โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๖๓. กฎมณเฑียรบาล

ว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก (๓)

 

          ทัณฑ์ทั้ง ๓ ประเภทที่จะลงแก่ข้าราชสำนักผู้ประพฤติผิดกฎมณฑียรบาลนี้ ท่านบัญญัติไว้ ดังนี้

 

          ก. ประเภทคุรุทัณฑ์ เป็นพระราชอาญา ซึ่งจะมีพระบรมราชโองการให้ลงแก่ข้าราชการผู้ประพฤติผิดต่อกฎนี้ โดยสถานใดสถาน ๑ ใน ๑๐ สถานซึ่งได้กล่าวแล้ว หรือเป็นโทษซึ่งศาลรับสั่งปรึกษาวางบทลงโทษตามกฎมณเฑียรบาลนี้

 

          ข. ประเภทมัธยมทัณฑ์ เป็นอาญาสำหรับที่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดมีอำนาจจะกระทำได้แก่ผู้ที่อยู่ในบังคับบัญชาของตน มีอยู่เป็นนานาสถาน ดังนี้

                    ๑. ภาคทัณฑ์

                    ๒. ติโทษ

                    ๓. กัก ไม่เกินกว่า ๑ เดือน

                    ๔. กักเงินเดือน ไม่เกินกว่า ๓ เดือน

                    ๕. ทัณฑกรรม ไม่เกินกว่า ๗ วัน

                    ๖. ขัง ไม่เกินกว่า ๑ เดือน

                    ๗. ให้พักราชการ ไม่เกินกว่า ๖ เดือน

 

                    ถ้าผู้บังคับบัญชามีความปรารถนาจะลงโทษแก่ผู้ใดให้ยิ่งขึ้นไปกว่าที่กำหนดไว้นี้ ก็ให้ส่งคดีไปยังศาลรับสั่งเพื่อพิพากษาวางบทลงโทษต่อไป

 

          ค. ประเภทลหุทัณฑ์ เปนอาญาสำหรับที่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงมีอำนาจจะกระทำได้แก่ผู้ที่อยู่ในบังคับบัญชาของตน (คือ อธิบดีกรมลงโทษแก่คนในกรมของตน) มีเป็นนานาสถาน ดังต่อไปนี้

                    ๑. ภาคทัณฑ์

                    ๒. ติโทษ

                    ๓. กัก ไม่เกินกว่า ๑๕ วัน

                    ๔. ทัณฑกรรมไม่เกินกว่า ๓ วัน

                    ถ้าผู้บังคับบัญชาโดยตรงมีความปรารถนาจะลงโทษแก่ผู้ใดยิ่งขึ้นไปกว่าที่กำหนดไว้แล้วนี้ ต้องขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาสูงสุด

 

          ถ้าผู้รับโทษเห็นว่าการที่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงลงโทษนั้นไม่เป็นยุติธรรม หรือแรงเกินไปก็ดี ท่านอนุญาตให้อุทธรณ์ถึงผู้บังคับบัญชาสูงสุดได้ การอุทธรณ์ให้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องยื่นต่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดภายใน ๗ วัน และในระหว่างที่อุทธรณ์นี้ให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงรอการลงโทษไว้ก่อน ฝ่ายผู้บังคับบัญชาสูงสุดนั้นจะสั่งยกเรื่องราวเสียหรือจะสั่งแก้ไขโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้เพิ่มโทษให้หนักขึ้น เว้นแต่ที่เห็นว่าผู้บังคับบัญชาโดยตรงได้จับข้อความผิดนั้นผิดประเภทหรือไม่ตรงกับบทบัญญัติแห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ ก็สามารถสั่งแก้ไขไปตามความเห็นของตนได้ ถ้าผู้รับโทษไม่พอใจในคำวินิจฉัยแห่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดก็ให้ทำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย หรือจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาลรับสั่งกระทรวงวังพิจารณา ก็สุดแต่จะโปรด แต่ฎีกาต้องทูลเกล้าฯ ถวายภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่คำสั่งของผู้บังคับบัญชาสูงสุดตกมานั้นเป็นต้นไป และในระหว่างที่ยังมิได้พระราชกระแสสั่งในส่วนฎีกานั้น ให้รอการลงโทษแก่ผู้ถวายฎีกาไว้ก่อน

 

          อนึ่ง ถ้าผู้ลงโทษเป็นเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูง แม้ผู้รับโทษเห็นว่าการลงโทษนั้นไม่เป็นที่ยุติธรรม หรือแรงเกินไป ก็อนุญาตให้ถวายฎีกาได้ภายใน ๑๕ วัน

 

          ส่วนศาลรับสั่งกระทรวงวังนั้นจัดเป็นศาลสูงสุดในพระราชสำนัก คดีใดที่ศาลรับสั่งได้วินิจฉัยเด็ดขาดไปแล้ว ทั้งโจทย์และจำเลยจะอุทธรณ์มิได้ ถ้าจำเลยจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานลดหย่อนผ่อนโทษนั้นได้ แต่จะคัดค้านคำพิพากษาของศาลไม่ได้เป็นเด็ดขาด ทั้งนี้คำพิพากษาศาลรับสั่งนั้นจะต้องได้รับพระบรมราชานุมัติก่อน จึงจะบังคับบัญชาให้ลงโทษตามคำพิพากษานั้นได้
สำหรับระวางโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดนั้น กฎมณเฑียรบาลฉบับนี้ได้กำหนดลักษณะความผิดและโทษที่จะลงไว้ ดังนี้

 

          ผู้ซึ่งมีครอบครัวและเคหะสถานอยู่แล้ว เมื่อประกาศใช้กฎนี้ มิได้รีบไปลงทะเบียนภายในเวลาที่ผู้บังคับบัญชากำหนด ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดมัธยมกรรม ต้องระวางโทษชั้นมัธยมทัณฑ์ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีครอบครัวหรือเคหะสถานภายหลังวันที่ประกาศใช้กฎมณเฑียรบาลนี้ รวมทั้งผู้ที่มีครอบครัวหรือเคหะสถาน อันได้จดทะเบียนแล้ว เมื่อมีเหตุเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง และมิได้ไปจดทะเบียนที่กรมต้นสังกัดภายในเวลา ๑๕ วัน ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดเป็นชั้นคุรุกรรม ต้องระวางโทษชั้นคุรุทัณฑ์

 

          ผู้ที่ยังมิได้มีครอบครัวหรือเคหะสถานของคนเองก่อนประกาศใช้กฎมณเฑียรบาลนี้ หากไปมีภรรยาหรือเคหะสถานโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาสูงสุดในกรมของตนก่อน รมทั้งผู้ที่มีครอบครัวหรือเคหะสถานอันได้จดทะเบียนแล้ว มีภรรยาเพิ่มเติมใหม่อีก หรือมีเคหะสถานเพิ่มขึ้นอีก โดยมิได้รับอนุญาตก่อน หรือมิได้ไปจดทะเบียนภายในกำหนด ๑๕ วัน ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดเป็นชั้นคุรุกรรม ต้องระวางโทษชั้นคุรุทัณฑ์

 

          ผู้ที่บังอาจมีภรรยาเป็นชาวต่างประเทศหรือคนในบังคับรัฐบาลต่างประเทศ ก่อนที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดเป็นชั้นคุรุกรรม ต้องระวางโทษจำขังไม่ต่ำกว่า ๑๒ เดือน

 

          คนโสดและคนไม่มีเคหะสถานหรือคนม่าย ซึ่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดได้กำหนดให้อยู่ประจำในสถานที่ราชการแห่งใดๆ แล้วไซร้ เลือกไปอยู่ที่แห่งอื่นโดยมิได้รับอนุญาตพิเศษจากผู้บังคับบัญชาสูงสุด ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดเป็นมัธยมกรรม ต้องระวางโทษชั้นมัธยมทัณฑ์ ส่วนผู้ที่ไปนอนค้างอยู่แห่งอื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาโดยตรง ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษหนึ่งในสองสถานคือ ถ้าไปนอนค้างที่อื่นเพียงคืนเดียวต้องระวางโทษชั้นลหุทัณฑ์ ถ้าเกินกว่า ๑ คืนต้องระวางโทษชั้นมัธยมทัณฑ์

 

          ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นการละเมิดบทบัญญัติแห่งกฎมณเฑียรบาลนี้หลายบท ท่านให้ใช้บทที่มีทัณฑ์หนักที่สุดลงโทษแก่ผู้นั้น แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ท่านว่าผู้นั้นต้องมีโทษตามกระทงความผิดทุกกระทง และเมื่อพ้นโทษแล้วไกระทำความผิดซ้ำอีก ท่านว่าผู้นั้นไม่เข็ดหลาบ ให้รับโทษเป็นทวีคูณ

 

 

ใบอนุญาตให้มีภรรยาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          กฎมณเฑียรบาลนี้คงใช้บังคับแก่ข้าราชการในพระราชสำนักมาตลอดจนถึงยุคเปลี่ยนแปลงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อมีการแปลงสภาพกระทรวงวังเป็นสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นการบังคับบัญชาตรงต่อนายกรัฐมนตรี และข้าราชการในพระราชสำนักเปลี่ยนมาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญเช่นเดียวกับข้าราชการกระทรวงอื่นๆ แล้ว กฎมณเฑียรบาลนี้จึงเป็นอันพ้นสมัยบังคับใช้

 

 

ตารางแสดงอำนาจการลงทัณฑ์

ผู้ลงโทษ

ผู้รับโทษ

อำนาจการลงทัณฑ์

ศาลรับสั่งกระทรวงวัง

ข้าราชการในพระราชสำนักทั่วไป

กัก

กัก
เงิน
ดือน

ทัณฑ
กรรม

ขัง

ให้พัก
ราชการ

ชั้นผู้บังคับบัญชาสูงสุด

ก. เสนาบดีกระทรวงวัง

 

 

 

 

 

ข. สภาจางวางกรมมหาดเล็ก

 

 

 

 

 

 

ราชเลขานุการ

 

อธิบดีกรมพระคลังข้างที่

 

ก. ๑. ข้าราชการในกระทรวงวัง
และกรมพระตำรวจ

    ๒. ข้าราชการในกรมศิลปากร

    ๓. ข้าราชการในกรมทหารรักษาวัง
.ป.ร.

 

ข. ๑. มหาดเล็กในกรมมหาดเล็กหลวง

    ๒. มหาดเล็กในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

    ๓. มหาดเล็กในกรมชาวที่

    ๔. มหาดเล็กในกรมมหรสพ

    ๕. มหาดเล็กในกรมพระอัศวราช

 

ค. ข้าราชการในกรมราชเลขานุการ

 

ง. ข้าราชการในกรมพระคลังข้างที่

๑ เดือน

๓ เดือน

๗ วัน

๑ เดือน

ไม่ได้

ชั้นผู้บังคับบัญชาโดยตรง

๑. อธิบดีกรมต่างๆ ใน
กระทรวงวัง

 

๒. สมุหพระตำรวจ

 

๓. ผู้บัญชาการกรมศิลปากร

 

๔. อธิบดีกรมมหาดเล็ก

 

๕. สภากรรมการ
โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

๖. อธิบดีกรมชาวที่

 

 

๗. ผู้บัญชาการกรมมหรสพ

 

 

 

๘. อธิบดีกรมพระอัศวราช

 

 

๙. ราชเลขานุการในพระองค์

 

๑. ข้าราชการในกรมของตนโดยเฉพาะ

 

 

๒. ข้าราชการในกรมพระตำรวจ

 

๓. ข้าราชการในกรมศิลปากร

 

๔. มหาดเล็กในกรมมหาดเล็ก

 

๕. ครู อาจารย์ พนักงาน และนักเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

๖. ก. มหาดเล็กในกรมชาวที่

    ข. มหาดเล็กในกรมสวนหลวง

 

๗. ก. มหาดเล็กในกรมโขนหลวง

    ข. มหาดเล็กในกรมพิณพาทย์หลวง

    ค. มหาดเล็กในกรมช่าง

 

๘. มหาดเล็กในกรมพระอัศวราชและยานยนต์

 

๙. มหาดเล็กในกรมราชเลขานุการในพระองค์

๑๕ วัน

ไม่ได้

๓ วัน

ไม่ได้

ไม่ได้

 

 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |