โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

 

๑๓๗. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๙)

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนราบไปประทับเกยหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔

 

 

เถลิงถวัลยราชสมบัติ

 

          สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี สืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น ๒ คราว คราวแรก คือ การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร มีการพระราชพิธีครบถ้วนสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ในระหว่างวันที่ ๓ - ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ แต่เนื่องจากเป็นเวลาประดิษฐานพระบรมศพจึงโปรดให้งดการเสด็จเลียบพระนครและเลี้ยงลูกขุนตามประเพณี เพราะทรงพระราชดำริว่า “...ถ้าจะมีการนั้นๆ ก็จะต้องเลิกทุกข์นานนัก, และชาวต่างประเทศอาจเห็นไม่เปนการเหมาะ, จึงเปนอันว่าทำพิธีบรมราชาภิเษกแต่พอเปนสังเขปก่อน, แล้วจึงค่อยทำเปนการสมโภช ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ ต่อไป ...”  []

 

 

ประทับพระมณฑปกระยาสนานในการสรงพระมุรธาภิเษก

วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

 

 

เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยสถลมารค

วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

 

 

เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยชลมารค

วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

 

 

ทรงม้าพระที่นั่งสยามพันธุ์ เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจพลสวนสนามของทหาร ณ ท้องสนามหลวง

วันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

 

 

ทรงม้าพระที่นั่งนำขบวนนายกองนายหมู่เสือป่า

ไปในการสวนสนามถวายชัยมงคลของเสือป่า ณ สนามเสือป่า

วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

ในภาพมีนักเรียนมหาดเล็กหลวงและลูกเสือหลวงเฝ้าฯ รับเสด็จ

 

          ครั้นพ้นกำหนดการไว้ทุกข์ถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตามโบราณราชประเพณีที่มีกำหนด ๑ ปีแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในระหว่างวันที่ ๘ พฤศจิกายน - ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ โดยมีพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์ พิธีสรงพระมุรธาภิเษกสนานเช่นเดียวกับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร แต่ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชครั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการเลี้ยง การรื่นเริง และการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทั้งทางสถลมารคและชลมารค ทั้งยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติสยามที่พระราชาธิบดีและประธานาธิบดีจากมิตรประเทศได้จัดให้ผู้แทนพระองค์และผู้แทนมาช่วยงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ถึง ๑๔ ประเทศ คือ

 

          ๑) ฮิส รอแยล ไฮเนสส์ ปรินซ์วัลดิมา (H.R.H. Prince Waldemar) กับโอรส ๓ พระองค์ คือ

ปรินซ์โอเก (H.R.H. Prince Aage) ปรินซ์อักเซล (H.R.H. Prince Aksel) ปรินซ์เอริก (H.R.H. Prince Erik) ผู้แทนพระองค์พระราชาธิบดีเดนมาร์ค

 

          ๒) ฮิส อิมพีเรียล ไฮเนสส์ ปรินซ์ฮิโยะสุ ฟูชิมิ (H.I.H. Prince Hiroyasu Fushimi) ผู้แทนพระองค์พระจักรพรรดิญี่ปุ่น

 

 

(แถวนั่งจากซ้าย) ฮิส ซริน ไฮเนสส์ ปรินซ์อาเล็กซานเดอร์ ออฟเตก (H.S.H. Prince Alexander of Teck )
  ฮิส อิมพีเรียล ไฮเนสส์ แกรนดุ๊กบอรีส (H.I.H. Grand Duke Boris Vladimirovich)
  เฮอร์ รอแยล ไฮเนสส์ ปรินซ์เซส วิลเลียม ดัชเชสส์แห่งสุเดอมาเนีย (H.R.H. Princess William Duchess of Sudermania)
  เฮอร์ รอแยล ไฮเนสส์ ปรินซ์เซส อาเล็กซานเดอร์ ออฟเตก (H.R.H. Princess Alexander of Teck)
  ฮิส รอแยล ไฮเนสส์ ปรินซ์วัลดิมา (H.R.H. Prince Waldemar)
  ฮิส รอแยล ไฮเนสส์ ปรินซ์ วิลเลียมส์ ดุ๊คแห่งสุเดอรมาเนีย (H.R.H. Prince William Duke of Sudermania)
(แถวยืน - จากซ้าย) ปรินซ์อักเซล (H.R.H. Prince Aksel)
  ฮิส อิมพีเรียล ไฮเนสส์ ปรินซ์ฮิโรยะสุ ฟูชิมิ (H.I.H. Prince Hiroyasu Fushimi)
  ปรินซ์ โอเก (H.R.H. Prince Aage)
 

ปรินซ์ เอริก (H.R.H. Prince Erik)

 

 

          ๓) ฮิส รอแยล ไฮเนสส์ ปรินซ์ วิลเลียมส์ (H.R.H. Prince William) กับเฮอร์ รอแยล ไฮเนสส์ ปรินซ์เซส วิลเลียม (H.R.H. Princess William) ดุ๊คและดัชเชสส์แห่งสุเดอมาเนีย (Duke and Duchess of Sudermania) ผู้แทนพระองค์พระราชาธิบดีสวีเดน

 

          ๔) ฮิส รอแยล ไฮเนสส์ ปรินซ์อาเล็กซานเดอร์ (H.R.H. Prince Alexander of Teck) กับ เฮอร์ รอแยล ไฮเนสส์ ปรินซ์เซส อาเล็กซานเดอร์ ออฟเตก (H.R.H. Princess Alexander of Teck) ผู้แทนพระองค์พระราชาธิบดีอังกฤษ

 

          ๕) ฮิส อิมพีเรียล ไฮเนสส์ แกรนดุ๊กบอรีส (H.I.H. the Grand Duke Boris Vladimirovich) ผู้แทนพระองค์พระราชาธิบดีรัสเซีย

 

          ๖) ฮิส เอกซาเลนซี มองซิเออร์ พิแอร์ ยางคัง เดอมายารี (H.E. Mon. P. de Margerie) อรรคราชทูตพิเศษผู้แทนประธานาธิบดีฝรั่งเศส

 

          ๗) ฮิส เอกซาเลนซี มาควิส อี.ดี. เดอ ลาเปนเน (H.E. Marquis D.E. de la Penne) เอกอรรคราชทูตพิเศษผู้แทนพระองค์พระราชาธิบดีอิตาลี

 

          ๘) ฮิส เอกซาเลนซี แฮมิลตัน คิง (H.E. Mr. Hamilton King) อรรคราชทูตพิเศษผู้แทนประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

 

          ๙) ฮิส เอกซาเลนซี ไฟแอร์ ฟอนแดร์ คอลทส์ (H.E. Baron C. von der Goltz) อรรคราชทูตพิเศษผู้แทนพระองค์พระบรมราชาธิราชเยอรมนี

 

          ๑๐) ฮิส เอกซาเลนซี เคาท์ ทัดเด เดอ โบเลสสทาโกดซิบร้อดสกี (H.E. Chamberlain Count T. de Bolesta Koziebrodzki) อรรคราชทูตพิเศษผู้แทนพระองค์สมเด็จพระบรมราชาธิราชออสเตรีย - ฮังการี

 

 

ฮิส เอกซาเลนซี มองซิเออร์ โดเมลา นิวเวนฮุยส์ (H.E. Mon. Domela Nieuwenhuis)

อรรคราชทูตพิเศษผู้แทนพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฮอลันดา

 

 

          ๑๑) ฮิส เอกซาเลนซี มองซิเออร์ โดเมลา นิวเวนฮุยส์ (H.E. Mon. Domela Nieuwenhuis) อรรคราชทูตพิเศษผู้แทนพระองค์สมเด็จพระนางเจ้า ฮอลันดา

 

          ๑๒) ฮิส เอกซาเลนซี มองซิเออร์ อาเทอร์ แฟร์ (H.E. Mon. A. Frère) อรรคราชทูตผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชาธิบดีเบลเยี่ยม

 

          ๑๓) ดอนลุวิส พาสเทอร์ อีย์ เดอ ไมระ (H.E. Senhor Luis Pastor) อรรคราชทูตพิเศษผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชาธิบดีสเปน

 

          ๑๔) มองสิเออร์ แฮรีมัน เลโอโปลด์ เลยเวนสกยอลด์ (H.E. Chamberlain Heman L. Loevenskiold) อรรคราชทูตพิเศษผู้แทนพระองค์พระราชาธิบดีนอร์เวย์

 

 

 


[ ]  ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๑, หน้า ๑๑๓.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |