โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๖๑. กฎมณเฑียรบาล

ว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก (๑)

 

          เมื่อแรกสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงใน พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น นักเรียนชุดแรกล้วนเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่ได้ถวายตัวเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่ก่อนเสด็จเสวยสิริราชสมบัติ แต่เนื่องจากมหาดเล็กเด็กๆ เหล่านั้นอายุยังน้อยยังอยู่ในวัยเล่าเรียน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ได้เล่าเรียนตามฐานานุรูป และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดรับนักเรียนทั่วไปเข้าเล่าเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อถึงเวลาทางโรงเรียนก็ได้จัดให้นักเรียนสมัครนั้นได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กตามควรแก่โอกาส ฉะนั้นบรรดานักเรียนมหาดเล็กหลวงจึงมีสถานะเปนข้าราชการสังกัดกรมมหาดเล็กมาแต่ยังเป็นนักเรียน

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงเครื่องปกติจอมพลเรือ จอมทัพเรือสยาม

 

 

          ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้บังคับระเบียบกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยมีบทกำหนดโทษนักเรียนผู้กระทำผิดระเบียบของโรงเรียนไว้ในระเบียบดังกล่าวแล้ว ถัดมาใน พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศกระแสพระราชดำริไว้ว่า

 

          "อันเหล่าเสวามาตย์ราชบริพาร ผู้ที่มีน่าที่รับราชการในกระทรวงและกรมในพระราชสำนักนั้น ย่อมเปนผู้ที่ปฏิบัติราชการอยู่ในน่าที่ใกล้ชิดพระองค์ เพราะฉะนั้นจึงสมควรที่จะเปนผู้ที่ดีไม่เปนที่ทรงรังเกียจ และทั้งเปนผู้ประพฤติสัมมาจารี ไม่ควรที่จะให้มีผู้ติฉินนินทาได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชุบเลี้ยงตั้งแต่งคนที่ไม่ดีไว้ในที่ใกล้ชิดพระองค์ ทั้งอาจจะที่จะมีผลให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศได้ด้วย

 

          ข้าราชการในพระราชสำนักเปนบุคคลจำพวกที่สุดที่จะควรกล่าวว่ากิจส่วนตัวไม่เกี่ยวแก่น่าที่ราชการ เพราะถ้าจะว่ากันอย่างสามัญชนคนใช้ที่ประพฤติไม่ให้เปนที่ต้องอัธยาไศรยแห่งนายแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีสติปัญญาสามารถฉลาดเฉลียวสักปานใด ก็คงไม่สามารถจะอยู่ร่วมเคหะสถานกันได้ ดังนี้ฉันใด ส่วนข้าราชการในพระราชสำนักก็เปนเช่นนั้น เมื่อราชเสวกผู้ใดทราบอยู่แล้วว่าสิ่งไรไม่เปนที่ต้องด้วยพระราชอัธยาไศรยนิยม แต่ขืนประพฤติสิ่งนั้นเพื่อความพอใจแห่งตนเอง โดยถือว่าเปนกิจส่วนตัว ไม่เนื่องด้วยน่าที่ราชการดังนี้ ก็คงเปนอันว่าเปนผู้ที่ไม่สมควรรับราชการอยู่ในพระราชสำนัก ควรจะต้องย้ายไปแห่งอื่นดีกว่า

 

          ทางที่จะให้ทรงรังเกียจในส่วนตัวราชเสวกผู้ ๑ ผู้ใดนั้น นอกจากความประพฤติเปนคนขี้เมาหรือนักเลง หรือคนมักพูดปด ซึ่งเปนความเสียหายในส่วนตัวเอง ยังอาจจะเปนไปด้โดยมีครอบครัวอันเปนที่ทรงรังเกียจได้อีก

 

          ในเรื่องการสมพาศแห่งคยในสมัยนี้ ทรงสังเกตว่าดูเปนไปโดยอาการอันสำส่อน ไม่เปนระเบียบเรียบร้อย ไม่ใคร่เลือกหญิงที่เรียบร้อยแท้จริง ชายหนุ่มมักพอใจสมจรด้วยหญิงแพศยาหาเลี้ยงชีพโดยทางบำเรอกามคุณ และมักเข้าใจไปว่าการสมจรเช่นนี้ เปนของควรนิยม เพราะคล้ายคลึงกับแปบบแผนแห่งยุโรปประเทศ ซึ่งเปนความเข้าใจเอาเองโดยพอใจใคร่ให้เปนเช่นนั้น และการมีภรรยาแต่งงานสมรสอบ่างโบราณประเพณีมักถือกันว่า เปนของพ้นสมัยเสียแล้ว แม้ใครประพฤติก็ได้ชื่อว่าคนภูมิเก่าคร่ำคร่า หรือฌง่เง่าเต่าปูปลาไม่รู้จักประเพณีนิยมอย่างสมัยใหม่ ดังนี้เปนต้น

 

          โดยปรกติในประเทศมีสมเด็จพระราชาธิบดีเปนผู้ทรงปกครอง ความนิยมในทางจริยาต่างๆ มหาชนมักเพ่งเล็งดูตามพระราชนิยมเปนที่ตั้ง แต่ผู้ที่มิได้มีโอกาศได้เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทในที่ใกล้เคียงเพียงพอมิอาจที่จะทราบพระราชนิยมได้โดยถนัด ก็ต้องเพ่งเล็งดูทางปฏิบัติและจรรยาแห่งข้าราชการในพระราชสำนักเปนหลัก เพื่อสันนิษฐานทางแห่งพระราชนิยม ความจริงมีอยู่ดังนี้เหมือนกันหมดไม่ว่าในประเทศใดๆ ทั้งในบุรพทิศและปรัศจิมทิศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระราชหฤทัยในข้อนี้ชัดเจนอยู่ จึงได้ทรงพระอุตสาหพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ข้าราชการในพระราชสำนักอยู่เนืองๆ ในเรื่องจรรยาและความประพฤติอันควรแก่ราชเสวกซึ่งแท้จริงบรรดาราชเสวกควรที่จะรู้สึกพระมหากรุณาธิคุณ และที่แท้ควรที่จะมีใจรู้สึกความกตัญญูกตะเวที ตั้งใจปฏิบัติให้ตรงตามพระบรมราโชวาท และพระราชนิยมอันได้ทรงแสดงให้ปรากฏมาหลายคราวแล้วนั้น โดยความเคารพต่อพระบรมเดชานุภาพ ฝ่ายผู้ใหญ่อันเปนผู้มีน่าที่บังคับบัญชาราชการต่างพระเนตร์พระกรรณก็ควรที่จะหมั่นเอาใจใส่ว่ากล่าวตักเตือนผู้น้อยที่ไร้สติให้อุตสาหพยายามประพฤติตนให้เปนที่พอพระราชอัธยาไศรยเช่นนี้จึงจะถูก

 

          แต่การหาเปนไปเช่นนี้ทั่วถึงไม่ เพราะราชเสวกที่เปนคนหนุ่มคะนอง เมื่อมีความปรารถนาจะใคร่ประพฤติตามใจตนเอง ก็พอใจอวดดีทำตนเปนคนสมัยใหม่ ประพฤติสงบเสงี่ยมอยู่แต่เฉพาะเวลาที่อยู่น่าพระที่นั่ง พอลับหลังไปแล้วก็ไปเที่ยวประพฤติสำมเลเทเมาตามนิไสยอันทรามของตน และที่ผู้น้อยประพฤติอยู่ได้เช่นนี้ก็เพราะผู้ใหญ่บางคน ซึ่งรู้แล้วว่าผู้น้อยประพฤติตนเปนลิงหลอกเจ้าอยู่นั้น ก็หาว่ากล่าวตักเตือนโดยอาการอันเข้มงวดอย่างผู้ใหญ่ไม่ กลับไปพูดจาและแสดงกิริยาอาการให้เห็นปรากฏว่า การที่ว่ากล่าวนั้นโดยเสียไม่ได้ คือขัดพระราชบริหารไม่ได้เท่านั้น แท้จริงเห็นใจกัน ดังนี้จึงทำให้ผู้น้อยกำเริบได้ใจ ฝ่ายผู้ใหญ่จะว่าผู้น้อยไม่ได้เต็มปาก ก็เพราะตนเองก็ประพฤติเหลวไหลอยู่เช่นนั้นเหมือนกัน ตรงกับโบราณภาษิตว่า "ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่" ไม่มีใครกล้าทำอะไรใครได้

 

          การที่ประพฤติผิดพระราชนิยมในข้อใดๆ ก็ไม่สำคัญเท่าในข้อที่เกี่ยวด้วยการมีครอบครัว เพราะหญิงดีย่อมเปนศรีแก่ชาย แต่หญิงร้ายย่อมนำความพินาศฉิบหายมาสู่ผู้ที่สมพาศ หาเสนียดจัญไรอย่างใดเสมอเหมือนได้โดยยาก เพราะฉะนั้นจึงทรงพระราชดำริห์ว่า เปนการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องทรงกวดขันเรื่องครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนักให้ยิ่งขึ้น เพื่อมิให้เปนที่ติฉินนินทาแห่งผู้อื่นได้ แต่ครั้นว่าจะเปนแต่เพียงพระราชทานพระบรมราโชวาทอย่างเช่นที่เคยมาแล้วนั้น ถ้าราชเสวกบางคนที่อวดฉลาดอวดดีก็จะหาหนทางหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกระแสพระบรมราโชวาท ก็จะเปนเครื่องเสื่อมเสียพระบรมเดชานุภาพ ทั้งจะเปนหนทางให้คนอวดดีอวดฉลาดมีความกำเริบได้ใจยิ่งขึ้น จึงเปนความจำเปนที่จะต้องจัดวางระเบียบลงไว้ให้เปนหลักฐานมั่นคง อันจะไม่มีหนทางหลีกเลี่ยงได้"  []

 

          จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ประกาศกฎมณเพียรบาล ว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ขึ้นไว้โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๗

 

 

เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล)
เสนาบดีกระทรวงวัง

 

 

          บุคคลที่อยู่ในบังคับแห่งกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้ คือ ข้าราชการในสังกัดกระทรวงวังรวมทั้งกรมขึ้น กรมราชเลขานุการ กรมพระคลังข้างที่ รวมทั้งข้าราชการในสังกัดกรมมหาดเล็กและกรมขึ้น ซึ่งรวมถึงข้าราชการและนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

          การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎมณเฑียรบาลนี้ขึ้นไว้ก็ด้วยพระราชประสงค์ให้มีการจัดทำเบียนครอบครัวของข้าราชการในพระราชสำนักอันเป็นต้นแบบของการจัดทำทะเบียนสำมโนครัวของกระทรวงมหาดไทยในเวลาต่อมาแล้ว ในกรณีที่ข้าราชการในพระราชสำนักมีภรรยาหลายคน กฎมณเฑียรบาลฉบังนี้ก็ได้วางบทบัญญัติให้ระบุนามภรรยาทั้งหมดนั้นลงทะเบียน รวมทั้งนามบุตรธิดาที่เกิดจากภรรยาทุกคน ด้วยมีพระราชดำริว่า การที่กฎหมายไทยอนุญาตให้ชายมีภรรยาได้หลายคน ทั้งยินยอมให้ชายได้หญิงไปเป็นภรรยาง่ายๆ และไล่หรือทิ้งเสียง่ายๆ เพียงเพราะ ารเลี้ยงเมียไว้พร้อมๆ กันหลายๆ คนเป็นการเปลืองทรัพย์มาก จึ่งได้เกิดมีธรรมเนียมเปลี่ยนเมียบ่อยๆ คืออยู่กับคนหนึ่งจนเบื่อแล้ว พอจะมีเมียใหม่ก็ไล่คนเก่าเสีย โดยหาเหตุเพียงเล็กน้อย หรือแม้ไม่มีเหตุเลยก็ได้ สมัยนี้มักใช้ลงแจ้งความในหนังสือพิมพ์แทนหย่ากันตามแบบเก่า ซึ่งสะดวกดีสำหรับผู้ชาย !"  [] นั้น นอกจากจะเป็นการกดขี่สตรีผู้เป็นภรรยาแล้ว ยังจะส่งผลเสียหายไปถึง "ทารกอันหาความผิดมิได้จะต้องแบกบาปรับความชั่วร้ายของแห่งบิดามารดา ? ขอให้นึกถึงความอัปยศซึ่งเด็กจะต้องรับเพราะไม่สามารถจะอธิบายได้ว่า เหตุใดบิดามารดาซึ่งยังมีชีวิตอยู่ จึงมิได้อยู่เป็นสามีภรรยากัน !"  [] อีกทั้งยังส่งผลไปถึงเรื่องมรดกซึ่งเป็นคดีความตกค้างอยู่ในศาลเป็นอันมาก เพราะศาลต้องเสียเวลาเกินกว่าที่ควร “ด้วยเหตุว่าเกือบจะเหลือวิสัยที่จะพิสูจน์ได้ว่า ผู้ร้องขอส่วนแบ่งนั้นจะเป็นภรรยาของผู้ตายหรือไม่ เพราะฉะนั้นการแต่งงานกันโดยธรรมดาโลก จึงไม่เป็นของง่ายสำหรับตุลาการศาลหลวงเลย และความยุ่งยากของกิจการแผนกนี้ ย่อมเป็นผลดีแก่พวกหมอกฎหมายทนายความเสียจริงๆ !"  []

 

 
 

 

[ ]   "กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก", ราชกิจจานุเบกษา ๓๑ (๑ สิงหาคม ๒๔๕๗), หน้า ๒๗๗ - ๓๐๘.

[ เรื่องเดียวกัน, ๑๐๕.

[ เรื่องเดียวกัน, ๔๗.

[ เรื่องเดียวกัน, ๕.

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |