โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

 

๑๓๔. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๖)

 

          ในระหว่าการเสด็จเลียบหัวเมืองมณฑลพายัพคราวนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้ทรงพระราชนิพนธ์ “ลิลิตพายัพ” เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ทำนองเล่าเรื่องการเดินทางตลอดระยะเวลาสามเดือนเต็ม โดยทรงบรรยายถึงพระราชกิจ สภาพภูมิประเทศ สภาพบ้านเมือง ความเป็นอยู่ของราษฎร การเสด็จตรวจสถานที่ราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน รวมทั้งสภาพของวัดและโบราณสถานตลอดเส้นทางที่เสด็จพระราชดำเนินผ่านตั้งแต่เสด็จออกจากกรุงเทพฯ ในวันที่ ๓๑ ตุลาคม แล้วแวะประพาสหัวเมืองต่างๆ เริ่มจากเมืองนครสวรรค์ มณฑลนครสวรรค์ เมืองพิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ในมณฑลพิษณุโลก แล้วจึงเสด็จเข้าสู่เขตมณฑลพายัพ ประพาสเมืองแพร่ นครลำปาง เมืองพะเยา พาน เชียงราย นครเชียงใหม่ และนครลำพูน ในระหว่างทางเสด็จกลับจากนครเชียงใหม่ได้เสด็จประพาสหัวเมืองริมแม่น้ำปิง คือ เมืองตาก กำแพงเพชร บรรพตพิสัย นครสวรรค์ และหัวเมืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา คือ เมืองชัยนาทในเขตมณฑลนครสวรรค์ เมืองสิงห์บุรี และอ่างทองในมณฑลกรุงเก่า แล้วประทับรถไฟจากบางปะอินเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๓๑ มกราคมปีเดียวกัน

 

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาราก (Corner Stone) ของโรงเรียนใหม่ของมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน

เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๘

และในวันเดียวกันนั้นได้พระราชทานนามโรงเรียนว่า “The Prince Royal’s College”

 

 

          พระราชกิจสำคัญในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพคราวนั้น คือ การที่ได้โปรดพระราชทานพระราโชบายสำคัญในการปกครองบ้านเมือง ทรงห้ามมิให้ข้าราชการสยามเรียกชาวมณฑลพายัพว่า “ลาว” อันมีความหมายเป็นเชิงดูหมิ่นคนในปกครอง และเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมีคำว่า “คนเมือง” ขึ้นแทนแล้ว ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่เมืองนครลำปาง ยังได้เสด็จไปทรงเปิดโรงเรียนหลวงสอนหนังสือไทยประจำเมืองนครลำปาง และได้พระราชทานนามโรงเรียนนั้นไว้ว่า “โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย” ทั้งยังได้พระราชทานพระราชูปถัมภ์ในการก่อสร้างโรงเรียนหลวงสอนหนังสือไทยประจำเมืองนครเชียงใหม่ กับได้พระราชทานนามโรงเรียนนั้นไว้ว่า “โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย” เพื่อให้เข้าคู่กับ “The Prince Royal’s College” [] ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นนามของโรงเรียนสอนนักเรียนชายที่คณะอมริกันมิชชันนารีเพรสไบทีเรียนได้จัดสร้างขึ้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ในคราวที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลารากเมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๘ เนื่องในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาที่เมืองนครเชียงใหม่

 

          อนึ่ง ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพ ถึงคราวที่ขบวนเสด็จพระราชดำเนินจะข้ามเขาพรึง ซึ่งเป็นเขตต่อแดนเมืองอุตรดิตถ์และเมืองแพร่อันเป็นป่าเขารกชันนั้น ผู้ที่ตามเสด็จไปในกระบวนต่างพากันหวาดหวั่นเพราะเกรงกลัวไข้ป่าและภยันตรายต่างๆ ซึ่งจะพึงมีในระหว่างทางกลางป่า

 

          “...จึงได้ทรงพระกรุณาดำรัสชี้แจงว่า ธรรมดาเจ้าใหญ่นายโตจะเสด็จแห่งใดๆ ก็ดี คงจะมีทั้งเทวดาและปีศาจฤาอสูรอันเปนสัมมาทิษฐิคอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวง มิให้มากล้ำกรายพระองค์และบริพารผู้โดยเสด็จได้ ถึงในการเสด็จครั้งนี้ก็มีเหมือนกัน อย่าให้มีผู้หนึ่งผู้ใดมีความวิตกไปเลย ต่อนั้นไปมีผู้ที่ได้ตามเสด็จผู้ ๑ กล่าวว่าฝันเห็นชายผู้ ๑ รูปร่างล่ำสันใหญ่โต ได้บอกกับผู้ที่ฝันนั้นว่า ตนชื่อหิรัณย์ เปนอสูรชาวป่า เปนผู้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ ในครั้งนี้จะตามเสด็จพระราชดำเนินไปในกระบวน เพื่อคอยดูแลระวังมิให้ภยันตรายทั้งปวงอันจะพึงบังเกิดมีขึ้นได้ในระยะทางกลางป่านั้นมากล้ำกรายพระองค์ ฤาราชบริพารได้ ครั้นทรงทราบความเช่นนั้น จึ่งมีพระราชดำรัสสั่งให้จัดธูปเทียนและเครื่องโภชนาหารไปเส้นที่ในป่าริมพลับพลา และเวลาเสวยค่ำทุกๆ วัน ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระกระยาหารจากเครื่องไปตั้งเส้นเสมอ...”  []

 

          ด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ ตลอดการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเป็นเวลา ๙๓ วันนั้น หาได้มีผู้ใดในกระบวนเสด็จเจ็บป่วยหรือประสบภยันตายร้ายแรงตลอดการเดินทางเลยแม้แต่คนเดียว ครั้นเสด็จเสวยสิริราชสมบัติแล้วจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ปั้นหล่อรูปหิรันยอสูรด้วยสัมฤทธิ์ขนาดเล็ก แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยเชิญหิรันยอสูรเข้าสถิตในรูปหล่อที่พระราชทานนามว่า “ท้าวหิรันยพนาสูร” เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ แล้วทรงเก็บไว้ประจำพระองค์ ๑ รูป [] พระราชทานไว้ที่กรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก ๑ รูป [] กับโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่หน้ารถยนต์พระที่นั่งโอเปิล ๑ รูป [] และเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังพญาไทขึ้นในตอนปลายรัชกาลก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปท้าวหิรัญพนาสูรขนาดเท่าคนจริงประดิษฐานไว้ที่ศาลริมคลองสามเสนตอนท้ายพระราชวังต่อเนื่องกับเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” อีกรูปหนึ่ง

 

 

รูปหล่อท้าวหิรัญพนาสูรที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเก็บไว้ประจำพระองค์

ต่อมาเป็นพระราชมรดกในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

 

 

          ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ คือ เมืองกำแพงเพชร สุโขทัย สวรรคโลก อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก ได้ทอดพระเนตรโบราณสถานสำคัญ อันเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ทรงจัดตั้ง “โบราณคดีสโมสร” เพื่อศึกษาค้นคว้าเรื่องราวทางโบราณคดีในเวลาต่อมา และในการเสด็จพระราชดำเนินคราวนี้ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ซึ่งราชบัณฑิตยสถานได้ยกย่องว่า “เป็นตำรานำทางเที่ยวตรวจตราโบราณวัตถุที่เมืองพระร่วงดีกว่าหนังสือเรื่องอื่นๆ อันมีมาแต่ก่อน”

 

          ถัดจากนั้นในระหว่าง ๘ เมษายน - ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ครั้งแรก เพื่อทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศและชัยภูมิในแนวคอคอดกระกับสภาพบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของราษฎร เพื่อประกอบพระราชวินิจฉัยในการจัดการป้องกันประเทศในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลสยามมีข้อตกลงลับกับรัฐบาลอังกฤษที่มลายู (Federal Malay States) หรือ F.M.S. มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๐

 

 

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าทหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

ทรงฉายภาพคณะผู้ตามเสด็จที่หน้าสุสาน “เจ้าคุณเฒ่า” พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซูเจี้ยง ณ ระนอง)

สุนัขในภาพคือ “ย่าเหล” สุนัขทรงเลี้ยง

 

 

          ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้เสด็จโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีจากกรุงเทพฯ ไปทรงขึ้นบกที่เมืองชุมพร แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนช้างบุกป่าฝ่าดงไปตามแนวคอคอดกระจนถึงปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นเขตต่อแดนเมืองมลิวันของอังกฤษ จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังเมืองระนอง ตะกั่วป่า ภูเก็ต พังงา ตะกั่วทุ่ง กระบี่ เกาะลันตา ตรัง ทับเที่ยง ทุ่งสง ร่อนพิบูลย์ และนครศรีธรรมราชเป็นที่สุด

 

          อนึ่ง เมื่อเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติแล้ว ยังได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้อีกถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เสด็จพระราชดำเนินจากกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟพิเศษไปถึงหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล้วประทับเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช [] เสด็จพระราชดำเนินเลาะชายทะเลฝั่งตะวันออกไปประพาสเมืองนราธิวาส สายบุรี ปัตตานี สงขลา พัทลุง ตรัง ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ตามลำดับ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๕ สิงหาคม ปีเดียวกัน

 

          ส่วนครั้งที่สองในระหว่างวันที่ ๑๐ เมษายน - ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ซึ่งอยู่ในช่วงเตรียมการที่ประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย – ฮังการีนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินข้ามคอคอดกระจากเมืองชุมพรไปยังตำบลมะมุ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนองซึ่งเป็นเขตต่อแดนมลิวันของอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง ต่อจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปประพาสเมืองระนอง ภูเก็ต ตรัง กันตัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี หลังสวน ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรีตามลำดับ

 

 

พระที่นั่งพิมานปฐม ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์ประธานในพระราชวังสนามจันทร์

ทางขวาของภาพคือ เทวาลัยพระคเณศร์

 

 

          ส่วนที่เมืองนครปฐมนั้น เนื่องจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้ทรงรับพระราชธุระเป็นผู้อำนวยการบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ ทำให้ต้องเสด็จออกไปประทับที่เมืองนครปฐมอยู่เนืองๆ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักบังกะโลขึ้นที่หลังองค์พระเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ต่อจากนั้นจึงทรงจัดซื้อที่ดินเนื้อที่ ๘๘๘ ไร่ ๓ งาน ๒๔ ตารางวา ที่บ้านเนินปราสาททางตะวันตกขององค์พระปฐมเจดีย์ แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิทักษ์มานพ (น้อย ศิลปี) [] เป็นนายงานจัดสร้างพระที่นั่งพิมานปฐมขึ้นเป็นองค์แรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ต่อจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่ง พระตำหนัก และเรือนข้าราชบริพารเพิ่มเติม แล้วได้โปรดพระราชทานนามพระราชฐานที่ประทับนี้ว่า “พระราชวังสนามจันทร์”

 

 

 


[ ]  โรงเรียนนี้มีชื่อในภาษาไทยว่า “โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย”

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ว.๒/๓ เรื่อง ประกาศเรื่องท้าวหิรัญยพนาสูร. (๑๐ เมษายน ๒๔๕๔ - ๑๖ สิงหาคม ๒๔๖๕)

[ ]  รูปหล่อท้าวหิรัญพนาสูรนี้ มีกระเป๋าหนังสีแดงสำหรับให้มหาดเล็กเชิญตามเสด็จไปด้วยทุกหนแห่ง เมื่อเสด็จสวรรคตแล้วรูปหล่อท้าวหิรัญพนาสูรได้ตกเป็นพระราชมรดกของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งก็โปรดให้เชิญตามเสด็จไปทุกหนแห่งเช่นเดียวกัน

[ ]  ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งราชกรัณยสภา ในพระบรมหาราชวัง

[ ]  ปัจจุบันเชิญขึ้นประดิษฐานไว้บนหิ้งบูชาที่หมวดรถยนต์หลวง กองพระราชพาหนะ สำนักพระราชวัง ริมถนนราชวิถี

[ ]  เป็นเรือโดยสารของบริษัท เรือไฟไทย จำกัด ชื่อ “เรือประชาธิปก” เมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้คราวนี้ กระทรวงทหารเรือได้เช่าเรือนี้มาจัดถวายพระราชพาหนะ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเปลี่ยนให้ใหม่ว่า “อรรคราชวรเดช” ซึ่งเป็นนามเรือกลไฟในทำเนียบตั้งแต่รัชกาลที่ ๔

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาเสวกโท พระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัง

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |