โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๒๑ | ๑๒๒ | ๑๒๓ | ๑๒๔ | ๑๒๕ | ๑๒๖ | ๑๒๗ | ๑๒๘ | ๑๒๙ | ๑๓๐ | ถัดไป |

 

๑๒๓. ราชสำนักสยาม ()

 

          นอกจากกรมกองในกระทรวงวังซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการพระราชประเพณีต่างๆ แล้ว ในพระราชวังยังมีส่วนราชการอีกหน่วยหนึ่งเรียกว่า กรมมหาดเล็ก เป็นส่วนราชการอิสระขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อคราวจัดระเบียบราชการกระทรวงวังใน พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมมหาดเล็กไปรวมอยู่ในกระทรวงวัง แต่ยังคงฐานะเป็นกรมอิสระขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์เช่นเดิม

 

          ครั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๐ แล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปรับเปลี่ยนการจัดระเบียบราชการในกรมมหาดเล็กเสียใหม่ ดังปรากฏความใน "แบบเรียนราชการกรมมหาดเล็ก" สำหรับใช้สอนนักเรียนในโรงเรียนมหาดเล็ก ครั้งรัชกาลที่ ๕ ว่า

 

                   "๑. กรมมหาดเล็ก เป็นตำแหน่งราชการในพระราชสำนัก รวมอยู่ในกระทรวงวัง

 

                    ๒. ตำแหน่งต่างๆ ในกรมมหาดเล็ก ทุกวันนี้จัดเป็น ๗ ชั้น คือ

                              (๑) ผู้บัญชาการกรมมหาดเล็ก

                              (๒) จางวาง หัวหมื่น

                              (๓) นายเวร

                              (๔) จ่า

                              (๕) หุ้มแพร

                              (๖) นายรอง

                              (๗) มหาดเล็กวิเศษ

 

                              ต่อไปนี้ยังมี "สารวัดมหาดเล็ก" และ "มหาดเล็กยาม" อีก ๒ พวก แต่ไม่ได้นับเข้าในลำดับชั้นข้างบน

 

                    ๓. ตำแหน่งราชการในกรมมหาดเล็ก ตามธรรมเนียมแต่ก่อนจัดเป็น ๔ เวร คือ เวรศักดิ์ เวรสิทธิ์ เวรฤทธิ์ เวรเดช หน้าที่ราชการที่มีทั้ง ๔ เวรนั้นก็เหมือนกัน แต่ผลัดกันเป็นข้างขึ้นข้างแรม และมีเวลาผลัดเปลี่ยนกันใน ๔ เวรนั้น จึงเรียกว่า "เวร" ข้าราชการในกรมมหาดเล็กชั้นตั้งแต่หัวหมื่นลงมานั้น เป็นตำแหน่งประจำเวรคือ

 

เวรศักดิ์

เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี

 

หลวงศักดิ์ นายเวร

 

นายจ่ายง

 
นายฉัน หุ้มแพรต้นเชือก
นายสนิท หุ้มแพร

นายชัยขรรค์

"
นายสนองราชบรรหาร "
นายพินัยราชกิจ "
นายรอง ๕ คน ตรงกับหุ้มแพร
เวรสิทธิ์  เจ้าหมื่นเสมอใจราช  
  หลวงสิทธิ์ นายเวร
  นายจ่ายวด  
  นายชิด หุ้มแพรต้นเชือก
  นายสุดจินดา หุ้มแพร
  นายพลพ่าย "
  นายเสนองานประพาส "
  นายพินัยราชการ "
  นายรอง ๕ คน ตรงกับหุ้มแพร
เวรฤทธิ์ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ  
  หลวงฤทธิ์ นายเวร
  นายจ่าเรศ  
  นายกวด หุ้มแพรต้นเชือก
  นายเล่ห์อาวุธ หุ้มแพร
  นายพลพัน "
  นายบำเรอบรมบาท "
  นายพิจิตรสรรพการ "
  นายรอง ๕ คน ตรงกับหุ้มแพร
เวรเดช เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์  
  หลวงเดช นายเวร
  นายจ่ารง  
  นายขัน หุ้มแพรต้นเชือก
  นายเสน่ห์ หุ้มแพร
  นายสรรพวิชัย "
  นายบำรุงราชบทมาลย์ "
  นายพิจารณ์สรรพกิจ "
  นายรอง ๕ คน ตรงกับหุ้มแพร

 

          แต่หน้าที่ราชการในทุกวันนี้ หาได้คงอยู่ตามเดิมไม่ คือเมื่อ ร.ศ. ๑๑๖ [] ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงหน้าที่ราชการ คือเวรหนึ่งก็ให้มีหน้าที่ราชการประจำโดยเฉพาะเวรนั้น ไม่ให้เป็นเวรผลัดเปลี่ยนกัน ดังจะมีแจ้งอยู่ในข้างหน้าต่อไป

 

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์

 

 

                    ๔. ตำแหน่งผู้บัญชาการกรมมหาดเล็กนั้นเป็นตำแหน่งสูงสุดในกรมนั้น ยังมิได้เคยโปรดเกล้าฯ ตั้งผู้ใดนอกจากพระราชโอรสซึ่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ให้เป็นผู้บัญชาการ ตำแหน่งนี้มีหน้าที่สำหรับบังคับบัญชาการในกรมมหาดเล็กทั่วไป ได้มีมาเป็นครั้งที่สุดนั้น คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์สิ้นพระชนม์  [] เสียแล้วนั้น ยังหาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระองค์ใดพระองค์หนึ่งอีกไม่ จึงเป็นตำแหน่งว่างอยู่

 

                    ๕. ตำแหน่งจางวาง  [] นั้น แต่เดิมมาเป็นตำแหน่งเหนือหัวหมื่นขึ้นไป มีหน้าที่ที่จะดูแลผิดชอบในกรมมหาดเล็กทั่วไป ไม่ประจำเวร เคยมีตำแหน่งยศเป็นพระยาและเจ้าพระยา และเมื่อจัดหน้าที่ราชการกรมมหาดเล็กใหม่ ใน "พระบรมราชโองการเปลี่ยนแปลงกรมมหาดเล็ก รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ มีว่าดังนี้

 

                   "(๑) จางวางมีหน้าที่อันจะเป็นผู้ชี้ขาดผิดและชอบในกรมมหาดเล็ก และเป็นผู้แนะนำขนบธรรมเนียมและตรวจตราจริตกิริยามหาดเล็ก อันจะเข้าสู่หน้าพระที่นั่ง ฯ ท้องพระโรงที่เสด็จออกก็ดี ที่ประพาสก็ดี และเป็นผู้รวบรวมบัญชีระเบียบยศ ระเบียบตำแหน่ง จำนวนคน และอายุพรรษกาลแห่งข้าราชการในกรมมหาดเล็ก ดังนี้ คือ

 

                    (ก) อรรถคดีอันใดอันเกิดแต่หมู่มหาดเล็ก จะเป็นวิวาทโต้เถียงกันส่วนตนก็ดี เกี่ยงแย่งในหน้าที่ราชการก็ดี จางวางเป็นหน้าที่จะชี้แจงผิดและชอบโดยขนบธรรมเนียมแห่งราชการนั้น

 

                    (ข) เป็นผู้ตรวจตราจริตกิริยามหาดเล็ก อันจะเข้าเฝ้าทูลละอองให้ประพฤติอาการคล่องแคล่ว มิให้ทำอาการเกะกะอันเป็นที่รำคาญพระเนตรด้วยความฟุ้งซ่านก็ดี ด้วยโฉดเขลาก็ดี หรือเซอะก็ดี เป็นหน้าที่จางวางจะแนะนำและสั่งสอนเฉพาะผู้นั้นอย่าให้กระทำการเช่นนั้นได้

 

                    (ค) เป็นผู้รวบรวมบัญชีสำมะโนครัวคนที่มีสังกัดในกรมมหาดเล็กทั้งปวง ทั้ง ๔ เวร ให้รู้ระเบียบผู้ที่เข้าออกไปมาดังนี้ ๑. เวรนั้น ๒. ชื่อผู้นั้น ๓. บุตรผู้นั้น ๔. อายุเท่านั้น ๕. ถวายตัวหรือเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็กแต่วันเดือนปีนั้น ๖. บ้านอยู่ตำบลนั้น ๗. ประกอบการเลี้ยงชีพอย่างนั้น ๘. ได้รับราชการสิ่งนั้นเมื่อนั้น ๙. ผลของราชการเป็นดังนั้น ๑๐. ออกไปเป็นตำแหน่งในกระทรวง หรือถึงแก่กรรม หรือทุพพลภาพที่จะลาออกจากตำแหน่งเป็นอันควรยกจากบัญชีแต่วันเดือนปีนั้น

 

                    (ฆ) เป็นหน้าที่เอาใจใส่สืบสวนความประพฤติของมหาดเล็ก อันรับราชการในชั้นสูง ที่ประพฤติชั่วไม่สมควรแก่การที่จะทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้มีตำแหน่งสูง คือ ๑. เป็นนักเลงสุราอันเสพมีนเมาเนืองนิตย์มิอาจจะละเว้นได้ ๒. เป็นนักเลงบ่อนเบี้ยที่ปรากฏว่าไปเล่นเนืองนิตย์ ๓. เป็นนักเลงติดยาฝิ่น ๔. เป็นโจรมือไว ๕. ทำชู้ด้วยด้วยภรรยาท่านที่ศาลพิพากษาให้แพ้คดี ๖. ต้องคดีถึงล้มละลายให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาตามเหตุผลบรรดาที่ปรากฏจงทุกเรื่องทุกราย สุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

 

                    (ง) เป็นหน้าที่จะตักเตือนและรับรายงานของมหาดเล็กที่ไปทำการต่างๆ นำกราบบังคมทูลพระกรุณาในโอกาสอันสมควร มีหุ้มแพรพิเศษช่วยราชการในหน้าที่นี้พอสมควร"

 

                    จางวางที่มีตัวอยู่เดี๋ยวนี้ คือ เจ้าพระยานรรัตน์ราชมานิต [] ๑ พระยานรฤทธิ์ราชหัช  [] ๑ พระยาศิริสัตยสถิต  [] ๑ ตำแหน่งพระยามนตรีสุริยวงศ์ พระยาวรพงษ์พิพัฒน์เป็นตำแหน่งจางวางมหาดเล็กแต่ก่อน และเจ้าพระยาภาษกรวงศ์  [] เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์  [] เดิมก็เป็นจางวางมหาดเล็กมาแล้ว ภายหลังจึงเลื่อนไปรับราชการอยู่ในตำแหน่งสูงต่อไป

 

 

ข้าราชสำนักในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว

ซึ่งได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖

(แถวนั่งจากซ้าย)

๑. นายจ่าเรศ (ทับทิม อมาตยกุล - พระยาบุษยรถบดี)

๒. พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์)

๓. พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล - เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี)

(แถวยืนจากซ้าย)

๑. เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (ม.ร.ว.จิตร สุทัศน์ - พระยาศรีวรวงศ์)

๒. เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (ม.ล.วราห์ กุญชร - พระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์)

๓. เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี (เพิ่ม ไกรฤกษ์ - พระยาประเสริฐศุภกิจ)

๔. หลวงศักดิ์ นายเวร (ม.ร.ว.ลภ อรุณวงษ์ - พระยาไพชยนต์เทพ)

 

 

                    ๗. หน้าที่ราชการในกรมมหาดเล็กทั้ง ๔ เวร ตามที่จัดใหม่นั้น  [] มีดังนี้คือ

 

                    ก. เวรศักดิ์ เป็นเวรที่รับราชการประจำใกล้ชิดพระองค์ และโดยเสด็จพระราชดำเนินเป็นต้น รวมเรียกว่า "มหาดเล็กประจำการ มีหัวหมื่นคือ เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีเป็นผู้บังคับการ ใน "พระบรมราชโองการเปลี่ยนแปลงกรมมหาดเล็ก รัตนโกสินทรศก ๑๑๖" มีว่าดังนี้

 

                              "(๒) ตำแหน่งเวรศักดิ์ มีหัวหมื่น ๑ นายเวร ๑ จ่า ๑ ได้บังคับบัญชามหาดเล็กมีจำนวน ๕๐ คน มีหน้าที่ราชการดังนี้

                                        (ก) เป็นพนักงานประจำพระองค์สำหรับรับใช้ทุกเวลา

 

                                        (ข) เป็นพนักงานจัดการเลี้ยงโต๊ะและตั้งเครื่อง และรับเจ้าต่างประเทศ

 

                                        (ค) เป็นผู้จัดเครื่องบรรดาราชูปโภคสำหรับพระองค์ และเป็นหน้าที่ติดตามเสด็จพระราชดำเนินและดูแลพระเจ้าลูกเธอทั้งปวง

 

                                        (ฆ) เป็นหน้าที่เชิญพระราชหัตถเลขาต่างๆ ด้วย

 

                              พวกนี้มีเงินเดือนสูง และต้องเป็นเวรยามประจำราชการทั้งกลางวันกลางคืน มีตำแหน่งหัวหมื่น ๑ นายเวร ๑ จ่า ๑ หุ้มแพร ๒๐ นายรอง ๒๐ และมหาดเล็กวิเศษ ๑๐ บรรดาตำแหน่งในพระบรมมหาราชวัง และเมื่อรับราชการช้านานแก้ชราทุพพลภาพ คงได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดในตำแหน่งคงกรมด้วย"

 

 

 


[ ]  พ.ศ. ๒๔๔๐.

[ ]  สิ้นพระชนม์ด้วยโรคบิด เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒)

[ ]  จางวางมหาดเล็กนี้ ปรากฏนามในพระราชบันทึกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "ทำเนียบนามข้าราชการกรมมหาดเล็ก" ดังนี้

จงวาง (นา ๓๐๐๐) พระยาวรพงษ์พิพัฒน์, พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ สองตำแหน่งนี้กำหนดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ พระยานรรัตน-ราชมานิต, พระยานรฤทธิ์ราชหัช, พระยาศิริรัตน์สถิต, พระยาวรสิทธิเสวิวัตร์ สี่ตำแหน่งนี้กำหนดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๕ พระยาประเสริฐศุภิจ, พระยาระสิทธิ์ศุภการ, พระยาบำรุงราชบริพาร, พระยาบริหารราชมานพ สี่ตำแหน่งนี้กำหนดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๖

จางวางผู้ช่วย (นา ๒๐๐) พระยาบำเรอบริรักษ์, พระยาภักดีภูบาล เดิมเป็นจำแหน่งจางวางในทำเนียบวังหน้า มีมาแต่กรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลที่ ๔ จัดเป็นตำแหน่งจางวางผู้ช่วย ปลัดจางวาง (นา ๑๐๐๐) พระดรุณรักษา, พระพลัศฎานุรักษ์ จางวางผู้ช่วยและปลัดจางวางนี้กำหนดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔

[ ]  นามเดิม โต มานิตยกุล

[ ]  นามเดิม ทองดี โชติกเสถียร ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี จางวางกรมวังในราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง

[ ]  นามเดิม จัน พราหมณะนันทน์

[ ]  นามเดิม พร บุนนาค

[ ]  นามเดิม ม.ร.ว.หลาน กุญชร

[ ]  เป็นการจัดตามพระราชบัญญัติกรมมหาดเล็ก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นไว้ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖)

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |