โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๒๑ | ๑๒๒ | ๑๒๓ | ๑๒๔ | ๑๒๕ | ๑๒๖ | ๑๒๗ | ๑๒๘ | ๑๒๙ | ๑๓๐ | ถัดไป |

 

๑๒๕. ราชสำนักฝ่ายใน สมัยรัชกาลที่ ๖ ()

 

          พระราชสำนักฝ่ายในแต่เดิมมานั้น นอกจากจะเป็นประทับทรงพระราชสำราญในพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังเป็นที่ประทับของพระมเหสี เจ้าจอม พระราชธิดา ตลอดจนพระบรมวงศ์ฝ่ายในในรัชกาลอื่น รวมทั้งสตรีที่ได้ถวายตัวเป็น "คนหลวง" ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ "อยู่ในวังหลวงเป็นคุณพนักงาน กินเบี้ยหวัดเงินปี รับราชการจัดโน้นจัดนี้เวลามีงานพระราชพิธี มีสิทธิอยู่อาศัยเป็นแห่งๆ ในวังหลวงจนตลอดชีวิต"  []

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต บรรดาพระมเหสีและเจ้าจอมตลอดจนพระบรมวงศ์และคุณพนักงานฝ่ายในก็ตกทอดมาเป็นพระบรมวงศ์และข้าราชสำนักฝ่ายในในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงถวายราชการฝ่ายในนี้ไว้ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทรงบังคับบัญชาราชการเป็นสิทธิ์ขาด เช่นเดียวกับ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยถวายราชการฝ่ายในไว้ในบังคับบัญชาของสมเด็จกรมพระยาสุดา รัตนราชประยูร ซึ่งทรงดำรงพระอิสริยยศเสมอสมเด็จพระบรมราชชนนี ครั้นสมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ แล้ว ก็ทรงถวายราชการฝ่ายในไว้ในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี [] ซึ่งทรงเป็นพระมาตุจฉาเจ้า ให้ทรงบังคับบัญชาโดยสิทธิ์ขาดต่อมาตราบสิ้นรัชกาลใน พ.ศ. ๒๔๖๘

 

          อนึ่ง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปประทับทรงศึกษาวิชาการ ณ ประเทศอังกฤษ และทรงเจริญพระชนมายุในวัยหนุ่มมาในท่ามกลางชนชั้นผู้ดีในสังคมอังกฤษเป็นเวลาถึง ๙ ปี

 

          "ทรงพระเจริญวัยขึ้นในท่ามกลางคนร่วมชาติที่อยู่ในประเทศนั้น ที่เป็นผู้ใหญ่เพียง ๒ - ๓ คน กล่าวคือ

                    ๑. กรมหมื่นสวัสดิวัตนวิสิษฐ์  []

                    ๒. เจ้าพระยาพระเสด็จ [] (เปีย มาลากุล) พระอาจารย์ภาษาไทย ซึ่งอยู่พอทรงได้โดยพระองค์เองแล้วก็กลับ

                    ๓. เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด ศุภมิตร) ในตำแหน่งพระพี่เลี้ยง

                    ๔. เจ้าพระยาพิชเยนทรฯ  [] (อุ่ม อินทรโยธิน) องครักษ์

                    ๕. พระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์) ในตำแหน่งเพื่อนนักเรียน

 

                    นอกจากผู้ที่ออกนามมาแล้วนี้ ก็มีพวกราชทูตของเรา กล่าวคือพวกคนดีที่เป็นชั้นข้าราชการเก่าๆ ที่ไม่รู้ภาษาต่างประเทศพอ จึ่งอยู่ๆ กลับๆ กันโดยมาก เหลือพวกที่รู้ภาษาต่างประเทศดีอยู่นานๆ ก็มีพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เป็นต้น คนที่รู้ประวัติของท่านพวกนี้อย่างดี ก็ไม่สามารถจะกล่าวได้ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นผู้สามารถผสม East กับ West ได้ตามควรแก่เวลา ทั้งความรู้ความสามารถของเขานั้นก็น่าสงสัยว่าจะมีดีพอที่จะ Bring up our future King หรือไม่?"  []

 

          นอกจากนั้นนายพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์) ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จออกไปศึกษาวิชาที่ประเทศอังกฤษในฐานะพระสหายร่วมชั้นเรียน ก็ได้บันทึกไว้ใน "ประวัติ ของ พนะท่าน พลเอก อุ่ม พิชเยนทรโยธิน" []  ว่า "ไนตอนแรกพระบาทสมเด็จพระมงกุตเกล้าฯ ยังซงสึกสาวิชาสามัญหยู่ที่เมืองแอสค๊อต ราชองครักส์ทั้งสองจึงต้องหยู่ในกรุงลอนดอน ระหว่างนั้นท่านอุ่ม พิชเยนทรโยธินได้ไปเฝ้าทุกสัปดาห์"  [] เมื่อเสด็จไปประทับที่พระตำหนักเกรตนี เพื่อเตรียมพระองค์เสด็จเข้าทรงศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ ราชองครักษ์ทั้งสองจึงได้ไปอยู่ประจำถวายอารักขาที่พระตำหนักนั้น และได้ตามเสด็จไปพำนักอยู่ที่พระตำหนักคาเทรบ เมืองออกซฟอร์ดในระหว่างที่เสด็จไปทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ครั้นทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จนิวัติพระนครใน พ.ศ. ๒๔๔๕ ราชองครักษ์ทั้งสองนั้นจึงได้โดยเสด็จกลับมาด้วย

 

          จึงกล่าวได้ว่า ตลอดเวลาที่ประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซึมซับการใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาในสังคมอังกฤษยุควิคตอเรียนไว้อย่างเต็มที่ แม้เสด็จกลับกรุงเทพฯ แล้วก็ยังคงระลึกถึงวิถีชีวิตแบบอังกฤษอยู่มิเสื่อมคลาย ดังปรากฏความในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานไปยังพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ที่โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษตอนหนึ่งว่า

 

          "ลุงพอใจที่ได้ทราบจากจดหมายของหนูว่า หนูเฃ้าโรงเรียนแฮร์โรว์ได้, ต้องนับว่าหนูดีกว่าลุงอีก, เพราะลุงเองได้เรียนอยู่แต่กับบ้านแล้ว ก็เลยไปเฃ้าโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์ตทีเดียว. การไปเฃ้า Public School อย่างเช่นแฮร์โรว์นั้น นับว่าเปนประโยชน์ดีมากในทางอบรมนิสัยและได้รู้จักลูกผู้ดีมากในทางอบรมนิสัยและได้รู้จักลูกผู้ดีอังกฤษมาก, จะได้รู้นิสัยใจคอของเฃาดีๆ. ถึงในเวลาที่เด็กๆ จะยังแลไม่เห็นประโยชน์ก็จริง, แต่ต่อไปฃ้างน่า เมื่อหนูเปนผู้ใหญ่ขึ้นแล้วคงจะต้องรู้สึกประโยชน์นั้นเองมากทีเดียว. หนูก็ได้ออกไปเรียนอยู่ที่เมืองอังกฤษนานแล้ว, ฉนั้นคงจะได้สังเกตเห็นเองแล้ว ว่าคนอังกฤษนั้นต้องคุ้นเคยกันจริงๆ จึ่งจะได้รู้นิสัยใจคอของเฃา. ดูเผินๆ ชาวต่างชาติมักติอังกฤษว่าจองหอง, แต่แท้จริงเฃาเปนเปนชาติที่เรียกตระหนี่ตัว, คบคนยาก, แต่ถ้าได้รู้จักดีๆ แล้วเปนมิตรดี. ในเวลานี้เปนโอกาสดีที่หนูจะได้สมาคมกับคนอังกฤษดีๆ และได้แลเห็นความเป็นไปอย่างคนสามัญ, ฉะนั้นลุงขอแนะนำว่าอย่าปล่อยโอกาสอันนี้ล่วงเลยไป. ในเมื่อกลับเฃ้ามาบ้านเมืองของเราแล้วหนูจะต้องมาเปนเจ้นายเสียจนระอาเสียอีก, เวลานี้หัดเปนคนเสียก่อนเถิด, อย่าเพ่อเปนเจ้าเลย."  []

 

          การที่มีพระราชปรารภว่า ต้องทรง "เปนเจ้านายเสียจนระอา"  [๑๐] นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชหัตถเลขาพระราชทานไปยังนายคอลเชสเตอร์ - วีมซ (Maynard Willoughby Colchester - Wemyss) พระสหายชาวอังกฤษและเป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในสมัยที่ประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๘ ว่า "พอหมดเวลาราชการแล้วมีอะไรให้ทำน้อยเหลือเกิน ไม่มีโรงละครให้ไปดูอย่างที่อังกฤษ... บางคืนเมื่อฉันถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพัง ฉันอยากให้ตัวเองกลับไปอยู่ที่อังกฤษ อย่างน้อยฉันก็อาจไปไหนและทำตัวเยี่ยงสามัญชนทั่วไปได้"  [๑๑]

 

          ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช จึงมีลักษณะผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตก กล่าวคือ เป็นราชสำนักที่แยกเป็นฝ่ายหน้าและฝ่ายในตามโบราณราชประเพณี แต่ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นโปรดที่จะประทับทางฝ่ายหน้าตามวิถีครอบครัวอังกฤษยุควิคตอเรียนที่มีการแยกสังคมชายหญิงออกจากกัน

 

          นอกจากนั้นในหมู่พระราชวงศ์ไทยยังมีธรรมเนียมสำคัญที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ คือ เมื่อเจ้านายจะทรงอภิเษกสมรสด้วยหญิงใดก็ตาม ต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนทุกครั้ง อีกทั้ง

 

          "ตามโบราณขัตติยราชประเพณี พระมหเสีขององค์พระมหากษัตริย์ไทย จะต้องทรงเลือกเฟ้นจากพระน้องนาง ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพระบรมชนกนาถพระองค์เดียวกัน จึงจะถือว่าพระราชโอรสพระราชธิดาที่ทรงกำเนิดมา จะได้เป็นจ้าวนายผู้สูงศักดิ์ คือเกิดดีทั้งสองฝ่าย ซึ่งตามวัฒนธรรมซึ่งเรารับมาจากอินเดีย ถือว่าเป็นอุภโตสุชาติ คือเกิดดีทั้งสองฝ่าย ดังนั้นพระอัครมเหสีของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ก็คือพระน้องนางเธอของพระองค์ท่าน คือเป็นพระเจ้าอาของพระเจ้าแผ่นดินต่อมานั้นเอง ซึ่งทั้งนี้เป็นเหตุให้ทรงตะขิดตะขวงพระราชหฤทัย เพราะได้ทรงเสวนากับอารยะธรรมของยุโรป ซึ่งเขาถือกันยิ่งนักว่า ญาติที่ใกล้ชิดไม่สมควรจะแต่งงานกัน ทำให้การสืบสายโลหิตไม่เป็นไปตามทางที่ควร จึงทรงรังเกียจที่จะทำเช่นนั้น เพราะเกรงฝรั่งจะนินทานี้อย่างหนึ่ง และนอกจากนี้ทรงพระราชดำริว่า ถ้าหากทรงมีพระอัครมเหสี หรือเรียกอย่างสามัญว่ามีเมียเสียแล้ว จะทรงบำเพ็ญหน้าที่การงานให้แก่ประเทศชาติไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะอาจจะต้องเป็นกังวลเรื่องลูกเมียเพิ่มขึ้นอีก"  [๑๒]

 

 

ท้าวอินทสุริยา (เชื้อ พึ่งบุญ)

 

 

          ฉะนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตพระนครแล้ว จึงทรงดำรงพระองค์เป็นโสดมาตลอด แม้ในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรง "ถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่" แต่ก็ให้มีเหตุขัดข้องทำให้มิได้ทรงอภิเษกสมรส ครั้นเสด็จเสวยสิริราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ก็ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อนำสยามประเทศก้าวขึ้นสูการยอมรับของนานาอารยประเทศ ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงประทับอยู่แต่ในพระราชฐานฝ่ายหน้าแวดล้อมด้วยมหาดเล็กและกรมวังที่เป็นผู้ชาย ส่วนราชสำนักฝ่ายในคงปรากฏแต่คุณเชื้อ พึ่งบุญ [๑๓] ธิดาของพระนมทัด และเป็นผู้ที่ "ร่วมนมในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว"  [๑๔] เป็นคุณพนักงานฝ่ายในในตำแหน่งพนักงานพระภูษาและพระสุคนธ์เพียงคนเดียวมาตั้งแต่แรกเสด็จนิวัตพระนคร และ "ไม่ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินประพาศหัวเมืองแห่งใด ท้าวอินทรสุริยา มีน่าที่โดยเสด็จพระระราชดำเนินแทบทุกคราว ครั้นต่อมาตอนท้ายรัชชกาลของพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอินทรสุริยารับน่าที่หัวหน้าพระเครื่องต้นไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง"  [๑๕]

 

          ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำสยามประเทศเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ ๑ จนประเทศสยามได้รับชัยชนะในสงคราม และรัฐบาลสบช่องเรียกร้องขอแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐอเมริกาจนเป็นผลสำเร็จใน พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้ว จึงมีมหาดเล็กผู้ถวายงานใกล้ชิดได้ยินพระราชดำรัสว่า "รบศึกยังไม่ชนะ ยังไม่มีเมีย ชนะศึกมีเมียได้แล้ว"  [๑๖] ส่วนการที่ทรงรั้งรอมานั้นมีพระบรมราชาธิบายพระราชทานพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี) ว่า "ถ้าฉันอยากมีเมียก็มีได้เสียนานแล้ว แต่เห็นว่าการรักด้วยหลงนั้นก็เพียงอยู่ครู่เดียวแล้วก็หาย จึงอยากได้เมียที่เป็นเพื่อนได้ ก็ต้องรอมาเช่นนี้"  [๑๗]

 

 

 


[ ]  เจรียง (อากาศวรรธนะ) ลัดพลี. รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ, หน้า ๑๕.

[ ]  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า และเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์

[ ]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์

[ ]  เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.ปัย มาลากุล)

[ ]  เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน

[ ]  พระราชวงศ์จักรี, หน้า ๒๓๑ - ๒๓๒.

[ ]  เดิมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน แล้วถูกเวนคืนบรรดาศักดิ์ตามประกาศพระบรมราชโองการ เรื่องการยกเลิกบรรดาศักดิ์ ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕.

[ ]  ประวัติ พนะท่าน พลเอก อุ่ม พิชเยนทรโยธิน ผู้สำเหร็ดราชการแทนพระองค์ เรียบเรียง โดย พนะท่านวิจิตร วิจิตรวาทการ, หน้า ๑๔.

[ ]  อรสุม สุทธิสาคร และสุธาทิพย์ โมราลาย. ๑๐๐ปี จุลจักรพงษ์ ๑๙๐๘ - ๒๐๐๘, หน้า ๕๘ - ๕๙.

[ ๑๐ ]  ๑๐๐ปี จุลจักรพงษ์ ๑๙๐๘ - ๒๐๐๘, หน้า ๖๐.

[ ๑๑ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชากับคหบดีแห่งชนบท (The King and the Squire), หน้า ๑๕.

[ ๑๒ ]  อนุสรณ์ "ศุกรหัศน์", หน้า ๓๑๓ - ๓๑๔.

[ ๑๓ ]  เป็นธิดาคนโตของพระนมทัด พึ่งบุญ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ท้าวอินทสุริยา ตำแหน่งพนักงานพระภูษาและว่าการครัวพระเข้าต้น

[ ๑๔ ]  "ประวัติ ท้าวอินทรสุริยา", จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสสหรัฐมะลายู พุทธศักราช ๒๔๖๗,. (ไม่ปรากฏเลขหน้า)

[ ๑๕ ]  จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสสหรัฐมะลายู พุทธศักราช ๒๔๖๗,. (ไม่ปรากฏเลขหน้า)

[ ๑๖ ]  อนุสรณ์ "ศุกรหัศน์", หน้า ๑๗๙.

[ ๑๗ ]  พระราชวงศ์จักรี, หน้า ๒๖๖ - ๒๖๗.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |