตจากอาจารย์ใหญ่ก่อน

 

          ๑๒. พะแนกสอนวิชานี้ มีหัวหน้ารับผิดชอบคนหนึ่ง เรียกว่า "หัวหน้าพะแนกวิชา" นอกนั้นก็มีครูอาจารย์เปนผู้ช่วยตามสมควร

 

 

 

หมวดหน้าที่และความรับผิดชอบพะแนกปกครองนักเรียน

 

*******************

 

          ๑. ปกครองและฝึกหัดนักเรียนในหน้าที่บิดามารดาปกครองและฝึกหัดบุตร์ คือ

                    ก. ให้มีจรรยาและกิริยามารยาตรดี สมควรเปนข้าทูลลอองธุลีพระบาท หรือถ้าจะไปทำการในหน้าที่ราษฎรก็เปนราษฎรที่ดี

                    ข. ให้มีวิชาความรู้ดีสมควรแก่ฐานานุรูป

                    ค. ให้มีกำลังวังชาดี รู้รักษาปรกติของร่างกาย

                    การฝึกสอนเหล่านี้ ส่วนไหนเกี่ยวข้องทางพะแนกใด ที่มีเจ้าหน้าที่รับแบ่งภาระเปนผู้จัดทำอยู่แล้ว เช่นการเรียนวิชาอยู่ในพะแนกฝ่ายสอนวิชา การหัดให้มีกำลังวังชาอยู่ในหน้าที่ฝ่ายกรีฑา การฝึกหัดใหใจและกายสมควรเปนไทยได้ลักษณะเสือป่าอยู่ในหน้าที่ผู้กำกับลูกเสือ เหล่านี้เปนต้น ก็ให้เปนหน้าที่ของพะแนกปกครองที่จะตามเอาใจใส่ดูแลให้นักเรียนทุกคนได้รับประโยชน์เต็มที่ตามที่ควรจะได้รับ

 

          ๒. แบ่งนักเรียนออกเปนเรือนๆ ตามที่เหมาะแก่ที่อยู่ ให้มีครูกำกับปกครองเรือนละคน

 

          ๓. การปกครองด้วยวิธีแยกเรือนเช่นนี้ ให้ใช้วิธีปกครองประจำ ห้ามไม่ใหใช้วิธีแบ่งเวรผลัดเปลี่ยนกัน รับผิดชอบเปนเวลาเปนคราว และห้ามไม่ให้โยกย้ายนักเรียนจากเรือนนี้ไปเรือนโน้น เว้นไว้แต่ได้มีความตกลงในระหว่างนักเรียนและผู้ปกครองทั้งฝ่ายส่งฝ่ายรับแล้ว หรือที่อาจารย์ใหญ่เห็นจำเปน และสั่งย้ายโดยอนุมัติของกรรมการผู้อำนวยการ

 

          ๔. เด็กรุ่นเล็ก ซึ่งยังต้องอาศรัยพี่เลี้ยงบำรุงรักษา ต้องจัดให้อยู่ในเรือนที่จะมีความบำรุงรักษาเช่นนั้นได้โดยสมควร

 

          ๕. ต้องมีทะเบียนบาญชีต่างๆ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ และรักษาให้เรียบร้อยอยู่เสมอ คือ

                    ก. ทะเบียนนักเรียน โดยละเอียด

                    ข. บาญชีความเปนไปแห่งร่างกายนักเรียน เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ส่วนกว้างของอก ของต้นแขน และของน่อง ให้มารวัดและชั่งเทอมละครั้งเปนอย่างน้อย

                    ค. รายงานประจำตัวนักเรียน บอกความเปนไปฉะเภาะตัวนักเรียนในส่วนความรู้ความฝึกหัดต่างๆ ทุกอย่าง สำหรับเปนหลักถานฉะเภาะตัวเด็ก และให้ผู้ปกครองฝ่ายบ้านทราบด้วย

                    ง. บาญชีอื่นๆ ตามที่เห็นสมควรจะมี เพื่อประโยชน์ในการปกครอง

                    บาญชีเหล่านี้ ให้มอบกองสมุห์บาญชีทำให้ตามความประสงค์

 

          ๖. ครูอาจารย์ผู้กำกับเรือน จะตกลงกับผู้ปกครองนักเรียนข้างบ้านอย่างไร ที่เกี่ยวด้วยการเงินทอง ต้องได้รับอนุญาตจากอาจารย์ใหญ่ก่อน

 

          ๗. ในพะแนกปกครองนี้ มีหัวหน้าเปนผู้กำกับและรับผิดชอบทั่วไปคนหนึ่ง นอกนั้นก็มีครูกำกับเปนประจำทุกเรือนไป เรือนใดที่ได้แยกออกจากเรือนกลางหมวดหน้าที่และความรับผิดชอบพะแนกปกครองนักเรียน

 

 

 

หมวดหน้าที่และความรับผิดชอบพะแนก

การปกครองพนักงานและสถานที่

 

*******************

 

          ๑. ปกครองบังคับบัญชาพนักงานภารโรงตลอดจนคนงาน

 

          ๒. ปกครองรักษาสถานที่เรือนโรงต่างๆ ในเขตร์ของโรงเรียนให้สะอาดเรียบร้อย อะไรจะชำรุดเสียหายก็ป้องกัน และเปนธุระซ่อมทำให้ดีอยู่เสมอ เว้นไว้แต่ในบ้านเรือนซึ่งมีผู้อยู่รักษาและรับผิดชอบเปนประจำอยู่แล้ว เช่นห้องหรือเรือนที่เปนที่อยู่ของครูอาจารย์เปนต้น ก็ให้อยู่เปนผู้ดูแลรักษาและรับผิดชอบตามควร

 

          ๓. รักษาพัสดุของโรงเรียน ซึ่งไม่ได้อยู่ในหน้าที่และความรับผิดชอบของพะแนกอื่นๆ มีบาญชีบอกจำนวนราคา และรายละเอียดอื่นๆ ตามสมควรไว้ชัดเจน บาญชีนี้ให้มอบพะแนกสมุห์บาญชีทำให้ ครุภัณฑ์สิ่งใดที่ควรติดเครื่องหมายเพื่อไม่ให้สับสนก็ให้ทำเช่นนั้น พัสดุสิ่งใดควรเก็บก็ให้มีที่เก็บ และพัสดุสิ่งใดชำรุดก็ให้รีบซ่อมอย่าให้ทันถึงเสียหาย

 

          ๔. เปนธุระในการน้ำและไฟทั่วทั้งบริเวณโรงเรียน ให้ได้ใช้ที่ดีเหมาะแก่ความต้องการทุกประเภท ให้มีพอใช้และอย่าให้หมดเปลืองเกินสมควร

 

          ๕. เปนธุระในการจัดการรับรองต่างๆ การเลี้ยงดู การอาหาร การครัว การซักฟอก และเว็จ โดยปรกติจะต้องให้มีการตรวจถ้วนถี่อยู่เสมอ เพื่อป้องกันอันตรายอันจะเกิดแต่อาหารไม่ดี หรือมีสิ่งโสโครกเกิดขึ้น การใช้จ่ายเพื่อสิ่งเหล่านี้จะต้องให้เปนไปโดยมัธยัต

 

          ๖. ซื้อจ่ายเครื่องใช้สรอยต่างๆ ในหน้าที่ หรือตามที่พะแนกอื่นๆ ขอให้จัดซื้อ กับซื้อเครื่องนุ่งห่มอันเปนของพระราชทานให้แก่นักเรียนข้าหลวงเดิม ตามรายการที่พะแนกปกครองตั้งเบิก การซื้อจ่ายทั้งปวงต้องได้รับอนุญาตแต่อาจารย์ใหญ่ก่อน แล้วนำใบสำคัญส่งสมุห์บาญชีให้ครบตามตัวเงินที่ได้ซื้อจ่ายไป ถ้าเปนการร้อนและจำเปน จะใช้จ่ายไปก่อนได้รับอนุญาตก็ได้ แต่ครั้นแล้วต้องรีบเสนอและรับอนุญาตแต่อาจารย์ใหญ่โดยเร็ว

 

          ๗. วางเวรยามรักษาตรวจตราตลอดพื้นที่และเรือนโรงในบริเวณโรงเรียน ป้องกันและระงับเหตุภัยต่างๆ ทั้งที่จะเกิดขึ้นภายในหรือเข้ามาแต่ภายนอก มีโจรภัยและอัคคีภัยเปนต้น

 

          ๘. เวรยามเหล่านั้น ให้มีหน้าที่ตรวจและรายงานการประพฤติชั่วและเสื่อมทรามของนักเรียนและพนักงานต่างๆ ด้วย ลำดับที่จะรายงานนั้น ให้รายงานต่อหัวหน้าก่อน แล้วหัวหน้าชี้แจงบอกกล่าวแก่หัวหน้าพะแนกอื่นอันเกี่ยวข้องด้วยเรื่องที่เกิดขึ้น หรือรายงานตรงต่ออาจารย์ใหญ่ ตามสมควรแก่เหตุ

 

          ๙. เจ้าหน้าที่รับผิดชอบพะแนกการต่างๆ ที่กล่าวมาในหมวดนี้ เรียกว่าหัวหน้าพะแนกปกครองพนักงานและสถานที่ มีพนักงานประจำการต่างๆ เปนผู้ช่วยตามสมควรแก่การ

 

 
 

 

[ ]   หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ศ.๔/๕๙ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (๑ มกราคม ๒๔๕๓ - ๒๐ ธันวาคม ๒๔๖๗)

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |