โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

 

๑๓๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๔)

 

          เมื่อได้ทรงศึกษาวิชาทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนครบถ้วนแล้ว ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชยังได้เป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงร่วมงานพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิคตอเรีย กับงานบรมราชาภิเษกพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ (King Edward VII) แห่งประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๓ และในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้เสด็จไปร่วมในงานบรมราชาภิเษกพระเจ้าอัลฟองโซที่ ๑๓ (King Alfonso XIII) แห่งประเทศสเปน และได้ทรง พระราชวิจารณ์ถึงความยุ่งยากในการปกครองบ้านเมืองของพระราชาพระองค์นั้นไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “The Spanish Coronation” [] ว่า

 

“Poor Boy. This is a difficult task; for Spain is not an easy Country to rule; and if the task proves heavy for a man of mature years, how much more so must it be for a boy of sixteen. Praxades Matteo Sagasta, the general premier and the most capable of Spanish’s States men at the present day, is aging fast. What will happen after his death No one cares to predict. The outlook is none too easy, and we can only wait - and hope!”  []

 

          ทั้งยังได้ทรงใช้เวลาว่างจากการทรงศึกษา เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ในยุโรปและอาฟริกาตามลำดับ ดังนี้

 

ประเทศอิตาลี

ระหว่างวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ - ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๔

ประเทศเนเธอร์แลนด์

ระหว่างวันที่ ๒๘ มิถุนายน - ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๔
ประเทศเบลเยี่ยม ระหว่างวันที่ ๕ - ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๔
ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ ๙ - ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๔

ประเทศอียิปต์

ระหว่างวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ - ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๔
ประเทศออสเตรีย ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๕
ประเทศฮังการี ระหว่างวันที่ ๒๙ เมษายน - ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๕
ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ ๒๘ พฤษภาคม - ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๕
ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๕

ประเทศเดนมาร์ค

ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕

 

 

ทรงฉายพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ

และนายทหารรัสเซีย เมื่อคราวเสด็จประพาสประเทศรัสเซีย พ.ศ. ๒๔๔๔

 

 

          การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ตามลำดับดังกล่าว นอกจากจะได้ทรงกระชับความสัมพันธ์กับพระประมุข ประมุข และ พระราชวงศ์ รวมทั้งประธานาธิบดีของประเทศนั้นๆ แล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ยังได้ทอดพระเนตรความเจริญของบ้านเมือง รวมทั้งความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งในด้านการประกอบอาชีพ การศึกษา การทหาร การสรรพาวุธ การคมนาคมและโบราณสถานของประเทศเหล่านั้น แล้วได้ทรงนำสิ่งที่ได้ทรงพบเห็นนั้นมาประกอบพระราชดำริในการพัฒนาบ้านเมือง เมื่อยามที่เสด็จพระราชดำเนินนิวัติประเทศสยามแล้ว

 

          อนึ่ง ในระหว่างทางเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือโดยสารข้ามทะเลเมดิเตอเรเนียน (Mediteranian Sea) จากเมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) ประเทศอิยิปต์ ไปประพาสเกาะสิซิลี (Sicily) ประเทศอิตาลี เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ นั้น ได้ทรงรู้จักกับ นายวิลเลียม พอตเตอร์ (William Potter) อดีตอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงโรมและครอบครัวซึ่งโดยสารมาในเรือลำเดียวกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวพอตเตอร์เข้ากระบวนตามเสด็จพระราชดำเนินไปจนถึงกรุงปารีส และได้ทรงจัดให้บุคคลในครอบครัวพอตเตอร์และพระสหายชาวต่างชาติอีกกว่า ๑๐๐ นาม ร่วมกันทดลองจัดการปกครองแบบประชาธิปไตย ในรูปแบบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ทรงเรียกการทดลองครั้งนั้นว่า “The New Republic” หรือ “สาธารณรัฐใหม่”

 

          การทดลองการปกครองที่เรียกว่า The New Republic นั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงจัดให้มีพรรคการเมือง ๒ พรรค คือ พรรคสาธารณรัฐ หรือพรรคผีเสื้อ (The Butterflies) กับพรรคนิยมกษัตริย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน โปรดให้สมาชิกของพรรคการเมืองทั้งสองจัดการอภิปรายแสดงความคิดเห็น มีการเลือกตั้ง มีการยุบสภา ทั้งยังได้ทรงเริ่มใช้นามสกุล “ณ อยุธยา” (d’ Ayuthya) เป็นครั้งแรกที่สาธารณรัฐใหม่นี้ด้วย

 

          สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จออกจากอังกฤษโดยเรือฟิตส์บิสมาร์ค (Fürst Bismark) จากท่าเรือเมืองเซาธ์แฮมตัน (Southamton) เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ และเสด็จพระราชดำเนินถึงมหานครนิวยอร์ค (New York) ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๕

 

 

ทรงฉายพร้อมด้วยคณะผู้ตามเสด็จฝ่ายไทยและสหรัฐอเมริกา ที่น้ำตกไนแอการา

 

 

          ในระหว่างประทับอยู่ที่สหรัฐอเมริกา นอกจากจะได้ทรงพบกับประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลล์ (Theodore Roosevelt) และพระสหายชาวสหรัฐ เช่น นายวิลเลียม พอตเตอร์ (William Potter) และพลเอก เจมส์ เอช. วิลสัน (General James H. Wilson) แล้ว ยังได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมสถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐอเมริกา อาทิ โรงเรียนนายเรือที่แอนนาโปลิส (U.S. Naval Academy, Annapolis) โรงเรียนนายร้อยทหารบกที่เวสต์พอยท์ (U.S. Military Academy, West Point) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University), มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ทั้งยังได้ทอดพระเนตรอาคารรัฐสภา (The Capital) ศาลสูง (Supreme Court) ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค (New York Stock Exchange) อู่ต่อเรือ โรงทหารม้า Fort Myer และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งได้ทอดพระเนตรสภาพบ้านเมืองจากฝั่งตะวันออกไปจรดฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

 

 

ทรงฉายพร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายไทยที่ออกไปรอรับเสด็จและข้าราชการฝ่ายญี่ปุ่น

ที่หน้าแกรนด์โฮเต็ล (Grand Hotel) เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น

วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๕

(แถวนั่งจากซ้าย) ๑. หลวงไพศาลศิลปสาตร (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
๓. นายพันเอก พระยาราชวัลภานุสิษฐ (อ๊อด ศุภมิตร) ราชองครักษ์
๔. มิสเตอร์วาตานาเบ (Mr. N. Watanabe) เจ้าพนักงานกรมพระราชพิธี
๕. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
๖. พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย  มาลากุล)
๗. นายนาวาเอกไซโต (M. le Capitaine de Vaisseau Saito)
๙. นายพันตรี หลวงสรสิทธยานุการ (อุ่ม  อินทรโยธิน) ราชองครักษ์
(แถวยืนจากซ้าย) ๒. นายฉัน หุ้มแพร (เอื้อม  บุนนาค)
๓. ขุนอนุกิจวิธูร (สันทัด  เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
๔. หลวงศักดิ์ นายเวร (เพิ่ม  ไกรฤกษ์)
๕.นายเสนองานประภาษ (ดี  สุเดชะ)
๘. หลวงสุนทรโกษา (คอยู่เหล  ณ ระนอง)
๑๐. พระราชวรินทร์ (วิเชียร  บุนนาค)

๑๒. หม่อมราชวงศ์ลบ  อรุณวงษ์

๑๓. นายบำรุงราชบทมาลย์ (เจ๊ก  จาติกรัตน์)
๑๔. หม่อมอนุวัตรวรพงษ์ (ม.ร.ว.จิตร  สุทัศน์)

 

 

          จากสหรัฐอเมริกาเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือเอมเปรสออฟไชนา (Empress of China) ออกจากท่าเรือเมืองแวนคูเวอร์ (Vancouver) ประเทศแคนาดา (Canada) ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกสู่ประเทศญี่ปุ่น เสด็จพระราชดำเนินถึงท่าเรือเมืองโยโกฮามา (Yokohama) ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม แล้วทรงเปลี่ยนไปประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรีซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปรอรับเสด็จที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ พระราชวรินทร์ (วิเชียร บุนนาค) [] เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา หลวงศักดิ์ นายเวร (เพิ่ม ไกรฤกษ์) [] นายเวรมหาดเล็ก และข้าหลวงพิเศษตรวจจัดการศึกษา คือ หลวงไพศาลศิลปสาตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) [] กับขุนอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) [] ออกไปรอเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จอยู่ ณ ที่นั้นด้วย

 

          เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงกรุงโตเกียว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้เฝ้าทูลละอองธุลี- พระบาทสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ (Emperor Meiji) และพระจักรพรรดินีโชเกน (Empress Shõken) พร้อมทั้งได้ทรงพบกับมกุฎราชกุมารโยชิฮิโต (Crown Prince Yoshihito) [] ปรินส์โกมัตสุ (H.I.H. Prince Komatsu) และปรินส์ฟูชิมิ (Prince Fushimi) นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์ไทยกับพระราชวงศ์ญี่ปุ่นซึ่งยั่งยืนสืบมาจนถึงปัจจุบัน

 

          นอกจากนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชยังได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นและอารามในพระพุทธศาสนาและศาสนาชินโตหลายแห่งแล้ว ยังได้เสด็จไปทอดพระเนตรรีวิวของกองทหารรักษาพระองค์ (Imperial Guards) การสาธิตการยิงปืนใหญ่และลูกระเบิด (Torpedo) ของทหารเรือ ทรงเยี่ยมโรงเรียนนายร้อยและโรงเรียนนายเรือ โรงงานทำปืนหลวง (Tokyo Arsenal) อู่ต่อเรืออาซาฮี (Asahi Dock) มหาวิทยาลัยอิมพิเรียล (Imperial University) และโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

 

          อนึ่ง ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น พระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) ซึ่งในเวลานั้นเป็นราชเลขานุการในพระองค์ได้บันทึกไว้ใน “เรื่องของเจ้าคุณประดิพัทธฯ” ว่า

 

          “...วันหนึ่งอธิบดีกระทรวงวังมาบอกข้าพเจ้าว่า โดยรับสั่งของเอ็มเปอเรอ พระองค์จะถวายพระธิดาองค์หนึ่งในสามพระองค์แก่สมเด็จพระบรมราชโอรส พระธิดาสาวทั้งสามนี้มิใช่พระธิดาของเอมเปรส แต่เรียกเอมเปรสเป็น พระมารดา ส่วนเอมเปรสไม่มีพระธิดา พระธิดาทั้งสามจะเสด็จประพาสสวน ให้เชิญเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสไปทรงเลือกตามพระทัย แต่ให้คนตามเสด็จได้คนเดียวเท่านั้นคือตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าดีใจที่จะได้ไปชมด้วย แต่สมเด็จพระบรมโอรสสั่งว่า “ไม่ได้ กลับไปบอกเขาเถอะว่า เรายังเด็กนักที่จะมีภรรยา” ข้าพเจ้ากราบทูลว่า “ทำไมไม่เสด็จเพราะเป็นโอกาสดี” ทรงตอบว่า “ลิ้นกับฟันยังรู้จักกระทบกัน ถ้าเราเอาลูกสาวเขามา เดี๋ยวเกิดทะเลาะกัน เขาบอกให้พ่อเอาเรือรบมาเมืองเราสัก ๒ ลำ เราก็แย่เท่านั้น”

 

          เรื่องนี้พวกทูต ๆ เช่น อังกฤษ เคยถามข้าพเจ้าว่าได้ข่าวเจ้าแผ่นดินญี่ปุ่นจะถวายพระธิดาแก่พระโอรสของพระมหากษัตริย์ไทยจริงไหม ข้าพเจ้ารับว่าจริงเช่นนั้น...” []

 

          วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๕ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีออกจากประเทศญี่ปุ่นมาถึงปากน้ำสมุทรปราการในตอนเช้าวันที่ ๒๙ มกราคม แล้ว เรือพระที่นั่งทอดสมออยู่ในลำน้ำเจ้าพระยาหน้าศาลารัฐบาลเมืองสมุทรปราการ ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถไฟพิเศษสายปากน้ำถึงเมืองสมุทรปราการแล้ว เสด็จลงประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรีแล้วโปรดให้ใช้จักรแล่นเข้ามาตามลำน้ำเจ้าพระยา

 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ

(สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง)

ทรงฉายพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

ที่อัฒจันทร์หน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๕

 

 

          เรือพระที่นั่งเทียบที่ท่าราชวรดิษฐ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับรถม้าพระที่นั่งพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหา ราชวัง พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เจ้านายฝ่ายในเฝ้าทูลละอองพระบาท แล้วทรงนำสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชไปส่งที่พระราชวังสราญรมย์ซึ่งโปรดพระราชทานให้เป็นที่ประทับ

 

 

 


[ ]  King Vajiravudh. The Spanish Coronation, p 77.

[ ]  หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลพระราชนิพนธ์ตอนนี้ไว้เป็นภาษาไทยว่า

“...สงสารพระราชาผู้เยาว์ ภารกิจของพระองค์จะไม่ง่ายนัก. สเปนเป็นประเทศที่ปกครองยาก. เมื่อภารกิจยังยากสำหรับผู้ใหญ่ สำหรับพระองค์ผู้มีพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษาจะเป็นอย่างไร? ปราซาเดส มาเตโอ ซากัสตา, อรรคมหาเสนาบดีปัจจุบันเป็นผู้ที่สามารถยิ่งคนหนึ่งของสเปนในยุคปัจจุบันนี้ แต่ก็แก่ลงทุกวัน. ถ้าสิ้นผู้นี้แล้วจะเป็นอย่างไร? ไม่มีใครกล้าเดา. คิดๆ ดูก็ยังไม่แลเห็นความสว่าง ได้แต่รอ - และมีความหวังเท่านั้น!”

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยามนตรีสุริยวงศ์

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาเสวกตรี พระยาประเสริฐศุภกิจ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาอำมาตย์ตรี พระยาอนุกิจวิธูร ผู้บัญชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[ ]  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้เสวยราชย์ต่อจากพระจักรพรรดิเมจิ เฉลิมพระนามว่า พระจักรพรรดิไทโช (Emperor Taishõ)

[ ]  พระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง). “สมเด็จพระบรมโอรส ฯ เสด็จญี่ปุ่น”, เรื่องของเจ้าคุณประดิพัทธฯ, หน้า ๑๓ - ๑๔.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |