โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

 

๗๑. จากโรงเรือ สู่ เรือนพักผู้บังคับการ

 

          ในเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตกรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้นำความกราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น มีความตอนหนึ่งใน "หมวดหน้าที่และความรับผิดชอบพะแนกสอนวิชา" กำหนดให้ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชามีหน้าที่ "ตั้งสโมสรต่างๆ อันจะให้ประโยชน์แก่การวิชา เช่นสโมสรอ่านหนังสือ และสโมสรสักรวาทีปรวาทีเปนต้น วางระเบียบข้อบังคับและรักษาการให้เปนไปโดยสม่ำเสมอและได้ประโยชน์จริง" นั้น

 

          พบหลักฐานว่า เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินที่สวนกระจัง ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่พระราชวังสวนดุสิตให้เป็นที่ตั้งถาวรของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระเพื่อนำดินมาถมท้องร่องปรับเป็นสนามให้นักเรียนได้ใช้เป็นที่เล่นกีฬาแล้ว เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กหลวงย้ายมาเปิดทำการที่โรงเรียนชั่วคราวที่สวนกระจังแล้ว โรงเรียนได้จัดให้มีสโมสรเรือ เป็นสโมสรสำหรับนักเรียนฝึกหัดพายเรือและว่ายน้ำในสระใหญ่ของโรงเรียน

 

 

แผนที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง พ.ศ. ๒๔๖๖ แสดงที่ตั้ง "โรงเรือ" (ในวงกลมสีแดง)

 

 

          โรงเรือจะสร้างขึ้นเมื่อไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด นักเรียนเก่าในยุคนั้นท่านเล่าไว้แต่เพียงว่า โรงเรือเป็นเรือนไม้สองชั้น ปลูกยื่นลงไปในสระน้ำข้างเนินดินซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งหอนาฬิกา ชั้นล่างใช้เป็นสโมสรเรือและฝึกหัดว่ายน้ำของนักเรียน ส่วนชั้นบนใช้เป็นเรือนพักของผู้บังคับการโรงเรียน

 

          ต่อมาในสมัยที่พระยาปรีชานุสาสน์เป็นผู้บังคับการโรงเรียน ท่านได้นำความเรียนปฏิบัติสภากรรมการจัดการโรงเรียนหรือปัจจุบันเรียกว่า คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยว่า โรงเรือซึ่งจัดเป็นที่พักของผู้บังคับการนั้นคับแคบไม่พอที่ท่านและครอบครัวจะพักอาศัยได้ ทั้งนี้เนื่องมาจากท่านเป็นผู้มีบุตรมากถึง ๑๒ คน จึงใคร่จะขอย้ายครอบครัวขึ้นไปพักอาศัยที่พระตำหนักสมเด็จ ซึ่งเป็นพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อย้ายจากวังพญาไทมาปลูกสร้างเป็นหอเรียนวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่อมาในสมัยที่รวมโรงเรียนเป็นวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว พระตำหนักสมเด็จนั้นได้ใช้เป็นสถานที่พยาบาลนักเรียนที่เจ็บป่วย

 

          เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า พระยาปรีชานุสาสน์จะขอย้ายครอบครัวขึ้นไปพักอาศัยที่พระตำหนักสมเด็จแทนโรงเรือซึ่งเป็นเรือนพักผู้บังคับการ อันเป็นการไม่ต้องด้วยพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยมีพระราชกระแสว่า พระตำหนักนั้นเคยเป็นที่ประทับในสมเด็จพระบรมราชชนนีและพระองค์เองก็เคยประทับที่พระตำหนักนั้นมาก่อน การที่โรงเรียนจัดเป็นสถานที่พยาบาลนักเรียนที่เจ็บป่วยนั้นก็ไม่เป็นพอพระราชหฤทัยอยู่แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อย้ายพระตำหนักสมเด็จไปปบูกสร้างเป็นกุฏิพระสงฆ์ที่วัดราชาธิวาส ซึ่งยังคงอยู่ที่นั้นมาจนบัดนี้ และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างตึกพยาบาลให้แก่โรงเรียนแทน (ปัจจุบันโรงเรียนใช้ตึกพยาบาลนั้นเป็น หอประวัติวชิราวุธวิทยาลัย)

 

 

เรือนผู้บังคับการซึ่งเดิมเป็นโรงเรือ

 

 

          ในเมื่อไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผู้บังคับการย้ายขึ้นไปพักอาศัยบนพระตำหนักสมเด็จ ในที่สุดสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้มีมติให้รื้อย้ายโรงเรือขึ้นไปปลูกสร้างที่สนามหน้าคณะเด็กเล็กหรือในเวลานั้นเรียกว่า คณะปรีชานุสาสน์ (ปัจจุบันคือ คณะผู้บังคับการ) ทั้งนี้เพราะผู้บังคับการเป็นผู้กำกับคณะเด็กเล็กโดยตำแหน่ง

 

          จากนั้นมาวชิราวุธวิทยาลัยก็ได้จัดเรือนพักที่หน้าคณะเด็กเล็กหรือคณะผู้บังคับการทั้งชั้นบนและชั้นล่างเป็นเรือนพักของผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยต่อเนื่องมาจนถึงสมัยพระยะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย

 

          เรือนพักผู้บังคับการในสมัยพระยาภะรตราชานั้น เป็นเรือนไม้สองชั้นยกพื้นสูงจากพื้นดินราว ๙๐ เซนติเมตร มีระเบียงเล็กๆ มีลูกกรงเตี้ยๆ กั้นที่ด้านหน้าเรือน (ด้านคณะผู้บังคับการ) มีโต๊ะเล็กๆ พร้อมเก้าอี้วางอยู่ เรียกพื้นที่เล็กๆ ตรงนี้ว่า "กรงลิง" นัยว่าเป็นสถานที่ลงโทษนักเรียนที่ประพฤติตนไม่อยู่ในระเบียบวินัย เช่น เป็นที่ทำการบ้านของนักเรียนไม่ทำการบ้านส่งครู หรือนั่งคุกเข่าสวดมนต์สำหรับผู้ที่กลับเข้ามาสวดมนต์ไม่ทันในเช้าวันจันทร์ที่เข้าโรงเรียนหลังจากหยุดกลับบ้านในวันสิ้นเดือน หรือเป็นที่เป่าปี่สก๊อตของนักเรียนที่หนีการฝึกซ้อม ฯลฯ นอกจากนั้นยังเป็นที่ทำการของ "โกกู๊ด" แขกยามที่มีหน้าที่ประจำที่หน้าเรือนผู้บังคับการ

 

          ภายในเรือนผู้บังคับการ เมื่อก้าวขึ้นบันไดไปสู่ชั้นล่างของตัวเรือนจะเป็นระเบียงไม้สักมีมู่ลี่ไม้ไผ่ ที่ระเบียงนี้ในบางคราวท่านผู้บังคับการก็ใช้เป็นที่รับรายงานตัวนักเรียนที่เข้าใหม่ ส่วนทางซ้ายของระเบียงนั้นเป็นห้องรับแขกที่ตกแต่งแบบบ้านผู้ดีอังกฤษ มีเฟอร์นิเจอร์ไม้ทำเป็นเตาผิงจำลองตอนบนเป็นกระจกเงาตั้งอยู่ชิดผนังด้านตะวันออก ภายในห้องมีชุดรับแขก ซึ่งปกติแขกที่ได้รับเชิญมาดิ่มน้ำชาที่ห้องนี้มักจะเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่มีความผิดร้ายแรง ถัดเข้าไปตอนในเป็นห้องพักผ่อนและห้องรับประทานอาหาร ด้านหลังเรือนที่หันลงไปทางสระน้ำเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ซึ่งเมื่อท่านผู้บังคับการออกไปมี่ระเบียงนี้จะมองเห็นทั้งโรงอาหารว่างที่เรียกกันว่า เรือนจาก สนามหน้า ไปจนถึงหอประชุม ตึกวชิรมงกุฎ (ตึกขาว) และศาลากลางน้ำ ทำให้ท่านสามารถตรวจตราพื้นที่โรงเรียนโดยรอบได้จากเรือนที่พัก และวันใดที่ท่านไม่เห็นวงปี่สก๊อตซึ่งมีที่ฝึกซ้อมประจำอยู่ที่หน้าหอประชุมทำการฝึกซ้อมกันตามปกติ หรือมีนักเรียนมาฝึกซ้อมน้อย ท่านก็จะบุกมาถึงสถานที่ฝึกซ้อมและนักเรียนที่หนีการฝึกซ้อมนอกจากจะโดนลงโทษด้วยวิธีการพิเศาของท่านแล้ว ยังมักจะต้องนำปี่ไปยืนเป่าที่กรงลิงให้ท่านฟัง หากขาดเสียงปี่โดยไม่มีคำสั่งให้หยุดก็จะถูกลงโทษด้วยวิธีพิเศษอีกเช่นกัน

 

          นอกจากนั้นที่ตอนกลาง มีบันไดขึ้นลงสู่สวนทางด้านใต้ของตัวเรือน ซึ่งที่บันไดนี้ท่านผู้หญิงภะรตราชา (ขจร อิศรเสนา) ภรรยาท่านผู้บังคับการจะใช้เป็นที่รับรองคุณครูสตรีจากคณะเด็กเล็กที่มักจะมากราบคารวะท่านผู้หญิงในเวลาที่คุมนักเรียนเดินแถวกลับคณะเด็กเล็กหลังจากสวดมนต์เสร็จในตอนเช้า

 

          ส่วนชั้นบนของเรือนพักนั้นแบ่งเป็น ๒ ห้องนอนตามความยาวของตัวเรือน ท่านผู้บังคับการท่านใช้ห้องนอนด้านทิศตะวันตก คือ ฝั่งคณะผู้บังคับการเป็นห้องนอน (ท่านเคยเรียกผู้เขียนขึ้นไปสั่งงานในเวลาที่ท่านนอนเจ็บอยู่บนเรือน) ส่วนห้องด้านทิศตะวันออกใช้เป็นห้องเก็บของ

 

          ด้านข้างเรือนพักผู้บังคับการทางด้านทิศใต้เป็นสนามและสวนไม้ดอก ซึ่งในเวลามีงานคณะก็จะอาศัยสวนนี้เป็นที่นั่งของนักเรียนในเวลาชมการแสดง ปัจจุบันสนามและสวนนี้ยังคงอยู่แต่มีการดัดแปลงรูปแบบไปบ้างตามกาล

 

 

เรือนผู้บังคับการ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในสมัยศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา

 

 

          เมื่อท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชาถึงอนิจกรรมที่ห้องนอนบนเรือนพักนี้ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ แล้ว ต่อมาคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยได้อนุมัติงบประมาณให้รื้อเรือนไม้ซึ่งเป็นเรือนพักผู้บังคับการลง แล้วสร้างขึ้นใหม่เป็นตึกสองชั้นในสถานที่เดิม โดยพยายามรักษาโครงสร้างการใช้งานของเรือนให้คล้ายกับเรือนผู้บังคับการหลังเดิมที่รื้อไป

 

          เรือนผู้บังคับการหลังใหม่นี้ได้ใช้เป็นที่พักอาศัยของผู้บังคับการต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัย ศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช มาจนถึงดร.สาโรจน์ ลีสวรรค์ ผู้บังคับการคนปัจจุบัน

 

 
 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |