โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๒๑ | ๑๒๒ | ๑๒๓ | ๑๒๔ | ๑๒๕ | ๑๒๖ | ๑๒๗ | ๑๒๘ | ๑๒๙ | ๑๓๐ | ถัดไป |

 

๑๒๒. ราชสำนักสยาม (๑)

 

          ราชสำนัก คือ สำนักหรือที่อยู่ของพระราชา และ/หรือพระมหาอุปราช

 

          ราชสำนักสยามจึงหมายถึงสำนักหรือที่ประทับและสถานที่ทรงงานของพระมหากษัตริย์และพระมหาอุปราช ราชสำนักสยามในยุคก่อนแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายพระบรมมหาราชวังหรือวังหลวง กับฝ่ายพระบวรราชวังหรือวังหน้า

 

          ธรรมดาขุนนางวังหลวงและวังหน้าต่างแยกกันปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ที่พระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวัง ต่อเมื่อสมเด็จพระมหาอุปราชเสด็จทิวงคตแล้ว ขุนนางวังหน้าต้องยกไปสมทบทำราชการรวมกับขุนนางวังหลวงที่พระบรมมหาราชวัง เมื่อกลับมามีวังหน้าอีกครั้งบรรดาขุนนางวังหน้านั้นก็จะยกกลับไปทำราชการที่พระบวรราชวัง สลับกันไปมาเช่นนี้จนเลิกธรรมเนียมการตั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

          ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงยุคปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ประเทศสยามคงใช้วิธีปกครองแบบจตุสดมภ์ ซึ่งแปลว่า "หลักทั้ง ๔" คือ เวียง (เมือง) วัง คลัง และนาตลอดมา

 

          ตำแหน่งเสนาบดีรวมทั้งตแหน่งราชการต่างๆ ในจตุสดมภ์นั้น มีทั้งที่พระบรมมหาราชวังหรือวังหลวงและที่พระบวรราชวังหรือวังหน้า ผู้เป็นหัวหน้าจตุสดมภ์นั้นเรียกว่า "เสนาบดี" คือ

 

          เสนาบดีพระคลังกรมท่า มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการรับจ่ายเงินในราชการ การจัดเก็บภาษี และการค้าขายกับต่างประเทศ
เสนาบดีเวียงหรือนครบาล ได้บังคับกองตระเวน และขุนแขวงอำเภอกำนันในเขตกรุง และบังคับการศาลพิจารณาความฉกรรจ์มหันตโทษ

 

          เสนาบดีวัง มีหน้าที่รับผิดชอบราชการในพระราชสำนักทั้งปวง

 

          เสนาบดีนา เป็นพนักงานดูแลรักษานาหลวง เก็บหางข้าวค่านาจากราษฎร เป็นพนักงานจัดซื้อข้าวขึ้นฉางหลวงสำหรับจ่ายในพระราชวังและการพระนคร

 

          เสนาบดีจุสดมภ์และข้าราชการฝ่ายพระบวรราชวังนั้น ต่างก็มีหน้าที่รับผิดชอบเช่นเดียวกับเสนาบดีและข้าราชการฝ่ายพระบรมมหาราชวัง เมื่อตำแหน่งกรมพระราชวังสถานมงคลว่างลง บรรดาเสนาบดีและข่าราชการฝ่ายพระบวรราชวังก็จะยกไปสมทบปฏิบัติราชการในกรมกองเดียวกันที่พระบรมมหาราชวัง ต่อเมื่อมีการสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นใหม่ เสนาบดีและข้าราชการฝ่ายพระยวรราชวังที่ไปสมทบรับราชการที่พระบรมมหาราชวังก็จะยกกลับมาปฏิบัติหน้าที่ที่พระบวรราชวังตามเดิม

 

          ต่อมามีการยกเสนาบดีจตุสดมภ์ฝ่ายพระบรมมหาราชวังขึ้นเป็นอรรคมหาเสนาอีก ๒ ตำแหน่ง คือ สมุหนายกได้บังคับกรมฝ่ายพลเรือนและปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ กับสมุหพระกระลาโหมได้บังคับกรมฝ่ายทหารทั่วไป และปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้และชายทะเลทั่วไป

 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลตอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงเครื่องบรมราชภูศิตาภรณ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๔๑๖

 

 

          กล่าวเฉพาะตำแหน่งเสนาบดีกรมวังซึ่งเป็นผู้บังคัฐบัญชาราชการในราชสำนักนั้น พระบาท-สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ใน "พระราชดำรัสในพระบาท-สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน" ว่า

 

"ตำแหน่งกรมวังนั้น เปนเสนาบดีในพระราชวัง เปนพนักงานที่จะรักษาพระราชมณเฑียรแลพระราชวังชั้นนอกชั้นใน เปนพนักงานที่จะจัดการพระราชพิธีทั้งปวงทั่วไป แลได้บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายหน้าบรรดาซึ่งมีตำแหน่งอยู่ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน แลข้าราชการฝ่ายในทั่วไป มีอำนาจที่จะตั้งศาลชำระความ ซึ่งเกี่ยวข้องด้วยสมในได้ทุกกระทรวง เจ้าพระยาธรรมามีกรมขึ้นที่ได้บังคับบัญชามากกว่าจตุสดมภ์เสนาบดีอื่นๆ ในกรมวังนี้ก็ไม่มีธรรมเนียมอันใดที่จะเปลี่ยนแปลงไปกว่าแต่ก่อน... ส่วนราชการของกรมวังนั้น ลเอียดมากกว่าราชการในกรมเมือง ต้องการความรู้ราชการ ความจำทรงความหม่นความเพียรมาก ก็ไม่มีผู้ใดที่จะเต็มใจรับตำแหน่งนั้น เสนาบดีกรมวังก็มักจะตกอยู่ในผู้ซึ่งเปนขุนนางเก่าแก่ ซึ่งไม่สามารถจะทำการตามตำแหน่งของตัวได้ แต่ราชการในกรมวังจะละให้บกพร่องไปไม่ได้ จึงต้องมีเจ้านายบ้างขุนนางบ้าง เข้าแทรกแซงบังคับบัญชาการ จนเสนาบดีกรมวังเกือบจะเปนแต่ผู้ที่ได้รับเบี้ยหวัดเปนขุนนางสูงอายุเปล่าๆ โดยมาก เมื่อตำแหน่งเปนเช่นนั้น ก็ไม่มีผู้ใดจะสมัคมาอยู่ในกรมวังจนหาตัวตั้งไม่ใคร่ได้ ราชการนกรมวังที่เปนส่วนราชประเพณีฤาการในพระราชวัง ไม่สู้เปนการเสื่อมทรามอันใดไปได้ ด้วยเปนการติดเนื่องกันอยู่ในพระองค์เจ้าแผ่นดิน" []

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ นั้น

 

"เพราะพระเจ้าแผ่นดินยังทรงพระเยาว์ ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินว่าราชการแทนพระองค์ การอย่างนี้ไม่มีตำรับตำรามาแต่ก่อน นอกจากปรากฏในพงศาวดารว่าเคยมีเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ล้วนเกิดภัยอันตรายแก่พระเจ้าแผ่นดินทุกครั้ง เมื่อจะต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินขึ้นอีก คนทั้งหลายจึงพากันหวาดหวั่นอยู่ทั่วไป"

 

 

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

 

 

          เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  [] คงจะได้คิดเห็นและตริตรองหาอุบายแก้ไขความลำบากเรื่องนี้มาแต่แรกรู้ตัวว่าจะต้องเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ข้อนี้พึงเห็นได้ในความคิดของท่านที่ยกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญขึ้นเป็นมหาอุปราช  [] และเมื่อที่ประชุมพระราชวงศ์กับเสนาบดีพร้อมกัน สมมุติตัวท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ท่านขอให้สมมุติสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ เป็นผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนักอีกพระองค์หนึ่ง ก็คงเป็นโดยประสงค์จะมิให้คนทั้งหลายมุ่งเอาตัวท่านคนเดียวเป็นผู้รับผิดชอบ

 

เห็นจะเป็นด้วยความดำริดังกล่าวมา เมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๕ จึงวางระเบียบราชการให้มีหัวหน้าบัญชาการคล้ายกันเป็น ๓ แผนก คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (มีอำนาจเหนือแผนกอื่นทั่วไป) สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์  [] เป็นผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนัก แต่การในพระราชสำนักนั้นยอมกำหนดเป็น ๒ ฝ่าย คือ

 

 

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

(ช่วง บุนนาค)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา
 กรมพระยาบำราบปรปักษ์
สมเด็จพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ  
กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

 

 

          ฝ่ายหน้า บังคับบัญชาว่ากล่าวส่วนผู้ชายฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใน บังคับบัญชาว่ากล่าวส่วนผู้หญิงฝ่ายหนึ่ง ในรัชกาลที่ ๕ กรมพระสุดารัตนราชประยูร  ซึ่งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้ทรงบัญชาการฝ่ายในอีกพระองค์หนึ่ง" []

 

          ต่อมาในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดปันหน้าที่ราชการของเสนาบดี ๖ ตำแหน่งที่มีอยู่เดิมเป็น ๑๒ กรม ให้แต่ละกรมมีหน้าที่รับผิดชอบราชการด้านต่างๆ แยกจากกันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมวังซึ่ง "ว่าการในพระราชวัง แลกรมซึ่งใกล้เคียงรับราชการในพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน"  [] เป็นกระทรวงเสนาบดีเรียกว่า "กระทรวงวัง" แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล [] พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา [] สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ [] และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ [๑๐] ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังสืบต่อกันมาจนถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

          กระทรวงวังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีกรมกองในสังกัดที่ยกมาจากกรมกองเดิมที่เคยขึ้นในสังกัดเสนาบดีกรมวังในยุคจตุสดมภ์ คือ

               ๑. กรมบัญชาการ

               ๒. กองพระราชพิธี

               ๓. กองศาลรับสั่ง

               ๔. กองตำรวจ

               ๕. กองโยธาวัง

               ๖. กรมวังนอก บังคับการพลชาววัง

               ๗. กรมคลังวรภาชน์

               ๘. กรมม้าพระที่นั่ง

               ๙. กรมคลังราชการ

               ๑๐. กรมช่างทอง

               ๑๑. กรมคลังศุภรัต

               ๑๒.กรมสนมพลเรือน

               ๑๓.กรมภูษามาลา

               ๑๔. กรมแสงหอกดาบ

               ๑๕. กรมพระแสงสรรพายุทธ์

               ๑๖. กรมพราหมณ์พิธี

               ๑๗. กรมพราหมณ์พฤฒิบาศ

               ๑๘. กรมโหร

               ๑๙. กรมน้ำสรง

               ๒๐. กรมอภิรมย์

               ๒๑. กรมราชยาน

               ๒๒. กรมพระราชอุทยานสราญรมย์

               ๒๓. กรมฝีพายและช่าง ๑๐ หมู่

               ๒๔. กรมหมอ

 

 

 


[ ]  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน , หน้า ๑๐ - ๑๑.

[ ]  นามเดิม ช่วง บุนนาค. ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์

[ ]  เฉลิมพระนามาภิไธยว่า กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์

[ ]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๕, หน้า ๒๑๙ - ๒๒๐.

[ ]  พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๕, หน้า ๕๘.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

[ ๑๐ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |