โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

 

๑๓๙. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑๑)

 

พระราชกรณียกิจสำคัญ

 

          แม้นว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงมีเวลาเตรียมพระองค์ก่อนที่จะทรงรับรัชทายาทเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นเวลาเกือบ ๑๐ ปี ดังที่ได้ทรงพระราชบันทึกไว้ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ว่า “...ส่วนตัวฉันอาจอวดได้ว่า ทูลกระหม่อม, ได้เคยพระราชทานพระบรมราโชวาทไว้แล้วมากมาย, ทั้งได้เคยรับราชการแลเห็นความลำบากแห่งราชการมาแล้วหลายปี, และมีอายุเกือบจะครบ ๓๐ ปีบริบูรณ์อยู่แล้ว. จึ่งมิได้มีความหลงอย่างใดเลยในข้อที่ว่า เปนพระเจ้าแผ่นดินจะต้องรับความลำบากอย่างไรบ้าง...” และในคราวสรงพระมุรธาภิเษกสนานในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น ยังได้ทรงพระราชบันทึกไว้ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖”  [] อีกว่า

 

 

เสด็จประทับ ณ มณฑปพระกระยาสนานในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช

 

 

          “...เมื่อขึ้นไปบนพระกระยาสนานและนั่งลงบนตั่งแล้ว, ตัวก็ยังชาๆ อยู่ ต่อเมื่อน้ำสหัสสะธาราได้ตกต้องตัวเป็นครั้งแรกจึ่งได้ตื่นขึ้น, รู้สึกความเปลี่ยนแปลงของตัว, และในทันใดนั้นน้ำตาได้ไหลลงอาบหน้าระคนกับน้ำสหัสสะธารา, จึ่งมิได้มีผู้ใดสังเกตเห็น. ในเวลานั้นเองที่ฉันได้รู้สึกแน่ชัดว่าได้เสียทูลกระหม่อมไปแล้ว, และแต่นั้นต่อไปฉันจะต้องเปนผู้รับภาระแทนพระองค์, จึ่งนึกตั้งสัตยาธิษฐานว่าจะปฏิบัติให้สมกับที่ทูลกระหม่อมได้ทรงเลือกเปนรัชทายาท, และอุทิศทั้งชีวิตและร่างกายเพื่อประโยชน์แห่งชาติและศาสนา....”   []

 

 

          นอกจากนั้นยังได้ทรงแสดงพระบรมราชปณิธานในการปกครองแผ่นดินไว้ในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังนายเฟรเดอริค เวอร์นี่ย์ (Federick W. Verny) พระสหายชาวอังกฤษและที่ปรึกษาสถานอัครราชทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยมีความตอนหนึ่งว่า

 

 

          “A Great King has passed away, but I am glad to fell that His memory will live in the hearts of His grateful people, who in consequence will give me, His successor, their love and loyalty. It will be very hard to follow in His footsteps, but I will do my best for the people now consulted to my charge. Although in name I am Their King, I hope they will soon learn trust they have in me a faithful friend and a willing servant, who is ready to do all for their happiness & welfare”  []

 

 

          ด้วยพระบรมราชสัตยาธิษฐานและพระราชปณิธานดังกล่าว ประกอบด้วย “...พระราชอัธยาศัยกอร์ปด้วยความตรงปราศจากมารยาสาไถย ดำรงในสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อพระราชสัมพันธมิตรแลพระราชวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง ไม่ทรงคิดลวงประทุษร้ายโดยอุบายผิดยุกติธรรม...”  [] สมดังที่พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร อดีตราชเลขานุการในพระองค์ได้ทรงพระนิพนธ์สรรเสริญพระเกียรติคุณไว้ว่า

 

 

          “...ทรงเป็นพระราชกุมารที่ซื่อตรงไม่เอาเปรียบไม่คดโกงผู้ใดแม้แต่ในทีเล่น รักใครรักจริงทั้งต่อหน้าลับหลัง ครั้งหนึ่งได้ทรงฟังสมเด็จพระราชชนนีกริ้วกล่าวโทษหม่อมเจ้าแก้วซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยง ไม่ทรงสามารถจะแก้แทนได้ประการใดก็ทรงพระกันแสง เวลานั้นได้ยินว่าพระชันษายังเยาว์มาก ก็อุตสาหดำรงความซื่อตรงเจ็บร้อนแทนผู้มีคุณ...

 

          ในพระชนมายุมัชฌิมวัยเมื่อทรงดำรงราชสมบัติแล้ว พระองค์ได้ทรงสำแดงพระอาชว ธรรมให้ปรากฏยิ่งขึ้นโดยลำดับ จะยกอุทาหรณ์มากล่าวแต่เพียงเล็กน้อย เช่น ในเวลาที่บ้านเมืองขัดสนทุนรอน ก็ได้มีพระราชดำรัสอนุญาตให้รัฐบาลเก็บภาษีจากพระราชทรัพย์เหมือนกับราษฎรทั่วไป เพราะแต่เดิมเคยเป็นประเพณีที่จะยกเว้นการเก็บภาษีอากรจากพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุว่าบรรดาภาษีอากรเหล่านั้นแต่เดิมมาก็เป็นรายได้ของพระเจ้าแผ่นดินแท้ๆ หากพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ปิยมหาราชทรงสละพระราชทานให้เป็นรายได้ของรัฐบาล พระองค์บำเพ็ญอยู่ในแนวจรรยาที่ซื่อตรงเที่ยงธรรมไม่แต่ต่อพระราชวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทเท่านั้น ทรงเป็นธรรมแก่คนทั่วไปแม้แต่ต่อต่างประเทศ เช่นเมื่อเกิดสงครามโลดครั้งที่หนึ่ง เมื่อทรงเห็นว่าฝ่ายหนึ่งเอาเปรียบเบียดเบียนโดยอธรรมก็ทรงคัดค้าน และเมื่อค้านไม่สำเร็จก็ได้ทรงเข้าร่วมสงครามกับสัมพันธมิตรสหิตประเทศ ซึ่งแท้จริงกำลังอยู่ในระยะปราชัยถอยทัพอยู่ด้วยซ้ำ หากเดชะบุญการศึกได้กลับกลายรูปไปจนฝ่ายราชสัมพันธมิตรของพระองค์กลับได้ทีมีชัยชนะในที่สุด

 

          พยานซึ่งแสดงให้เห็นน้ำพระราชหฤทัยเที่ยงตรงในอีกทางหนึ่ง จะพึงเห็นได้จากพระราชนิพนธ์ต่างๆ ซึ่งล้วนแต่แสดง พระราชอัธยาศัยของผู้ทรงแต่งออกมาเป็นคราวๆ ขอยกตัวอย่างบทละครพูดเรื่อง “เสียสละ” ถ้าท่านอ่านให้ดีจะเห็นได้โดยไม่ยากเย็นอย่างไรเลยว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงวาดภาพพระองค์เองไว้ในตัว “พระรามพลภัทร” ในเรื่องนั้น และอุดมคติของพระรามพลภัทรก็ใช่อื่นไกล หากเป็นอุดมคติของพระองค์เอง กล่าวคือ ซื่อตรงต่อมิตรและผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา จนถึงกับยอมเสียสละความรักอันเป็นยอดของความหวังที่พระรามพลภัทรมีอยู่ในโลกตามเรื่องนั้น”  []

 

 

          จึงปรากฏว่าตลอดระยะ ๑๕ ปีเศษที่เสด็จดำรงสิริราชสมบัติอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวสยาม ดังจะได้หยิบยกมากล่าวถึงโดยสังเขป ดังนี้

 

 

ด้านการศึกษา

 

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่า “...การศึกษาย่อมเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นต้นเหตุแห่งความเจริญของชาติบ้านเมือง...”  [] จึงทรงรับเป็นพระราชธุระสอดส่องตรวจตราเรื่องการศึกษาของนานาประเทศในยุโรปมาแต่ครั้งยังประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และในคราวที่เสด็จนิวัติพระนครผ่านทางสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ นั้น นอกจากจะได้ทอดพระเนตรและทรงศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาในประเทศทั้งสองตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงชั้นอุดมศึกษาแล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะข้าหลวงพิเศษตรวจจัดการศึกษา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ออกไปรอรับเสด็จอยู่ที่ญี่ปุ่น คัดลอกแผนการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นในเวลานั้น กลับมาเป็นต้นแบบในการจัดโครงการศึกษาชาติอีกด้วย

 

          เมื่อเสด็จนิวัติพระนครแล้ว นอกจากจะทรงริเริ่มจัดวางรากฐานการศึกษาสำหรับสตรี โดยได้กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี [] ทรงจัดตั้งโรงเรียนราชินี เพื่อเป็นต้นแบบของการจัดการศึกษาสำหรับสตรี รวมทั้งได้ทรงสนับสนุนให้กระทรวงธรรมการจัดวางหลักสูตรการศึกษาสำหรับสตรีแล้ว ในส่วนการศึกษาของกุลบุตรชาวไทยก็ได้ทรงสอดส่องตรวจตราจนทราบฝ่าละองพระบาทว่า การศึกษาของไทยในเวลานั้นมุ่งส่งเสริมให้นักเรียนเล่าเรียนแต่วิชาหนังสือเพื่อออกไปรับราชการหรือเป็นเสมียนพนักงานมากกว่าจะไปประกอบวิชาชีพอื่นๆ และหากปล่อยให้การศึกษาไทยคงดำเนินต่อไปในแนวทางเช่นนั้นแล้ว ไม่ช้าประเทศไทยจะต้องประสบปัญหาเดียวกับประเทศอินเดียที่คนเรียนจบปริญญาต้องมาขับขี่รถรับจ้าง เนื่องจากทางราชการรวมทั้งธุรกิจเอกชนไม่มีตำแหน่งงานพอที่จะรองรับผู้ที่เล่าเรียนมาได้ทั้งหมด เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วจึงทรงให้ความสำคัญกับการวางรากฐานการศึกษาของชาติเป็นพระราชกรณียกิจแรกในรัชกาล เริ่มจากโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไพศาลศิลปสาตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เจ้ากรมตรวจ กระทรวงธรรมการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อเรียนพระราชปฏิบัติเรื่องแนวพระราชดำริในการจัดการศึกษาของชาติเป็นการส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ อันเป็นผลให้เกิดแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖ ซึ่งกำหนดให้จัดระเบียบการศึกษาของชาติเป็นระดับ อนุบาล ประถม มัธยม และอุดมศึกษาซึ่งได้ใช้สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖

 

 

          อนึ่ง ในวโรกาสเดียวกันนั้น ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไพศาลศิลปสาตร์ จัดการย้ายมหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่โปรดเกล้าฯ ให้ไปเรียนอยู่ตามโรงเรียนต่างๆ ให้มาเรียนรวมกันในโรงเรียนแห่งใหม่ที่โปรดให้จัดตั้งขึ้นใหม่ให้ทันเปิดเรียนในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาครั้งแรกในรัชกาล โดยมีพระราชประสงค์ให้โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้น เป็นประดุจพระอารามหลวงประจำรัชกาลซึ่งโปรดให้งดเสีย ด้วยทรงพระราชดำริว่า

 

 

          “...พระอารามสำคัญๆ ในพระมหานครนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชวงษ์จักรีที่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชย์มาก่อนพระองค์ถึง ๕ รัชกาลแล้วนั้น ก็ได้ทรงสถาปนาขึ้นไว้แล้วหลายพระอาราม แลพระองค์ผู้เปนทายาทสืบสันตติวงษ์ ก็ทรงทนุบำรุงแลปฏิสังขรณ์พระอารามเหล่านั้นอยู่แล้ว ครั้นว่าพระองค์จะทรงสถาปนาพระอารามขึ้นใหม่ ก็จะเกินกว่าความ จำเปนในส่วนทางบำรุงพระศาสนา ซ้ำจะเปนภาระเพิ่มขึ้นโดยไม่มีผลดีเพียงพอ อนึ่ง พระอารามต่างๆ นั้นก็ย่อมเปนสำนักที่ศึกษาของกุลบุตร์มาแต่โบราณกาล แต่ในปัตยุบันสมัยนี้การศึกษาต้องจัดการให้แพร่หลายไพศาลยิ่งขึ้นกว่าเก่าก่อน เพราะว่าความเจริญแห่งชาติบ้านเมืองในสมัยต่อไปนี้ ที่จะเปนปึกแผ่นแน่นหนาได้แท้จริงก็ด้วยอาศรัยศิลปวิทยาเปนที่ตั้ง...”  []

 

 

โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อแรกสถาปนาที่ตึกยาวริมประตูพิมานชัยศรี (อาคารทางขวาของภาพ) ในพระบรมมหาราชวัง

 

 

          แต่เนื่องจากวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้นเป็นวันอาทิตย์ พระยาไพศาลศิลปสาตร์จึงได้จัดการย้ายนักเรียนมหาดเล็กข้าหลวงเดิมมาเปิดสอนที่โรงเรียนราชกุมารเก่า ริมประตูพิมานชัยศรี ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ซึ่งโบราณาจารย์ถือกันว่าเป็น “วันครู” แล้วต่อมาได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนนี้ว่า “โรงเรียนมหาดเล็กหลวง”

 

 

 


[ ]  ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๑, หน้า ๕๕.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๓.

[ ]  King Vajiravudh. LETTER OF KING VAJIRAVUDH, p 103 - 104.

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลความในพระราชหัตถเลขานี้ไว้ในหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า” หน้า ๔๘ ว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่สวรรคตแล้ว แต่ฉันรู้สึกว่าประชาชนผู้จงรักภักดีจะระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อไป และคงจะให้ความรักและภักดีต่อฉัน ผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์บ้าง การที่จะปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาทนั้นคงจะยาก แต่ฉันก็จะพยายามอย่างมากที่สุดที่จะทำงานเพื่อประชาชน ซึ่งบัดนี้มาเป็นหน้าที่ของฉันแล้ว ตำแหน่งของฉันเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่เชื่อว่าไม่ช้าประชาชนก็คงจะรู้สึกว่าฉันเป็นมิตรที่ซื่อสัตย์และเต็มใจรับใช้เขาทั้งหลาย เพื่อความสุขและความเจริญของเขา”

[ ]  พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร. “อาชชวํ”, พระนิพนธ์บางเรื่อง ของ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, หน้า ๔๖.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๗ - ๔๘.

[ ]  “พระราชดำรัสตอบ คำกราบบังคมทูลพระกรุณา ถวายเสื้ออาจารย์ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในพระบรราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๖”, พระบรมราโชวาท กับ วชิราวุธวิทยาลัย, หน้า ๘๙.

[ ]  ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เฉลิมพระยศเป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง

[ ]  “กระแสร์พระบรมราชโองการ ซึ่งบรรจุไว้ในศิลาพระฤกษ์ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๒ (๒๖ ธันวาคม ๒๔๕๘), หน้า ๒๒๖๖ - ๒๒๗๒.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |