โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

 

๑๓๓. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๕)

 

          เสร็จการรื่นเริงสมโภชเนื่องในการเสด็จนิวัติพระนครซึ่งจัดต่อเนื่องกันหลายวันแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จเข้ารับราชการในกรมราชเลขาธิการเพื่อทรงเรียนรู้พระราชกิจ แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จเข้ารับรับราชการทหาร ทรงดำรงพระยศเป็น นายพลเอก จเรทัพบก มีพระเกียรติยศเสมอเสนาบดีกระทรวงกลาโหม กับให้ทรงเป็นนายพันโท ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ และเป็นราชองครักษ์พิเศษเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ปีเดียวกัน

 

 

นายพลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร จเรทัพบก

ขณะทรงม้าพระที่นั่งสยามพันธุ์เสด็จตรวจราชการทหารบก

 

 

          ในหน้าที่จเรทัพบกนั้น นอกจากจะทรงมีหน้าที่ตรวจตราราชการทั่วไปในกรมยุทธนาธิการซึ่งบังคับบัญชาทหารบกทั่วพระราชอาณาจักรแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชยังได้เสด็จไปทรงงานและประทับเป็นประธานในการประชุมผู้บังคับบัญชาทหารที่ศาลาว่าการยุทธนาธิการ (ปัจจุบันคือ ศาลาว่าการกลาโหม) อยู่เสมอ บางครั้งก็โปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยและสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลต่างๆ เข้าร่วมประชุมด้วย ส่วนเรื่องที่เป็นความลับไม่อาจจะมีพระราชดำรัสในที่ประชุมได้ ก็มักจะเสด็จไปทรงหารือเป็นการส่วนพระองค์กับนายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช [] ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ทั้งที่ศาลาว่าการยุทธนาธิการและที่วังมหานาคเป็นประจำ

 

 

แผนที่ประเทศสยามแสดงการจัดวางกำลังพลเป็น ๑๐ กองพลกระจายอยู่ทั่วประเทศ ยกเว้นในคาบสมุทรมลายู

 

 

          ครั้นทรงยกร่างกฎหมายว่าด้วยการเกณฑ์ชายฉกรรจ์เข้ารับราชการทหารจนได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราเป็น “พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหาร” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ และได้ทรงร่วมกับผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ จัดวางอัตรากำลังพลของกองทัพบกสยามเป็น ๑๐ กองพล กระจายกันอยู่ทั่วพระราชอาณาจักรได้สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ พร้อมกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหารในหัวเมืองมณฑลทั่วพระราชอาณาจักรแล้ว การเกณฑ์ไพร่พลเข้ารับราชการหรือที่เรียกกันว่า “เกณฑ์เลกไพร่” ที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาก็เป็นอันเลิกไปในที่สุด

 

          ส่วนราชการในกรมทหารมหาดเล็กนั้น นอกจากจะทรงปฏิบัติพระราชกิจประจำในฐานะผู้บังคับการกรมแล้ว ยังได้ทรงเป็นผู้บังคับกองจุกช่องล้อมวงถวายอารักขาสมเด็จพระบรมชนกนาถและพระบรมราชชนนี ณ พระราชฐานที่ประทับทั้งในกรุงและหัวเมืองอยู่เสมอแล้ว ในบางคราวยังได้ทรงเป็นผู้บังคับแถวทหารมหาดเล็กแซงเสด็จอีกด้วย

 

 

พระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (ทรงยืนแถวหน้าที่ ๓ จากซ้าย)

ทรงฉายพระฉายาลักษณ์พร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส

(สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส) พระราชปัธยาจารย์ (แถวหน้าที่ ๔ จากซ้าย)

พระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต (พระเจ้าวรวรวงศ์เธอ กรมหลวงชิรวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเต้า)

พระราชกรรมวาจาจารย์ (แถวหน้าที่ ๕ จากซ้าย) และคณะสงฆ์ใยธรรมยุติกนิกาย

ที่หน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

 

 

วชิราวุโธภิกขุ

 

 

          ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงเจริญพระชนมายุสมควรจะทรงผนวชตามพระราชประเพณี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส [] เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต [] เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ และในวันเดียวกันนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ [] ทรงบรรพชาเป็นสามเณรหางนาค แล้วเสด็จไปประทับจำพรรษาที่พระปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร จนทรงลาผนวชเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ส่วนพระฤกษ์ลาผนวชในสามเณรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้นกำหนดในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ปีเดียวกัน

 

          ในการทรงผนวชครั้งนี้ นอกจากพระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช หรือ “วชิราวุโธภิกขุ” จะได้ทรงปฏิบัติศาสนกิจเช่นเดียวกับนวกภิกขุทั้งหลายแล้ว ยังได้ทรงศึกษาธรรมวินัยตามหลักสูตรที่พระราชอุปัธยาจารย์จัดถวาย และทรงเข้าสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ ของสนามสอบวัดบวรนิเวศวิหารในปีนั้นด้วย

 

          ภายหลังจากที่ทรงลาผนวชแล้ว ได้เสด็จกลับเข้ารับราชการตามตำแหน่งเดิม และต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้ทรงเป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จพระราชดำเนินไปประพาสมณฑลพายัพซึ่งในเวลานั้นเป็นหัวเมืองมณฑลที่ห่างไกลการคมนาคมเป็นไปด้วยความยากลำบาก

 

 

 

ทรงฉายพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ

และนายทหารรัสเซีย เมื่อคราวเสด็จประพาสประเทศรัสเซีย พ.ศ. ๒๔๔๔

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

ทรงเครื่องเต็มยศขาวนายพลเอก จเรทัพบก ราชองครักษ์พิเศษ

เสด็จพระราชดำเนินโดยกระยวนพระราชยาน มีกระบวนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์แซงเสด็จปิดท้ายกระบวน

ยาตรามาตามถนนแก้วนวัฐเข้าสู่เมืองนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๘

 

 

          ในการเสด็จประพาสหัวเมืองมณฑลพายัพคราวนั้น เริ่มจากทรงตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัวจากกรุงเทพฯ ไปในการทรงเปิดทางรถไฟสายเหนือที่สถานีชุมทางบ้านภาชี แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถไฟไปถึงสถานีปากน้ำโพ เมืองนครสวรรค์ ต่อจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินโดยทางเรือจากปากน้ำโพ มณฑลนครสวรรค์ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ไปตามลำน้ำน่านไปเสด็จขึ้นบกที่ท่าอิฐ เมืองอุตรดิตถ์ แล้วทรงช้าง ทรงม้า รอนแรมไปตามป่าเขาจนถึงเมืองแพร่ นครลำปาง เชียงราย นครเชียงใหม่ นครลำพูน แล้วกลับมาประทับที่เมืองนครเชียงใหม่ เสด็จออกจากเมืองนครเชียงใหม่มาทางลำน้ำปิงเมื่อวันที่ ๔ มกราคม เสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๓๑ มกราคม รวมระยะเวลาเสด็จประพาสครั้งนั้น ๓ เดือนเต็ม

 

 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |