โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๖๖. ตำนานวชิราวุธ ()

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ก็ทรงนำรูปวชิราวุธที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระดำริไว้มาใช้ประกอบในเครื่องหมายและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในรัชกาล

 

          เริ่มจากวันที่ ๑ มกราคม ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) [] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา "พระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักนิ์" ซึ่งในพระราชกำหนดฉบับนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักใช้หมวกแก๊ปทรงหม้อตาลในเวลาแต่งเครื่องแบบครึ่งยศหรือปกติ ที่หน้าหมวกแก๊ปนั้นทรงกำหนดให้มีเข็มรูปพระวชิราวุธแนวนอนมีพระมหามงกุฎพร้อมอุณาโลมอยู่เหนือ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชสำนักเปลี่ยนมาใช้หมวกหนีบ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ติดเข็มพระมหามงกุฎเหนือวชิราวุธที่ขวาหมวก ซึ่งปัจจุบันนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยก็ยังคงใช้หมวกหนีบติดเข็มดังกล่าวสืบมาจนถึงปัจจุบัน และในยุคที่พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) เป็นผู้บังคับการวชิราวิทยาลัย ยังได้กำหนดให้นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยพิมพ์ตราพระมหามงกุฎเหนือวชิราวุธที่กระเป๋าเสื้อนักเรียนตามสีคณะสืบมาจนถึงปัจจุบันด้วย

 

 

แถวมหาดเล็กเชิญเครื่องอิสริยราชูปโภค

แต่งเครื่องแบบครึ่งยศ สวมหมวกแก๊ปมีตราหน้าหมวกรูปวชิราวุธแนวนอนมีพระมหามงกุฎอุณาโลมอยู่เหนือ

 

 

          ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเข็มวชิราวุธ และใช้รูปวชิราวุธประกอบในเหรียญราชอิสริยาภรณ์ตามลำดับ ดังนี้

 

          ๑. เข็มข้าหลวงเดิม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ "พระราชบัญญัติเข็มข้าหลวงเดิม" มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔)

 

 

(ซ้าย) เข็มข้าหลวงเดิม รูปวชิราวุธคมเงินด้ามทอง

(ขวา) นายกองตรี พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) ประดับเข็มข้าหลวงเดิมที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

 

 

          เข็มข้าหลวงเดิมนี้ มีลักษณะเป็นเข็มรูปวชิราวุธแนวตั้ง คมเงินด้ามทอง ใช้ติดที่อกเสื้อเบื้องซ้าย สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้ที่ได้รับราชการในพระองค์มาตั้งแต่ก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ และคงรับราชการสนองพระเดชพระคุณสืบมาในรัชสมัย โดยผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานเข็มข้าหลวงเดิมนี้ จะต้องมีคุณลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

 

          (ก) ผู้ที่ได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมตั้งแต่ก่อนได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

          (ข) ถึงแม้มิได้ถวายตัวมีดอกไม้ธูปเทียนก็ตาม ถ้าแม้ได้ทรงใช้สอยอย่างข้าในกรมก็ใช้ได้

          (ค) ผู้ที่ได้กระทำราชการ มีตำแหน่งประจำใกล้ชิดพระองค์เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช

          (ง) เป็นผู้ที่ยังคงรับราชการอยู่ในรัชสมัย หรือได้รับราชการมาแล้วโดยไม่มีความผิด

 

          เข็มข้าหลวงเดิมนี้ เมื่อแรกพระราชทานมีแต่เฉพาะฝ่ายหน้า ตัวเข็มสูง ๗.๗ เซนติเมตร ต่อมาวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศ "กฑเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเข็มข้าหลวงเดิม พระพุทธศักราช ๒๔๕๔" โดยโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มเติมเข็มข้าหลวงเดิมสำหรับสตรี มีขนาดสูง ๕.๕ เซนติเมตร พระราชทานเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติยศแก่ข้าราชบริพารฝ่ายในที่เคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณมาแต่ก่อนเสด็จเสวยราชย์สมบัติ

 

          อนึ่งนอกจากเข็มข้าหลวงเดิมที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแก่ข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในแล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเข็มวชิราวุธแบบคมเดี่ยวแนวตั้งขนาด ๓.๕ เซนติเมตร .ด้วยโลหะสีเงิน ใช้ประดับที่บ่าเสื้อนายเสือป่าเป็นเครื่องหมายว่า ผู้ที่ประดับเข็มนี้เป็นผู้ที่สังกัดในกองร้อยหลวงหรือกองร้อยที่ ๑ ของกรมเสือป่าที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษ

 

          ๒. ตราวชิรมาลา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา "พระราชบัญญัติตราวชิรมาลา" เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๓๐ และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๔ มิถุนายน ร.ศ. ๑๓๐)

 

 

 

 

          ตราวชิรมาลานี้ มีรูปพรรณและเครื่องหมาย เป็นรูปวชิราวุธ คมเงิน ด้ามทอง กลางด้ามลงยาราชาวดีสีขาบ มีรัศมีเป็นทองโปร่งรอบ ขอบเป็นรูปปทุมลงยาราชาวดี ขอบในสีขาบ กลีบสีขาว กนกรอบนอกสีชมพู ข้างบนเป็นเข็มทองคำจารึกอักษรว่า "ราชการในพระองต์" ห้อยแพรแถบริ้วเหลืองกับดำ ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

 

          ตราวชิรมาลานี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ผู้ที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระองค์ และรัชทายาทแบละราชตระกูลโดยความจงรักภักดี ที่จะให้เป็นุณเป็นประโยชน์ เป็นพระเกียรติยศในพระองค์ แลราชตระกูล เป็นการปรากฏก็ดี ไม่ปรากฏก็ดี โดยทรงพระราชวินิจฉัยด้วยพระองค์ ผู้หนึ่งผู้ใกจะมาเกี่ยวข้องแนะนำว่า ผู้นั้นผู้นี้ควรจะได้รับไม่ได้เลยเป็นอันขาด

 

          นอกจากจะพระราชทานตราวชิรมาลาเป็นบำเหน็จความชอบแก่บุคคลแล้ว ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ ยังได้โปรดเกล้าฯพระราชทานตรานี้ประดับที่ยอดธงประจำกองลูกเสือกรุงเทพฯที่ ๑ (ลูกเสือหลวง) และต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้พระราชทานตรานี้ประดับที่ยอดธงประจำกองลูกเสือมณฑลปัตตานี มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลภูเก็ต และมณฑลกรุงเทพฯ ตามลำดับ

 

          ๓. เหรียญจักรพรรดิมาลา เป็นเหรียญที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่วันที่ ๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๔ (พ.ศ. ๒๔๓๘) สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้ปฏิบัติราชการดีทั่วไปไม่มีกำหนดขีดคั่นแต่อย่างใด แต่ตามพระราชนิยมที่พระราชทานในชั้นหลังนั้น สำหรับพระราชทานผู้ที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรขุนนางครบ ๒๘ ปี เป็นบำเหน็จที่รับราชการยั่งยืนมั่นคงนานทำนองเดียวกันกับเหรียญจักรมาลา ที่พระราชทานแก่นายทหารซึ่งรับราชการครบกำหนด ๑๕ ปี ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยสิริราชสมบัติแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตรา "พระราชบัญญัติเหรียญจักรพรรดิมาลา รัตนโกสินทรศก ๑๓๐" เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔)

 

 

 

 

          พระราชบัญญัติเหรียญจักรพรรดิมาลา รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ นี้ ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบเหรียญจักรพรรดิมาลาเป็นเหรีญเงินมีสัฯฐานเป็นรูปจักร ด้านหน้ามีรูปพระครุฑพาหอยู่ในวงจักร ด้านหลังมีรูปช้างอยู่ในวงจักร มีอักษรจารึกที่วงรอบว่า "บำเหน็จแห่งความยั่งยืนแลมั่นคงในราชการ" ข้างบนเหรียญมีเข็มวชิราวึธห้อยกับแพรแถบสีแดง ขอบสีเหลืองกับสีเขียว มีเข็มเงินเบื้องบนแรแถบจารึกอักษรว่า ราชสุปรีย สำหรับติดที่อกเสื้อเบื้องซ้าย เหรียญนี้สำหรับพระราชทานแก่ข้าราชการฝ่ายพลเรือนที่ได้รับราชการมาไม่น้อยกว่า ๒๕ ปี นับตั้งแต่ได้เข้ารับราชการมีตำแหน่งหน้าที่มา ผู้ที่ออกจากตำแหน่งประจำการแล้วไม่นับ

 

          ต่อจากนั้นยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สอดรูปคมวชิราวุธในดวงดาราและเข็มของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในภายหลังอีกหลายครั้ง ดังนี้

 

 

 

 

                    ๑. ดวงดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ

 

 

 

 

                    ๒. เข็มกล้ากลางสมร ที่ประดับบนแพรแถบเครื่องราชอสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี

 

 

 

 

                    ๓. เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ บำเหน็จความชอบในพระองค์ทั้งแบบที่ ๑ และ ๓

 

 

 

[ ]  สมัยนั้นยังเปลี่ยนปีกันในวันที่ ๑ เมษายน

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |