โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๗๐. กองบังคับการ

 

          เมื่อประเทศไทยเริ่มจัดระเบียบกรมกองทหารตามแบบกรมกองทหารของกองทัพชาติตะวันตกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ไทยเราก็ได้รับเอาคำเรียกตำแหน่งต่างๆ ในกองทัพมาใช้ในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์หรือปัจจุบันคือ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหน่วยแรก

 

          ในระยะแรกของการจัดระเบียบกรมกองทหารนั้น คงใช้คำเรียกตำแหน่งและยศนายทหารตามคำศัพท์ภาษาอังกฤษ เช่น คอมมานดิงอินชีฟ (Commanding in Chief) คอลอแนล (Colonel) เมเจอร์ (MaJor) เปย์ซายันต์ (Pay Sergeant) ฯลฯ ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งกรมยุทธนาธิการและจัดระเบียบกองทัพเป็นกรมทหารบก ๗ กรม และกรมทหารเรือ ๒ กรม ใน พ.ศ. ๒๔๓๐ แล้ว จึงมีการแปลชื่อยศและตำแหน่งจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย เช่น คอลอแนล แปลเป็น นายพันเอก และคอมอมนดิงอินชีฟ แปลเป็น ผู้บังคับการ

 

          ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษและเสด็จพระราชดำเนินนิวัตประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว ก็ได้ทรงร่วมกับนายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช (จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช) ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และนายพันเอก พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ (จอมพล สมเดจพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ) เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกรมยุทธนาธิการในเวลานั้น จัดวางระเบียบกองทัพบกสยามเป็น ๑๐ กองพล กระจายกำลังไปทั่วราชอาณาจักร จึงทำให้เกิดตำแหน่งใหม่ในกองทัพบก คือ ผู้บัญชาการกองพล มียศเป็นนายพลตรี

 

          จากนั้นมาจึงมีการวางลำดับตำแหน่งยศในกองทัพบกเป็นมตรฐานสืบมาถึงทุกวันนี้ คือ

 

          ผู้บัญชาการ เป็นตำแหน่งยศสำหรับนายทหารชั้นนายพลตรี หรือสูงกว่า มีหน้าที่บังคับบัญชาหน่วยทหารระดับกองพลหรือเทียบเท่า

 

          ผู้บังคับการ เป็นตำแหน่งยศสำหรับนายทหารชั้นนายพันเอก มีหน้าที่บังคับบัญชาหน่วยทหารระดับกรมหรือเทียบเท่า

 

          ผู้บังคับกองพัน เป็นตำแหน่งยศสำหรับนายทหารชั้นพันโท หรือนายพันตรี มีหน้าที่บังคับบัญชาหน่วยทหารระดับกองพันหรือเทียบเท่า

 

          ผู้บังคับกองร้อย เป็นตำแหน่งยศสำหรับนายทหารชั้นนายร้อยเอก หรือนายร้อยโท มีหน้าที่บังคับบัญชาหน่วยทหารระดับกองร้อยหรือเทียบเท่า

 

          ฯลฯ

 

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงตั้งกองเสือป่าขึ้นแล้ว ก็ทรงนำคำเรียกตำแหน่งทางทหารมาใช้ในราชการเสือป่า เช่น คำว่า ผู้บังคับการใช้กับตำแหน่งผู้บังคับบัญชาหน่วยเสือป่าระดับกรม ผู้บังคับกองพันและกองร้อยใช้กับตำแหน่งผู้บังคับบัญชาหน่วยเสือป่าระดับกองพันและกองร้อยลดหลั่นกันลงไปตามลำดับ และเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้จัดรวมกรมกองเสือป่าเป็นกองเสนา แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองเสนานั้นว่า ผู้บัญชาการกองเสนา

 

          ส่วนในฝ่ายราชสำนักนั้น พบว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรมมหรสพเป็น ผู้บัญชาการกรมมหรสพ นอกจากนั้นยังพบว่า ได้โปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำว่าผู้บัญชาการกับสถานศึกษา คือ ผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย ผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามลำดับ สำหรับคำว่า ผู้บังคับการในสถานศึกษานั้น มีเฉพาะที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

 

          อนึ่ง เมื่อมีการกำหนดชื่อตำแหน่งผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารเป็นผู้บัญชาการ และผู้บังคับการแล้ว ก็ได้มีการกำหนดคำเรียกชื่อสำนักงานของผู้บัญชาการว่า กองบัญชาการ และสำนักงานของผู้บังคับการว่า กองบังคับการ ฉะนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกตำแหน่งบังคับบัญชาของส่วนราชการฝ่ายพลเรือนเป็นผู้บัญชาการและผู้บังคับการ คำว่ากองบัญชาการและกองบังคับการจึงถูกนำมาใช้กับสำนักงานผู้บังคับบัญชาในฝ่ายพลเรือนด้วย

 

          กล่าวสำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อแรกพระราชทานกำเนิดโรงเรียนนั้น ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของโรงเรียนยังเรียกว่า อาจารย์ใหญ่ จนเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองลูกเสือหลวงขึ้นเป็นกรมนักเรียนเสือป่าหลวงใน พ.ศ. ๒๔๕๗ และโปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นผู้บังคับการกรมนักเรียนเสือป่าหลวงโดยตำแหน่งแล้ว ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นผู้บังคับการโรงเรียน สำนักงานอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงจึงเปลี่ยนมาเรียกว่า กองบังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาแต่บัดนั้น

 

          กองบังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งเป็นที่ทำการของผู้บังคับการ ปลัดกรม และสมุห์บัญชีของโรงเรียน โดยมีนายเวรต่าง เป็นผู้ช่วยนั้น ในระยะแรกคงตั้งอยู่ที่เรือนไม้หลังคาจากซึ่งเป็นอาคารชั่วคราวในระยะแรกตั้งโรงเรียน ต่อเมื่อคณะข้าราชดารกรมราชเลขาตุการได้ร่วมกับริจาคทุนทรัพย์เนื่องในการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแด่พระเจ้าบรมวงศฺเธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ราชเลขานุการซึ่งสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยจัดส้าง "กุฏิสมมต" เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวที่ริมสระน้ำด้านทิศตะวันตก ระหว่างโรงเรียนหลังที่ ๑ (ปัจจุบันคือ คณะผู้บังคับการ) กับโรงเรียนหลังที่ ๒ (ปัจจุบันคือ คณะดุสิต) ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งสระว่ายน้ำ ไว้ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว กองบังคับการโรงเรียนจึงได้ย้ายไปทำการอยู่ที่กุฏิสมมต จนรวมโรงเรียนเป็นวชิราวุธวิทยาลัยใน พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว กองบังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยก็ยังคงทำการอยู่ที่กุฏิสมมตต่อมา

 

 

กุฏิสมมต

 

 

กุฏิสมมตคงได้ใช้เป็นกองบังคับการวชิราวุธวิทยาลัยเรื่อยมา จนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำผาติกรรมด้วยการสร้างตึกพยาบาลขึ้นแทน "พระตำหนักสมเด็จ" หรือตึกพยาบาลเดิมที่โปรดเกล้าฯ ให้รื้อไปสร้างเป็นกุฏิสงฆ์วัดราชาธิวาส และเมื่อวชิราวุธวิทยาลัยได้สร้างอาคารเรียนวิทยาศาสตร์หลังใหม่เป็นตึกชั้นเดียวสีเหลืองหลังคามุงกระเบื้องที่ด้านทิศใต้ของหอประชุมขึ้นแล้ว กองบังคับการวชิราวุธวิทยาลัยก็ได้ย้ายมาทำการอยู่ที่ตึกเหลืองข้างหอประชุม

 

 

ตึกวิทยาศาสตร์เก่า (ในวงกลมสีน้ำเงิน) ซึ่งเคยใช้ส่วนหนึ่งเป็นกองบังคับการวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ในพิธีเปิดอาคารกองบังคับการและพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียน

เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐

 

 

ต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยในขณะนั้นได้มีดำริว่า

 

          "พิพิธภัณฑ์โรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่งที่จะส่งเสริมการศึกษา โรงเรียนจึงหาทางคิดสร้างขึ้นและจะต้องเป็นอาคารที่กว้างขวางพอสมควร เพื่อจะได้สามารถจัดวัตถุต่างๆ เข้าเป็นหมวดหมู่ตามสภาพธรรมชาติและประเภทวิชา หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ ทรงออกแบบและกำหนดราคาค่าก่อสร้างไว้ประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ บาท เนื่องจากเงินมีไม่พอ โรงเรียนจึงได้จัดเก็บแผนผังนั้นไว้ และพยายามหาเงินเอง สะสมอยู่เป็นเวลาพอสมควรรวมเงินได้ ๓๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อเรียกสองราคา ผู้รับเหมาคิดราคาค่าก่อสร้างเป็นเงิน ๖๗๐,๐๐๐ บาท สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้เอื้อเฟื้อบริจาคเงินช่วยอีก ๓๗๐,๐๐๐ บาท การก่อสร้างจึงเป็นผลสำเร็จ"  []

 

 

กองบังคับการเก่า

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์โรงเรียนนี้เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ แต่เนื่องจากในระยะแรกของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์โรงเรียนนั้น "วัตถุที่แสดงมีน้อย ชั้นล่างว่างอยู่จึงจะใช้เป็นห้องประชุม, ที่ทำการของโรงเรียน และห้องพักครูไปพลางก่อน เมื่อมีของตั้งแสดงมากขึ้นจะได้ย้ายกิจการชั้นล่างไปตั้งที่อื่นต่อไป"  []

 

จากนั้นมาวชิราวุธวิทยาลัยก็ได้ใช้พื้นที่ชั้นล่างของอาคารพิพิธภัณฑ์โรงเรียนเป็นกองบังคับการตลอดมา แม้ในสมัยศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นผู้บังคับการ จะมีดำริและเตรียมการจัดพื้นที่ชั้นที่ ๒ ของอาคารโสตทัศนูปกรณ์ ริมสนามบาสเกตบอล (ตรงบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งโรงขายอาหารว่างหรือ "เรือนจาก") เป็นกองบังคับการใหม่ของโรงเรียน แต่ก็มิได้ย้ายไปจนถึงสมัยที่ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช มาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยใน พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้ว จึงได้ขอสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพระคลังข้างที่จัดสร้างอาคารกองบังคับการขึ้นใหม่เป็นตึกสามชั้นคู่กับอาคารโสตทัศนูปกรณ์เดิม แล้วได้ย้ายกองบังคับการมาเปิดทำการที่อาคารแห่งใหม่ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า "อาคารรามจิตติ" ส่วนตึกกองบังคับการเดิมได้ใช้เป็นศูนย์คอมพิวเตอร์และห้องพักครูต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๕๖ จึงรื้ออาคารกองบังคับการเดิมลงเพื่อปรับพื้นที่เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อว่า "นวมภูมินทร์"

 

 
 

 

[ ]  "คำกราบบังคมทูลเปิดอาคารอำนวยการและพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียน", วชิราวุธานุสาส์น เล่มสิบเก้า : ฉบับที่สาม (ภาคมาฆบูชา ปีการศึกษา ๒๕๐๘), หน้า ๗ - ๘.

[ ที่เดียวกัน.

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |