โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

 

๒๖. พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชทานในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย
๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๗๔

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
เสด็จพระราชดำเนินในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย

 
 

          ข้าพเจ้าขอขอบใจสำหรับคำอำนวยพรของคณะวชิราวุธวิทยาลัย และมีความยินดีมากที่ได้มีโอกาสมาแจกรางวัลต่างๆ และพบกับนักเรียนอีกครั้งหนึ่ง ทุกๆ คราวที่ข้าพเจ้าได้มาที่ในงานของโรงเรียน ได้เคยหยิบยกลักษณะของปับลิคสกูลในเมืองอังกฤษขึ้นกล่าว เพราะว่าตามที่ทราบกันอยู่แล้ว ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ นั้น มีพระราชประสงค์ให้โรงเรียนนี้มีลักษณะเหมือนปับลิคสกูลของอังกฤษมากที่สุดที่จะเป็นไปได้ คราวแรกได้อธิบายถึงหลักทั่วไปแล้ว ในคราวต่อๆ มาได้หยิบยกบางสิ่งบางอย่างขึ้นกล่าวโดยเฉพาะ ในคราวนี้จะทำเช่นเดียวกัน บางทีจะซ้ำกับที่กล่าวแล้วก็เป็นได้ แต่เช่นนั้นก็ควรจะกล่าวย้ำอีกได้ ในการที่เราจะตั้งโรงเรียนในเมืองไทยให้เหมือนปับลิคสกูลของอังกฤษนั้นเป็นของยากมาก ไม่ใช่จะทำได้ในวันในพรุ่ง และทำไม่ได้หมดทุกอย่าง เพราะฉะนั้นต้องเลือกเท่าที่พอจะทำได้ก่อน แล้วจึ่งคิดอ่านทำในสิ่งอื่นๆ ต่อไปเมื่อพอจะทำได้ ในที่นี้จะกล่าวถึงเรื่องหนึ่งซึ่งอาจเห็นว่าข้าพเจ้าพูดซ้ำซากเหลือเกิน เมื่อพูดถึงปับลิคสกูลของอังกฤษแล้วก็ต้องกล่าวถึงวิธีเล่นเกมของเขา ใครที่ไปอยู่ปับลิคสกูลของอังกฤษ คงจะทราบว่ามีเกม ๒ อย่าง ที่นักเรียนถูกบังคับให้เล่นทุกคนไม่เล่นไม่ได้ คือ คริกเก็ตและฟุตบอล เกมอื่นไม่บังคับ จะเล่นก็ได้ไม่เล่นก็ได้ ก็เหตุใดจึ่งบังคับให้เล่นเกม ๒ อย่างนั้น ส่วนเกมอื่นๆ ไม่บังคับ การที่บังคับไม่ใช่ว่าเกม ๒ อย่างนั้นจะดีกว่าเกมอย่างอื่นในทางบำรุงกำลังร่างกาย แต่เป็นเกมบำรุงน้ำใจ ต้องเล่นเป็นทีมเวอร์ค ต้องเล่นหลายคน ต้องพร้อมใจกัน ตั้งใจที่จะให้คณะของตนที่เล่นชนะจึ่งจะได้ผลดี และความมุ่งหมายที่จะบังคับให้เล่นเกม ๒ อย่างนั้นก็เพราะเป็นการฝึกฝนนิสัยของเด็กดั่งว่ามานี้ เกมทั้ง ๒ อย่างนี้ทำไมจึ่งทำให้เด็กมีนิสัยมีน้ำใจอยากจะช่วยคณะของตน เกือบจะไม่ต้องอธิบายมากเพราะรู้กันอยู่แล้ว คือ ถ้าเราต่างคนต่างเล่นไม่นึกถึงส่วนรวมย่อมไม่ได้ผลอะไรเลย ถ้าเรามัวอยากเก่งเสียคนเดียว คณะของเราก็คงแพ้ ครูคงเคยได้สอนมาแล้ว เวลาเล่นฟุตบอลว่าต้องส่งลูกให้เด็กที่อยู่ที่ที่ดีกว่า สำหรับจะเตะลูกเข้าประตูเป็นต้นดั่งนี้ ย่อมทำให้เด็กทุกคนรักความสำเร็จ ความชนะของส่วนรวม มากกว่าความเก่ง หรือแสดงความสามารถส่วนตัวให้คนเห็น นี่เป็นความฝึกฝนสำคัญของการเล่นเกมเป็นหมู่เป็นคณะ ในเรื่องนี้เราควรจะต้องสอนให้มาก และเป็นเรื่องที่เราจะสอนได้เดี๋ยวนี้ทันที มีเหตุผลอย่างไรที่เราจะสอนไม่ได้ และคงได้ทำกันมาเรื่อยๆ อยู่แล้วในเรื่องนี้ ต้องพยายามสอนความรู้สึกอันนี้ให้จงได้ ประโยชน์ของการเพาะความรู้สึกอยากช่วยคณะ ยอมสละความเก่ง ความดีของตน เพื่อประโยชน์ของคณะเช่นนี้ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อไปเป็นอันมาก เมื่อนักเรียนออกจากโรงเรียนแล้ว เวลาไปอยู่ตามกัมปนีค้าขาย หรืออยู่ในกระทรวงต่างๆ ก็ดี เมื่อเป็นผู้น้อยอยู่ก็ต้องพยายามทำการเต็มกำลังที่จะให้กระทรวงหรือกัมปนีของตนรุ่งเรืองที่สุดที่จะเป็นได้ นึกถึงส่วนรวม ความสำเร็จของส่วนรวม ของคณะของตนนั้น ครั้นเมื่อตนถึงฐานเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องรู้จักที่จะเลือกคนใช้ รู้จักจะใช้คนผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของตน และเลือกใช้ให้เป็นประโยชน์ยิ่งแก่คณะ อย่างเช่นกัปตันของทีมฟุตบอล ย่อมเลือกใช้คนในทีมของตน ให้ทำหน้าที่ให้เหมาะแก่กำลังกาย และความสามารถของคนนั้นเป็นต้น ประโยชน์ย่อมมีอยู่ดั่งนี้ ที่จริงในเมืองไทยเรารู้จักรักคณะเป็นเหมือนกัน แต่บางทีเป็นไปในทางเลวก็มี เช่นถือพวกถือคณะ เมื่อรักคณะของตัวแล้ว กลับกลายเป็นเกลียดคณะอื่น นั่นไม่ถูกแน่ เราหวังดีต่อคณะของเรา ไม่จำเป็นต้องเกลียดคณะอื่น หาเหตุวิวาทตีหัวเขาเป็นต้น นั่นเป็นของเคยมีมาแล้ว เป็นของที่เราจะต้องพยายามสั่งสอนให้หายอย่าให้มีได้ เรารักคณะของเรา ไม่จำเป็นจะต้องเกลียดคณะอื่น โรงเรียนนี้เหมือนปับลิคสกูลของอังกฤษ คือแบ่งเป็นคณะต่างๆ ครูของคณะก็ต้องพยายามฝึกฝนเด็กทุกๆ คน ให้มีน้ำใจรักคณะและตั้งใจทำความดี เพื่อส่งเสริมชื่อเสียงของคณะของตน แต่ไม่ใช่เกลียดคณะอื่น หรือคอยหาเรื่องดั่งได้กล่าวมาแล้วเป็นต้น นั้นเป็นของที่ต้องพยายามอย่างกวดขัน ไม่ให้มีเป็นอันขาด ทุกคณะต้องต้องบำรุงให้รักโรงเรียนเป็นส่วนรวม โดยเหตุที่ปับลิคสกูลมีการสอนต่างๆ อย่างนี้จึ่งเป็นผลดีมาก เช่นที่อังกฤษนั้นเด็กที่ออกจากปับลิคสกูลแล้วมักจะเป็นคนดี มีนิสสัยเห็นชัดว่าผิดกับคนอื่น ในรายงานของโรงเรียนนี้ได้กล่าวแล้วว่า ได้พยายามอบรมนิสสัยของเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ควรทำอย่างยิ่ง หวังว่าการอบรมอย่างนั้นจะเป็นผลดี จนเมื่อนักเรียนที่ออกจากโรงเรียนนี้ จะไปที่ไหนก็ให้คนอยากได้ ว่าเมื่อนักเรียนเคยอยู่ที่วชิราวุธวิทยาลัยคงดีเป็นแน่ ถ้าเมื่อเราฝึกฝนได้เป็นผลสำเร็จเพียงนั้น ก็จะนับว่าเป็นที่น่ายินดีปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่ง ขอนักเรียนทุกคนและครูทุกๆ คน จงพยายามที่จะตนให้เป็นไปเช่นนั้น ให้ชื่อเสียงของโรงเรียนนี้โด่งดังไปทั่วประเทศสยาม ตลอดจนถึงต่างประเทศ เมื่อไปเรียนที่ต่างประเทศก็ให้ปรากฏว่า เป็นนักเรียนที่ดีที่สุดด้วย

 

          เพราะฉะนั้นขอให้พร ให้บรรดานักเรียนทั้งปวง ทั้งนักเรียนที่เรียนอยู่เดี๋ยวนี้และนักเรียนเก่า และบรรดาครูจงมีความสุขสบายปราศจากโรคภัยทั้งปวงทั่วกัน. 

 

 

*********************************

 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |